top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

6 เทคนิคจิตวิทยา ในการพัฒนาการสื่อสารในครอบครัวให้อบอุ่น


การสื่อสารในครอบครัว ถือว่าเป็นหัวใจหลักของการมีปฏิสัมพันธ์ในครอบครัว และมีผลต่อความมั่นคงของครอบครัว กล่าวคือ หากในครอบครัวมีการสื่อสารที่อบอุ่น คนในครอบครัวก็รักใคร่ แต่ถ้ามีการสื่อสารในเชิงลบ คนในครอบครัวก็แตกแยก และยินดีที่จะออกไปใช้ชีวิตตามลำพังมากกว่าอยู่ร่วมกับคนในครอบครัว โดยผลสำรวจทางจิตวิทยา ของสวนดุสิตโพล เรื่อง “ครอบครัวไทยในยุคโควิด - 19” เมื่อปี 2564 พบว่า การทะเลาะเบาะแว้ง เป็นสาเหตุที่นำไปสู่ปัญหาในครอบครัวสูงถึง 36.02% และนั่นอาจส่งผลให้ช่วง Covid – 19 ที่ผ่านมามีคู่รักหย่าร้างมาก 30.30% 


จากการบรรยายทางวิชาการของ รศ.ดร. ดวงเดือน ศาสตรภัทร ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยา ได้ให้ข้อสังเกตว่า หากครอบครัวมีปัญหาเรื่องการสื่อสารในครอบครัว หรือครอบครัวมีปัญหาด้านความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว สามารถสังเกตได้ ดังนี้


1. คนในครอบครัวมักจะปล่อยพลังงานทางลบใส่กัน 

เช่น พูดจากันไม่ดี กระแทกเสียง บึ้งตึง หรือหลีกเลี่ยงการพบหน้า ไม่พูดจากัน

 

2. มีความอดทนต่อกันต่ำ 

โดยเมื่อใครคนใดคนหนึ่งเพียงพูดจาไม่เข้าหู หรือมีท่าทีที่ไม่เป็นไปตามความพึงพอใจ ก็พร้อมระเบิดอารมณ์ใส่กันทันที


3. จับผิดกันเก่ง เปรียบเทียบเก่ง 

คนนอกบ้านดีกว่าคนในบ้านเสมอ และมักจะหาข้อด้อยของคนในบ้านมาโจมตีกันทุกครั้งที่มีโอกาส


4. ไม่มีใครยอมรับผิด 

และบ่อยครั้งยังโยนความผิดให้คนอื่นในบ้าน โดยเมื่อเกิดปัญหาหรือเรื่องไม่ดีในบ้าน ก็จะหาคนผิดและกล่าวโทษ ก่อนจะคิดแก้ไขปัญหาเสียอีก


5. ปิดใจ มีอคติ 

ส่งผลให้ไม่รับฟังกันและกัน เมื่อสมาชิกคนใดคนหนึ่งเสนอความคิดเห็นขึ้นมา ก็มักจะถูกปิดกั้น ต่อต้านและโต้แย้ง


6. เน้นวิจารณ์และตอกย้ำปัญหา

ไม่ร่วมมือในการแก้ปัญหา เนื่องจากมีความคิดว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นความผิดของใครคนใดคนหนึ่งในบ้าน ไม่ใช่ปัญหาของเขา จึงโยนให้เป็นความรับผิดชอบของบุคคลนั้นเพียงคนเดียว และมักจะเก็บความผิดพลาดของคนในบ้านมาตอกย้ำอยู่บ่อย ๆ


ซึ่งลักษณะการสื่อสารในครอบครัวที่กล่าวมาข้างต้นนั้นได้สร้างความอึดอัดในครอบครัว และทำให้บรรยากาศในการอยู่ร่วมกันของคนในครอบครัวดูอึมครึม ไม่ปลอดภัย ทำให้บ้านไม่ใช่ Safe Zone และทำให้คนในบ้านเกิดปัญหาชีวิต มีปมในใจ และอาจสร้างปัญหาให้สังคมได้ ดังนั้นเพื่อการพัฒนาการสื่อสารในครอบครัวให้อบอุ่น บทความจิตวิทยานี้จึงขอนำเสนอ 6 เทคนิคจิตวิทยา ในการพัฒนาการสื่อสารในครอบครัวมาฝากกันค่ะ


