ขี้เกียจไม่ไหว แก้ความขี้เกียจฉบับเร่งด่วนด้วย 6 เทคนิคจิตวิทยา
หากคุณกำลังรู้สึกว่าตัวเองเริ่มมีความขี้เกียจจนไม่อยากทำอะไร หมดแรง หมดใจ หมดไฟในการจะทำงาน มามุงกันทางนี้ค่ะ เพราะในบทความจิตวิทยานี้มีเทคนิคการแก้ความขี้เกียจแบบเร่งด่วนมาฝากกัน โดยก่อนอื่นมาทำความรู้จักกับ “ความขี้เกียจ” กันก่อนนะคะ ซึ่งในทางจิตวิทยาเรียกความขี้เกียจ ว่า “ภาวะแรงจูงใจต่ำ” หรือ Low Motivation นั่นก็คือภาวะที่เราเกิดความรู้สึกว่าไม่อยากทำอะไร นอกจากนอนอืด ๆ อยู่บนเตียง หรือพอถึงวันทำงานก็เกิดอาการอยากลาป่วย มาสาย หายบ่อย แต่พอวันหยุดอาการนี้ก็หายไปเสียอย่างนั้น ซึ่งผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาได้อธิบายสาเหตุของความขี้เกียจไว้ว่า เกิดจากการขาดแรงผลักดันในการทำสิ่งต่าง ๆ ค่ะ หรือกล่าวอีกอย่างได้ว่า หมด Passion ในการทำงาน หรือทำสิ่งต่าง ๆ นั่นเอง ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาจึงได้แนะนำ 6 เทคนิคในการแก้ความขี้เกียจไว้ ดังนี้ค่ะ
1. ตั้งเป้าหมายก่อนลงมือทำ
การตั้งเป้าหมาย หรือ goal setting ก็คือ การกำหนดว่าเราทำสิ่งนี้เพื่ออะไร เมื่อเรากำหนดเป้าหมายแล้ว เราก็จะได้แนวทางการลงมือทำ เห็นทิศทางของสิ่งที่ทำว่าจะออกมาในรูปแบบไหน แล้วเราก็สามารถวางแผนการทำงานได้ เมื่อมีความชัดเจนทั้งในเรื่องของเป้าหมายการลงมือทำ และแผนการที่จะทำสิ่งนั้นให้สำเร็จ เราก็สามารถแก้ความขี้เกียจไปได้ค่ะ เพราะเราจะเกิดแรงจูงใจในการลงมือทำตามแผน อย่างไรก็ตามเป้าหมายที่ตั้งขึ้นมานั้นต้องเป็นเป้าหมายที่เราต้องการจะทำให้สำเร็จจริง ๆ มีความเป็นไปได้ เห็นเป็นรูปธรรม เพราะเป้าหมายจะมีผลต่อความเชื่อว่าตนเองมีความสามารถที่จะทำให้สำเร็จได้ (Adequate Self – Efficacy) นั่นเองค่ะ
2. ทำให้เป็นเรื่องสนุก
การทำให้ภารกิจ หรือสิ่งที่เราต้องลงมือทำให้เป็นเรื่องสนุกนั้น จะช่วยให้เราเกิดแรงจูงใจภายใน (intrinsic motives) คือ แรงจูงใจที่มาจากความคิด ความรู้สึกของเราเอง โดยการเปลี่ยนกระบวนการที่น่าเบื่อให้เป็นเกม เช่น จากทำงานอยู่คนเดียว ก็ลองเปลี่ยนมาทำ Focus Group หรือแข่งกันเสนอไอเดียแหวก ๆ เพื่อให้ได้รูปแบบการทำงานใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ หรือเปลี่ยนวิธีการทำงานบ้านให้น่าสนุก โดยการใช้เครื่องมือที่เราคิดไม่ถึงมาช่วย เช่น ใช้สว่านเสียบหัวขัดมาขัดห้องน้ำ หรือหาไอเดียแต่งบ้านที่น่าสนใจมาลองทำดู วิธีการเหล่านี้จะช่วยให้เราแก้ความขี้เกียจได้จากการเปลี่ยนความรู้สึกเบื่อ ไม่อยากทำงาน ไม่อยากทำความสะอาดบ้าน ให้เป็นความรู้สึกว่าสิ่งที่เราทำอยู่เป็นสิ่งที่ดี เป็นเรื่องน่าสนุก น่าสนใจ มีความท้าทาย
3. มองเห็นสิ่งที่เราจะได้รับจากการทำสิ่งนั้น
พูดแบบตรงไปตรงมา ก็คือ การมองเห็นผลประโยชน์ที่เราจะได้รับจากการทำสิ่งนั้นนั่นเองค่ะ โดยการมองเห็นว่าเราจะได้อะไรกลับมานั้น ถือว่าเป็นการสร้างแรงจูงใจภายนอก (extrinsic motives) ซึ่งก็คือสิ่งกระตุ้นให้เราเกิด “ความอยาก” ที่จะลงมือทำ เพื่อให้สำเร็จตามที่เราต้องการ ซึ่งแรงจูงใจภายนอกที่ว่านั้นอาจจะเป็นรางวัล ชื่อเสียง การได้รับการยอมรับ ได้ยอดไลก์ ยอดวิว หรือได้ทำประโยชน์เพื่อคนอื่น ก็ได้เช่นกันค่ะ โดยสิ่งเหล่านี้จะทำให้เราเกิด Passion ในการลงมือทำสิ่งใด ๆ ก็ตามให้สำเร็จ เพราะเรามองเห็นจุดหมายปลายทางแล้วว่า ถ้าเราทำสำเร็จเราจะได้รับอะไรกลับมา
4. หาเพื่อนร่วมด้วยช่วยลงมือทำ
