7 ข้อสังเกตจิตวิทยา ในการจับโกหกว่าเรากำลังถูก (มิจฉาชีพ) หลอกให้รัก
จากข่าว “สุวนันท์ ยอดนักหลอกให้รัก” ที่มีเหยื่อหลงเชื่อหญิงสาวรายหนึ่งซึ่งมีชื่อว่า “สุวนันท์” แล้วต้องเสียเงิน เสียทอง เสียทรัพย์สิน เสียใจ เสียรู้ แถมบางรายยังถูกแอบอ้างอัตลักษณ์ส่วนบุคคล เช่น ชาติกำเนิด ปูมหลัง เพื่อให้สุวนันท์นำไปหลอกใช้คนอื่น และบางรายยังเข้าข่ายเป็นบัญชีม้าให้กับสุวนันท์โดยไม่รู้ตัว จนมีเหยื่อรายหนึ่งต้องจบชีวิตตัวเองลงอย่างน่าสงสาร จึงเป็นเหตุให้ญาติของเหยื่อรายนั้นไม่ทนอีกต่อไป พากันมาออกรายการ “โหนกระแส” จนเป็นประเด็นทางสังคมในช่วงนี้ ทำให้ “การหลอกให้รัก” หรือศัพท์ทางจิตวิทยาเรียก Love-bombing กลับมาเป็นที่สนใจของสังคมในช่วงนี้
โดย “การหลอกให้รัก” เป็นกลยุทธ์ที่มิจฉาชีพนำมาใช้เพื่อควบคุมหรือบงการเหยื่อผ่านการสร้างความรู้สึกผูกพันและความไว้เนื้อเชื่อใจ โดยมีทฤษฎีจิตวิทยาที่นิยมนำมาใช้ ดังนี้
1. ทฤษฎีความผูกพันทางอารมณ์ (Attachment Theory)
ตามทฤษฎีจิตวิทยานี้ ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของ "การหลอกให้รัก" มักเป็นคนที่มีลักษณะของความผูกพันแบบไม่มั่นคง (insecure attachment) เช่น ขาดความมั่นใจในตัวเอง หรือกลัวการถูกทอดทิ้ง มิจฉาชีพจะตอบสนองความต้องการของเหยื่อในช่วงต้นอย่างรุนแรง เช่น ให้คำชมเชยบ่อย ๆ ทำกิจกรรมร่วมกันบ่อย ๆ ให้ความช่วยเหลือในลักษณะของการดูแลบ่อย ๆ ทำให้เหยื่อเกิดความรู้สึกมั่นใจ ต้องการการพึ่งพิงทางใจจากมิจฉาชีพสูง เกิดความรู้สึกว่า “ฉันขาดเขาไม่ได้”
2. ทฤษฎีการเสริมแรง (Reinforcement Theory)
"การหลอกให้รัก" มักเริ่มด้วยการให้รางวัล (positive reinforcement) เช่น การให้ความสนใจอย่างมาก ให้ของขวัญบ่อยจนเกินจำเป็น หรือใช้คำพูดที่สร้างความรู้สึกดี แต่เมื่อเหยื่อเริ่มผูกพัน มิจฉาชีพจะเริ่มถอนรางวัลเหล่านี้เพื่อสร้างความสับสนและควบคุมพฤติกรรมของเหยื่อ (intermittent reinforcement) เช่น หายหน้าไปบางวัน โทรหาน้อยลง ทำตัวไม่ว่าง ทำให้เหยื่อต้องการความสนใจหรือยอมตามความต้องการ
3. ทฤษฎีการจัดการอารมณ์ (Emotion Manipulation)
มิจฉาชีพอาจใช้กลยุทธ์ทางอารมณ์ เช่น การแสดงความอ่อนแอหรือความต้องการ เพื่อทำให้เหยื่อรู้สึกเห็นใจ หรือในบางกรณีใช้ความรู้สึกผิดเป็นเครื่องมือในการบังคับให้เหยื่อยอมตาม ไม่ว่าจะเป็นหลอกเหยื่อว่าตนเองเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรง มีปัญหาทางบ้าน หรือแสดงออกชัดเจนว่าเหยื่อสำคัญกับตนเองมาก หากขาดเหยื่อไปตนเองจะไม่สามารถอยู่ในโลกนี้ได้ เป็นต้น
