top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

7 เทคนิคทางจิตวิทยา คิดบวกเพิ่มความรักตัวเอง


จากสถิติของกรมสุขภาพจิต พบว่า ในปี 2563 คนไทยมีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จอยู่ที่ 7.3 ต่อประชากรหนึ่งแสนคน หรือคิดเป็น 4,855 คน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อนประมาณ 1,000 คน นั่นแสดงว่า เรารักตัวเองน้อยลงหรือเปล่า? หรือเป็นเพราะเราพบเจอกับภาวะกดดันทั้งเรื่องเศรษฐกิจ ครอบครัว และการแพร่ระบาดของ Covid-19 ทำให้ท้อแท้ หมดกำลังใจ และทำร้ายตัวเอง จึงเกิดคำถามว่าในสถานการณ์เช่นนี้ทำอย่างไรจึงจะรักตัวเองได้ และคำตอบก็คือ “คิดบวก” ค่ะ คำง่าย ๆ แต่ในบางสถานการณ์กลับทำได้ยากมาก ด้วยเหตุนี้ ดิฉันจึงขอสรุป 7 ข้อแนะนำของนักจิตวิทยาในการคิดบวก เพื่อให้คุณสามารถนำมาเป็นแรงฮึดในการรักตัวเอง ให้มากขึ้นกันค่ะ


1. พาตัวเองไปอยู่กับคนคิดบวก

หากเรากำลังรู้สึกว่าท้อแท้ หมดหวัง มองอะไรก็เห็นแต่ข้อเสียเต็มไปหมด และรู้สึกได้ว่ารักตัวเองลดลงแล้วละก็ วิธีเติมกำลังใจที่ดีวิธีหนึ่งที่นักจิตวิทยาแนะนำก็คือการพาตัวเองไปอยู่กับคนที่เราสนิทใจที่เป็นคนคิดบวก ย้ำอีกครั้งนะคะ นอกจากคนที่เราจะพาตัวเองไปอยู่ด้วยจะเป็นคนที่เราอยู่ด้วยแล้วสบายใจแล้ว คนนั้นยังต้องเป็นคนที่คิดบวก เพื่อเสริมพลังใจให้กับเรา และทำให้เราเปลี่ยนมุมมอง ที่มีต่อสถานการณ์ให้เป็นไปในทางบวก เพื่อให้เรารักตัวเอง และอึด ฮึด สู้ กับสิ่งต่าง แถมคนที่คิดบวก ยังมีมุมมองการแก้ปัญหาที่สร้างสรรค์ และสามารถช่วยให้เราออกจากสถานการณ์เลวร้ายได้จริงอีกด้วย


2. มองหาส่วนที่ดีของสถานการณ์

ทักษะสำคัญของการเป็นคนคิดบวกก็คือ การเป็นคนช่างสังเกตค่ะ โดยต้องสังเกตว่าในสถานการณ์กดดันที่เราเผชิญอยู่นั้นมีข้อดีอย่างไร เช่น การถูกแก้งานบ่อย แม้จะเหนื่อยแต่ก็ทำให้เราเชี่ยวชาญและชำนาญในงานมากขึ้น หรือในสถานการณ์ที่เลวร้ายต่อความรู้สึกที่สุด คือ “การสูญเสียคนที่เรารัก” วิธีมองหาข้อดีของสถานการณ์นี้ก็คือ เราเคยมีความสุขอะไรร่วมกันมา และเราได้วางแผนที่จะมีชีวิตร่วมกันอย่างไร ขอให้ใช้ตรงนี้ยึดหัวใจเราเอาไว้ให้เรารักตัวเอง และมีชีวิตต่อไป เพื่อใช้ชีวิตเหมือนที่เราอยากจะทำ มาถึงตรงนี้ต้องขอออกตัวเลยค่ะ ว่า “การมองหาส่วนที่ดีของสถานการณ์” เป็นข้อแนะนำที่พูดง่าย แต่ทำยาก เพราะเรื่องการคิดบวกโดยมองหาข้อดีของสถานการณ์นั้น ทัศนคติส่วนตัว ลักษณะนิสัยส่วนบุคคล และแนวความคิดที่ได้รับการเลี้ยงดูมามีอิทธิพลมากพอสมควรเลยค่ะ แต่ก็เป็นเรื่องที่สามารถฝึกกันได้นะคะ


