6 วิธีเสริมสร้างกำลังใจให้แก่ผู้สูงอายุในบ้าน
StartFragmentคุณผู้อ่านคงทราบกันดีอยู่แล้วว่า ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” หรือ Social age society อย่างเต็มรูปแบบ โดยคุณภุชพงค์ โนดไธสง ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) เปิดเผยว่า ปี 2564 ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ ทั้งนี้จากฐานข้อมูลประชากรของประเทศไทย ปี 2560 พบว่าจากจำนวนประชากรทั้งสิ้น 67.6 ล้านคน เป็นผู้สูงอายุ จำนวน 11.3 ล้านคน คิดเป็น 16.7% ของจำนวนประชากรทั้งหมด ในจำนวนนี้ยังคงทำงานอยู่ราว 3.9 ล้านคน เพื่อหารายได้เสริมและเลี้ยงครอบครัว เพราะผู้สูงอายุบางคนไม่มีคนดูแลEndFragment
ทางสสช.ได้ประเมินว่า ในปี 2564 จะมีประชากรผู้สุงวัยสูงถึง 20% และในปี 2574 ประเทศไทยจะมีประชากรผู้สุงวัยสูงถึง 28% นั้นหมายความว่า ผู้สูงอายุจะเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศนั้น ทำให้วัยทำงานอย่างเราต้องเป็นกำลังหลักในการดูแลผู้สูงอายุในครอบครัว ดังนั้น ในบทความนี้จะมาแนะนำวิธีการเสริมสร้างกำลังใจและการดูแลผู้สูงอายุอย่างมีประสิทธิภาพค่ะ
การเปลี่ยนแปลงในวัยสูงอายุ
ก่อนอื่นเรามาดูกันก่อนว่าในวัยผู้สูงอายุนั้นมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง โดยแบ่งการเปลี่ยนแปลงเป็นด้านต่างๆ ดังนี้
1.พัฒนาการด้านร่างกาย
ในวัยสูงอายุร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลงในทุกระบบในลักษณะเสื่อมถอย โดยการเปลี่ยนแปลงภายนอก คือ ผมเปลี่ยนเป็นสีขาวมากขึ้น มีรอยเหี่ยวย่นบนใบหน้า หลังโกง กล้ามเนื้อหย่อนสมรรถภาพ เคลื่อนไหวร่างกายช้าลง การทรงตัวไม่ดี การได้ยินเสื่อมลง การเปลี่ยนแปลงภายในร่างกายที่สำคัญ คือ ความยืดหยุ่นตัวของเส้นเลือดลดลง มีการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกาย เป็นต้น
2.พัฒนาการทางด้านอารมณ์
อารมณ์ของผู้สูงอายุยังคงมีอารมณ์รักในบุคคลอันเป็นที่รัก โดยเฉพาะสมาชิกในครอบครัว ได้แก่ คู่สมรส บุตร หลาน และเมื่อเกิดการสูญเสีย ผู้สูงอายุจะมีความเศร้าโศกอย่างมาก จะมีผลกระทบต่อจิตใจ สุขภาพกาย และพฤติกรรมของผู้สูงอายุค่อนข้างมาก มีอารมณ์เหงา ว้าเหว่ บางรายอาจรู้สึกว่าคุณค่าของตนเองลดลงเนื่องจากต้องพึ่งพาบุตรหลานในเรื่องการประกอบกิจวัตรประจำวัน ค่าใช้จ่าย ค่ารักษาพยาบาล รู้สึกว่าตนเองเป็นภาระของคนอื่น มักแสดงอาการหงุดหงิด น้อยใจ ต่อบุตรหลาน
3.พัฒนาการทางด้านสังคม
ทฤษฎีพัฒนาบุคลิกภาพของอิริคสัน กล่าวว่า ผู้สูงอายุอยู่ในขั้นพัฒนาการขั้นที่ 8 คือ ความมั่นคงและความหมดหวัง ( integrity vs. despair ) เป็นวัยที่สุขุม รอบคอบ ฉลาด ยอมรับความจริง ภูมิใจในการถ่ายทอดประสบการณ์ให้บุตรหลานและคนรุ่นหลัง มีความมั่นคงในชีวิต ตรงข้ามกับผู้สูงอายุที่ล้มเหลวจะไม่พอใจในชีวิตที่ผ่านมา ไม่ยอมรับสภาพที่เปลี่ยนไป รู้สึกคับข้องใจท้อแท้ในชีวิต
4.สังคมของผู้สูงอายุ
คือ สังคมในครอบครัวหรือเพื่อนร่วมวัย แต่จากการที่กลุ่มเพื่อนมีการตายจากกัน หรือต่างคนต่างอยู่ในครอบครัวของตน หรือจากปัญหาสุขภาพกาย ทำให้ไม่สามารถติดต่อกันได้ กิจกรรมของผู้สูงอายุจึงมักเป็นกิจกรรมการเลี้ยงดูหลาน ดูแลบ้านให้กับบุตรหลาน เป็นต้น
5.พัฒนาการทางด้านสติปัญญา
เมื่อเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ สมองจะฝ่อและมีน้ำหนักลดลง เลือดมาเลี้ยงสมองได้น้อย มีภาวะความดันโลหิตสูง เซลล์ประสาทตายเพิ่มขึ้นและจำนวนเซลล์ลดลงตามอายุ ทำให้สมองเสื่อมหรือถูกทำลายไป โดยเฉพาะส่วนที่เรียกว่า Gray Matter มักพบอาการความจำเสื่อมโดยเฉพาะความจำในเหตุการณ์ปัจจุบัน (recent memory) และความจำเฉพาะหน้า (immediate memory) แต่ความจำในอดีต (remote memory) จะไม่เสีย
