top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

6 เทคนิคจิตวิทยา สังเกตอย่างไรว่ากำลังถูกโกงในรูปแบบขายตรงแฝงแชร์ลูกโซ่


จากคดีบริษัทขายตรงแต่แฝงแชร์ลูกโซ่บริษัทหนึ่ง มีแนวโน้มโกงเงินลูกข่าย ซึ่งมีมูลค่าความเสียหายเป็นหมื่นล้านนั้น กำลังสั่นสะเทือนให้สังคมไทยหันมาให้ความสนใจและให้ความสำคัญกับการระมัดระวังตัวไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของการขายตรงที่แฝงแชร์ลูกโซ่เช่นนี้ ซึ่งกลโกงในรูปแบบชวนมาทำธุรกิจขายตรง แต่ไป ๆ มา ๆ กลับมากลายเป็นว่าเราต้องไปหาเครือข่ายเพื่อเพิ่มยอด จนรู้สึกตัวอีกทีก็สูญเงินมหาศาลนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ในประเทศไทยแต่อย่างใดค่ะ


เพราะกลโกงเช่นนี้มีมานานแล้ว ผู้เขียนเองสมัยเป็นนักศึกษาก็เคยตกเป็นเหยื่อเช่นกัน จากสถิติของกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI พบว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 – 2565 มีคดีที่เข้าข่ายแชร์ลูกโซ่ ที่อยู่ภายใต้ภารกิจของ DSI จำนวน 200 กว่าคดี และมีผู้เสียหายมากกว่า 3 แสนคน มูลค่าความเสียหายระดับแสนล้านบาท และผู้ที่ตกเป็นเหยื่อนั้นมีทุกอาชีพเลยค่ะ ไม่ว่าจะเกษตรกร แม่ค้า ข้าราชการ หรือแม้แต่นักวิชาการ นักกฎหมาย แพทย์ วิศวกรเอง ก็ตกเป็นเหยื่อกันถ้วนหน้า


หลายท่านมีข้อสงสัยว่า ในเมื่อกลโกงแบบขายตรงที่แฝงแชร์ลูกโซ่ไม่ใช่ของใหม่ แล้วเพราะอะไรคนถึงยังตกเป็นเหยื่ออยู่เรื่อย ๆ แถมยังเพิ่มจำนวน และเพิ่มมูลค่าความเสียหายขึ้นอีก นั่นก็เพราะการสร้างเครือข่ายขายตรงที่แฝงแชร์ลูกโซ่นั้น แม่ข่าย หรือผู้บริหารบริษัทจะนำเทคนิคจิตวิทยาเหล่านี้มาใช้กับเราค่ะ 


1. การใช้แรงจูงใจทางอารมณ์ (Emotional Appeal)

ในยุคสมัยที่ใคร ๆ ก็ต้องการจะเป็นคนสำคัญ แล้วเราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า คนมีเงิน คือ คนสำคัญในบ้านนี้เมืองนี้ เพราะฉะนั้นเหล่าธุรกิจขายตรง ที่ไม่จริงใจทั้งหลาย ก็จะใช้เทคนิคจิตวิทยาในการกระตุ้นอารมณ์ว่าเราเป็นคนเก่ง เป็นคนดี เป็นคนมีคุณค่า ถ้าเราสร้างมูลค่าเพิ่มให้ตัวเองโดยการทำธุรกิจเครือข่าย แล้วมักจะชูประเด็นว่ายิ่งทำมากยิ่งได้เงินเยอะ ยิ่งหาคนมาเป็นลูกข่ายได้มากจะยิ่งรวยเร็ว และกลายเป็นคนประสบความสำเร็จในชีวิตขึ้นมาในทันใด

  

2. การใช้หลักของความขาดแคลน (Scarcity Principle)

ธุรกิจขายตรงแบบเน้นเครือข่าย จะมีการเน้นย้ำเพื่อชักจูง หรือที่เราเรียกว่า “ป้ายยา” ว่า ธุรกิจของเขานั้นเป็นของดีที่หายาก ไม่ใช่ทุกคนที่จะได้รับโอกาสในการมาร่วมทีม ต้องเป็นคนที่มีศักยภาพ และแม่ข่ายเล็งเห็นว่าสามารถขับเคลื่อนทีมได้เท่านั้น ถึงจะถูกชักชวนมารวมทีมด้วย ซึ่งเทคนิคจิตวิทยานี้จะทำให้ผู้ที่ถูกป้ายยาเคลิบเคลิ้ม เข้าใจว่าตนเองเป็นบุคคลสำคัญที่ทางทีมต้องการตัว แต่จริง ๆ แล้วคือเขาชวนมาเพิ่มยอดให้เขานั่นเอง


