top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

กระตุ้นความสุขและเพิ่มผลการปฏิบัติงานด้วย 7 กิจกรรมแห่งความสุข


มีความเชื่อดั้งเดิมที่ว่า คนเราต้องได้ในสิ่งที่ต้องการก่อนหรือต้องประสบความสำเร็จก่อนแล้วชีวิตถึงจะมีความสุข หรืออย่างน้อยก็เถียงกันไม่จบเหมือนไก่กับไข่ว่าอะไรเกิดก่อนกันระหว่างความสุขกกับความสำเร็จ แต่ความเชื่อดังกล่าวก็ถูกหักล้างด้วยการศึกษาทางจิตวิทยา เพราะความจริงแล้วทุกอย่างดูเหมือนจะกลับตาลปัตร เพราะมีงานวิจัยจำนวนมากที่พิสูจน์แล้วว่า คนที่มีความสุขต่างหากที่มีโอกาสจะประสบความสำเร็จในชีวิตมากกว่า และจะมีผลการทำงานที่ดีกว่า รวมถึงทำงานผิดพลาดน้อยกว่าคนที่ไม่มีความสุข



ยังไม่นับรวมถึงผลพลอยได้จากสุขภาพกายและสุขภาพใจ ที่คนมีความสุขกว่า คนมองโลกในแง่บวกมากกว่าจะมีภูมิคุ้มกันเข้มแข็งกว่า และเสี่ยงที่จะเกิดโรคทางจิต เช่น โรคซึมเศร้าได้น้อยกว่าคนที่มองโลกในแง่ร้ายอีกด้วย



ปัจจุบันจึงมีความพยายามในการสร้างโปรแกรมกระตุ้นความสุข และพัฒนาการคิดบวกขึ้นมากมาย โดยเฉพาะในองค์กร เพราะบรรดาผู้บริหารและเจ้าของกิจการรุ่นใหม่เป็นจำนวนมากที่ยอมรับกันแล้วว่า พนักงานต้องมีความสุขก่อน แล้วผลผลิตในงาน ผลประกอบการของธุรกิจจะตามมา รวมถึงความรู้สึกผูกพันและจงรักภักดีกับองค์กรอีกด้วย ซึ่งคุณอาจจะเห็นตัวอย่าง อย่างเป็นรูปธรรมจากองค์กรยักษ์ใหญ่ระดับโลกอย่างGoogle ที่เน้นสร้างบรรยากาศการทำงานที่ผ่อนคลาย สนุกสนาน และมีความสุข เพื่อกระตุ้นผลงานในระดับสูงสุด



คำถามสำคัญต่อมาคือ แล้วจะทำให้คนที่กำลังไร้สุขหรือมองโลกในแง่ร้ายเป็นนิสัย มีความสุขขึ้นได้อย่างไร หากผู้เขียนจะตอบแบบรวมรัดแล้วก็คือ “แล้วแต่คน” เพราะคนเรามีกิจกรรมสร้างความสุขไม่เหมือนกัน บางคนอาจมีเส้น Threshold ความสุขอยู่ไม่ลึกมาก เพียงแค่นั่งฟังเพลงที่ชอบก็สุขได้แล้ว แต่บางคนอาจเชื่อมโยงกับกิจกรรมที่เฉพาะเจาะจงกว่านั้น เช่น บางคนอาจรู้สึกพึงพอใจเมื่อได้ล้างห้องน้ำ ล้างจาน หรือถูพื้น แบบนี้ก็มี ซึ่งคุณเองก็ต้องรู้จักวิเคราะห์ตัวเองว่า กิจกรรมอะไรที่ทำให้คุณมีความสุข



อย่างไรก็ตาม อีกด้านหนึ่งก็ได้มีความพยายามศึกษาว่ากิจกรรมอะไรบ้างที่สร้างความสุขให้กับคนเราได้อย่างยาวนานและเป็นรูปธรรม ซึ่งผู้เขียนสรุปกิจกรรมที่ว่านั้นออกมาเป็น 7 ประการ ดังต่อไปนี้





1. การนั่งสมาธิ


นักวิทยาศาสตร์ด้านประสาทวิทยา (Neuroscientists) พบว่า พระที่นั่งสมาธิมายาวนานกว่าหนึ่งปีจะมีพัฒนาการด้านสมองส่วน Prefrontal Cortex ด้านซ้าย ซึ่งเป็นสมองส่วนที่ตอบสนองกับความรู้สึกมีความสุข นอกจากนี้ยังพบว่า ในระยะยาวผู้ที่นั่งสมาธิเป็นประจำจะมีระดับความสุขเพิ่มมากขึ้น มีความเครียดลดลง รวมถึงมีภูมิคุ้มกันด้านร่างกายที่มากขึ้น โดยคุณสามารถใช้เวลาเพียงวันละ 5-10 นาทีเป็นอย่างน้อยในการลงมือนั่งสมาธิอย่างสม่ำเสมอ เพราะทันทีที่คุณนั่งสมาธิ คุณก็จะเกิดความรู้สึกสงบ พึงพอใจ มีสติรู้ตัว และความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นมากขึ้นแล้ว





