นักจิตวิทยาแนะนำ 5 เทคนิคส่งเสริมการเรียนรู้อารมณ์สำหรับลูกรักของคุณ
จากการเรียนออนไลน์ของเด็ก ๆ มาประมาณ 2 ภาคเรียน ก็ทำให้คุณพ่อ คุณแม่หลายท่านสังเกตเห็นได้ชัดว่า ลูก ๆ ของเรามีปัญหาในการเรียนรู้สังคมและอารมณ์ เพราะมีความเครียดจากการเรียนออนไลน์ ไม่ได้มีการพบปะเพื่อน ๆ ในวัยเดียวกัน ไม่ได้มีกิจกรรมนอกบ้าน เพราะออกนอกบ้านได้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น และยังมีเด็กอีกหลายคนที่ต้องทนอยู่กับความรุนแรงในครอบครัว เพราะกลายเป็นที่รองรับอารมณ์ของพ่อ แม่ หรือผู้ปกครองที่มีความเครียดจากการ WFH หรือต้องตกงาน หรือได้รับผลกระทบจาก COVID – 19 ซึ่งปัญหาในการเรียนรู้สังคมและอารมณ์สำหรับเด็ก ๆ เป็นเรื่องใหญ่มากค่ะ เพราะจะส่งผลกระทบกับพวกเขาในอนาคตได้ ทั้งเรื่อง EQ ที่ไม่เหมาะสมกับวัย การขาดวุฒิภาวะด้านสังคมและอารมณ์ ทำให้เมื่อต้องกลับเข้าสู่สังคมจริง ที่ไม่ใช่ออนไลน์แล้ว เขาจะปรับตัวเข้ากับคนอื่นลำบาก ทำงานกับคนอื่นยาก ดังนั้น เพื่อเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้สังคมและอารมณ์สำหรับเด็กให้เหมาะสมตามวัย ในบทความจิตวิทยานี้จึงขอนำเสนอ “5 เทคนิคจิตวิทยา ส่งเสริมการเรียนรู้สังคมและอารมณ์สำหรับเด็ก” เพื่อให้คุณนำไปปรับใช้กับลูก ๆ หลาน ๆ ตามความเหมาะสมค่ะ
โดยคุณหมอนภัทร สิทธาโนมัย จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ประจำโรงพยาบาลศิริราช ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า การเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคม หรือ Social and Emotional Learning (SEL) คือ กระบวนการที่เด็กสามารถเข้าใจและจัดการอารมณ์ของตนเองได้อย่างเหมาะสมตามวัย และสอดคล้องกับสถานการณ์ เช่น มีการตั้งเป้าหมายในชีวิต และมีการวางแผนเพื่อให้สำเร็จตามเป้าหมาย มีความเข้าใจคนอื่น เห็นอกเห็นใจคนอื่น สามารถสร้างและรักษาสัมพันธภาพที่มีต่อคนอื่นในสังคมได้ เป็นต้น ซึ่งการเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคม จะมีผลโดยตรงต่อความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Quotient : EQ) และกระบวนการรู้คิด (Executive function : EF) เพราะการเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคม จะช่วยทำให้เด็กมีการเรียนรู้การจัดการอารมณ์ที่เหมาะสม จนเกิดเป็น EQ และเกิดการตกผลึกทางความคิด จนเกิดเป็น EF นั่นเองค่ะ
ซึ่งคุณหมอนภัทร สิทธาโนมัย ได้แนะนำถึง 5 เทคนิค ในการส่งเสริมการเรียนรู้สังคมและอารมณ์สำหรับเด็ก ดังนี้ค่ะ
1. การตระหนักรู้ในตนเอง (Self - awareness)
