6 วิธีบอกลาปีเก่าเพื่อต้อนรับสิ่งดี ๆ ในปีใหม่
ในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านของเวลา “เข้าสู่เทศกาลส่งท้ายปีเก่า ต้องรับปีใหม่” เป็นช่วงเวลาที่ใครหลายคนต่างรอคอย ที่จะได้เฉลิมฉลองกับคนที่เรารัก บางคนก็ใช้โอกาสนี้ในการพักผ่อน บางคนก็ใช้โอกาสนี้ในการท่องเที่ยว ทั้งต่างจังหวัดและต่างประเทศ เพื่อพักผ่อนหย่อนใจกับครอบครัวหรือคนรัก
ในขณะที่คนกลุ่มหนึ่งใช้ช่วงเวลานี้ไปกับการทำงาน หรือทบทวนตัวเองในช่วงเวลาที่ผ่านมา ทบทวนเป้าหมาย ทบทวนเรื่องราวที่ผ่านเข้ามาในชีวิต อาจมีหลากหลายเรื่องราวที่สร้างความประทับใจ สร้างรอยยิ้ม บันทึกลงไปในความทรงจำ และอาจมีบางเรื่องที่เข้ามากระทบจิตใจของเราได้เช่นกัน มีทั้งเรื่องที่สมหวังและไม่สมหวังปะปนกันไป ไม่ว่าจะเป็นใครบางคนที่เปลี่ยนไป การพลัดพรากจากคนอันเป็นที่รัก เลิกรากับแฟน ทะเลาะกับเพื่อนหรือคนรัก สิ่งที่คาดหวังไว้ไม่เป็นไปอย่างที่คิด สิ่งที่เกิดขึ้นล้วนเกิดจากสิ่งที่เราควบคุมได้และไม่ได้ และผ่านเข้ามาให้เราทุกคนได้เรียนรู้ วันนี้กวางมีข้อมูลที่ได้รวบรวมมาฝากคุณผู้อ่านในการก้าวข้ามปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 6 วิธีด้วยกันค่ะ
1.เคลียร์สิ่งของเก่า ๆ ที่เราไม่ได้ใช้แล้วออกไป
จากหนังสือ “ชีวิตดีขึ้นทุกด้านด้วยการจัดบ้านเพียงครั้งเดียว” ได้กล่าวถึงสิ่งของที่เรามี หากสิ่งนั้นคือสิ่งที่เราไม่ใช้แล้ว หรือไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหนนั่นหมายถึงเราไม่จำเป็นจะต้องใช้แล้ว ให้เก็บออกไป หากไม่สามารถใช้ได้แล้วให้ทิ้งลงถังขยะ หากยังใช้ได้ให้นำไปบริจาค จากนั้นจัดหมวดหมู่ข้าวของเครื่องใช้ให้เป็นหมวดหมู่เดียวกัน ไม่ปะปนกันเพื่อความเป็นระเบียบและง่ายต่อการใช้สอย เป็นการประหยัดเวลาและทำให้บ้านดูสบายตา สร้างนิสัยที่เป็นระเบียบติดตัวเราอีกด้วยค่ะเมื่อบ้านสะอาด สบายหูสบายตาก็จะดึงดูดสิ่งดี ๆ เข้ามา
2.ทบทวนเป้าหมายที่ผ่านมาแล้วตั้งเป้าหมายต่อไป
ในแต่ละปีเราจะมีการตั้งเป้าหมายของปีต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการลดน้ำหนัก การเก็บเงิน การวางแผนซื้อบ้าน การวางแผนซื้อรถ การทำธุรกิจ การเปลี่ยนงาน การดูแลสุขภาพ เราอาจจะมีบ้างที่เป้าหมายไม่เป็นไปอย่างที่เราคิดไว้ในปีนี้ หลายคนอาจท้อแท้ถอดใจและล้มเลิกไป ด้วยความเชื่อว่าเดี๋ยวก็กลับมาเป็นแบบเดิม คุณขุนเขาสินธุเสน เขจรบุตร ได้กล่าวในการให้สัมภาษณ์ว่า ตามหลักจิตวิทยาแล้วคนเราจะตื่นเต้นกับเป้าหมายเพียง 17 วัน นั่นคือวันที่ 17 มกราคมของทุกปี เราจึงต้องค้นหาเป้าหมายที่แท้จริงให้เจอและมีวินัยในการทำเป้าหมาย สิ่งที่ผ่านมาอาจไม่ใช่ความล้มเหลวเสมอไป เป็นเพียงผลตอบรับเท่านั้นที่เราได้จากการลงมือทำ เพื่อเรียนรู้ที่จะทำในครั้งต่อไปในรูปแบบที่ฉลาดมากขึ้น
