top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

หมดไฟหรือขี้เกียจกันแน่? 6 สัญญาณที่บ่งบอกว่าคุณกำลังอยู่ในภาวะหมดไฟ



ภาวะหมดไฟ (Burnout Syndrome) นั้น องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ระบุว่าเป็นโรคที่เกิดจากความเครียดสะสมเรื้อรังในสถานที่ทำงาน ไม่ได้ถูกจัดว่าเป็นหนึ่งในโรคจิตเวชตามเกณฑ์การวินิจฉัยในคู่มือวินิจฉัยและสถิติสำหรับความผิดปกติทางจิต (Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders: DSM) แต่บุคคลที่เกิดภาวะหมดไฟก็ได้รับผลกระทบหลายอย่าง โดยเฉพาะการถูกคนอื่นมองหรือการมองตนเองว่าเป็นคนขี้เกียจ ทำให้บุคคลที่มีภาวะหมดไฟยิ่งรู้สึกเครียดมากขึ้น


คุณกำลังมีภาวะหมดไฟหรือว่าขี้เกียจกันแน่?

ก่อนที่จะตำหนิตนเอง ให้ยิ่งรู้สึกแย่ไปมากกว่าเดิมว่า “ทำไมฉันถึงเป็นคนขี้เกียจไม่เอาไหนแบบนี้” อยากชวนให้คุณได้มีความเข้าใจเกี่ยวกับภาวะหมดไฟ รวมถึงลองทบทวนตัวเองก่อนว่าคุณเป็นคนแบบนี้มาตั้งแต่ไหนแต่ไร หรือเพิ่งจะมีอาการขี้เกียจเฉื่อยชาเกิดขึ้นมาในช่วงนี้ ซึ่งหากคุณทบทวนตัวเองดูแล้วคุณไม่เคยเป็นแบบนี้มาก่อนก็ลองพิจารณาสัญญาณ 6 ข้อของอาการหมดไฟ ดังต่อไปนี้


1. คุณรู้สึก “disconnect” จากทุกสิ่ง

หลายคนที่กำลังเผชิญกับภาวะหมดไฟอาจมีอาการที่เรียกว่า “depersonalization” โดยอาการดังกล่าวจะทำให้เป็นบุคคลรู้สึกเหมือนไม่ได้เป็นตัวเองอีกต่อไป เหมือนเป็นใครก็ไม่รู้ที่แม้แต่ตัวเองก็ไม่เคยรู้จักมาก่อน ไม่ตื่นเต้นกระตือรือร้นกับอะไร เฉย ๆ ไปกับทุกสิ่ง ทุก ๆ วันผ่านไปเหมือนอยู่ในโหมด “auto pilot” ที่แต่ละวันก็ดำเนินชีวิตแค่ให้มันผ่าน ๆ ไป ไม่รู้สึกเชื่อมโยงผูกพันกับงานหรือเพื่อนร่วมงานเลย


2. คุณเคยเป็นคนที่มีแรงจูงใจมาก่อน

คนที่ขี้เกียจมักจะมีพฤติกรรมเฉื่อยชาและไม่ค่อยคิดริเริ่มสร้างสรรค์มาตั้งแต่ไหนแต่ไรอยู่แล้ว แต่หากคุณเคยเป็นคนที่มีแรงจูงใจ เคยทำงานได้ดีมีประสิทธิภาพ เคยมีเป้าหมายในการทำงาน เคยมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์เกี่ยวกับงานที่ตนเองทำมาก่อน แล้วอยู่มาวันหนึ่ง (ซึ่งคุณเองก็ไม่รู้ว่ามันเริ่มตั้งแต่ตอนไหน) คุณกลับกลายเป็นคนที่นิ่ง ๆ ไม่มีแรงจูงใจ ไม่อยากจะทำอะไรเพื่อให้ไปสู่เป้าหมายในการทำงานที่เคยตั้งไว้อีกต่อไปแล้ว คุณไม่ใช่คนขี้เกียจอย่างแน่นอนแต่คุณอาจกำลังเผชิญกับภาวะหมดไฟอยู่

3. คุณเคยมี passion

คล้าย ๆ กับเรื่องแรงจูงใจ คนที่ขี้เกียจมักไม่ได้มี passion กับอะไรเป็นพิเศษ แต่หากคุณเคยเป็นคนที่สนุกและตื่นเต้นกับงานหรือกิจกรรมบางอย่าง แต่ในวันนี้คุณกลับรู้สึกเฉย ๆ ไม่สนุกตื่นเต้นอะไรกับมันเหมือนเดิมแล้ว คุณอาจกำลังมีภาวะหมดไฟและคุณไม่ได้เป็นคนขี้เกียจ


4. คุณเริ่มกลายเป็นคนที่หงุดหงิดอารมณ์เสียง่าย

สัญญาณหนึ่งของภาวะหมดไฟก็คือความรู้สึกหงุดหงิดอารมณ์เสียง่าย ซึ่งเป็นผลมาจากความเหนื่อยล้าทางอารมณ์ ทำให้ความสามารถในการควบคุมอารมณ์ของตนเองแย่ลงไปด้วย บุคคลที่มีความเหนื่อยล้าทางอารมณ์มักจะมีความรู้สึกทางลบต่าง ๆ เกิดขึ้นมากผิดปกติ เช่น หดหู่ ซึมเศร้า หงุดหงิดโมโหง่าย อารมณ์แปรปรวน ไม่พอใจงานที่ทำหรือเพื่อนร่วมงาน ซึ่งจุดนี้เป็นคนที่ตรงข้ามกับคนขี้เกียจ เพราะคนขี้เกียจมักมีนิสัยสบาย ๆ อะไรก็ได้ และมักมีอารมณ์แบบสงบผ่อนคลายจึงไม่ค่อยจะหงุดหงิดโมโหง่ายสักเท่าไหร่