ถ้าลงมือทำคนเดียวแล้วไปไม่ไหว ขี้เกียจเสียก่อนที่จะทำสำเร็จ โดยเฉพาะกิจกรรมท้าทายแรงใจ เช่น การลดน้ำหนัก การออกกำลังกาย การอ่านหนังสือสอบ ลองมาแก้ความขี้เกียจเหล่านั้นด้วยการหาเพื่อนร่วมด้วยช่วยทำกันดูนะคะ ไม่ว่าจะเป็นพ่อ แม่ พี่ น้อง คนรัก เพื่อนสนิท เพื่อนร่วมงาน หรือสัตว์เลี้ยงของเรา ลองชวนมาเป็นแก๊งพิชิตภารกิจของเรากันดูค่ะ เพราะเมื่อเรามีเพื่อนร่วมทำกิจกรรมแล้วเราจะเกิดแรงจูงใจทางด้านสังคม (social motivation) ทำให้เรามีแรงฮึด มีแรงเสริม มีคนคอยกระตุ้นให้เราไปต่อ จนเกิดแรงใจที่จะสู้กับอุปสรรค ซึ่งอุปสรรคหลักก็คือ ความขี้เกียจของเรา จนสามารถลงมือทำในสิ่งที่ตั้งใจไว้ให้สำเร็จตามเป้าหมาย
5. ให้รางวัลกับตัวเองเมื่อทำได้ตามเป้าหมาย
เมื่อเราสามารถเอาชนะความขี้เกียจ ลงมือทำภารกิจของเราจนสำเร็จแล้ว ก็อย่าลืมให้รางวัลกับตัวเองด้วยนะคะ ไม่ว่าจะเป็นไปเที่ยวในสถานที่แจ่ม ๆ ไปทานอาหารอร่อย ๆ ในร้านชิค ๆ ซื้อเสื้อผ้าสวย ๆ ซื้อกระเป๋า หรือสิ่งของที่เราต้องการ เพื่อเป็นการเสริมแรงทางบวก (Positive Reinforcement) ให้เรามีกำลังใจในการทำสิ่งต่าง ๆ ได้ตามเป้าหมาย เกิดแรงจูงใจที่จะพิชิตภารกิจอื่น ๆ ของเราต่อไป ถึงแม้จะมีอุปสรรคบ้าง ขี้เกียจบ้าง แต่ถ้าของรางวัลที่เราตั้งไว้ให้ตัวเองน่าสนใจมากพอ เชื่อเถอะค่ะว่าเราจะมีแรงอึด ฮึด สู้ ฟันฝ่าอุปสรรคจนสำเร็จได้ในที่สุด
6. จัดสภาพแวดล้อมในการทำสิ่งต่าง ๆ ให้เหมาะสม
เทคนิคจิตวิทยาในการแก้ความขี้เกียจที่นำมาฝากกันในบทความนี้ ก็คือ การจัดสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการทำภารกิจ (Working Conditions) ของเราให้สำเร็จค่ะ ไม่ว่าจะเป็น แสง สี เสียง อุณหภูมิ การระบายอากาศ กลิ่น บรรยากาศ ความปลอดภัย รวมไปถึงอุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่าง ๆ ต้องเอื้อให้เราพร้อมที่จะทำงาน หรือทำสิ่งต่าง ๆ ที่เราตั้งใจเอาไว้ นอกจากนี้แล้วผู้คนในสถานที่นั้น ๆ ก็ต้องให้ความร่วมมือในการทำงาน หรือภารกิจของเราด้วย ดังนั้นการจัดเตรียมสถานที่ อุปกรณ์ และการสร้างความเข้าใจให้แก่ผู้คนในสถานที่จึงเป็นอีกเรื่องที่สำคัญในการแก้ความขี้เกียจค่ะ
“ความขี้เกียจ” เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาจากจิตใต้สำนึกของเรา ที่อาจเกิดจากความเครียด ความเบื่อ การขาดพลังใจ ดังนั้นวิธีแก้ที่ดีที่สุด ก็คือ การจัดการที่ต้นเหตุ โดยการเพิ่มแรงจูงใจด้วย 6 เทคนิคข้างต้นที่นำมาฝากกัน นำไปใช้แล้วผลเป็นอย่างไร อย่าลืมมาเล่าให้กันฟังบ้างนะคะ
สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ
iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
คอร์สฝึกอบรม การเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
บทความแนะนำ : 6 วิธีกำจัดความขี้เกียจตามแบบฉบับของนักจิตวิทยา
อ้างอิง :
[1] Sukhum Rattanasereekiat. (2012). ทฤษฎีของการจูงใจ (theories of motivation). [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 6 กันยายน 2565 จาก https://shorturl.asia/oXbLK
[2] สัณหจุฑา ชมพูนุช. (2563). แรงจูงใจในการทำงานที่ส่งผลต่อความตั้งใจในการลาออกของพนักงานธนาคารในสำนักงานใหญ่ของธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่ง. กรุงเทพฯ : บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร. หน้า 9 – 27.
ประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก คุณแม่ของลูก 1 คน แมว 1 ตัว ที่พยายามใช้ความรู้ทางจิตวิทยาที่ร่ำเรียนมาและประสบการณ์การทำงานด้านจิตวิทยาพัฒนาการเด็ก มาสร้างความสุขในการใช้ชีวิต ดูแลครอบครัว และการทำงาน รวมถึงมีความสุขกับการได้เห็นว่าบทความจิตวิทยาที่เขียนไปโดนใจคนอ่าน
Comments