1. ฝึกการสื่อสารแบบเห็นด้วย

การสื่อสารแบบเห็นด้วยหรือเห็นพ้องต้องกัน เป็นหนึ่งในรูปแบบการสื่อสารตามทฤษฎีจิตวิทยาของ Mc Leod & O’Keefe ซึ่งหมายถึง การสื่อสารแบบไม่มีความคิดทางลบต่อกัน ทุกคนในบ้านเปิดโอกาสให้ทุกคนได้แสดงความคิดเห็น และแสดงความรู้สึกออกมาโดยไม่ปิดกั้น และรับฟังด้วยความเป็นกลาง บนพื้นฐานของเหตุผล และความเข้าอกเข้าใจซึ่งกันและกัน

 

2. เปิดใจให้กว้าง

การเปิดใจให้กว้าง หรือ การเปิดเสรีทางความคิด เป็นอีกหนึ่งรูปแบบการสื่อสารตามทฤษฎีของ Mc Leod & O’Keefe ซึ่งก็คือการสื่อสารที่ทันต่อโลก เข้าใจบริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป และเข้าใจเรื่องธรรมชาติของ Generation ของแต่ละคนในครอบครัว เนื่องจากเมื่อเติบโตมาต่างยุค ต่างสมัย ย่อมมีความคิด และการเข้าใจโลกที่แตกต่างกัน แต่ถ้าทุกคนเปิดใจเรียนรู้มุมมองของอีกฝ่าย ครอบครัวก็จะมีความเข้าใจกันมากขึ้น


3. สื่อสารให้ชัดเจน

การสื่อสารให้ชัดเจน เป็นหนึ่งในรูปแบบการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพสูงตามแนวคิดจิตวิทยาของ Epstein และคณะ เพราะการสื่อสารที่ชัดเจน สั้น กระชับ ได้ใจความ จะทำให้ผู้ส่งสารสามารถสื่อสารได้ตรงตามจุดประสงค์ และก่อให้เกิดผลลัพธ์ตรงตามความคาดหวัง โดยสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการสื่อสารในครอบครัวได้โดยการสื่อสารให้ตรงประเด็น ใช้คำที่ทุกคนในบ้านเข้าใจได้ง่าย และเห็นภาพชัดเป็นรูปธรรม 


4. ส่งสารให้ถูกคน

บ่อยครั้งที่การสื่อสารในครอบครัวเกิดปัญหา เพราะว่าสื่อสารไม่ถูกคน เช่น แม่ต้องการจะบอกให้พ่อช่วยทำความสะอาดบ้าน แต่ใช้วิธีพูดกับลูกในลักษณะบ่นให้พ่อได้ยินว่าบ้านรก พ่อไม่ช่วยทำงานบ้านเลย ซึ่งสิ่งที่ได้กลับมาก็เป็นไปได้หลายทาง แต่ไม่ได้เป็นไปตามความคาดหวังของแม่แน่นอน


เพราะพ่ออาจไม่เข้าใจเลยว่าแม่ต้องการอะไร และนิ่งเฉย หรือพ่ออาจตีความได้ว่าแม่กำลังประชดประชันและหาพวก แล้วโมโห ซึ่งนำไปสู่การทะเลาะกันตามมา ดังนั้นเพื่อความสมานฉันท์ในครอบครัว หากต้องการจะพูดกับใครก็คุยกับคนนั้นไปตรง ๆ เลยค่ะ


