6 วิธีเปลี่ยนภาษากาย (Body Language) ให้คุณกลายเป็นคนเจ้าเสน่ห์
ดวงตาเป็นหน้าต่างของหัวใจฉันใด ภาษากาย หรือ Body Language ก็สามารถแสดงออกได้ถึง สิ่งที่อยู่ในใจของคู่สนทนาได้ฉันนั้นค่ะ สำหรับคนที่เรียนจิตวิทยา สังคมสงเคราะห์ หรือพยาบาลมา ก็จะถูกสอนให้มีภาษากายในเชิงบวก ในขณะที่เป็นผู้ฟัง หรือผู้พูด ให้มีท่าทีที่แสดงถึงความใส่ใจ เห็นใจ อบอุ่น น่าเข้าหาค่ะ
แล้วสำหรับคนอื่น ๆ ละ ถ้าหากอยากเปลี่ยนเป็นคนที่ทุกคนอยากคุยด้วยต้องทำอย่างไร จิตวิทยามีคำตอบมาให้ค่ะ มาดูกันเลยว่า 6 วิธีเปลี่ยนภาษากาย (Body Language) ให้คุณกลายเป็น คนเจ้าเสน่ห์มีอะไรกันบ้าง
1. ยิ้มมาจากอินเนอร์
จิตวิทยาแรกที่ทำให้ภาษากายมีเสน่ห์ ก็คือ การยิ้มค่ะ เมื่อคู่สนทนาเล่าเรื่องราวที่มีความสุข ให้ความรู้สึกเชิงบวก เราสามารถยิ้มไปกับเรื่องราวของเขาได้ค่ะ แต่ต้องเป็นยิ้มที่มาจากความรู้สึกจริง ๆ เพราะไม่เช่นนั้นแล้วจะกลายเป็นว่าเรา “ปลอม” รอยยิ้ม กลายเป็นยิ้มเยาะไป ทำให้แทนที่เราจะได้เพื่อนกลับได้ศัตรูเพิ่มขึ้นมาก็เป็นได้ค่ะ
ฉะนั้นแล้ว เมื่อคุณอยากยิ้มให้คู่สนทนา ขอให้ยิ้มมาจากใจ เพราะเมื่อเรายิ้มด้วยความจริงใจ รอยยิ้มจะออกมาทั้งที่ริมฝีปาก และดวงตาค่ะ
2. พยักหน้าเล็กน้อยขณะรับฟัง
ในบางจังหวะ ที่คุณรู้สึกเห็นด้วย หรือต้องการแสดงออกว่า “เราเห็นใจคุณนะ” คุณสามรถพยักหน้าตามเรื่องราวของคู่สนทนาได้ค่ะ แต่ขอให้พยักหน้าเพียงเล็กน้อยอย่างเป็นธรรมชาติ เพราะการพยักหน้าอย่างนุ่มนวล จะทำให้คู่สนทนารู้สึกว่ามีคนเข้าใจเขา และกล้าที่จะเปิดใจเล่าเรื่องต่อให้เราฟังค่ะ แต่หากเราพยักหน้าแรง ๆ ไปหลาย ๆ ครั้ง จะกลายเป็นว่าเรารำคาญเรื่องที่เขาเล่า และทำให้เขาหยุดเล่าได้ค่ะ ซึ่งจะทำให้เสียความรู้สึกกันไป
3. สบตาคู่สนทนา
สิ่งหนึ่งที่ทำให้คู่สนทนารู้สึกดี และรับรู้ว่าเราสนใจเรื่องที่เขาพูด ก็คือ การสบตาค่ะ แต่สายตา ที่สบคู่สนทนา ต้องเป็นสายตาที่อ่อนโยน เป็นมิตรนะคะ ถ้าตาแข็งไป แทนที่จะได้เพื่อน ก็จะกลายเป็นได้เรื่องมาแทน แบบนั้นคงไม่ดีแน่ค่ะ ซึ่งดวงตาเป็นภาษากายที่ชัดเจน และสามารถพูดแทนสิ่งที่อยู่ในใจเราได้ลึกซึ้งมากกว่าการพูดอีกค่ะ
4. เป็นธรรมชาติ
ความเป็นธรรมชาติในที่นี้ มีความหมายทั้งการเป็นตัวของตัวเอง และการปล่อยให้ท่าทาง การแสดงออกของเราเป็นไปตามความรู้สึกที่ได้ฟังเรื่องราวของคู่สนทนาค่ะ ทั้งสายตาที่มองคู่สนทนา คำพูดของเรา การพยักหน้า ท่านั่ง การวางมือ น้ำเสียง และภาษากายอื่น ๆ อีกมากมายที่มาจากอินเนอร์ ที่เป็นไปตามความรู้สึก ล้วนแสดงให้เห็นถึงความจริงใจของเราที่มีต่อคู่สนทนาค่ะ
