นักจิตวิทยาแนะนำ 6 วิธีควบคุมความโกรธ ก่อนที่ความโกรธจะควบคุมคุณ
ความโกรธ (Anger) เป็นอารมณ์หนึ่งของคนเราที่มักจะเกิดขึ้นเมื่อมีบางคนหรือบางสิ่งทำให้รู้สึกไม่โอเค อันที่จริงความโกรธนั้นก็มีประโยชน์อยู่เหมือนกัน คือมันสามารถช่วยให้คนเราได้มีโอกาสปลอดปล่อยความรู้สึกทางลบออกมา ไม่เก็บกดอารมณ์เอาไว้จนเกิดผลเสียต่อตัวเอง แต่หากความโกรธมีมากจนเกินไป ก็จะเป็นโทษได้เช่นกัน เพราะความโกรธจะทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น ร่างกายที่มีปฏิกิริยาตอบสนองต่อความโกรธก็จะแตกต่างไปจากร่างกายในสภาวะปกติ หากปล่อยให้ความโกรธเกิดขึ้นมากไปหรือยาวนานจนเกินไปก็จะส่งผลเสียต่อทั้งร่างกายทั้งสุขภาพจิตได้ เช่น ความจำแย่ลง ระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้แย่ลง อันเป็นผลมาจากฮอร์โมนความเครียดที่ส่งผลต่อการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย นอกจากนั้นแล้ว คนที่ “ขี้โมโห” ก็อาจจะได้รับผลกระทบด้านสังคมและความสัมพันธ์ตามมาอีกด้วย
ทำไมบางคนจึงโกรธง่าย?
มีงานวิจัยที่สนับสนุนว่าความโกรธมีความสัมพันธ์กับลักษณะนิสัยใจคอ (trait) สิ่งที่ทำจนเป็นนิสัย (habit) รวมไปถึงทัศนคติ (attitude) รวมไปถึงปัจจัยเหล่านี้ก็เป็นปัจจัยที่ส่งเสริมให้คนเรากลายเป็นคนที่แสดงความโกรธออกมารุนแรงมากกว่าคนอื่น ได้แก่
การมีความเชื่อ (อย่างไม่รู้ตัว) ว่าตนเองมีอภิสิทธิ์เหนือคนอื่น เหนือกว่าคนอื่น จะทำอะไรก็ได้
มุ่งความสนใจไปที่คนอื่นมากกว่าการควบคุมกำกับตนเอง เช่น คิดว่าทำไมคนอื่นไม่ทำแบบนั้นแบบนี้
เป็นคนที่มักจะพยายามจะควบคุมสิ่งแวดล้อมให้เป็นไปตามใจของตัวเอง
ปฏิเสธมุมมองความคิดของคนอื่น มองว่าคนที่คิดต่างเป็นภัยคุกคาม
มีความอดทนต่อความไม่สะดวกสบายและความคลุมเครือต่ำ
ติดนิสัยชอบตำหนิกล่าวโทษปัจจัยภายนอกตนเอง
ที่ตัวตนที่เปราะบาง
มีประวัติการถูกเลี้ยงดูจากครอบครัวที่ไม่สงบ มีความยุ่งเหยิง หรือมักสื่อสารกันด้วยอารมณ์มากกว่าเหตุผล
ทั้งนี้ทั้งนั้น ความโกรธที่แสดงออกมาก็ไม่ได้มีลักษณะเกรี้ยวกราดรุนแรงเสมอไป ในบางครั้งความโกรธก็สามารถแสดงออกมาในแบบที่นุ่มนวลแต่เชือดเฉือนได้เช่นกัน [อ่านเพิ่มเติมได้ที่ ความโกรธที่ถูกซ่อนไว้ในรูปแบบpassive-aggressive]
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้แล้ว เชื่อว่าหลายคนก็น่าจะไม่ชอบที่ตัวเองเป็นคนที่โกรธง่ายหรือมีลักษณะเกรี้ยวกราดรุนแรง แต่จะทำอย่างไรให้สามารถควบคุมความโกรธ ก่อนที่ความโกรธจะควบคุมคุณ จากบทความของสมาคมจิตวิทยาอเมริกัน (American Psychological Association: APA) ได้แนะนำเอาไว้ดังนี้
1. ใช้เทคนิคการผ่อนคลายต่าง ๆ เช่น การฝึกหายใจ การจินตนาการถึงบรรยากาศที่ผ่อนคลาย เพื่อให้ความโกรธของคุณลดลง นอกจากนั้น ยังมีหนังสือมากมายที่แนะนำเกี่ยวกับการฝึกจัดการกับความโกรธ หรือคอร์สฝึกอบรม ที่คุณสามารถหามาให้ตัวเองเพื่อลองฝึกจัดการกับความโกรธดู
2. ปรับมุมมองความคิด เวลาที่คนเราโกรธก็มักจะพูดสบถหรือใช้คำที่รุนแรงแรงออกไป โดยคำพูดเหล่านั้นก็มักจะสะท้อนภาพความคิดที่เกิดขึ้นในขณะนั้น ดังนั้น เพื่อที่จะปรับคำพูดหรือพฤติกรรมของตนเอง คุณอาจจะลองทดแทนความคิดที่เคยเป็นไปในทางลบด้วยการคิดเชิงบวกมากขึ้น เช่น จากเดิมที่เคยคิดว่า “ทำไมมันต้องมีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นกับฉัน” ก็เปลี่ยนเป็น “เรื่องนี้มันเกิดขึ้นแล้ว จากนี้ฉันจะแก้ไขมันยังไง”