คือการส่งเสริมให้เด็กรู้ทันตัวเองว่า ตอนนี้เขารู้สึกอย่างไรต่อสถานการณ์ เช่น เมื่อเขาโดนเพื่อนแกล้ง และกำลังจะแกล้งเพื่อนคืน หรือไปเอาคืนเพื่อน ให้คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง เข้าไปเบรกอารมณ์ของเขา โดยการจับมือ มองตา และถามด้วยน้ำเสียงนุ่มนวลว่า “ตอนนี้หนูรู้สึกอย่างไร?” เพื่อให้เด็ก ๆ เรียนรู้ว่าสิ่งที่เขารู้สึกคืออารมณ์อะไร การสอนให้เด็ก ๆ ตระหนักรู้ในตนเอง หรือมี Self – awareness จะช่วยทำให้เขามีสติ รับรู้อารมณ์ ความรู้สึก ความคิดของเขาเอง ซึ่งคุณหมอนภัทร สิทธาโนมัย ได้แนะนำวิธีการฝึกการตระหนักรู้ในตนเองโดยการส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านการเล่นกับผู้อื่นค่ะ ซึ่งในสถานการณ์เช่นนี้ก็อาจจะต้องเล่นกับคนในบ้านไปก่อนนะคะ
2. การจัดการกับอารมณ์อย่างเหมาะสม (Self - management)
เมื่อเราได้สอนให้เด็ก ๆ รู้จักกับอารมณ์ ความรู้สึก ความคิดของตนเองแล้ว ในขั้นตอนต่อมาที่ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาแนะนำ ก็คือ การสอนให้เขาจัดการกับอารมณ์อย่างเหมาะสมค่ะ โดยการถามเด็ก ๆ เมื่อเด็ก ๆ เกิดความรู้สึกอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมา ไม่ว่าจะทางบวก หรือทางลบก็ตาม ว่า “จะทำอย่างไรกับความรู้สึกนี้ดี?” แล้วชี้ให้เห็นข้อดี - ข้อเสีย ของทางที่เขาเลือกค่ะ โดยเราจะต้องอธิบาย หรือสมมุติ ให้เด็ก ๆ เห็นภาพชัดเจนเลยค่ะว่าทางที่เขาเลือกจะมีผลอย่างไรกับตัวเขา และคนอื่น เช่น หากเขาโกรธเพื่อนที่เพื่อนตีเขา และเขาจะเอาคืนโดยการตีเพื่อน เราก็สามารถชี้ให้เขาเห้นได้โดยการถามว่า “ตอนเพื่อนตีเราเรารู้สึกอย่างไร?” หรือ “หนูชอบที่เพื่อนทำแบบนี้กับหนูไหม?” แล้วจึงค่อยแนะนำว่า หากเราไม่ชอบ ก็อย่าไปทำกับคนอื่น เพราะคนอื่นก็จะเราคืนไม่จบ และแนะนำวิธีการแก้ปัญหาอื่นที่สร้างสรรค์แทนค่ะ
3. การตระหนักรู้ด้านสังคม (Social awareness)
ในข้อนี้ เป็นการส่งเสริมด้านการเรียนรู้สังคมและอารมณ์ที่เหมาะกับเด็กตั้งแต่อายุ 3 ปีขึ้นไปค่ะ เพราะค่อนข้างลึกซึ้ง และซับซ้อน โดยเป็นการสอนให้เด็กเข้าใจถึงสถานการณืนั้น ๆ เสียก่อน ว่าเกิดอะไรขึ้น และคนที่อยู่ในสถานการณ์นั้นมีความรู้สึกอย่างไร เช่น ในสถานการณ์ที่คนในบ้านติด COVID – 19 ต้องแยกตัวเพื่อรักษา 14 วัน เราก็ต้องอธิบายให้เด็กเข้าใจว่า สมาชิกคนนั้นต้องหายหน้าไป 14 วันเพราะอะไร และสมาชิกครอบครัวคนนั้นรู้สึกอย่างไร เป็นต้น เพื่อให้เด็กเรียนรู้ที่จะเข้าใจสถานการณ์ทางสังคม และเห็นใจ เข้าใจผู้อื่นมากขึ้นค่ะ
4. มีทักษะด้านความสัมพันธ์ที่เหมาะสมตามวัย (Relationship skills)
การสร้างทักษะด้านความสัมพันธ์ที่เหมาะสมตามวัย (Relationship skills) หากเป็นสถานการณ์ปกติ ที่เด็ก ๆ ได้เข้าเรียนในโรงเรียน คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง จะเบาใจกับการฝึกทักษะด้านความสัมพันธ์ไปได้มากเลยค่ะ เพราะเด็ก ๆ ได้เจอเพื่อน ได้เจอครู ได้เจอคนอื่นนอกบ้าน แต่ในสถานการณ์เช่นนี้ หลายบ้านจะเห็นปัญหาชัดเลยค่ะว่า เด็กกลัวคนแปลกหน้า เข้าหาคนอื่นไม่เป็น เล่นกับเพื่อนวัยเดียวกัน ไม่เป็น และในกรณีที่บ้านเรามีเด็กคนเดียว ก็มักจะเอาตนเองเป็นศูนย์กลางของจักวาล เพราะเคยชินกับการที่ทุกคนในบ้านยอมเขาหมด ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่เราต้องฝึกทักษะด้านความสัมพันธ์ให้กับเด็ก ๆ ค่ะ โดยฝึกจากคนในบ้านนี่ละค่ะ ทั้งการทักทาย การใช้คำพูดกับคนอื่นที่เหมาะสม การสร้างเงื่อนไขในการเล่น เช่น กำหนดเวลาชัดเจนว่าตอนนี้พ่อ แม่ กำลังทำงานนะยังเล่นด้วยไม่ได้ หากจะเข้ามาหาให้ขออนุญาตก่อน แบบนี้เป็นต้นค่ะ