2. แสดงน้ำใจต่อผู้อื่น


ไม่น่าเชื่อว่าเพียงแค่คุณแสดงน้ำใจกับผู้อื่น (ด้วยความเต็มใจ) สัปดาห์ละ 3-5 ครั้ง ก็ทำให้คุณมีความสุขขึ้นได้ ซึ่งเรื่องนี้ยืนยันจากงานวิจัยจากคนมากกว่า 2,000 คน ว่าเพียงแค่แสดงน้ำใจต่อกัลยาณมิตรหรือแม้กระทั่งคนแปลกหน้าจะช่วยลดความเครียดลงและเพิ่มความเข้มแข็งให้กับสุขภาพจิตได้อีกด้วย ซึ่งคุณสามารถเริ่มต้นทำสิ่งนี้ได้ตามที่คุณสะดวก เช่น ช่วยจูงคนตาบอดข้ามถนน พาน้องหมาจรจัดไปโรงพยาบาล เปิดประตูให้คนแปลกหน้าในตึก หรืออาจจะลองอะไรที่แปลกกว่านั้นอีกหน่อย เช่น จ่ายค่าทางด่วนให้รถคันข้างหลัง





3. ทำสภาพแวดล้อมให้น่าอยู่



ไม่น่าแปลกใจซักนิดเลยว่า สภาพแวดล้อมรอบตัวคนเราจะมีผลต่อกรอบความคิด (Mindset) และความสุข แม้คุณอาจไม่สามารถเลือกสภาพแวดล้อมหรือบรรยากาศได้ 100% แต่คุณควรทำเท่าที่สามารถทำได้ เช่น การจัดบ้านและที่ทำงานให้เป็นระเบียบ น่าอยู่ และประดับด้วยภาพที่คุณชอบ เห็นแล้วมีความสุข นอกจากนี้คุณควรหาเวลาพาตัวเองไปอยู่ในธรรมชาติที่ผ่อนคลาย เพราะมีงานวิจัยยืนยันว่า เพียงแค่ใช้เวลา 20 นาทีอยู่กับธรรมชาติที่อากาศดีจะช่วยส่งเสริมความสามารถในการคิดและพัฒนาความจำให้ดีขึ้นด้วย ซึ่งมีหัวหน้าทีมที่รู้ความลับนี้ได้กระตุ้นให้พนักงานออกไปสูดอากาศบริสุทธิ์ด้านนอกตัวอาคารอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง และกลับมาพร้อมที่จะช่วยทำให้ผลการปฏิบัติงานของทีมดีขึ้น





4. ออกกำลังกาย


ความรู้ที่ว่าการออกกำลังกายจะกระตุ้นการหลั่งสารเอ็นโดฟินในร่างกายนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่มีงานวิจัยที่ยังเชื่อมโยงการทำกิจกรรมที่ได้เคลื่อนไหวร่างกายไปถึงการเพิ่มแรงจูงใจ การลดความเครียดและความวิตกกังวลลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทดลองหนึ่งที่สร้างความน่าประหลาดใจได้ค่อนข้างมาก



โดยกลุ่มผู้ป่วยโรคซึมเศร้าถูกแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกบำบัดด้วยการรับประทานยาต้านเศร้าอย่างเดียว กลุ่มที่สองออกกำลังกาย 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ครั้งละ 45 นาที โดยไม่รับประทานยา และกลุ่มที่ 3 ทำทั้งสองอย่างควบคู่กันไป หลังจากนั้น 4 เดือนพบว่า ทั้งสามกลุ่มมีความสุขเพิ่มขึ้นในระดับที่ใกล้เคียงกัน นั่นทำให้เห็นว่าการออกกำลังกายมีผลเทียบเท่ากับยาต้านเศร้า แต่เรื่องไม่ได้จบเพียงแค่นั้น เพราะหลังจากนั้นอีก 6 เดือน กลับพบว่า กลุ่มแรกที่รับประทานแต่ยาต้านเศร้า มีอัตราการกลับมาซึมเศร้าในระดับเดิมถึง 38% ซึ่งไม่ต่างจากกลุ่มที่สามมากนัก ที่มีอัตราการกลับมาซึมเศร้าที่ 31% สิ่งที่น่าประหลาดใจที่สุดก็คือกลุ่มที่ออกกำลังกายเพียงอย่างเดียว กลับมีอัตราการกลับมาซึมเศร้าเพียงแค่ 9%



เมื่อมีงานวิจัยยืนยันถึงขนาดนี้แล้ว คุณควรหาเวลาขยับเขยื้อนร่างกายและออกกำลังกายอย่างเป็นเรื่องเป็นราวบ้าง