5. หยุดกิจกรรมอื่นก่อน แล้วมาใส่ใจคู่สนทนาของคุณ
หากคุณผู้อ่านมีเรื่องราวที่พร้อมจะเล่าให้เพื่อนคนหนึ่งฟัง ไม่ว่าเรื่องนั้นจะเป็นเรื่องที่ดี หรือเรื่องที่แย่ก็ตาม แต่เมื่อเราไปพูดคุยกับเพื่อนคนนั้น เพื่อนกับทำอย่างอื่นไม่สนใจเรา เราก็จะรู้สึกแย่ ใช่ไหมคะ ดังนั้นแล้ว หากมีคนที่ตั้งใจเข้ามาพูดคุยกับเรา หากเรายุ่งมาก ก็สามารถบอกคู่สนทนาได้ว่า เราพร้อมรับฟังนะ แต่ตอนนี้เราต้องทำงานด่วน อาจจะมีสมาธิรับฟังได้ไม่ดี แต่ถ้าเราพอจะสามารถ รับฟังเขาได้ ก็ขอให้หยุดทุกกิจกรรมเพื่อพุ่งความสนใจไปยังคู่สนทนาของเราค่ะ เพราะเมื่อเราแสดงออก ถึงความใส่ใจ เรื่องดีที่เขาพร้อมมาเล่าก็จะทำให้คู่สนทนารู้สึกดีขึ้นไปอีก หรือหากเขาเจอเรื่องร้าย ๆ มา เขาก็สามารถรู้สึกดีขึ้นมาได้จากการใส่ใจของเราค่ะ
6. สัมผัสตัวคู่สนทนาเล็กน้อย
การสัมผัสตัวคู่สนทนา ถึงแม้ว่าจะเป็นภาษากายที่แสดงถึงความห่วงใย และเห็นใจ แต่นักจิตวิทยาไม่ค่อยนิยมใช้ค่ะ เพราะถ้าสัมผัสมากไปก็จะเสี่ยงเรื่องการคุกคามทางเพศ (sexually harassment) ได้ค่ะ ดังนั้น ขอให้สัมผัสในช่วงเวลาที่เหมาะ ที่ควร สัมผัสแต่พอดี เช่น ถ้าคู่สนทนาร้องไห้ เราอาจส่งกระดาษทิชชู่ให้ พร้อมจับมือเขาได้ หรือ ถ้าเป็นคนที่เราสนิทมาก ๆ ก็สามารถสวมกอดเขาได้ค่ะ แต่สำหรับคน ต่างเพศ หรือคนที่เพิ่งรู้จักกัน ลดการสัมผัสตัวคู่สนทนาน่าจะดีที่สุดค่ะ
ภาษากาย ในทางจิตวิทยา เป็นภาษาที่ชัดเจนมากกว่าภาษาพูดอีกค่ะ เพราะเป็นภาษาที่ส่งตรง มาจากความรู้สึกจริง ๆ ดังนั้น หากเราสามารถปรับภาษากายของเราให้น่าเข้าหา อบอุ่น อ่อนโยนได้ เราก็สามารถเป็นคนที่มีเสน่ห์ต่อคู่สนทนาได้ค่ะ
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
• คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
อ้างอิง : unlockmen. 1 มีนาคม 2563. Reading Body Language : แค่รู้ “ภาษากาย” ท่าทางของคู่สนทนา จะบอกคุณว่าเขากำลังคิดอะไรกับคุณอยู่กันแน่. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 25 พฤศจิกายน 2563
ประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก
บัณฑิตสาขาวิชาเอกจิตวิทยาคลินิก เกียรตินิยมอันดับ 2 จากรั้ว มช.
และมหาบัณฑิตด้านการพัฒนาสังคม NIDA มีประสบการณ์ด้านจิตวิทยาเด็ก 4 ปี
เป็นผู้ช่วยนักวิจัย ด้านจิตวิทยา 1 ปี
ปัจจุบันเป็นนักสังคมสงเคราะห์ชำนาญการ ที่ประยุกต์ใช้ศาสตร์ทางจิตวิทยา ในการปฏิบัติงานมากว่า 6 ปี
Comments