6 mindsets ที่ควรฝึกไว้รับมือกับปัญหาในยุคที่อะไร ๆ ก็ไม่แน่นอน
“ทุกปัญหามีทางออก” เป็นคำที่จริงเสมอ แม้แต่ปัญหาที่ซับซ้อนยากจะเข้าใจก็ยังมีทางแก้ไข ข่าวร้ายคือไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถผ่านปัญหาที่ยากจะรับมือไปได้ เพราะคนที่จะผ่านมันไปได้นั้นต้องเป็นคนที่มี mindsets ในระดับที่เท่ากับหรือมากกว่าระดับของปัญหาที่เจอ แต่ข่าวดีคือคุณสามารถฝึกฝนพัฒนาตนเองให้กลายเป็นคนที่มี mindsets แบบคนที่แก้ปัญหาเก่งได้เหมือนกัน เนื่องจากทักษะความสามารถในการแก้ปัญหานั้นเป็นสิ่งที่คนเราสร้างขึ้นมา ไม่ใช่พรสวรรค์ที่มีกันตั้งแต่เกิด
McKinsey & Company (2020) ได้นำเสนอ 6 mindsets เพื่อรับมือกับสิ่งที่มีความไม่แน่นอนเป็นอย่างมาก ซึ่งอาจจะเป็นสถานการณ์ บุคคล หรือปัญหาที่ยากจะคาดเดา โดยประกอบได้ด้วย
1. Be ever-curious - สงสัยใคร่รู้อยู่เสมอ
ให้คุณลองนึกถึงเด็ก 4 ขวบ สำหรับพวกเขาทุกอย่างบนโลกล้วนเป็นสิ่งใหม่และไม่มีอะไรที่คาดเดาได้เลย พวกเขาจึงมีคำถามเกี่ยวกับโลกเยอะแยะมากมาย พวกเขาตั้งคำถามและสำรวจโลกอย่างไม่หยุดหย่อน แต่โดยธรรมชาติแล้ว เมื่อคนเราโตขึ้นก็จะตั้งคำถามน้อยลง ส่วนหนึ่งเพราะมีข้อมูลอยู่แล้วจำนวนหนึ่งจึงไม่ต้องการที่จะสงสัยหรือหาคำตอบเพิ่มเติมอีก คนที่โตแล้วจึงมักแก้ปัญหาด้วยวิธีเดิม ๆ ที่เคยใช้มาแล้ว แต่มันไม่ใช่ทุกปัญหาที่จะสามารถแก้ไขด้วยวิธีการเดิม ๆ ในบางครั้งคุณอาจจะต้องกลับไปทำเหมือนเด็ก 4 ขวบและตั้งคำถามกับปัญหาที่เกิดขึ้นในทุก ๆ แง่มุมเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาให้เจอ นอกจากนั้น ความสงสัยใคร่รู้ยังเป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดความคิดสร้างสรรค์อีกด้วย
2. Tolerate ambiguity—and stay humble! – อดทนต่อความคลุมเครือและถ่อมตนเข้าไว้
ภาพจินตนาการที่คนเรามักมีต่อคนที่แก้ปัญหาเก่งก็คือคนที่ฉลาดมาก ๆ มองแป๊บเดียวดูออกเลยว่าต้องทำอะไรต่อไป แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่เลย คนที่แก้ปัญหาเก่งมักเป็นคนที่ลองผิดลองถูกไปเรื่อย ๆ ไม่กลัวความผิดพลาดล้มเหลว สามารถโอบกอดความไม่สมบูรณ์แบบของตัวเองได้อย่างถ่อมตน รวมไปถึงการมีมุมมองแบบ “นักพนัน” ที่มองเห็นความน่าจะเป็นของสิ่งที่เป็นได้และเป็นไปไม่ได้ ซึ่งในการรับมือกับปัญหาและความไม่แน่นอนจำเป็นต้องอาศัยการยอมรับว่าทุกอย่างมันไม่ได้มีผลลัพธ์แค่ทางเดียว ดังนั้น จงลองผิดลองถูกและทำความเข้าใจว่าผลของการลองผิดลองถูกมันอาจจะออกมาดีหรือไม่ดีก็ได้ ซึ่งคุณก็เป็นเพียงมนุษย์ที่ไม่สมบูรณ์แบบคนหนึ่งที่ก็อาจผิดบ้างพลาดบ้างเป็นธรรมดา นอกจากนั้น อย่ามั่นใจเกินไปว่าความรู้ประสบการณ์เดิมที่คุณมีอยู่มันจะสามารถนำมาใช้กับปัญหาใหม่ ๆ ได้ทุกปัญหา
3. Take a dragonfly-eye view – มองด้วยมุมมองแบบแมลงปอ
แม้ว่าคุณจะยังไม่รู้ว่าสมองของแมลงปอทำงานอย่างไร แต่หากพิจารณาถึงลักษณะดวงตาของแมลงปอจะพบว่า แมลงปอมีดวงตาที่ใหญ่ประกอบด้วยเลนส์ตาเป็นพัน ๆ (Compound eyes) และไวต่อความกว้างของแสงมาก การรับมือกับความไม่แน่นอนก็เช่นกัน ต้องอาศัยมุมมองที่หลากหลายซึ่งดีกว่าการมองผ่านมุมมองของตัวเองเพียงอย่างเดียว อย่างไรก็ตาม หากเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องรีบแก้ไขก็คงจะไม่สามารถมองผ่านมุมมองที่หลากหลายได้มากขนาดนั้นเพราะเวลาไม่เอื้ออำนวย
