7 ทักษะจิตวิทยาในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างฉับพลัน
ในโลกปัจจุบันนี้ถือว่าเป็นโลกที่คาดเดาแนวโน้มและสถานการณ์ของโลกได้ยาก เพราะเป็นโลกที่เกิดการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาส่งผลให้รับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้ยาก ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาทางเทคโนโลยี การเกิดโรคระบาด สงคราม การเมือง การเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ หรือการก้าวข้ามทางวัฒนธรรม ที่ทำให้ Trend หรือแนวโน้มของโลกเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา จนสามารถกล่าวได้ว่า “เพียงลืมตา โลกก็เปลี่ยนไป”
และด้วยการเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่าง ๆ ในโลกที่เกิดขึ้นอย่างปัจจุบันทันด่วนนี่เองที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสุขภาพจิตของผู้คนบนโลก ด้วยเหตุนี้ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาจึงได้แนะนำ 7 ทักษะจิตวิทยาในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างฉับพลัน เอาไว้ดังนี้ค่ะ
ความรู้ความเข้าใจด้านเทคโนโลยี (Technology Literacy)
เป็นความสามารถในการเข้าใจ ใช้งาน และประเมินเทคโนโลยีอย่างมีวิจารณญาณ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพและมีความรับผิดชอบในชีวิตประจำวัน การทำงาน และการเรียนรู้ โดยมีองค์ประกอบหลัก คือ ความรู้ความเข้าใจด้านเทคโนโลยี ความสามารถในการใช้งานเทคโนโลยี การคิดอย่างมีวิจารณญาณ และความรับผิดชอบในโลกดิจิทัล เมื่อเรามีความรู้ความเข้าใจด้านเทคโนโลยี เราจะสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกในด้านเทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ความรู้ความเข้าใจด้านข้อมูล (Data Literacy)
คือ ความสามารถในการอ่าน ทำความเข้าใจ สร้างและสื่อสารข้อมูลในรูปแบบต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพและวิจารณญาณ โดยการมีความรู้ความเข้าใจด้านข้อมูลเป็นทักษะที่ช่วยให้เราสามารถใช้ข้อมูลเพื่อการตัดสินใจอย่างมีเหตุผลและมีหลักฐานรองรับ โดยมีองค์ประกอบหลัก ได้แก่ ความสามารถในการอ่านและตีความข้อมูล ความสามารถในการสืบค้นและรวบรวมข้อมูล ความสามารถในการวิเคราะห์และการประเมินข้อมูล ความสามารถในการสื่อสารข้อมูล และความสามารถในการใช้ข้อมูลในการตัดสินใจ ซึ่งการมีความรู้ด้านข้อมูลจะช่วยให้เราสามารถปรับตัวได้ดียิ่งขึ้น
ความเป็นผู้นำและผู้สร้างแรงบันดาลใจ (Leadership and Influence)
เป็นความสามารถในการสร้างแรงบันดาลใจแก่ผู้อื่น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายร่วมกัน โดยใช้ทักษะการสื่อสาร การตัดสินใจ และการบริหารจัดการความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล เพื่อสร้างความไว้วางใจและความร่วมมือ โดยมีองค์ประกอบหลักของ คือ ความสามารถในการสร้างวิสัยทัศน์ ความสามารถในการตัดสินใจอย่างมีประสิทธิภาพ ความสามารถในการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ ความสามารถในการสร้างแรงบันดาลใจและกระตุ้นผู้อื่น ความสามารถในการจัดการความสัมพันธ์ และความสามารถในการโน้มน้าวและสร้างอิทธิพล ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาได้ให้ข้อมูลว่าความเป็นผู้นำและผู้สร้างแรงบันดาลใจนั้นไม่ได้จำกัดอยู่แค่คนมีชื่อเสียง หรือคนที่มีหน้าที่ใหญ่โตเท่านั้น แต่เป็นทักษะที่สามารถสร้างเสริมได้ในทุก ๆ คน
การทำงานร่วมกับผู้อื่น (Collaboration)
คือ กระบวนการในการทำงานร่วมกันเพื่อบรรลุเป้าหมายหรือผลลัพธ์ที่กำหนดไว้ โดยการสร้างการมีส่วนร่วมในการนำเสนอความคิดเห็น แบ่งปันทรัพยากร ความรู้ และทักษะที่มี เพื่อเสริมสร้างการทำงานและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีองค์ประกอบหลักที่ช่วยในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลก ดังนี้ การสื่อสารที่ชัดเจนและมีประสิทธิภาพ การทำงานเป็นทีม ความไว้วางใจและความเคารพซึ่งกันและกัน การแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ การจัดการความขัดแย้ง รวมไปถึงการแบ่งปันความรู้และทรัพยากร โดยการทำงานร่วมกับผู้อื่น จะช่วยให้การทำงานร่วมกันเป็นไปอย่างราบรื่น มีประสิทธิภาพ และส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพร่วมกันในทีม
ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น (Empathy)
ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ถือว่าเป็นทักษะที่สำคัญและจำเป็นอย่างมากในทางจิตวิทยา เนื่องจากเป็นความสามารถในการเข้าใจและรู้สึกถึงความรู้สึก อารมณ์ และประสบการณ์ของผู้อื่นจากมุมมองของพวกเขา เป็นการรับรู้ถึงสิ่งที่ผู้อื่นกำลังประสบ ไม่ว่าจะเป็นความสุข ความทุกข์ หรือความวิตกกังวล โดยไม่ตัดสินและแสดงความเห็นอกเห็นใจในเชิงบวก โดยมีองค์ประกอบหลัก คือ การรับฟังอย่างตั้งใจ การเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น การแสดงความเห็นอกเห็นใจ การควบคุมอารมณ์ของตนเอง และการสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือ
การมีศีลธรรมและความรับผิดชอบต่อสังคม (Ethics and Social Responsibility)
ในการอยู่ร่วมกันในสังคม โดยเฉพาะในสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันทันที การมีศีลธรรมและความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะเป็นหลักการและแนวทางในการประพฤติปฏิบัติที่แสดงถึงความถูกต้องและความเป็นธรรม โดยคำนึงถึงผลกระทบที่การกระทำของตนมีต่อผู้อื่นและสังคม รวมถึงความรับผิดชอบที่บุคคลหรือองค์กรควรมีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยมีองค์ประกอบหลัก ได้แก่ การแยกแยะถูกผิด ความซื่อสัตย์และความโปร่งใส การเคารพและให้เกียรติผู้อื่น ความยุติธรรม การมีส่วนร่วมในชุมชน การคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม การดูแลและพัฒนาพนักงาน และความรับผิดชอบต่อผู้อื่น โดยการมีศีลธรรมและความรับผิดชอบต่อสังคม จะช่วยในการสร้างความเชื่อถือและไว้วางใจระหว่างเรากับคนอื่น ๆ อีกทั้งยังช่วยสร้างสังคมที่ยุติธรรม ทำให้สังคมเป็นสังคมที่น่าอยู่อีกด้วย
ความสามารถในการทำงานข้ามวัฒนธรรม (Cross – Cultural Competence)
และทักษะจิตวิทยาในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างฉับพลันทักษะสุดท้ายของบทความนี้ ก็คือ ความสามารถในการทำงานข้ามวัฒนธรรม ซึ่งหมายถึง ความสามารถในการเข้าใจ เคารพ และทำงานร่วมกับบุคคลจากวัฒนธรรมที่แตกต่างกันอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นทักษะที่ช่วยในการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย ช่วยลดความขัดแย้ง และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในสถานการณ์ที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรม โดยมีองค์ประกอบหลัก ได้แก่ การตระหนักรู้ถึงความแตกต่างทางวัฒนธรรม (Cultural Awareness) การเรียนรู้และความเข้าใจในวัฒนธรรมอื่น (Cultural Knowledge) การปรับตัวและความยืดหยุ่น (Cultural Adaptability and Flexibility) ทักษะการสื่อสารข้ามวัฒนธรรม (Cross-Cultural Communication Skills) ความเคารพและการให้เกียรติ (Respect and Open-mindedness) และ การจัดการความขัดแย้งที่เกิดจากความแตกต่างทางวัฒนธรรม (Conflict Resolution in Cross-Cultural Contexts) ซึ่งความสามารถในการทำงานข้ามวัฒนธรรมเป็นทักษะที่สำคัญในโลกที่ผู้คนจากวัฒนธรรมต่าง ๆ ต้องทำงานและอยู่ร่วมกันอย่างใกล้ชิดมากขึ้น
แม้ว่าเราจะไม่สามารถหยุดยั้ง หรือชะลอการเปลี่ยนแปลงของโลกได้ แต่เราสามารถเพิ่มพูนทักษะในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกได้ โดยการใช้ 7 ทักษะทางจิตวิทยาข้างต้นที่ได้แนะนำในการปรับตัว และเสริมความแข็งแกร่งทางจิตใย สร้างความยืดหยุ่นทางความคิดในการใช้ชีวิตในโลกที่หมุนเร็วได้อย่างปกติสุขค่ะ
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
อ้างอิง : Eduzones. (25 สิงหาคม 2567). 20 ทักษะที่จำเป็นสำหรับโลกอนาคต. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 30 สิงหาคม 2567 จาก https://www.eduzones.com/2024/08/08/skills-2/
จันทมา ช่างสลัก บัณฑิตจิตวิทยาคลินิกจากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตจาก NIDA ปัจจุบันเป็นคุณแม่ลูก 1 ผู้เป็นทาสแมว ที่มุ่งมั่นจะพัฒนาการเขียนบทความจิตวิทยาให้โดนใจผู้อ่าน และสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคม ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกบนโลกใบนี้
Kommentarer