top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

เช็คด่วน! 7 สัญญาณเตือนว่าคุณกำลังเป็น Toxic Independence อยู่หรือไม่


ในปัจจุบันนี้กล่าวได้ว่า โลกผลักดันให้คนกลายเป็น Toxic Independence มากขึ้น เนื่องจากสภาพสังคมเปลี่ยนไปเป็นแบบต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างต้องพึ่งพาตนเอง จนส่งผลให้คนในวัยทำงาน ต้องแบกรับความกดดันจากความคาดหวังของครอบครัวและสังคมที่มุ่งหวังให้คนในวัยทำงานต้องประสบความสำเร็จและเป็นที่พึ่งพาของตัวเอง รวมถึงเป็นที่พึ่งพิงของครอบครัวด้วย นั่นจึงหล่อหลอมทำให้คนวัยทำงานหลายคนกลายเป็น “เดอะแบก” แถมยังต้องพึ่งพาตนเองให้ได้อีกต่างหาก เป็นผลให้ภาวะ Toxic Independence เพิ่มมากขึ้น โดยภาวะ Toxic Independence เป็นสภาวะในทางจิตวิทยา ที่หมายถึงการพึ่งพาตนเองอย่างเกินความพอดี จนไม่ยอมรับความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง ส่งผลให้มีปัญหาสุขภาพจิตและความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง


โดยผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาได้กล่าวถึงสาเหตุของ Toxic Independence เอาไว้ ดังนี้

  1. ค่านิยมทางสังคม

สังคมไทย รวมถึงสังคมโลก มักคาดหวังให้คนในวัยทำงานต้องเข้มแข็ง ต้องแข็งแกร่ง ต้องดูแลตัวเองได้ ต้องฉลาด ต้องรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก และตัวชี้วัดความสำเร็จ คือ ต้องไม่พึ่งพาใคร ทำให้เมื่อเกิดปัญหา ก็ไม่กล้าที่จะขอความช่วยเหลือจากใคร จึงเป็นเหตุผลให้มีปัญหาสุขภาพจิตกันมากขึ้น

  1. การขาดการสนับสนุนจากคนรอบข้าง

การขาดการสนับสนุนในที่นี้ ไม่ได้หมายความเฉพาะการสนับสนุนทางด้านการเงินเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการขาดการสนับสนุนทางด้านสังคม ทางด้านอารมณ์ และความมั่นคงทางจิตใจ พอมีปัญหาก็พึ่งพา หรือแม้แต่จะบอกเล่าปัญหาให้คนรอบข้างสักคนฟังก็ยังไม่ได้ เพราะกังวลว่าจะถูกตีตราว่าอ่อนแอ

  1. ความคาดหวังที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง

ปัญหาใหญ่ที่ลายสุขภาพจิตคนไทยในวัยทำงาน ก็คือ การถูกคาดหวังเกินความเป็นจริง ไม่ว่าจะจากครอบครัว หรือในที่ทำงาน โดยเมื่อเราพยายามที่จะเป็นคนที่ดีขึ้นแล้ว ก็ดูเหมือนว่าคนรอบข้างยังคาดหวังให้เราดีขึ้นไปอีก เก่งขึ้นไปอีก ทำงานได้รอบด้านมากขึ้นไปอีก จากความคาดหวังจึงแปรเปลี่ยนเป็นความกดดัน และกดทับตัวตนให้รู้สึกว่าเรามีคุณค่าน้อยกว่าที่เรามี


ด้วยเหตุนี้ ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาจึงได้เสนอ 7 สัญญาณเตือนว่าคุณกำลังเป็น Toxic Independence เพื่อให้เราไว้ใช้ตรวจสอบตนเอง ดังนี้ค่ะ

1. มักจะทำทุกอย่างด้วยตนเองเสมอ

ผู้ที่มีภาวะ Toxic Independence จะมีความรู้สึกว่าทุกสิ่งทุกอย่างต้องทำด้วยตัวเองเพียงคนเดียว โดยจะไม่สบายใจอย่างมากหากต้องทำงานร่วมกับผู้อื่น และจะรู้สึกสูญเสียความมั่นใจในตัวเองอย่างมากหากงานถูกเปลี่ยนมือกลางคัน หรือมีผู้ที่เก่งกว่ามาช่วยทำงานด้วย เพราะคนที่มีภาวะ Toxic Independence จะมีค่านิยมว่า ทำงานคนเดียวได้สำเร็จคือคนเก่ง แต่ถ้าผิดจากนั้นคือคนไม่เก่งทันที

