ความสุขคนไทยต่ำสุด!ในรอบ 11 ปี ใช้ 6 เทคนิคนี้เพิ่มความสุขในชีวิต
จากรายงานจิตวิทยาความสุขโลกประจำปี 2566 (World Happiness Report 2023) พบว่า ประเทศไทยมีความสุขอยู่อันดับที่ 60 ของโลก ทางด้านรายงานความสุขโลกประจำปี 2567 (World Happiness Report 2024) ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 58 ของโลก และเป็นอันดับที่ 7 ของอาเซียน โดยปัจจัยจิตวิทยาที่ผู้เชี่ยวชาญนำมาคิดคะแนนความสุข ได้แก่ ข้อมูลผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ต่อหัว อายุคาดเฉลี่ยของการมีสุขภาพดี การสนับสนุนทางสังคม เสรีภาพ ความเอื้ออาทร และการรับรู้การทุจริต
เมื่อพิจารณารายงานสถานการณ์ความสุขภายในประเทศ จากรายงานภาวะสังคมไทย ไตรมาสที่ 4 ปี 2566 โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พบว่า คนไทยต้องได้รับการเพิ่มความสุขในชีวิตโดยเร่งด่วน เพราะว่าความสุขคนไทยต่ำสุดในรอบ 11 ปี โดยในปี 2566 คนไทยเจ็บป่วยด้วยภาวะสุขภาพจิต 256,000 คน โดยในจำนวนนี้ต้องเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลมากถึง 28,775 คน คิดเป็น 11.24% และยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอีกในปี 2567
จากผลการประเมินสุขภาพจิตคนไทย (Mental Health Check In: MHCI) พบว่า คนไทยมีปัญหาเครียด เสี่ยงซึมเศร้า เสี่ยงฆ่าตัวตาย และมีภาวะหมดไฟ 17.40 % มีผู้ป่วยจิตเวชที่ได้รับการคัดกรองและลงทะเบียนเป็นผู้ป่วยจิตเวชที่มีความเสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรง จำนวน 9,639 ราย ในจำนวนนี้มีผู้ป่วยก่อความรุนแรงซ้ำ 470 ราย และได้รับการติดตาม ดูแล และเฝ้าระวัง 6,100 ราย
จากข้อมูลข้างต้นทำให้เราตระหนักว่า ต้องเร่งเพิ่มความสุขในชีวิตให้แก่คนไทยโดยด่วน เพราะปัญหาสุขภาพจิตกำลังคุกคาม และกัดกินจิตใจคนไทยอย่างหนักหน่วย โดยผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาญี่ปุ่น ได้เสนอ 6 เทคนิคนี้เพิ่มความสุขในชีวิต เอาไว้ดังนี้
ไม่เปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่น
เทคนิคจิตวิทยาแรกในการเพิ่มความสุข คือ การยอมรับและเคารพในคุณค่าและความสามารถของตนเอง โดยไม่เอาตนเองไปเปรียบเทียบกับผู้อื่นในเรื่องต่าง ๆ เช่น ความสำเร็จ ฐานะทางสังคม หน้าตา หรือชีวิตส่วนตัว เพราะการไม่เปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่นช่วยให้เรามีความมั่นใจในตนเองมากขึ้น ลดความกดดันทางจิตใจ และส่งเสริมการพัฒนาตนเองในทางที่เหมาะสมตามเป้าหมายและความสามารถของเราเอง
พัฒนาตนเองอยู่เสมอ
เทคนิคการเพิ่มความสุขต่อมา ที่ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาญี่ปุ่นแนะนำ ก็คือ การมุ่งมั่นปรับปรุงและพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นทักษะ ความรู้ ความสามารถ หรือพฤติกรรม เพื่อให้เกิดการเติบโตและความก้าวหน้าในชีวิต ทั้งนี้ การพัฒนาตนเองไม่จำกัดอยู่เฉพาะเรื่องการงานหรือการศึกษา แต่รวมถึงการพัฒนาจิตใจ สุขภาพ ความสัมพันธ์ และวิถีชีวิตโดยรวมด้วย โดยการพัฒนาตนเองสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การเรียนรู้สิ่งใหม่ การทบทวนตัวเองเพื่อให้ตกตะกอนทางความคิด การปรับตัวตามสถานการณ์ การดูแลสุขภาพทั้งกายและใจอยู่เสมอ เป็นต้น ซึ่งการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องจะช่วยให้เรามีความสามารถในการรับมือกับความท้าทายในชีวิต เพิ่มความมั่นใจในตนเอง และมีโอกาสในการสร้างความสำเร็จในระยะยาวได้อีกด้วย
อดทนในวันที่ฝนพร่ำ
