ต้องอ่าน! 6 เทคนิคจิตวิทยา ป้องกันผู้สูงวัยจากมิจฉาชีพบนโลกออนไลน์
ในทุกวันนี้ต้องบอกเลยว่า “มิจฉาชีพออนไลน์” ชุกชุมยิ่งกว่ายุงอีกค่ะ ซึ่งเป้าหมายที่โดนหลอกมากที่สุด ก็คือ ผู้สูงวัย จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ผู้สูงวัยส่วนใหญ่ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการท่องโลกออนไลน์เพื่อติดตามข่าวสาร พูดคุยกับเพื่อน และซื้อของออนไลน์ โดยมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุ รายงานว่า ผู้มีอายุ 50 - 70 ปีใช้งานอินเทอร์เน็ตเฉลี่ยที่ 2 - 3 ชั่วโมงต่อวัน โดยในช่วงอายุ 50 - 54 ปี ใช้อินเทอร์เน็ตต่อวันมากสุด คือ 4 - 5 ชั่วโมง ทั้งนี้กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้ข้อมูลว่าช่องทางที่ผู้สูงวัยถูกหลอกมากที่สุด ได้แก่ Facebook 44%, Line 31.25% และ Instagram 5.25% นอกจากนี้ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) ให้ข้อมูลว่า ในปี พ.ศ. 2564 มีผู้ร้องเรียนเรื่องมิจฉาชีพออนไลน์มากว่า 50,000 เรื่อง ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2563 ถึง 20% โดยปัญหาที่พบมากที่สุดในผู้สูงวัย ก็คือ การซื้อขายออนไลน์
เมื่อมาดูงานวิจัยเชิงจิตวิทยาภายในประเทศเมื่อปี พ.ศ. 2563 โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย พบว่า ผู้สูงวัยถึง 30.5% ถูกหลอกให้ร่วมลงทุนในลักษณะลูกโซ่ รองลงมาที่ 27.25% ถูกหลอกให้โอนเงิน จากงานวิจัยยังพบอีกว่ามีผู้สูงวัยจำนวนน้อยมากที่ไปแจ้งความหรือติดตามเอาเงินคืน โดยมีเพียง 25.75% เท่านั้นที่แจ้งความ แต่อีก 46.75% เลือกโพสต์ประจานลงสื่อสังคมออนไลน์แทน
จากข้อมูลข้างต้น ทำให้เห็นว่ามีแนวโน้มสูงที่ผู้สูงวัยในบ้านเราจะถูกหลอกโดยมิจฉาชีพออนไลน์เพิ่มมากขึ้น ซึ่งไม่ได้เสียแค่เงินทองเท่านั้น ยังทำให้สุขภาพจิตของผู้สูงวัยแย่ตามไปด้วย เพราะมีความเครียด และความวิตกกังวลสูง บางคนต้องเสียเงินเก็บทั้งชีวิตไป บางคนต้องระแวงกับสายโทรศัพท์ที่โทรเข้าว่าจะเป็นมิจฉาชีพ ดังนั้นผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาจึงได้แนะนำ 6 เทคนิคจิตวิทยา ป้องกันผู้สูงวัยจากมิจฉาชีพออนไลน์ ดังนี้ค่ะ
1. อย่าเพิ่งรีบเชื่อในทันที
ข่าวสารเดี๋ยวนี้มาไว เข้าถึงไว ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหนก็สามารถรับข่าวสารได้ทุกที่ แต่เราจะทราบได้อย่างไรว่าข่าวที่เรารับมานั้นเป็นข่าวจริง หรือ Fake News เพราะทุกคนที่มีโทรศัพท์มือถือก็สามารถสร้างข่าวและแชร์ข่าวได้ หรือมิจฉาชีพออนไลน์ก็มีเครื่องมือที่ทำให้ข่าวดูน่าเชื่อถือ ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยของผู้สูงวัย เมื่อเห็นข่าวอะไรก็ตาม อย่าเพิ่งเชื่อจนกว่าจะทำตามเทคนิคจิตวิทยาอีก 5 ข้อที่เหลือจนครบค่ะ
2. เปรียบเทียบข้อมูลจากหลาย ๆ แหล่ง
เมื่อเราได้รับข่าวสารมา หรือมีคนโทรมาแจ้งว่าเราทำผิด ให้โอนเงินอะไรก็ตามที่ดูจะเป็นมิจฉาชีพ ขอให้เข้า Google แล้วค้นหาข่าว หรือเรื่องราวที่มีคนโทรมา เพื่อตรวจสอบดูว่ามีข่าวเดียวกัน หรือเหตุการณ์คล้าย ๆ กับที่เราเจออยู่หรือไม่ หากไม่พบข้อมูลจากแหล่งข่าวอื่น นั่นหมายความว่ามีแนวโน้มสูงที่จะเป็นข่าวปลอมแน่นอนค่ะ หรือถ้าเราค้นหาคำพูดของคนที่โทรมาแล้วขึ้นเตือนภัย ก็แสดงว่าเราเจอเข้ากับมิจฉาชีพแล้วละค่ะ
3. อย่าเพิ่งรีบแชร์