2. แม้ประสบปัญหาก็ไม่ขอความช่วยเหลือจากใคร

ผู้ที่มีภาวะ Toxic Independence จะมีความกลัวจับใจในเรื่องการขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น เพราะการขอความช่วยเหลือเป็นการแสดงออกถึงความอ่อนแอ ความไม่มั่นใจในตนเองของผู้ที่มีภาวะ ผู้ที่มีภาวะ Toxic Independence นั่นจึงทำให้ผู้คนเหล่านี้บังคับตัวเองให้เป็นเดอะแบก คอยแบกทุกภาระ รวมถึงแบกทุกผลลัพธ์ทั้งดีและไม่ดีของสิ่งที่ทำด้วย

3. มีค่านิยมว่า ความสำเร็จที่น่าภูมิใจ ต้องมาจากการพึ่งพาตนเอง

ดังที่ได้กล่าวอยู่บ่อยครั้งว่า ผู้ที่มีภาวะ Toxic Independence จะมีค่านิยมว่า การทำงานด้วยตนเองเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จ คนกลุ่มนี้จึงมีความภูมิใจอย่างมาก หากเขาทำอะไรด้วยตนเอง และมักจะมีอคติต่อผู้ที่ทำงานเป็นทีม หรือช่วยเหลือกันทำงาน ว่าวิธีการทำงานเช่นนั้นไม่มีประสิทธิภาพ และคนที่นิยมทำงานเป็นทีมอ่อนแอเกินไปในวงการทำงาน

4. ไม่เชื่อใจใคร

สำหรับผู้คนปกติ การทำงานเป็นทีม หรือทำงานร่วมกับเพื่อนร่วมงานที่รู้มือกันนั้น จะส่งเสริมให้การทำงานมีความสุข เพราะมีความสบายใจ และลดความกดดันในการทำงาน แต่สำหรับผู้ที่มีภาวะ Toxic Independence จะมีความคิดว่า คนอื่นไม่สามารถทำงานได้ดีเท่าเขา ทำให้ไม่ไว้วางใจผู้อื่นและหลีกเลี่ยงการทำงานร่วมกับผู้อื่น เพราะเขามองว่าการทำงานร่วมกับคนอื่นจะทำให้งานออกมาไม่ตรงใจ และไม่สะท้อนคุณภาพของตัวเขา

5. มีความเชื่อว่าการแสดงอารมณ์ จะทำให้ตนดูอ่อนแอ

นอกจากจะไม่ชอบร่วมงานกับใครแล้ว ผู้ที่มีภาวะ Toxic Independence ยังไม่นิยมแสดงออกทางความรู้สึกให้ใครรับรู้ เพราะเขามีความเชื่อว่าการแสดงอารมณ์ คือการแสดงความเปราะบางออกมาโดยไม่จำเป็น อีกทั้งยังสิ้นเปลืองพลังงานในการใช้ชีวิตไปโดยเปล่าประโยชน์ จึงส่งผลให้ผู้คนเหล่านี้มีความเก็บกดทางอารมณ์สูง จนกลายเป็นระเบิดเวลาที่พร้อมระเบิดสิ่งที่เก็บกดไว้ออกมาได้ตลอดเวลา

6. มักจะทำงานหนักเกินความจำเป็น

ผู้ที่มีภาวะ Toxic Independence จะทำงานหนักมากเกินความจำเป็น เพราะเชื่อว่าการทำงานหนักเป็นการพิสูจน์คุณค่า และตัวตนของพวกเขา ส่งผลให้สุขภาพกายย่ำแย่ สุขภาพใจทรุดโทรม ความสัมพันธ์กับคนรอบข้างก็เปราะบาง ส่งผลให้คนกลุ่มนี้มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะ Burnout ในเรื่องงาน และการใช้ชีวิตได้ 

7. เกิดความรู้สึกโดดเดี่ยว

ถึงแม้ว่าผู้ที่มีภาวะ Toxic Independence จะแสดงออกว่าฉันเก่ง ฉันแกร่ง ฉันไม่พึ่งพาใคร แต่ภายในใจนั้นแสนจะเปราะบาง เพราะเต็มไปด้วยความเหนื่อยล้า ความเครียด ความกดดัน และความรู้สึกว่า “ฉันมันตัวคนเดียว” จนความโดดเดี่ยวเกาะกุมจิตใจ 


ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาได้ให้ข้อแนะนำในการเยียวยาภาวะ Toxic Independence เอาไว้ดังนี้ค่ะ