วิธีการดูแลผู้สูงอายุในบ้าน
ครอบครัวที่มองเห็นคุณค่าของผู้สูงอายุย่อมมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมทางด้านสังคมโดยการมีกิจกรรมในบ้านร่วมกัน เช่น งานเลี้ยงพร้อมหน้าทั้งครอบครัวประจำสัปดาห์ การท่องเที่ยวแบบพร้อมหน้าทุกคนในครอบครัว เป็นต้น รวมถึงควรมีการส่งเสริม และสนับสนุนการเตรียมแผนการในชีวิตของผู้สูงอายุ ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม ครอบครัว และการเงิน
นอกจากการดูแลข้างต้นแล้ว การใส่ใจเรื่องสุขภาพทางจิตใจของผู้สูงอายุก็เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง จากข้อมูลของศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์ พบว่า ผู้สูงอายุมักมีปัญหาด้านสุขภาพจิตเสมอ โดยรายงานจากกรมสุขภาพจิตในปี 2540 ผู้มีอายุ 60 - 69 ปี มีสถิติการฆ่าตัวตาย 207 ราย และในปี 2549 เพิ่มเป็น 272 และยังพบว่า ผู้สูงอายุมักมีอาการซึมเศร้า หวาดกลัวได้ง่าย เหงา เกิดความรู้สึกขาดความรัก ไม่เป็นที่ต้องการ และขาดศักดิ์ศรี ดังนั้นการดูแลผู้สูงอายุจึงต้องดูแลอย่างรอบด้าน ด้วยวิธีการดังนี้
1.ให้ความรัก ความนับถือเหมือนเมื่อครั้งผู้สูงอายุยังอยู่ในวัยทำงาน
2.ให้ความเข้าใจ มีเวลาให้บ้าง สั่งสอนอบรมให้ลูกหลานยังคงเคารพนับถือ
3.ไม่แสดงให้ผู้สูงอายุรู้สึกว่าเป็นภาระ หมดคุณค่า เป็นที่ไม่ต้องการ
4.หาทางช่วยเสริมสร้างศรัทธาในตนเองให้กับผู้สูงอายุ เช่น การได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมผู้สูงอายุด้วยกัน การได้มีส่วนร่วมในการดูแลครอบครัวโดยให้เหมาะสมกับสุขภาพผู้สูงอายุ การยังเป็น ที่เคารพนับถือของคนในครอบครัวที่อาวุโสน้อยกว่า
5.ผู้สูงอายุควรมีโอกาสได้เข้าสังคมที่เหมาะสม การที่ต้องอยู่แต่ในบ้าน ขาดเพื่อนในวัยเดียวกัน หรือขาดคนพูดคุยผ่อนคลายความเหงา ยิ่งเป็นการบั่นทอนสุขภาพจิตของผู้สูงอายุ
6.ผู้ดูแลและครอบครัว ควรคอยสังเกตอาการซึมเศร้าของผู้สูงอายุเสมอ เมื่อมีอาการมาก หรือครอบครัวไม่สามารถแก้ปัญหาได้ควรรีบปรึกษาแพทย์/พามาโรงพยาบาล
จะเห็นได้ว่า ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มบุคคลที่กำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในประเทศไทย ซึ่งผู้สูงอายุเป็นบุคคลที่ต้องพึ่งพา มีปัญหาจากการเสื่อมถอยของร่างกาย ซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติตามวัยที่เพิ่มมากขึ้น และมีปัญหาสุขภาพจิต เพราะเป็นวัยแห่งการพลัดพรากสูญเสีย ดังนั้นจึงเป็นวัยที่ต้องมีการดูแลเฉพาะแตกต่างจากวัยอื่นๆ เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถดูแลตนเองได้พอสมควรกับวัย มีสุขภาพแข็งแรง ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ทั้งนี้ ผู้อ่านหวังว่าข้อมูลที่ได้นำมาเล่าสู่กันฟังจะเป็นประโยชน์ต่อคุณผู้อ่านในการดูแลผู้สูงอายุที่บ้านกันนะคะ
อ้างอิง :
1. https://www.thairath.co.th/content/1253407
2. ศรีเรือน แก้วกังวาล.2538. จิตวิทยาพัฒนาการชีวิตทุกช่วงวัย. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
3. ทิพย์ภา เชษฐ์เชาวลิต. 2541. จิตวิทยาพัฒนการสำหรับพยาบาล. สงขลา : ชานเมืองการพิมพ์.
4. https://med.mahidol.ac.th/ramamental/generalknowledge/general/07172014-1131
5. http://haamor.com
Comments