3. ฝึกทักษะการแก้ปัญหา ไม่ใช่ทุกความโกรธที่จะเกิดขึ้นอย่างไม่มีเหตุผล บางทีความโกรธก็มาจากการที่คนเราตกอยู่ในสถานการณ์ที่หลีกหนีไม่ได้ ไม่รู้จะทำยังไงกับสิ่งที่มันเกิดขึ้น หากมีการฝึกทักษะการแก้ปัญหาโดยเฉพาะปัญหาเฉพาะหน้าเอาไว้ ก็จะช่วยให้สามารถจัดการกับสิ่งที่มันเกิดได้ ซึ่งเมื่อจัดการให้ทุกอย่างเรียบร้อยได้ ความโกรธก็จะลดลง เช่น หากคุณเดินไปชนกับพนักงานเสิร์ฟที่กำลังถือแก้วกาแฟมาพอดี หากคุณรู้ว่าคุณจะทำยังไงหลังจากที่กาแฟหกเลอะบนเสื้อของคุณ คุณก็จะไปจัดการให้เรียบร้อยแทนที่จะตะคอกตะโกนใส่พนักงานคนนั้น
4. ฝึกทักษะการสื่อสาร บางครั้งคนเราก็มีความโกรธเพราะมีความรู้สึกอึดอัดหรือรู้สึกว่าทำไมคนอื่นไม่ได้ดั่งใจเลย รวมไปถึงการที่บางคนมีความเคยชินกับการกระโดดไปที่บทสรุปเลยทั้งที่ยังไม่มีข้อมูลหรือยังไม่ทันได้ไตรตรองอะไรให้ถี่ถ้วน จึงทำให้รู้สึกโกรธเพราะความรู้สึกไม่พอใจ หากมีการสื่อสารและรับฟังคนอื่นมากขึ้นอีกสักนิด คุณอาจจะมีข้อมูลที่ทำให้เข้าใจอีกฝ่ายหนึ่งมากขึ้น และโกรธน้อยลง
5. ใช้อารมณ์ขัน คุณเคยสังเกตไหมว่าบางคนสะดุดหกล้มแล้วลุกขึ้นมาด้วยความโกรธ ในขณะที่บางคนก็สะดุดหกล้มเหมือนกันแต่กลับลุกขึ้นมาพร้อมหัวเราะให้กับตัวเอง เพราะการ “ตึง” กับตัวเองมากไปก็สามารถทำให้กลายเป็นคนโกรธง่ายหรือขี้โมโหได้ อย่างไรก็ตาม การใช้อารมณ์ขันไม่ได้หมายความว่าให้คุณพยายาม “เค้น” หัวเราะออกมาหรือแสร้งทำเป็นหัวเราะ แต่การใช้อารมณ์ขันจะต้องออกมาจากความรู้สึกข้างในจริง ๆ ดูเหมือนง่ายแต่อาจจะไม่ง่ายเลยสำหรับคนที่มีนิสัยโกรธง่ายหรือเป็นคนขี้โมโห เพราะถ้ามองทุกอย่างเป็นเรื่องขำ ๆ ได้ก็คงจะไม่โกรธ ดังนั้น สิ่งที่คุณอาจต้องฝึกควบคู่กันไปก็คือการฝึกมีเมตตาต่อตัวเอง ให้อภัยตัวเองในวันที่ทำพลาด และโอบกอดความไม่สมบูรณ์แบบของตัวเองบ้าง ยอมรับตัวเองในแบบที่เป็นไม่ใช่ในแบบที่อยากจะเป็น
6. ไปพบนักจิตวิทยาหรือนักให้คำปรึกษา หากคุณพบว่าตนเองเป็นคนที่โกรธง่ายหายยาก จนกระทบต่อสุขภาพกาย สุขภาพใจ และความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง แต่ไม่ว่าจะฝึกหายใจก็แล้ว พยายามจะมีอารมณ์ขันก็แล้ว แต่ดูเหมือนว่าไม่มีอะไรดีขึ้นมาเลย คุณอาจจะลองไปพบนักจิตวิทยาหรือนักให้คำปรึกษาเพื่อพูดคุยและค้นหาสาเหตุว่าเพราะอะไรคุณจึงเป็นคนที่โกรธง่ายเช่นนี้ เมื่อพบสาเหตุแล้วก็จะได้แก้ไขให้ถูกต้องเหมาะสมกับปัญหาที่มีความเฉพาะเจาะจง
สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ
iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
• คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
บทความที่เกี่ยวข้อง
อ้างอิง
[1] Anger. Retrieved from https://www.apa.org/topics/anger
[2] Anger. Retrieved from https://www.psychologytoday.com/us/basics/anger
[3] Controlling anger before it controls you. https://www.apa.org/topics/anger/control
ประวัติผู้เขียน
นางสาวนิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) การศึกษา: ปริญญาโทสาขาจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ปริญญาตรีสาขาจิตวิทยา (คลินิก) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
การทำงาน: พ.ศ. 2555 - ปัจจุบัน นักจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา
และเป็นนักเขียนของ istrong
Comments