3.ทิ้งนิสัยเสียไปกับปีเก่าแทนที่ด้วยนิสัยดี ๆ
คุณรวิศ หาญอุสาหะ ได้กล่าวถึงคนที่ประสบความสำเร็จไว้ว่าคนเหล่านี้ต่างมีนิสัยของความสำเร็จกันทั้งนั้น รวมถึงกฎ 3 วินาทีที่ในทางจิตวิทยาได้พูดถึงในการลงมือทำตามวินัย หากเราจะทำสิ่งใดให้ใช้กฎนี้ในการลงมือทำทันทีค่ะ จากนั้นสังเกตและประเมินตัวเองว่านิสัยใดที่ไม่ส่งผลดีหรือส่งเสริมชีวิตเราให้ประสบความสำเร็จ ก็ให้ลิสต์ไว้ จากนั้นก็แทนที่นิสัยทีดีเข้าไปด้วยกฎการแทนที่ แล้วเราจะเป็นคนใหม่จากการค่อย ๆ เปลี่ยนนิสัยในแต่ละวันดังที่ Steven Spielberg ได้กล่าวไว้ว่าเราจะเป็นคนใหม่ในแต่ละปีนั่นเองค่ะ
4.ตั้งเป้าหมายการเรียนรู้ในสิ่งที่เราสนใจ
ในยุคที่เราต่างต้องพัฒนาตัวเอง เพื่อปรับเปลี่ยนตัวเองให้ทันกับเหตุการณ์และโลกที่
เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วการพัฒนาตัวเอง จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นเป็นอย่างมาก มีหลากหลายวิธีการให้เราเลือกด้วยกัน ไม่ว่าจะด้วยการอ่านหนังสือหากมีหนังสือเล่มใหม่เป็นเพื่อนคุยจะดีมากเลยค่ะ การลงมือทำเรียนรู้ด้วยตัวเอง หรือการเข้าคอร์ส สัมมนา เพื่อเรียนรู้และให้คำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญโดยตรง ในด้านที่เราสนใจและจะเป็นแนวทางที่เราถนัดและต่อยอดได้จริง เราจึงจำเป็นต้องรู้จักตัวเราเองก่อนว่าเราต้องการที่จะพัฒนาในด้านไหนในแต่ละปี
5.การตั้งเป้าหมายแบบ S.M.A.R.T.
คนที่พูดเรื่องนี้เป็นคนแรก ๆ คือ Geoege T. Doran ซึ่งว่ากันว่าเขาได้แนวคิดนี้มาจากหนังสือ ของ Peter Drucker ที่ชื่อ Practice of Management ในปี ค.ศ.1951 จากหนังสือ “ฉันเปลี่ยนเพราะเขียนเป้า” โดยคุณวิสูตร แสงอรุณเลิศ ซึ่งมีความหมายโดยย่อดังนี้ค่ะ
S = Specific คือความจำเพาะเจาะจง
M = Measurable คือสามารถวัดผลเป็นตัวเลขได้
A = Achievable คือเป้าหมายนั้นสามารถเป็นไปได้หรือไม่คือการประเมินตัวเองก่อนตั้งเป้าหมาย
R = Relevance มันเกี่ยวข้องกับเรามากแค่ไหนหรือสำคัญแค่ไหน
T = Time-Bound คือต้องมีกรอบของเวลาที่ชัดเจนว่าต้องสำเร็จเสร็จสิ้นเมื่อไหร่
6.ให้อภัยกับสิ่งที่ผ่านมา
สิ่งที่ผ่านมาล้วนกลายเป็นอดีต ที่เราไม่สามารถกลับไปแก้ไขได้ แต่เราสามารถเรียนรู้จากมันได้ มีทั้งเรื่องราวที่เราไม่ได้อยากให้เกิดขึ้นและไม่สมหวัง มีเรื่องราวที่เราไม่ได้ดั่งใจทั้งจากตัวเราเองและคนอื่น เกิดจากความคาดหวังทั้งสิ้น และคนที่เราควรให้อภัยคนแรกคือตัวเราเอง เพื่อปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระจากความผิดพลาดที่เป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์ อภัยผู้อื่นที่เขาก็ผิดพลาดได้เช่นกัน
Comments