top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

7 ภาษากายที่สามารถช่วยเพิ่มโอกาสสำเร็จให้กับคุณได้อย่างเหลือเชื่อ



ถึงแม้ว่าคนเราจะมีภาษาพูดเอาไว้สื่อสารให้เข้าใจกัน แต่ในความเป็นจริงแล้วคนเราจะพยายามทำความเข้าใจคนอื่นผ่านภาษากายมากกว่าภาษาพูด ซึ่งหากจะเปรียบเทียบระหว่างภาษาพูดกับภาษากายก็พบว่าคนเรามักเชื่อในภาษาภายมากกว่า โดยเฉพาะในเวลาที่คำพูดมันดูไม่สอดคล้องกับสีหน้าท่าทาง คนเรามักจะเลือกฟังสีหน้าท่าทางมากกว่า ยกตัวอย่างเช่น ระหว่างที่เรากำลังเล่าเรื่องบางอย่างอยู่ แล้วพบว่าคู่สนทนายกมือขึ้นมาจับจมูกและมองบนเล็กน้อย เราก็จะรับรู้ความรู้สึกของเขาได้ว่ามันเป็นไปในทางลบ ถึงแม้เขาจะบอกว่า “ไม่มีอะไรหรอก อย่าสนใจเลย”


นอกจากภาษากาย (body language) จะเป็นตัวช่วยในการสื่อเข้าไปถึงความรู้สึกได้มากกว่าภาษาพูดแล้ว มันยังสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างโอกาสสำเร็จให้คุณได้ด้วย ซึ่งในบทความนี้จะพูดถึงภาษากาย 7 แบบที่ควรเรียนรู้ Do & Don’t เพื่อเพิ่มโอกาสสำเร็จให้กับตัวคุณเอง ได้แก่


1. ยืนตัวตรง

การยืนตัวตรงจะช่วยในเรื่องการถ่ายสมดุลของร่างกายส่วนต่าง ๆ นอกจากนั้นยังถือเป็นท่าทาง (posture) ที่ดีเพราะจะช่วยให้คุณดูเป็นคนที่มีความมั่นใจ ดูน่าเกรงขาม ส่งผลให้คุณรู้สึกจากภายในว่าคุณเองก็มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าใคร ซึ่งจะทำให้คนอื่นรู้สึกว่าคุณดูมีพลังจึงไม่กล้าที่จะแสดงอำนาจข่มคุณ

2. ไม่ควรกอดอกระหว่างที่สนทนากับคนอื่น

ท่ากอดอกเป็นท่าที่ถูกพูดถึงบ่อย ๆ ว่ามันเป็น “ท่าปิด” การกอดอกระหว่างที่สนทนากับคนอื่นจึงส่งผลให้คู่สนทนารู้สึกถึงความไม่เป็นมิตร การปิดกั้น ความไม่เปิดเผย โดยเฉพาะหากคุณกอดอกคุยกับคนที่เพิ่งเริ่มรู้จักกันใหม่ ๆ มันจะทำให้เขารู้สึกว่าคุณไม่อยากจะคุยกับเขา ซึ่งไม่มีใครอยากรู้สึกแบบนั้น เพราะฉะนั้นหากต้องการสร้างมิตรภาพหรือความประทับใจ คุณควรเลิกทำท่ากอดอกระหว่างที่สนทนากับคนอื่น


3. อย่าทำท่าทางหลุกหลิกอยู่ไม่สุข

การทำท่าทางหลุกหลิกอยู่ไม่สุข เช่น เอานิ้วม้วนผมไปมา จับเสื้อผ้าของตัวเองเล่น หรือเช็คโทรศัพท์บ่อย ๆ มันจะทำให้คนอื่นรับรู้ถึงความวิตกกังวลของคุณ โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่เป็นทางการ เช่น การนำเสนองาน การประชุมกับผู้บริหาร การไปพบลูกค้ารายใหญ่ คุณควรพยายามเก็บทรงของตัวเองเอาไว้แบบที่เรียกว่า “fake it until you make it” ก็คือควบคุมร่างกายและสติของตัวเองให้อยู่นิ่ง ๆ และฝึกไปจนกว่าคุณจะทำได้โดยธรรมชาติไม่ใช่การฝืนทำ


4. หลีกเลี่ยงการจ้องตาคู่สนทนา

จริงอยู่ที่ eye contact คือภาษากายที่ทรงพลังในการสื่อสารความรู้สึกนึกคิดให้คนอื่นได้รับรู้ รวมไปถึงเป็นการบ่งบอกผ่านสายตาว่าคุณกำลังใส่ใจคู่สนทนาอยู่ แต่การจ้องตาเป็น eye contact ที่มันดูตั้งใจมากเกินไปจนส่งผลให้คู่สนทนารู้สึกอึดอัด รวมไปถึงมันดูส่อไปในทางก้าวร้าวไม่เป็นมิตรมากกว่า ดังนั้นก็ขอให้คุณมีสติระหว่างการสนทนาจะได้ไม่เผลอไปจ้องตาจนคนอื่นรู้สึกไม่ดี


