5 เทคนิคง่าย ๆ เปลี่ยนตัวเองเป็นคนคิดบวก
เมื่อพูดถึงคำว่า “คิดบวก” หลายคนก็อดจะคิดถึงอีกคำหนึ่งไม่ได้ก็คือคำว่า “คิดลบ” นอกจากนั้นคนส่วนใหญ่ก็น่าจะมีมุมมองว่า การคิดบวกเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับการคิดลบ หรืออาจจะมีมุมมองว่าคนที่คิดบวกจะไม่เป็นคนคิดลบ ทำให้มีคนเป็นจำนวนมากที่ต่อต้านคำว่าคิดบวกเพราะไปให้ความหมายมันว่าเป็นความคิดแบบโลกสวย ซึ่งความหมายที่แท้จริงของการคิดบวกนั้นอาจจะไม่ได้มีอยู่จริง เพราะความหมายของการคิดบวกขึ้นอยู่กับการตีความของแต่ละบุคคล แต่คำที่มีความหมายอยู่จริงก็คือคำว่าจิตวิทยาเชิงบวก (Positive psychology) ริเริ่มโดย Martin E.P. Seligman นักจิตวิทยา ที่หันมาให้ความสำคัญกับมุมมองเชิงบวกมากขึ้น มุมมองทางจิตวิทยาจึงเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่มุ่งสนใจเกี่ยวกับความเจ็บป่วยทางใจ มาเป็นการมุ่งสนใจว่ามนุษย์มีอะไรดีและจะสามารถพัฒนาจุดดีนั้นให้โดดเด่นขึ้นได้อย่างไรบ้าง
อย่างที่เล่าไปในข้างต้นว่าความหมายของการคิดบวกนั้นขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละบุคคล ในบทความนี้จะขอหยิบยกมุมมองต่อการคิดบวกว่า การคิดบวกนั้นไม่ใช่วิธีการคิดแต่เป็นผลจากวิธีการคิด และการคิดบวกก็มาจากการสะสมวิธีการคิดเช่นเดียวกับการคิดลบ อันที่จริงแล้วมันคงจะไม่สำคัญเท่าไหร่หากการคิดไม่ได้ส่งผลต่อสภาพอารมณ์และพฤติกรรมของบุคคล แต่ปัญหาคือ การคิดมีผลต่ออารมณ์และพฤติกรรมของบุคคลจริง ๆ ดังนั้น ในบทความนี้จึงอยากจะชวนคุณมาฝึกการคิดให้เกิดความคิดบวกมากขึ้น เพราะการคิดบวกนั้นช่วยให้คุณหยุดพูดกับตัวเองทางลบและช่วยลดความเครียดได้ โดยมี 5 สิ่งที่อยากแนะนำให้คุณลองทำ ดังต่อไปนี้
1. หาจุดที่คุณอยากจะเปลี่ยนแปลง
ลองทบทวนดูว่าในแต่ละวันคุณมักจะคิดลบในเรื่องอะไรเป็นส่วนใหญ่ และการคิดลบของคุณมันส่งผลกระทบกับคุณยังไงบ้าง โดยเฉพาะหากคุณเริ่มกลายเป็นคนที่เครียดง่าย หงุดหงิดง่าย คุณอาจจะลองทบทวนดูว่า การที่คุณรู้สึกเครียด หงุดหงิด มันมีผลมาจากรูปแบบการคิดของคุณด้วยหรือเปล่า หากคำตอบคือใช่ นี่อาจเป็นจุดที่คุณสมควรเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงตัวเอง
2. เปิดใจให้กับการมีอารมณ์ขัน
สำหรับบางคนแล้ว ในเวลาที่มีความเครียด มักจะหงุดหงิดใจกับอารมณ์ขัน เพราะอาจจะมีความเชื่อว่าความเครียดกับอารมณ์ขันนั้นไปกันไม่ได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว อารมณ์ขันคือทักษะขั้นสูงในการบรรเทาความเครียดของตัวเอง เนื่องจากคนที่สามารถมองเห็นมุมดี ๆ ของเหตุการณ์ที่ไม่ดี มักจะสามารถอยู่กับความเครียดได้ เพราะเชื่อว่าทุกปัญหาย่อมมีทางออก
3. ออกกำลังกายเพื่อรักษาสุขภาพให้แข็งแรง