5. ใช้จ่ายเงินซื้อประสบการณ์


เงินซื้อความสุขได้ แต่คุณอาจต้องเลือกด้วยว่าจะเลือกใช้จ่ายกับอะไร เพราะการซื้อแต่ละครั้งกลับสร้างและรักษาระยะความสุขให้คุณต่างกัน มีการวิจัยหนึ่งที่สัมภาษณ์คนมากมาย และพบว่า คนที่ใช้จ่ายเงินไปกับประสบการณ์กลับมีความสุขมากกว่าในแง่ของการเติมเต็มชีวิตให้มีความหมาย และการรักษาระยะของความสุขได้นานกว่า โดยเฉพาะการจับจ่ายเพื่อคนอื่น อย่างเช่น เลี้ยงข้าวเพื่อน ซื้อตั๋วหนังแล้วพาน้องไปดูหนัง หรือนำไปบริจาค



หรือแม้กระทั่งกับตัวคุณเอง ความสุขของคุณจะอยู่ยาวกว่าหากคุณจ่ายเงินไปกับทริปท่องเที่ยว แทนที่จะนำไปซื้อของเป็นชิ้นเป็นอัน สอดคล้องกับการสัมภาษณ์คนกว่า 150 คน ที่พบว่า พวกเขามีความสุขเมื่อจ่ายเงินไปกับการออกไปรับประทานอาหารนอกบ้าน หรือซื้อตั๋วคอนเสิร์ตที่เป็นเรื่องของประสบการณ์ มากกว่าตอนที่นำไปซื้อกระเป๋า นาฬิกา หรือสิ่งของอื่น ๆ






6. รอคอยบางสิ่งบางอย่าง


มีงานวิจัยที่น่าสนใจหนึ่งพบว่า เพียงแค่นึกขึ้นได้ว่าในเย็นนี้หรือพรุ่งนี้จะได้ดูหนังที่อยากดูมานานก็ทำให้ระดับสารเอ็นโดฟินในร่างกายเพิ่มขึ้นถึง 27% เพราะหนึ่งในกิจกรรมที่มีความสุขของคนเราคือ “การรอคอยอย่างมีความหวัง” อย่างน้อยระหว่างนั่งทำงานอยู่ คุณคิดไปถึงทริปวันลาพักร้อนรอบหน้า แม้จะยาวนานอีกเป็นเดือนหรือปีก็จะช่วยกระตุ้นความสุขและลดความเครียดให้คุณได้แล้ว






7. ได้ใช้จุดแข็งเฉพาะตัวของคุณ


คนแต่ละคนจะมีจุดแข็งเฉพาะตัว (Signature Strengths) ของตัวเอง แม้ตอนนี้คุณจะมองหาไม่เห็น ไม่เคยรู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองมีจุดแข็งอะไร แต่ขอให้เชื่อว่าคุณมี อาจลองเริ่มจากสิ่งที่คุณทำได้ดีหรือทำแล้วรู้สึกลื่นไหล (Flow) หรือไม่ต้องใช้ความพยายามมากนักก็ทำได้ดี เช่น การเล่นกับเด็ก การเลี้ยงสุนัข การเล่าเรื่องตลก การทำขนม หรือการปลูกต้นไม้



ผลจากการศึกษาของนักจิตวิทยากับอาสาสมัครจำนวนกว่า 500 คน ที่ได้รับคำแนะนำให้ใช้จุดแข็งส่วนตัวในชีวิตประจำวันเป็นเวลา 7 วันติดต่อกัน พบว่า พวกเขามีระดับความสุขที่มากขึ้นและมีภาวะซึมเศร้าน้อยกว่ากลุ่มควบคุมที่ไม่ได้ใช้จุดแข็ง นอกจากนี้ยังพบอีกว่าความสุขนี้จะยังอยู่ยาวนานอย่างน้อย 6 เดือน ดังนั้น คุณจึงควรค้นหาจุดแข็งเฉพาะตัวและหาโอกาสแทรกลงไปในการใช้ชีวิตประจำวันทุกวัน



เหล่านี้คือตัวอย่างกิจกรรมที่ถูกพิสูจน์ด้วยงานวิจัยแล้วว่าช่วยให้คนเพิ่มความสุข ลดความเศร้าได้จริง แถมยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของคนได้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม แต่คนละคนควรมองหากิจกรรมที่เข้ากับจริตของตัวเองด้วย เพราะหลักการอยู่ที่การเพิ่มระดับความสุขให้กับตัวคุณ ซึ่งอาจจะเป็นกิจกรรมที่นอกเหนือจากที่กล่าวมาด้านบนก็เป็นไปได้


 

เรียบเรียงจาก หนังสือ The Happiness Advantage เขียนโดย Shawn Achor

Comentários


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page