4. Pursue occurrent behavior – ติดตามสิ่งที่เห็นเป็นรูปธรรม
ติดตามสิ่งที่เห็นเป็นรูปธรรมหรือพฤติกรรมที่ปรากฏให้เห็น ณ ขณะนั้น โดยใช้วิธีเหมือนกับการทำกระบวนการทดลองที่มีสมมุติฐาน ลองทำ และติดตามผลว่าหลังจากทำแล้วมีอะไรเกิดขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง แต่ให้ทำการทดลองแบบเล็ก ๆ ที่ไม่ใช้ระยะเวลาในการทดลองนาน เพื่อให้มีข้อมูลเพียงพอสำหรับการนำมาใช้รับมือกับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน การได้ลองมีประสบการณ์จะทำให้คุณเห็นภาพทั้งหมดด้วยตนเอง
5. Tap into collective intelligence and the wisdom of the crowd – พาตัวไปเองเข้าไปหาปัญญาในฝูงชน
Chris Bradley ผู้เขียนร่วมในเรื่อง Strategy Beyond the Hockey Stick พูดถึงข้อสังเกตที่เขาพบว่า หากคุณคิดว่าในทีมของคุณมีสมาชิกที่ฉลาดที่สุด คุณคิดผิด อันที่จริงแล้วคนที่ฉลาดที่สุดอาจจะอยู่ข้างนอกในที่สักแห่งหนึ่ง การได้ไปพูดคุยกับผู้คนใหม่ ๆ ที่คุณไม่เคยรู้จักมาก่อน จะช่วยให้คุณได้แนวคิดมุมมองแปลกใหม่หรือวิธีที่คุณไม่เคยทดลองใช้มาก่อนซึ่งจะช่วยเสริมความสามารถในการรับมือกับปัญหาที่คาดเดาผลลัพธ์ได้ยาก
6. Show and tell to drive action – นำเสนอไอเดียออกไปเพื่อผลักดันให้เกิดการลงมือทำ
ลองนึกกลับไปถึงภาพตอนที่คุณเป็นนักเรียนชั้นประถมอีกครั้ง ตอนที่คุณเคยนำเสนอผลงานของตนเองหน้าชั้นเรียน โดยในบทความของ McKinsey & Company ได้ยกตัวอย่างการนำเสนอของทีม Nature Conservancy เกี่ยวกับการอนุรักษ์หอยนางรม พวกเขาได้นำถังพลาสติกมา 17 ใบมาไว้ในห้องประชุม เมื่อผู้เข้าร่วมประชุมเดินเข้ามาก็เกิดสงสัยว่าอะไรอยู่ในถังพวกนั้น หลังจากนั้นพวกเขาก็ได้พบว่าหอยนางรมที่อยู่ในถัง 17 ใบนั้นสามารถช่วยทำให้น้ำใสขึ้นได้ ดังนั้น ในการนำเสนอแนวทางในการรับมือกับปัญหาที่รับมือได้ยากจึงควรทำให้เห็นภาพตามหรือมีไอเดียที่ชัดเจน เพื่อนำไปสู่การลงมือทำสิ่งใหม่ ๆ ที่เพิ่งค้นพบจากการทดลองและการนำเสนอออกไป
อย่างไรก็ตาม mindsets และทักษะต่าง ๆ ที่จะนำองค์กรหรือตัวคุณเองไปสู่การประสบความสำเร็จนั้นจำเป็นต้องอาศัยการฝึกฝน หากคุณยังนึกภาพไม่ออกว่าจะเริ่มต้นจากตรงไหนดี ในยุคปัจจุบันนี้ก็มีหลายองค์กรมืออาชีพที่คุณสามารถเลือกมาเป็นที่ปรึกษาในการพัฒนาองค์กรหรือตัวคุณได้
สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ
iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
อ้างอิง
[1] Six problem-solving mindsets for very uncertain times. Retrieved from. https://www.mckinsey.com/business-functions/strategy-and-corporate-finance/our-insights/six-problem-solving-mindsets-for-very-uncertain-times
บทความที่เกี่ยวข้อง
ประวัติผู้เขียน
นางสาวนิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) ปริญญาโทสาขาจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ปริญญาตรีสาขาจิตวิทยา (คลินิก) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ปัจจุบันเป็น นักจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (พ.ศ. 2555 – ปัจจุบัน)
และเป็นนักเขียนของ iSTRONG
Comments