1. เปลี่ยนทัศนคติต่อการใช้ชีวิต

สิ่งที่ควรปรับ เพื่อเปลี่ยนชีวิตให้ดีขึ้นอย่างแรกเลย ก็คือ ปรับทัศนคติที่มีต่อการใช้ชีวิต จาก “ฉันต้องอยู่ให้ได้ด้วยตนเอง” เป็น “ฉันต้องอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างมีความสุข” เมื่อเราเปลี่ยนวิธีคิด การดำเนินชีวิตก็เปลี่ยน เราจะมองโลกในแง่ดีมากขึ้น ช่วยเหลือผู้อื่นมากขึ้น เป็นมิตรมากขึ้น และแน่นอนค่ะว่าจะมีคนให้ความช่วยเหลือเรามากขึ้นตามไปด้วย

2. ฝึกขอความช่วยเหลือจากคนที่ไว้ใจ

เมื่อปรับทัศนคติว่าการขอความช่วยเหลือบ้างไม่ใช่เรื่องผิดแล้ว ก็มาถึงช่วง “ฝึกการขอความช่วยเหลือ” กันบ้าง โดยเริ่มจากขอความช่วยเหลือจากคนที่ไว้ใจได้ก่อน จากเรื่องเล็ก ๆ ที่ผิดพลาดบ้างก็ไม่เป็นไร เมื่อเราค่อย ๆ ชินกับการทำงานร่วมกับผู้อื่น หรือการขอความคิดเห็นจากผู้อื่นแล้ว เราค่อยฝึกทำงานร่วมกับผู้อื่นในระดับที่ใหญ่ขึ้น ๆ ค่ะ

3. วางขีดจำกัดให้กับตนเอง

หากคุณต้องการหายจากภาวะ Toxic Independence คุณต้องเปลี่ยนแนวคิดว่า “ฉันทำเองได้ทุกอย่าง” เป็น “ชีวิตฉันยังมีอีกตั้งหลายอย่างให้ทำ” แล้วคุณจะใส่ใจเรื่องการจัดสรรเวลาชีวิตมากขึ้น จะใส่ใจเรื่องการให้เวลาตนเอง การให้เวลากับครอบครัว และการพักผ่อนมากขึ้น เพราะคุณตระหนักแล้วว่า ชีวิตไม่ได้มีไว้แบก แต่มีไว้ใช้ให้คุ้มค่า 

4. ฝึกการเปิดเผยทางอารมณ์

เนื่องจากการเก็บกดอารมณ์เป็นสาเหตุของภาวะเจ็บป่วยทางจิตใจของผู้ที่มีภาวะ Toxic Independence ดังนั้นการฝึกเปิดเผยทางอารมณ์จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ควรทำ โดยการเปลี่ยนแนวคิดว่า คนเราสามารถรู้สึกเจ็บได้ และร้องไห้เป็น หรือถ้าเกิดความรู้สึกทางบวกก็สื่อสารออกไปอย่างเปิดเผย ยิ้มให้กว้าง หัวเราะให้เต็มที่ แล้วชีวิตจะสดใสมากขึ้นค่ะ


ภาวะ Toxic Independence เป็นภาวะทางจิตใจที่เป็นผลมาจากทัศนคติที่มีต่อการมองโลก และการแบกรับความกดดันมากเกินไป เพราะฉะนั้นแล้วหากเราหมั่นสังเกตตนเอง และคอยเยียวยาจิตใจตนเองอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยลดและป้องกันภาวะ Toxic Independence ได้เป็นอย่างดีค่ะ

 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

  • บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa  

  • คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS 

สำหรับองค์กร

โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

อ้างอิง :  ศิรอักษร จอมใบหยก. (27 ตุลาคม 2567). รู้จัก Toxic Independence ทำเองทุกอย่าง ไม่ง้อ ไม่ขอความช่วยเหลือใคร แม้จะแบกรับไม่ไหวแล้วก็ตาม. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 29 ตุลาคม 2567 จาก https://themomentum.co/wisdom-toxic-independence/

 

จันทมา  ช่างสลัก บัณฑิตจิตวิทยาคลินิกจากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตจาก NIDA ปัจจุบันเป็นคุณแม่ลูก 1 ผู้เป็นทาสแมว ที่มุ่งมั่นจะพัฒนาการเขียนบทความจิตวิทยาให้โดนใจผู้อ่าน และสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคม ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกบนโลกใบนี้


Kommentare


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page