3. การสร้างแรงจูงใจทางสังคม (Social Proof)

ผู้ที่สามารถสร้างแรงจูงใจทางสังคมได้อย่างรุนแรงที่สุด ก็คือ ดารา นักแสดง อินฟลูเอนเซอร์ นักการเมือง หรือผู้มีชื่อเสียงในสังคม ดังนั้นแล้วสินค้า หรือแบรนด์ต่าง ๆ รวมถึงธุรกิจขายตรงที่แฝงแชร์ลูกโซ่ ก็นิยมนำเทคนิคจิตวิทยานี้มาใช้ในการจูงใจให้ผู้คนสนใจ และเข้ามาร่วมเป็นเครือข่าย โดยอาจจะให้คนมีชื่อเสียงเหล่านั้นมาเป็นผู้บริหารบริษัทไปเลย หรือมาเป็นพรีเซนเตอร์ก็มีอิทธิพลต่อความน่าเชื่อถือแล้วค่ะ


4. การใช้แรงจูงใจเชิงการแข่งขัน (Competition and Reward)

โดยปกติแล้วกลุ่มบริษัทขายตรงมักมีระบบการให้รางวัล เช่น โบนัสหรือค่าคอมมิชชั่นสำหรับผู้ขายที่ทำยอดขายได้ตามเป้าหมาย แต่สำหรับธุรกิจเครือข่าย หรือแชร์ลูกโซ่ จะเน้นให้ผู้เข้าร่วมเครือข่ายหาลูกทีมมาอีกเรื่อย ๆ เพื่อกินหัวคิว หรือรับส่วนต่างจากการเปิดบิลต่าง ๆ โดยจะเน้นว่า ยิ่งหาคนมาเพิ่มมาก หรือสามารถให้คนเปิดบิลยอดสูง ๆ ได้มาก ก็จะยิ่งได้รับเงินส่วนแบ่งมากขึ้น


5. การใช้เครือข่ายและความสัมพันธ์ (Networking and Relationships)

“เราอยู่กันแบบครอบครัว” ไม่เกินจริงสำหรับการทำธุรกิจเครือข่าย เพราะแม่ข่ายจะต้องดูแลลูกข่าย หรือลูกทีมของตนให้ดี ให้ยังอยู่กับทีม และต้องสนับสนุนให้ลูกทีมสร้างเครือข่ายเพิ่มอีกเพื่อรับส่วนแบ่งรายได้ที่มากขึ้น ดังนั้นการสร้างความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นภายในทีมจึงจำเป็นมาก เพราะทุกคนในทีมมีค่า (เป็นเงิน) สำหรับแม่ข่าย และถ้าหากผิดใจกันแล้วมีการนำหลักฐานออกมาแฉต่อสื่อ ก็จะไม่เป็นผลดีต่อทั้งแม่ข่าย และบริษัทเอง


6. การสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของ (Sense of Ownership)

“ถึงเวลาหรือยังที่คุณจะมีธุรกิจเป็นของตนเอง มาเป็นส่วนหนึ่งกับเราสิคะ” คำพูดเชิญชวนที่แสนจะย้อนแย้งนี้ เรามักจะได้ยินมาจนเคยชินกับธุรกิจเครือข่าย ที่พาเราโบยบินไปกับความฝันกลางวัน ฝันลม ๆ แล้ง ๆ ที่ว่า เราจะรวย เราจะมีธุรกิจเป็นของตัวเอง หรือกลายเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรระดับประเทศ (ว่าซ่าน) นั่นก็เพื่อให้เรามีไฟ มีแรงจูงใจในการหาคนมาเข้าทีมเขานั่นเอง


ทั้งนี้ หากท่านรู้ตัวว่าโดนหลอก หรือรู้สึกว่าถูกชักจูงให้เข้าธุรกิจเครือข่าย ทาง DSI ก็ได้มีข้อแนะนำทางด้านกฎหมาย ดังนี้ค่ะ