3. ยืดหยุ่น และพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง

เทคนิคการเป็นคนคิดบวกข้อต่อมาที่นักจิตวิทยาแนะนำ ก็คือ การเป็นคนยืดหยุ่น และพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงค่ะ ซึ่งข้อแนะนำในข้อนี้ต้องขออนุญาตอ้างถึงหลักธรรมทางพุทธศาสนา คือ หลัก “ไตรลักษณ์” ที่ว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แปลได้ว่า ความไม่แน่นอน ความทุกข์ และความไม่เป็นดั่งใจ ตามลำดับค่ะ ซึ่งหลักธรรมนี้มีความหมายสอดคล้องกับข้อเสนอแนะในการคิดบวกของนักจิตวิทยาในข้อนี้ นั่นก็คือ ในการมีชีวิตของเรา เราก็ต้องพบเจอกับความไม่แน่นอน ความไม่เป็นดั่งใจ จนทำให้เราเกิดทุกข์ ดังนั้น วิธีการลดความทุกข์และเพิ่มความรักตัวเอง ก็สามารถทำได้โดย ไม่ยึดติด ยืดหยุ่น เพื่อพร้อมรับ การเปลี่ยนแปลงที่สามารถเกิดขึ้นได้โดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้าค่ะ


4. เชื่อมั่นในตัวเอง

ความเชื่อมั่นในตนเองเป็นผลพลอยได้มาจากการมีพลังใจที่ดีตามคำแนะนำของนักจิตวิทยา ในสามข้อแรกค่ะ เพราะเมื่อเรามีพลังใจที่ดีซึ่งได้รับมาจากคนสนิทที่คิดบวก มีทักษะการสังเกตหาข้อดี ของสถานการณ์กดดันที่กำลังเผชิญอยู่ และมีความยืดหยุ่น พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงแล้วเราจะมีความเชื่อมั่นในตัวเองมากขึ้น ว่าเราสามารถอดทนกับสานการณ์ได้ สามารถมองหาทางออก หรือสามารถแก้ไขปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ได้ และถึงแม้จะถูกสถานการณ์หรือคนที่สร้างสถานการณ์กดดันทำร้าย เราก็มีความเชื่อมั่นว่าเดี๋ยวมันก็ผ่านพ้นไป และเราจะมีไฟในการลุกขึ้นมาใหม่อย่างเข้มแข็ง และแกร่งกว่าเดิมค่ะ

นอกจากนี้ คนที่เชื่อมั่นในตนเอง มักจะเป็นคนที่รักตัวเอง เพราะจะไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรค หรือไม่ยอมให้อะไรมาทำร้ายจิตใจได้นาน จะต้องลุกขึ้นสู้จนพาตัวเองมายังจุดที่ดีกว่าได้ในที่สุดค่ะ


5. ทุกปัญหามีทางออก

โดยทั่วไปแล้ว เวลาเราเจอกับปัญหาที่รู้สึกว่าใหญ่เกินกว่าที่เราจะรับผิดชอบไหว เราจะรู้สึกว่าเราตัวเล็กลง แล้วปัญหามันใหญ่ขึ้น ๆ จนจะกลืนกินตัวเราไป ทำให้เราเครียด กดดัน และเหมือนคนตาบอดที่หาทางออกจากสถานการณ์ที่เป็นปัญหานั้นไม่เจอ แต่ถ้าเรามีความเชื่อว่า “ทุกปัญหามีทางออก” แล้วละก็เราจะอึด ฮึด สู้ อดทนต่อความยากลำบากที่เผชิญอยู่ และเมื่อเรามีกำลังใจดี มีความเชื่อมั่น คิดบวก มองเห็นข้อดีของสถานการณ์ เราจะรู้สึกว่าเราตัวใหญ่ขึ้น ๆ จนตัวพอดีกับปัญหา หรือตัวใหญ่กว่าปัญหาเสียด้วยซ้ำ หากเรามีความยืดหยุ่นมากพอที่จะพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง เมื่อเรามีใจที่พร้อมจะแก้ปัญหา เราก็สามารถหาทางออกของปัญหาได้ค่ะ ซึ่งในการหาทางออกนี้อาจไม่ใช่การแก้ปัญหาด้วยตัวเองเพียงลำพัง แต่ยังหมายความรวมไปถึงการที่เรารู้จักที่จะขอความช่วยเหลือให้ถูกคนอีกด้วยค่ะ