ชีวิตคนเรามีวันที่ดี และวันที่แย่เป็นปกติ ถ้าวันไหนพบเจอเรื่องดี ๆ ก็เก็บไว้เป็นกำลังใจในการใช้ชีวิต แต่ถ้าวันไหนพบเจอกับเรื่องแย่ ๆ หรือพบเจอวันฝนพร่ำ จนถึงฝนกระหน่ำ ก็ขอให้อดทนและสู้กับความยากลำบากหรือปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิต โดยเราต้องมีสติ มีความแข็งแกร่งทางจิตใจ และไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรคสิ่งที่เกิดขึ้น และความอดทนรวมถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่กล่าวมา จะสามารถช่วยให้เราผ่านช่วงเวลาที่ลำบากเหล่านั้นไปได้ด้วยดี
ชื่นชมตนเองที่สามารถผ่านความล้มเหลวมาได้
เมื่อเราสามารถผ่านพ้นวันคืนที่โหดร้ายมาได้ ก็อย่าลืมชื่นชมตนเองที่สามารถผ่านความล้มเหลวมาได้ เพราะการยอมรับและให้คุณค่าแก่ตนเองในความสามารถที่ผ่านพ้นความล้มเหลวหรืออุปสรรคในชีวิต เป็นการยอมรับว่าตนเองมีความเข้มแข็ง อดทน และสามารถลุกขึ้นสู้ใหม่ได้หลังจากที่เคยพลาดหรือล้มเหลว เมื่อเราสามารถชื่นชมตนเองที่ผ่านความล้มเหลวมาได้ เราก็สามารถเรียนรู้ที่จะเห็นคุณค่าของประสบการณ์ที่ทำให้เราเติบโตขึ้น การเผชิญหน้ากับความล้มเหลวมักจะเป็นบทเรียนที่สำคัญในชีวิต และการผ่านมันมาได้ช่วยให้เราเป็นคนที่มีประสบการณ์ มีภูมิคุ้มกันทางจิตใจ และพร้อมรับมือกับความท้าทายครั้งใหม่
มองหาข้อดีในสถานการณ์ที่ยากลำบาก
การพยายามมองหาประโยชน์หรือแง่มุมบวกจากสถานการณ์ที่ไม่เป็นไปตามที่หวังหรือเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบาก ถือว่าเป็นการฝึกฝนให้เห็นข้อดีหรือโอกาสในปัญหาช่วยให้เรามีทัศนคติที่ดี มีความยืดหยุ่นทางอารมณ์ และสามารถรับมือกับความเครียดได้ดีขึ้น เช่น การนำสิ่งที่ผิดพลาดมาเป็นบทเรียน การเสริมสร้างความเข้มแข็งทางจิตใจ การค้นพบโอกาสใหม่ การประเมินคุณค่าของสิ่งที่มีอยู่ การฝึกความยืดหยุ่นทางจิตใจ เป็นต้น
ยอมรับและปล่อยวาง
และมาถึงเทคนิคจิตวิทยาในการเพิ่มความสุขข้อสุดท้ายในบทความนี้ คือ การยอมรับและปล่อยวาง หากเราเจอปัญหาแล้วเราไม่สามารถทำอะไรได้ ก็ต้อง “ทำใจ” แล้วละค่ะ แต่การทำใจในที่นี้ คือ การทำให้จิตใจเข้มแข็งด้วยการยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหา ความผิดพลาด หรือสิ่งที่เราไม่สามารถควบคุมได้ และการปล่อยให้ความคิดหรือความกังวลที่เป็นอุปสรรคในจิตใจผ่านไปโดยไม่ยึดติดกับมัน การยอมรับและปล่อยวางเป็นทักษะทางจิตใจที่ช่วยให้เรามีสติ สงบ และสามารถก้าวข้ามความเครียดและความทุกข์ได้
แม้ว่าการเพิ่มความสุขในชีวิตจะมีปัจจัยหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกัน ทั้งสภาพคล่องทางการเงิน สุขภาพกาย สภาพสังคม ความกดดันจากหน้าที่การงาน แต่การสร้างความเข้มแข็งทางจิตใจ และการส่งเสริมสุขภาพจิตนั้นถือว่าสำคัญที่สุดค่ะ
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
บทความแนะนำ : 1. นักจิตวิทยาแนะนำ 3 วิธีจัดการความทุกข์เมื่อรู้จักเข้าใจตนเอง
อ้างอิง : Bangkokbiznews. (20 มีนาคม 2567). วันความสุขสากล คนไทย “ใจป่วยเพิ่ม” 9 วิธีสร้างความสุขง่ายๆได้เอง. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 24 กันยายน 2567 จาก https://www.bangkokbiznews.com/health/public-health/1118568
จันทมา ช่างสลัก บัณฑิตจิตวิทยาคลินิกจากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตจาก NIDA ปัจจุบันเป็นคุณแม่ลูก 1 ผู้เป็นทาสแมว ที่มุ่งมั่นจะพัฒนาการเขียนบทความจิตวิทยาให้โดนใจผู้อ่าน และสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคม ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกบนโลกใบนี้
Comments