5. หลีกเลี่ยงการพยักหน้าที่ดูมากเกินไป

การแสดงสีหน้าท่าทางที่ ‘โอเวอร์’ มากไปย่อมไม่ส่งผลดี แม้ว่าการพยักหน้าจะเป็นหนึ่งในพฤติกรรมการใส่ใจที่ช่วยให้อีกฝ่ายรู้สึกว่ามีใครคนหนึ่งกำลังตั้งใจฟังเขา แต่การพยักหน้าเยอะไปมันจะกลายเป็นเหมือนการพยักหน้าแบบไม่จริงใจ ซึ่งตรงกับสำนวนภาษาอังกฤษว่า “attempt to curry favor with someone” ก็คือพยายามที่จะเออ-ออไปเพื่อให้อีกฝ่ายรู้สึกดีด้วย หรือพูดง่าย ๆ ว่ามันดูประจบประแจงออกหน้าออกตามากไป


6. อย่าดูนาฬิกาบ่อย

แม้การดูนาฬิกาจะเป็นพฤติกรรมที่ปกติ โดยเฉพาะเมื่อเรามีธุระที่จะต้องไปทำต่อหรือต้องควบคุมเวลาในการสนทนา แต่การดูนาฬิกาบ่อย ๆ จะเป็นภาษากายที่ทำให้คู่สนทนารู้สึกว่าคุณเริ่มไม่ตั้งใจฟังและไม่อยากที่จะอยู่ตรงนี้แล้ว ซึ่งเป็นการกระทำที่แสดงถึงการไม่ให้เกียรติอีกฝ่าย เพราะมันเป็นอากัปกิริยาที่เริ่มดู “อยู่ไม่สุข” และทำให้คู่สนทนาไม่อยากจะคุยกับคุณไปมากกว่านี้


7. ภาษากายและสิ่งที่พูดควรสัมพันธ์กัน

ความลับของการสื่อสารที่ดีอาจจะเป็นความสอดคล้องระหว่างภาษากายและสิ่งที่พูดออกไป หากคุณยิ้มระหว่างที่คุณกำลังถูกปฏิเสธ หรือทำหน้าเศร้าเมื่อได้รับคำชม คู่สนทนาก็จะสับสนและมักจะเลือกเชื่อท่าทีที่คุณแสดงออกไปมากกว่าที่จะฟังสิ่งที่คุณพูด ดังนั้น เพื่อให้การสื่อสารมีประสิทธิภาพหรือช่วยให้การเจรจานำไปสู่ความสำเร็จ คุณควรแสดงออกให้สอดคล้องกับคำพูดของตนเอง


อย่างไรก็ตาม การใช้ภาษากายก็ถือเป็น “ทักษะ” อย่างหนึ่ง คนที่ใช้ภาษากายได้ดีล้วนเกิดขึ้นมาจากการเรียนรู้และประสบการณ์ของตนเอง หากคุณเป็นคนหนึ่งที่รู้สึกว่าตนเองไม่ถนัดเรื่องการสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารผ่านภาษากายหรือภาษาพูด


หรือเป็นคนที่ไม่มั่นใจในตนเองทำให้ไม่กล้าที่จะสื่อสารออกไป คุณก็สามารถฝึกฝนตนเองได้ด้วยวิธีการต่าง ๆ หรือหากคุณพบว่าตนเองอาจจะเสี่ยงต่อการเป็น “โรควิตกกังวลในการเข้าสังคม” ก็สามารถปรึกษาจิตแพทย์ นักจิตวิทยา หรือนักจิตบำบัดได้ตามสะดวกค่ะ


หากคุณต้องการพัฒนาตนเองให้กลายเป็นที่ปรึกษาที่เข้าอกเข้าใจตนเองและผู้คนมากขึ้น เพื่อปรับใช้ในการทำงาน ครอบครัว และในชีวิตประจำวัน คุณสามารถสมัครเรียน "หลักสูตรนักให้คำปรึกษากับนักจิตวิทยา" จาก iSTRONG ได้ที่นี่



 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

  • บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

  • คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS

สำหรับองค์กร

โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

อ้างอิง


บทความที่เกี่ยวข้อง

 

ประวัติผู้เขียน

นางสาวนิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) จบการศึกษาระดับปริญญาโทในสาขาจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และระดับปริญญาตรีสาขาจิตวิทยา(คลินิก) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปัจจุบันเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาประจำมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และเป็นนักเขียนของ iSTRONG

Comentarios


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page