ด้วยความห่วงใย และไม่ต้องการให้ใครต้องเสียใจ เสียทรัพย์สินเงินทอง หรือต้องเสียชีวิต ด้วยการตกเป็นเหยื่อของ “การหลอกให้รัก” ในบทความจิตวิทยานี้จึงได้รวบรวมข้อแนะนำของผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยามานำเสนอเป็น 7 ข้อสังเกตจิตวิทยา ในการจับโกหกว่าเรากำลังถูก (มิจฉาชีพ) หลอกให้รัก โดยมีรายละเอียด ดังนี้ค่ะ
มีโปรไฟล์หรู ดูดี แต่ก็มีความลึกลับซับซ้อน
มิจฉาชีพที่ใช้เทคนิคหลอกให้รักส่วนใหญ่ มักจะมีโปรไฟล์ไม่ธรรมดาค่ะ เช่น เป็นลูกเจ้าสัว ลูกนักการเมือง ลูกบอสใหญ่ของบริษัทดัง ลูกดารา ลูกคนมีชื่อเสียง แต่ ๆ ๆ มักจะห้อยท้ายว่า เขาเป็นลูกบ้านเล็ก หรือลูกนอกสมรส เพราะเมื่อเราไปค้นหาข้อมูลแล้วไม่เจอ เขาก็สามารถยกมาอ้างเป็นเหตุผลได้ว่า เพราะเป็นลูกนอกสมรสสังคมจึงไม่รับรู้การมีอยู่ของเขา เพราะฉะนั้นแล้วหากใครเขามาจีบ หรือมาทำความรู้จัก แล้วมีโปรไฟล์เช่นนี้ ขอให้นำข้อสังเกตนี้มาใช้ในการจับโกหกกันก่อนถูกหลอกนะคะ
เอาใจใส่เราจนเกินจำเป็น
เราทุกคนล้วนต้องการได้รับการเอาใจใส่ การดูแลจากคนที่รักเรา หรือมาชอบเรากันอยู่แล้วใช่ไหมคะ แต่เราสามารถจับโกหกเหล่ามิจฉาชีพที่มาหลอกให้รักได้ด้วยการที่เราจะสังเกตได้ว่า คนเหล่านี้จะดูแลเราในระดับ VVIP คือ แทบจะอุ้มเราเดินเลยทีเดียว โดยเฉพาะในช่วงแรกของการสร้างความสัมพันธ์ จะดูแลในลักษณะเช้าถึง เย็นถึง มาหาทุกวัน โทรหาเช้า-เย็น มาทานข้าวด้วยทุกมื้อ ตามใจทุกอย่าง ทำเหมือนว่าโลกของเขาหมุนรอบตัวเรา หากคุณกำลังเจอลูกจีบเช่นนี้ ให้สงสัยไว้ก่อนเลยว่า “กำลังจะถูกหลอก”
ทุ่มเทให้เราอย่างไม่น่าเชื่อ
ก่อนอื่นเราต้องแยกให้ออกก่อนว่า คนที่มาจีบเราเป็นประเภท “คนรักผู้ทุ่มเท” หรือแสร้งรักแกล้งทุ่มเท โดยคนที่ทุ่มเทอย่างจริงใจ การทุ่มเทของเขามักจะทำให้เรารู้สึกว่า “ยังไม่พอ” ค่ะ นั่นก็เพราะคนธรรมดาแต่ทุ่มเท ก็ต้องทำมาหากิน มีชีวิตของตัวเอง มีภาระของตัวเอง ทำให้การทุ่มเทของเขาที่ให้เรามักจะมีอุปสรรค คือ ไม่มีเวลา และไม่มีเงินค่ะ แต่เราจะรับรู้ได้ถึงความพยายามที่จะรักษาความสัมพันธ์ให้ดีที่สุด แต่กับเหล่ามิจฉาชีพ คนเหล่านี้จะมือโปรในการเปย์และทุ่มเทเวลาให้เราแบบไม่อั้น จนทำให้เรารู้สึก “เกินพอ” ค่ะ
รู้ทุกเรื่องเกี่ยวกับเรา
ข้อสังเกตในการจับโกหกข้อนี้ก็เช่นเดียวกัน เราต้องแยกให้ออกระหว่าง “รู้ใจ” กับ “สืบข้อมูล” เพราะคนที่รู้ใจจะรู้เฉพาะเรื่องที่จำเป็น เช่น อาหารจานโปรด สีที่ชอบ วงดนตรีที่รัก แต่คนที่สืบข้อมูลเรามา จะรู้เวลาเข้างาน เลิกงาน รู้จักที่ทำงาน รู้จักบ้านของเรา รู้จักสมาชิกครอบครัวของเรา เพราะฉะนั้นหากคุณเจอคนมาจีบที่สามารถมารอรับที่ทำงานตรงเวลา มาส่งบ้านได้ถูก รู้แม้กระทั่งของโปรดของคนที่บ้าน ขอให้คุณ “ระวัง” ไว้ก่อนนะคะ