5. รับผิดชอบในสิ่งที่ตัวเองเลือก (Responsible decision making)
การให้โอกาสเด็กใน “การเลือก” สิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเอง เป็นการฝึกเล็ก ๆ แต่ยิ่งใหญ่ เพราะการให้โอกาสเด็ก “เลือก” เป็นการสร้างความมั่นใจในตนเอง สร้างความเชื่อใจ ไว้ใจระหว่างเด็ก ๆ กับคนในครอบครัว และสร้างความกล้าที่จะตัดสินใจให้กับเด็ก ๆ ด้วยค่ะ ซึ่งคุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครองสามารถให้เด็ก ๆ ฝึกการเลือกได้ตั้งแต่เรื่องง่าย ๆ เช่น เลือกชุดที่จะใส่ เลือกซื้อของใช้เอง เลือกหนังสือที่จะอ่าน เลือกที่จะไปเที่ยว หรือเลือกวิชาเรียนเสริมด้วยตัวเอง แต่เราต้องกำชับเขาให้ชัดเจนนะคะว่า สิ่งที่เขาเลือกมีข้อดี - ข้อเสียอย่างไร เมื่อเลือกแล้วต้องรับให้ได้นะ เพื่อให้เขาฝึกรับผิดชอบในสิ่งที่เขาเลือกค่ะ
การเรียนรู้สังคมและอารมณ์ จำเป็นอย่างมากเลยค่ะสำหรับเด็ก ๆ โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่เราต้องห่างจากสังคม เพราะอย่างไรก็ตามเราก็ต้องกลับเข้าสู่สังคมอยู่ดี ไม่ว่าจะสังคมในลักษณะครอบครัว โรงเรียน หรือแม้แต่การออกไปทำธุระนอกบ้านก็ตาม เราก็ต้องเตรียมความพร้อมให้ลูกของเราสามารถอยู่ร่วมกับคนอื่นได้ เพื่อความสุขในชีวิตของเขาเองในวันนี้ และในวันที่เขาโตขึ้นค่ะ
สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ
iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
• คอร์สฝึกอบรม การเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
บทความที่เกี่ยวข้อง
[1] เสริมความสตรองให้ลูกด้วย EFs ในช่วงปิดเทอมที่ยาวนาน(https://www.istrong.co/single-post/__efs)
[2] นักจิตวิทยาแนะนำ 5 วิธีดูแลสุขภาพจิตเด็กในช่วง Covid-19 (https://www.istrong.co/single-post/5ways-to-takecare-of-child-mentalhealth-during-covid-19)
อ้างอิง :
นภัทร สิทธาโนมัย. มปป. ทักษะอารมณ์และสังคมในเด็ก. กรุงเทพฯ : โรงพยาบาลศิริราช.
ประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก
บัณฑิตสาขาวิชาเอกจิตวิทยาคลินิก เกียรตินิยมอันดับ 2 จากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตด้านการพัฒนาสังคม NIDA มีประสบการณ์ด้านจิตวิทยาเด็ก 4 ปี เป็นผู้ช่วยนักวิจัย ด้านจิตวิทยา 1 ปี ปัจจุบันเป็นนักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ และคุณแม่ของลูก 1 คน แมว 2 ตัว ที่ประยุกต์ใช้ศาสตร์ทางจิตวิทยาในการใช้ชีวิต
Comments