1. รวบรวมข้อมูลและหลักฐานทั้งหมด

เช่น สัญญา ข้อกำหนดการลงทุน หลักฐานการชำระเงิน ข้อความโฆษณา และบทสนทนาหรือการติดต่อกับผู้แทนบริษัท เป็นต้น รวมถึงบันทึกวันที่ที่เข้าร่วมธุรกิจ และจัดทำบัญชีเกี่ยวกับจำนวนเงินที่ลงทุนไป รวมถึงยอดเงินที่ได้รับกลับมาด้วยนะคะ


2. หยุดการลงทุนเพิ่มเติม

เมื่อรู้ตัวว่ามีแนวโน้มถูกโกงสูง ห้ามไปต่อ ให้พอแค่นี้โดยทันทีเลยค่ะ โดยหยุดการลงทุนเพิ่มหรือการทำธุรกรรมใด ๆ กับบริษัทนั้นทันที เพื่อป้องกันไม่ให้เสียเงินมากขึ้น และอย่าชวนใครมาร่วมธุรกิจเพิ่มเติมจนกว่าจะทราบแน่ชัดว่าไม่มีการฉ้อโกงนะคะ


3. ตรวจสอบข้อมูลธุรกิจและบริษัทที่เราร่วมลงทุน

ค้นหาข้อมูลจากแหล่งที่เชื่อถือได้ เช่น เว็บไซต์ของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อดูว่าบริษัทนั้นจดทะเบียนถูกต้องหรือไม่ และมีข้อร้องเรียนหรือประวัติฉ้อโกงหรือไม่ ในประเทศไทย สามารถตรวจสอบสถานะการจดทะเบียนของบริษัทขายตรงที่ถูกกฎหมายได้ที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ค่ะ


4. ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย

หากมีข้อสงสัยว่าบริษัทขายตรงนั้นเป็นการหลอกลวงหรือแชร์ลูกโซ่ สามารถปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายเพื่อรับคำแนะนำในการดำเนินคดีได้ฟรี ที่ สายด่วน 1157  สำนักงานอัยการสูงสุด หรือ สายด่วนยุติธรรม 1111 กด 77 ได้ตลอด 24 ชั่วโมงเลยค่ะ


5. แจ้งเรื่องกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการควบคุมธุรกิจขายตรงในประเทศไทย หรือสามารถนำหลักฐานเข้าแจ้งความได้ที่สถานีตำรวจในพื้นที่ และสามารถยื่นคำร้องต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.)


นอกจากนี้แล้ว หากคุณตกเป็นเหยื่อผู้สูญเสียเงินให้กับธุรกิจใจร้าย หลอกลวงเช่นนี้ อย่าลืมดูแลจิตใจด้วยนะคะ พยายามอย่าโทษตนเอง ติดตามข่าวเฉพาะแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ หากไม่สบายใจให้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น ไม่มีใครไม่เคยผิดพลาด ทุกก้าวเป็นประสบการให้เราเสมอ iSTRONG ขออยู่เคียงข้างทุกสถานการณ์นะคะ    


 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

  • บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa  

  • คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS 

สำหรับองค์กร

โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

บทความแนะนำ :

 

อ้างอิง :  

1. ณัฐวุฒิ เผ่าทวี. (15 ตุลาคม 2567). ความทรงจำแสนสั้นในสังคมแชร์ลูกโซ่ ทำไมคนไทยยังถูกโกง ผ่านมุมมองเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 15 ตุลาคม 2567 จาก https://www.thairath.co.th/news/local/2820025 

2. อธิเจต มงคลโสฬศ. (11 ตุลาคม 2567). ทำไม “ขายตรง (แฝง) แชร์ลูกโซ่” ยังมีอยู่ในสังคมไทย ?. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 15 ตุลาคม 2567 จาก https://www.thaipbs.or.th/now/content/1707

 

จันทมา  ช่างสลัก บัณฑิตจิตวิทยาคลินิกจากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตจาก NIDA ปัจจุบันเป็นคุณแม่ลูก 1 ผู้เป็นทาสแมว ที่มุ่งมั่นจะพัฒนาการเขียนบทความจิตวิทยาให้โดนใจผู้อ่าน และสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคม ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกบนโลกใบนี้ 


Comments


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page