ออกกำลังกายวันละประมาณ 30 นาที โดยพยายามออกกำลังกายให้ได้หลาย ๆ วันใน 1 สัปดาห์ (อาจจะไม่ต้องออกกำลังกายครบทั้ง 7 วันก็ได้) การออกกำลังกายเป็นประจำนอกจากจะช่วยให้มีสุขภาพที่แข็งแรงแล้ว ยังช่วยให้อารมณ์ดีขึ้น และสามารถช่วยลดความเครียดได้อีกด้วย
4. พาตัวเองไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีคนคิดบวก
คนที่คิดบวกมักมีลักษณะเป็นผู้ที่คอยสนับสนุนให้กำลังใจ ช่วยรับฟังและให้คำปรึกษากับคุณได้ดี ทำให้รู้สึกว่าเวลาที่ตัวเองมีปัญหาก็มีบุคคลที่คุณพึ่งพาได้ ในขณะที่คนคิดลบจะพาให้คุณเกิดความเครียด หรือถ้าเครียดอยู่แล้วก็จะเครียดเพิ่มขึ้น นอกจากนั้น พวกเขาอาจจะมีคำพูดที่ทำให้คุณเกิดความสงสัยในความสามารถของตัวเองว่าจะสามารถผ่านความเครียดที่เกิดขึ้นไปได้จริงไหม
5. ฝึกพูดกับตัวเองในทางที่ดี
อาจจะเริ่มต้นโดยการบอกกับตัวเองว่า “ฉันจะไม่พูดกับตัวเองด้วยคำพูดที่ฉันไม่อยากพูดกับคนอื่น” หากคุณพยายามที่จะไม่พูดกับคนอื่นอย่างแล้งน้ำใจหรือทำร้ายจิตใจ คุณก็ควรพยายามทำแบบนั้นกับตัวคุณเองด้วยเหมือนกัน โดยการพูดกับตัวเองในทางที่ดีมักจะเปี่ยมไปด้วยการให้กำลังใจตัวเอง อ่อนโยนกับตัวเอง ไม่พูดอะไรที่ทำให้เกิดความสงสัยในความสามารถของตัวเอง
ตัวอย่าง
คำพูดกับตัวเองในทางที่ไม่ดี : “ฉันไม่เคยทำแบบนี้มาก่อนเลย (จะทำได้เหรอ)”
คำพูดกับตัวเองในทางที่ดี: “ฉันได้รับโอกาสในการได้ลองทำอะไรใหม่ ๆ”
อย่างไรก็ตาม การคิดบวกในที่นี้อาจไม่จำเป็นต้องหมายถึงการคิดในสิ่งที่อยู่ที่ตรงข้ามกับการคิดลบเสมอไป แต่อาจจะหมายถึงการคิดบวกแบบ “Add more thinking styles” ก็ได้ คือฝึกให้ตัวเองมีความคิดที่หลากหลายไว้เป็นทางเลือกว่า หากเกิดเหตุการณ์หนึ่งขึ้นมา คุณจะสามารถคิดแบบไหนได้บ้าง จากนั้นก็เลือกเอาความคิดที่คิดแล้วเป็นผลดีกับตัวเองมาใช้ ซึ่งเป็นการคิดบวกที่อยู่ในความเป็นจริง และเป็นการคิดบวกที่จะช่วยให้คุณสามารถผ่านปัญหาและรับมือกับความเครียดได้มากขึ้น
สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ
iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
• คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
อ้างอิง
บทความที่เกี่ยวข้อง
[1] 12 วิธีฝึกคิดบวก ไม่ได้ยากอย่างที่คิด https://www.istrong.co/single-post/positive-thinking
[2] 4 วิธีฝึกตัวเองให้เป็นคนคิดบวก https://www.istrong.co/single-post/4-ways-to-practice-positive-thinking
ประวัติผู้เขียน : นางสาวนิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น)
จบการศึกษาระดับปริญญาโทสาขาจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ
ระดับปริญญาตรีสาขาจิตวิทยา (คลินิก) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ปัจจุบันเป็น นักจิตวิทยาการปรึกษา ประจำอยู่ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เชียงใหม่
และเป็นนักเขียนของ iSTRONG
Comments