มีบ่อยครั้งที่เราจะได้เห็นข้อความประเภทที่ว่า “แชร์ต่อ 50 คนจะได้รับส่วนลด 50%” หรือ “แชร์ครบ 100 คน รับไปเลย....” และก็มีคนแชร์เข้ามาใน Line บ้าง Massager บ้าง ซึ่งแน่นอนค่ะว่า ข้อความแบบนี้ของปลอม 100% ดังนั้น หากต้องการแชร์ข้อมูล หรือข้อความใด ๆ เพื่อจุดประสงค์อะไรก็ตาม ขอให้เลือกแชร์จากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ เช่น เพจข่าว เว็บไซต์สื่อสารมวลชนที่มีความน่าเชื่อถือ เว็บไซต์/เพจหลักของแบรนด์สินค้า/ห้างสรรสินค้าต่าง ๆ เป็นต้น
4. เลือกเข้าชมเฉพาะสื่อที่น่าเชื่อถือเท่านั้น
เมื่อการหาเงินผ่านทางสื่อออนไลน์เป็นเรื่องง่ายและสะดวก ดังนั้นจึงมีเพจ หรือเว็บไซต์ที่อ้างตัวเองว่าเป็นแหล่งข่าว ผู้สื่อข่าว หรือเป็นคนวงในที่รู้ข่าวบางข่าวก่อนคนอื่น โพสต์ข่าวจริงบ้าง ข่าวปลอมบ้าง ข่าวปั่นป่วนสถานการณ์บ้าง ซึ่งข่าวปลอมที่เราพบเห็นมากที่สุด ก็คือ ข่าวที่แชร์ต่อ ๆ มาใน Line กลุ่มที่โดยส่วนใหญ่จะถูกแชร์โดยผู้สูงอายุ ที่ข้อความจะขึ้นต้นคล้าย ๆ กันว่า “ส่งต่อด่วน!!! อาจารย์หมอเตือน” “รีบแชร์ก่อนลบ!!!” ซึ่งอาจารย์หมอที่ว่าหรือบุคคลที่ถูกอ้างอิงถึงคือใครก็ไม่รู้
5. หากสงสัยให้สอบถามจากแหล่งที่ถูกอ้างถึง
ต่อเนื่องจากข้อ 4 หากคุณสงสัยว่าสิ่งที่อ่านมา รับรู้มา หรือข้อมูลที่ไปเจอมา เป็นข่าวจริงหรือไม่ แนะนำว่าให้โทรเข้า Call Center ของแหล่งข้อมูลที่ถูกอ้างถึง หรือสถานที่ทำงานของบุคคลที่ถูกอ้างอิงถึง เช่น หากคุณไปพบโฆษณาขายยาเทวดา รักษาทุกโรค โดยอ้างอิงถึงแพทย์รามาธิบดี ก็ลองค้นหาข้อมูลชื่อคุณหมอก่อนว่ามีตัวตนจริงหรือไม่ และลองโทรเข้าเบอร์ติดต่อของคุณหมอเพื่อสอบถาม จะได้รู้ชัดกันไปเลยว่าจริง หรือหลอก แต่ส่วนใหญ่ก็มักจะหลอกละค่ะ
6. ปรึกษาลูก – หลานก่อนจะเชื่อ
แต่ถ้าหากเทคนิคที่ว่ามาทั้ง 5 ข้อข้างต้น คือ อย่าเพิ่งรีบเชื่อในทันที เปรียบเทียบข้อมูลจากหลาย ๆ แหล่ง อย่าเพิ่งรีบแชร์ เลือกเข้าชมเฉพาะสื่อที่น่าเชื่อถือเท่านั้น และหากสงสัยให้สอบถามจากแหล่งที่ถูกอ้างถึง มันยากเกินไป หรือไม่รู้ว่าต้องตรวจสอบอย่างไร ลองขอความช่วยเหลือจากลูก – หลานให้ช่วยตรวจสอบให้ก่อนจะตัดสินใจโอนเงิน หรือสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ หรือแชร์ข้อความที่แถมไวรัสนะคะ ยอมเสียเวลาดีกว่าเสียเงิน เสียความรู้สึกค่ะ
เคยมีผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาท่านหนึ่งเคยกล่าวไว้ว่า “การปล่อยให้ผู้สูงวัยติดมือถือนั่นอันตรายพอ ๆ กับการปล่อยให้เด็กเล็ก ๆ เล่นมือถือ” ซึ่งดิฉันก็เห็นว่าไม่ได้เกินจริงเลยค่ะ เพราะการที่เราไม่เท่าทันโลกออนไลน์ จะยิ่งทำให้การอยู่ในโลกออนไลน์และโลกจริงในปัจจุบันของเราเป็นอันตรายค่ะ
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
• คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
บทความแนะนำ :
อ้างอิง :
[1] Ch7HD News. (1 ตุลาคม 2021). เปิดกลโกงมิจฉาชีพออนไลน์ ที่ใช้หลอกผู้สูงอายุ พร้อมเทคนิคป้องกันตัวเอง. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2565 จาก https://www.facebook.com/Ch7HDNews/
[2] ฐานเศรษฐกิจ. (10 เมษายน 2565). สถิติผู้สูงวัย 44% โดนตุ๋นผ่านเฟซบุ๊ก เตือนภัยออนไลน์สินค้าอะไรต้องระวัง. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2565 จาก
https://www.thansettakij.com/economy/520838
ประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก คุณแม่ของลูก 1 คน แมว 1 ตัว ที่พยายามใช้ความรู้ทางจิตวิทยาที่ร่ำเรียนมาและประสบการณ์การทำงานด้านจิตวิทยาพัฒนาการเด็ก มาสร้างความสุขในการใช้ชีวิต ดูแลครอบครัว และการทำงาน รวมถึงมีความสุขกับการได้เห็นว่าบทความจิตวิทยาที่เขียนไปมีประโยชน์กับคนอ่าน
Comments