5. ให้เกียรติทุกคนในบ้าน

การให้เกียรติหรือการปฏิบัติดีต่อทุกคนอย่างเท่าเทียมกันเป็นเรื่องที่สังคมประชาธิปไตยสมัยใหม่ควรกระทำ โดยเฉพาะในครอบครัว โดยสมาชิกในรอบครัวต้องลดทิฐิ และอัตตาของตนเองลง และมองทุกคนในบ้านให้เท่าเทียมกัน เพราะทุกคนในบ้านเป็นส่วนหนึ่งในครอบครัว และเป็นเจ้าของครอบครัวร่วมกัน 


6. อย่าอายที่จะแสดงความรัก ความในใจต่อกัน

และมาถึงเทคนิคจิตวิทยาข้อสุดท้ายในการพัฒนาการสื่อสารในครอบครัว คือ การแสดงความรักต่อคนในบ้าน หรือการแสดงความในใจออกมาอย่างจริงใจ เพราะเมื่อเราโตขึ้น เราก็มีภารกิจหลายสิ่งทั้งในบ้าน นอกบ้านให้รับผิดชอบ จนเราหลงลืมที่จะ “ใส่ใจ” ความรู้สึกของกันและกัน


ดังนั้นหากคุณรู้สึกอย่างไรต่อคนในบ้านก็ขอให้แสดงออกมาตรง ๆ หากรักก็บอกรักให้เขารู้ เขาจะได้ตระหนักว่าเขามีคุณค่าต่อครอบครัว แต่ถ้าไม่พอใจ หรือมีความรู้สึกทางลบต่อกัน ก็สื่อสารกันตรง ๆ ด้วยเหตุผล อย่างนุ่มนวล เพื่อร่วมกันแก้ปัญหา และปรับตัวเข้าหากันค่ะ


ไม่ว่าเราจะมีเพื่อนมากมายแค่ไหน หรือมีตำแหน่งใหญ่โตในที่ทำงาน “ครอบครัว” ก็ยังเป็นสิ่งสำคัญที่เราควรดูแลและรักษาความสัมพันธ์กับคนในครอบครัวเสมอ เพราะไม่มีที่ไหนเหมือนบ้าน และบ้านควรจะเป็น Safe Zone ให้กับทุกคนในครอบครัว เพราะเมื่อเขาเจอปัญหานอกบ้าน เขาก็ยังรู้สึกได้ว่ายังมี “บ้าน” ให้เขาได้พักใจ


หากคุณต้องการพัฒนาทักษะด้านจิตวิทยา เพื่อปรับใช้ในการทำงาน ครอบครัว ความสัมพันธ์และในชีวิตประจำวัน สามารถดูคอร์สเรียนจาก iSTRONG ได้ที่นี่

 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

  • บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa  

  • คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS 

สำหรับองค์กร

โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

บทความแนะนำ : 

 

อ้างอิง : 

1. ดวงเดือน ศาสตรภัทร. (2555). การสื่อสารในบ้าน. การประชุมคณะกรรมการศึกษาและพัฒนาความรู้ทางจิตวิทยาและสังคม ครั้งที่ 2/2555 ณ วันพุธที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555. [ออนไลน์].

สืบค้นเมื่อ 30 มิถุนายน http://legacy.orst.go.th/

2. นวลฉวี ประเสริฐสุข. (2558). สื่อสารอย่างสร้างสรรค์เพื่อสร้างสุขในครอบครัว.

Veridian E-Journal, Slipakorn University. 8(2), 737 – 747.

3. สุขุม เฉลยทรัพย์. (8 เมษายน 2565). การสื่อสารของครอบครัวไทยในยุคโควิด-19. [ออนไลน์].

สืบค้นเมื่อ 30 มิถุนายน 2567 จาก https://dmh.go.th/

 

ผู้เขียน : จันทมา  ช่างสลัก

บัณฑิตจิตวิทยาคลินิกจากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตจาก NIDA ปัจจุบันเป็นคุณแม่ลูก 1 ผู้เป็นทาสแมว ที่มุ่งมั่นจะพัฒนาการเขียนบทความจิตวิทยาให้โดนใจผู้อ่าน และสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคม ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกบนโลกใบนี้ 



Commentaires


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page