6. มีสติ

เมื่อเราต้องเผชิญกับสถานการณ์เลวร้ายที่ทำให้เราลดความรักตัวเองลง สิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้เราสามารถหาทางแก้ไขและพาตัวเองออกมาจากสถานการณ์กดดันนั้นได้ ก็คือ การมีสติค่ะ สติเป็นสิ่งที่ติดตัวเราอยู่เสนอ แต่มักจะหลงลืมในการนำมาใช้เมื่อเกิดปัญหา หรือพูดง่าย ๆ ว่า เรามักจะสติแตก เมื่อเกิดปัญหา แล้วยิ่งเป็นปัญหาฉุกเฉิน เร่งด่วน กดดันสูง เช่น รถชน อุบัติเหตุ ถูกไล่ออก สถานการณ์เช่นนี้จะทำให้เราควบคุมสติยาก จึงทำให้เราหาทางออกให้กับปัญหาได้ยากไปด้วย ซึ่งเป็นไปตามคำที่ว่า “สติมาปัญญาเกิด” หมายความว่า หากเราสามารถคุมสติไว้ได้ เราจะสามารถใช้ความสามารถของความรู้ ความสามารถ รวมถึงปฏิภาณไหวพริบในการแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพค่ะ

7. คิดถึงคนที่เรารัก

ในสภาวะที่เรารักตัวเองน้อยลง เกิดความคิดที่จะทำร้ายตัวเอง หนึ่งสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจที่นักจิตวิทยาแนะนำอยู่เสมอ ก็คือ ให้คิดถึงคนที่เรารักค่ะ ถึงแม้ว่าหลายท่านจะนึกค้านในใจว่าก็เพราะคนที่รักไม่ใช่หรือที่ทำให้หลายคนทำร้ายตัวเอง แต่เชื่อเถอะค่ะ ว่ามีคนที่เรารักและรักเรามากกว่าหนึ่งคนแน่นอนค่ะ ถึงเราจะคิดว่าพ่อไม่รัก ก็ยังมีแม่ แฟนไม่รัก ก็ยังมีเพื่อนสนิท ขอแค่อย่าเอาใจเราไปผูกกับใครไว้แน่นเกินไป เพราะวันหนึ่งก็ต้องจากกันไปไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และคนที่เรารักก็มีชีวิตของเขา เราเองก็มีชีวิตเป็นของเราเอง เมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่ทำร้ายจิตใจ ขอให้คิดถึงคนที่เรารักเสมอนะคะ โดยเฉพาะตัวเราเองที่เราควรจะรักให้มากที่สุดค่ะ



 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

• คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS

สำหรับองค์กร

• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8


โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

อ้างอิง :

1. กรุงเทพธุรกิจ. 4 กุมภาพันธ์ 2021. ช่วงปี 63 อัตราการฆ่าตัวตายของคนไทยไต่ระดับขึ้น. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2564 จาก https://today.line.me

2. พิชาวีร์ เมฆขยาย. 8 ตุลาคม 2016. 3 วิธีฝึกตัวเองเป็นคนคิดบวก. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2564 จาก https://www.youtube.com/channel/UCAmpEhn4yHHkqRi-S8qE-1Q


 

ประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก

บัณฑิตสาขาวิชาเอกจิตวิทยาคลินิก เกียรตินิยมอันดับ 2 จากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตด้านการพัฒนาสังคม NIDA มีประสบการณ์ด้านจิตวิทยาเด็ก 4 ปี เป็นผู้ช่วยนักวิจัย ด้านจิตวิทยา 1 ปี ปัจจุบันเป็นนักสังคมสงเคราะห์ชำนาญการ ที่ประยุกต์ใช้ศาสตร์ทางจิตวิทยา ในการปฏิบัติงานมากว่า 6 ปี

Comments


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page