5. คุณละเลยการดูแลตัวเอง

บุคคลที่มีภาวะหมดไฟมักจะมีพฤติกรรมที่แสดงถึงการละเลยตัวเอง เช่น ไม่ได้ใส่ใจเรื่องการกินการนอนที่ดีต่อสุขภาพ ไม่ได้กระตือรือร้นที่จะดูแลเสื้อผ้าหน้าผมของตัวเอง เริ่มมีพฤติกรรมแยกตัวออกจากคนอื่น รวมไปถึงเริ่มไม่สนใจว่าคนอื่นจะมองยังไงทำให้มีพฤติกรรมที่แสดงถึงการขาดความรับผิดชอบ เช่น ผัดวันประกันพรุ่ง มาสายติดต่อกันจนผิดสังเกต ซึ่งจุดนี้เองที่ทำให้บุคคลที่มีภาวะหมดไฟเข้าใจว่าตัวเองเป็นคนขี้เกียจ แต่จุดที่จะสามารถแยกได้ว่าคุณหมดไฟหรือขี้เกียจก็คือคนที่ขี้เกียจจะมีพฤติกรรมแบบนี้มาโดยตลอดไม่ใช่เพิ่งจะมาเป็นในระยะหลัง


6. การเปลี่ยนแปลงทางด้านอารมณ์ความคิดพฤติกรรมมันค่อย ๆ เกิดขึ้นเป็นลำดับขั้น

ภาวะหมดไฟจะเกิดขึ้นกับบุคคลอย่างเป็นลำดับขั้น โดยจากโมเดลที่มีชื่อว่า 5-stage model for the development of burnout ได้แบ่งการเกิดขึ้นของภาวะหมดไฟเอาไว้เป็น 5 ระยะ ดังนี้

  • ระยะฮันนีมูน (Honeymoon) เป็นช่วงที่บุคคลยังรู้สึกสนุกและมีไฟในการทำงาน

  • ระยะที่เริ่มมีความเครียด (Onset of Stress) เป็นช่วงที่บุคคลเริ่มมีความเหนื่อยล้าทางด้านร่างกาย

  • ระยะเครียดเรื้อรัง (Chronic Stress) เป็นช่วงที่บุคคลมีความเหนื่อยล้าทั้งทางร่างกายและอารมณ์

  • ระยะหมดไฟ (Burn out) เป็นช่วงที่บุคคลมีอาการของภาวะหมดไฟแสดงออกมาอย่างชัดเจน

  • ระยะหมดไฟอย่างต่อเนื่อง (Habitual Burnout) หากบุคคลไม่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาจากอาการหมดไฟ ก็จะเกิดการหมดไฟอย่างสมบูรณ์ อาการที่พบได้ในระยะนี้คือเริ่มมีอาการและมีปัญหาทางสุขภาพจิตที่เกิดจากอาการป่วยซึ่งเป็นผลมาจากอาการเหนื่อยล้าที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา อารมณ์แปรปรวน รู้สึกแย่กับตนเอง หดหู่ หมดหวัง และเสียใจ หากปล่อยไว้อาจนำไปสู่การเกิดภาวะซึมเศร้าได้


อย่างไรก็ตาม อาการหมดไฟสามารถแก้ไขได้โดยการหาวิธีในการผ่อนคลายตนเองจากปัญหาเรื่องงาน เช่น ลาหยุดพักผ่อน คุยกับคนที่ไว้ใจได้เพื่อระบายหรือปรึกษาปัญหา พยายามดูแลเรื่องการกินการนอนของตนเองให้เป็นปกติ แต่หากคุณได้ลองทำทุกวิธีแล้วแต่ก็อาการก็ยังไม่ดีขึ้น คุณควรปรึกษาจิตแพทย์ นักจิตวิทยา หรือนักจิตบำบัด เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อการมีปัญหาสุขภาพจิตที่มีระดับรุนแรงกว่าภาวะหมดไฟ



สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ


iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่


 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

• คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS


สำหรับองค์กร

• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8


โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

อ้างอิง

[1] 6 Signs You’re Burnt Out, Not Lazy. Retrieved from. https://psych2go.net/6-signs-youre-burnt-out-not-lazy/

[2] BURNOUT SYNDROME อย่ารอให้หมดไฟในการทำงาน. Retrieved from. https://www.bangkokhospital.com/content/burnout-syndrome

[3] 5-stage model for the development of burnout which is most frequently used. Retrieved from. https://www.researchgate.net/figure/Simplified-5-stage-model-for-the-development-of-burnout-which-is-most-frequently-used_fig3_346432309



บทความที่เกี่ยวข้อง

 

ประวัติผู้เขียน

นางสาวนิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) ปริญญาโทสาขาจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ปริญญาตรีสาขาจิตวิทยา (คลินิก) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ปัจจุบันเป็น นักจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (พ.ศ. 2555 – ปัจจุบัน)

และเป็นนักเขียนของ iSTRONG


Comments


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page