เข้าถึงตัวตนยาก สืบประวัติไม่เจอ ไม่รู้ข้อมูลครอบครัวของเขา
ในขณะที่คนที่มาจีบเรารู้จักเราดีมากจนน่าตกใจ แต่เมื่อเราไปสืบประวัติเขา กลับพบว่าข้อมูลของเขาช่างหาได้ยากเย็น ไม่เคยเล่าเรื่องส่วนตัวของเขาให้เราฟัง ไม่รู้ว่าเขาทำงานอะไร ไม่รู้ว่าทำงานที่ไหน ไม่รู้เรื่องราวครอบครัวของเขา ไม่เคยพาเราไปพบครอบครัว หรือแม้แต่พาไปพบเพื่อนของเขาก็ไม่เคยพาไป รวมถึง Facebook, Instagram หรือสื่อสังคมออนไลน์ของเขาก็มีเพื่อนน้อย หรือดูเหมือนพึ่งสร้าง Account ใหม่เมื่อตอนคบกับเรา ให้พึ่งระวังไว้ว่าคนนี้มีความไม่ชอบมาพากลค่ะ
ขอความช่วยเหลือเรื่องเงินจากเราบ่อย ๆ
ข้อสังเกตในการจับโกหกข้อสำคัญเลยคือ เมื่อคบกันไปสักพัก เขาจะมีแหตุเดือนร้อนเรื่องเงินมารบกวน หรือหยิบยืมจากเราบ่อย ๆ เช่น ป่วยด้วยโรคร้ายแรง พ่อป่วย แม่ป่วย แมวป่วย บ้านมีปัญหาต้องใช้เงินด่วน หรือหยิบยืมทรัพย์สินมูลค่าสูงจากเราบ่อย ๆ รมถึงมีการชักชวนให้เราลงทุน หรือทำธุรกรรมทางการเงินที่น่าสงสัย แบบนี้อย่าได้ใจถึงพึ่งได้ ให้ใจเย็น ๆ อย่าเพิ่งโอนไวเลยค่ะ
มักจะรู้จักกันผ่านแอปพลิเคชั่น หรือช่องทางที่ไม่ได้พบตัวจริงของกันและกัน
และข้อสังเกตในการจับโกหกข้อสุดท้ายสำหรับบทความนี้ ก็คือ มิจฉาชีพมักจะแฝงตัวมาในแอปพลิเคชั่น หรือติดต่อมาทางออนไลน์ เช่น Tinder, Facebook, Tiktok ซึ่งเราจะไม่ได้เห็นหน้า หรือได้พบคนเหล่านี้แบบตัวเป็น ๆ แต่ขยันทัก ขยันจีบ จนเมื่อจีบติดแล้วจึงทุ่มเท สายเปย์แบบน่าตกใจ พอเราตกหลมรัก ก็มายืมเงิน ขอเงิน กว่าจะรู้ตัวก็เสียใจ เสียไปหลายสิ่งแล้ว
สุดท้ายนี้ การป้องกันตัวเองจากการถูกหลอกลวงในความสัมพันธ์นั้น “สติ” สำคัญที่สุดค่ะ หากรามีความตระหนักรู้ในตนเอง มีการคิด วิเคราะห์ แยกแยะจากข้อมูลรอบข้าง และมีการวางขอบเขตอย่างชัดเจนในความสัมพันธ์จะช่วยป้องกันการถูกหลอกให้รักได้ค่ะ
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
บทความแนะนำ :
อ้างอิง : 1. Poetry of Bitch. (6 ธันวาคม 2567). จักรวาลของมิณตรา. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 7 ธันวาคม 2567 จาก https://www.facebook.com/poetryofb
2. Sutton, J. (2020). The Psychology of Manipulation in Relationships. Psychology Today.
จันทมา ช่างสลัก บัณฑิตจิตวิทยาคลินิกจากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตจาก NIDA ปัจจุบันเป็นคุณแม่ลูก 1 ผู้เป็นทาสแมว ที่มุ่งมั่นจะพัฒนาการเขียนบทความจิตวิทยาให้โดนใจผู้อ่าน และสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคม ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกบนโลกใบนี้
Comments