5 ขั้นตอนจัดการความรู้สึกเฟล ปัญหาใหญ่ของคนคิดลบ
บ่อยครั้งที่เรารู้สึกเฟลเพราะความคิดในหัวของเราเอง ถ้าพิจารณาให้ดีแล้ว คนที่ทำให้เรารู้สึกเฟลมากที่สุดก็คือตัวเราเอง เรามักจะมีเสียงในหัว ในความไม่แน่ใจในตัวเอง หรือเมื่อมีสถานการณ์บางอย่างเกิดขึ้น และส่งผลให้เรามีคำถามกับคุณค่าและความสามารถของตัวเอง ตัวอย่างเช่น เราอาจรู้สึกว่าเราไม่ดีพอ ไม่เก่ง เมื่อเข้าไปในที่ทำงานใหม่ๆ เพียงเพราะเรายังไม่คุ้นเคยกับระบบงาน (แต่นั่นไม่ได้แปลว่าเราดีไม่พอ) เราอาจจะไปเจอเพื่อนร่วมงานที่ไม่เป็นมิตร กระตุ้นความรู้สึกไม่มั่นใจในตัวเองออกมาด้วยคำถามว่า คิดว่าจะทำได้ไหม? แล้วจิตใจเราก็ปรุงแต่งความกลัวต่างๆ นานา ตั้งคำถามมากมายกับความสามารถของตัวเอง จนพาลไปกระทบต่อ self-esteem ของเรา หากเราปล่อยให้เสียงวิพากวิจารณ์ตัวเราในด้านลบดังมากขึ้นเท่าไร เราเชื่อมันมากขึ้นเท่าไร ความสามารถในการรักตัวเอง และมีความสุขกับชีวิตก็จะลดลงไปมากเท่านั้น
วันนี้แพรมีบทความทางจิตวิทยา ที่จะช่วยให้เราจัดการกับความคิดด้านลบที่เกิดขึ้นกับตัวเอง ต้นเหตุของความรู้สึกเฟล ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 5 ขั้นตอนมาฝากให้ได้ลองเอาไปปรับประยุกต์ใช้กันค่ะ
1. รู้เท่าทัน
หากคุณเคยฝึกสมาธิ สิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญในการจัดการกับความทุกข์ก็คือ การรู้เท่าทันความคิด และอารมณ์ที่เกิดขึ้น เช่นเดียวกับ การจัดการกับความคิดลบๆ ที่เรามีกับตัวเอง ขั้นแรกที่เราจะต้องฝึกฝนและทำให้ได้ก็คือ การรู้เท่าทันความคิดของเราเอง เมื่อใดก็ตามที่เราเห็นความคิดลบกับตัวเราเองผุดขึ้นมา ก็เพียงแค่รู้ว่า เอาหละ เราเริ่มคิดแบบนี้อีกแล้ว
2. ไม่ปรุงแต่ง
หลังจากที่เรารู้แล้วว่า ความคิดด้านลบเกี่ยวกับตัวเราเองได้เกิดขึ้น และแน่นอน ถ้าเราปรุงแต่งมันต่อ เช่น เราเริ่มคิดว่าเราเองไม่ดีพอ แล้วก็กลับย้อนไปคิดถึงเหตุการณ์ความผิดพลาดที่เราเคยทำในอดีต หรือหาเหตุผลรวมถึงเหตุการณ์สนับสนุนเพื่อมาช่วยยืนยันว่า ความคิดที่เรากำลังคิดลบกับตัวเองเป็นเรื่องจริง เราก็จะเริ่มรู้สึกเฟล ดังนั้น เมื่อเรารู้ว่าเรากำลังคิดลบ ก็เพียงแค่รู้ว่านี่เป็นเพียงแค่ความคิดที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราวของเรา อย่าไปปรุงแต่งความคิดที่เกิดขึ้นต่อ และส่งผลให้เรารู้สึกเฟล
3. ไม่ทำตามความรู้สึก
ความคิดลบ ส่งผลให้เรารู้สึกเฟล หากเราปรุงแต่งตาม และเริ่มที่จะเชื่อตามนั้น เราก็แค่พยายามจัดการกับความรู้สึกนั้น เพื่อให้มันหายไป ซึ่งแต่ละคนมีวิธีการที่ไม่เหมือนกัน เช่น หากเรารู้สึกว่า ตัวเราไม่ดีพอ และเริ่มที่จะเชื่อว่าเราเป็นแบบนั้นจริงๆ สมองของเราก็อาจจะสั้งให้เราเลิกล้มที่จะทำงานนั้น ไปหางานอื่นที่อาจจะต่ำกว่าศักยภาพที่เรามีจริงๆ หากเรามีสติรู้เท่าทันว่าตอนนี้ความคิดลบของเรากำลังสั่งให้เราทำบางอย่าง วิธีการแก้ไขก็คือ อย่าเพิ่งทำตามสิ่งที่ความรู้สึก (เป็นเพียงความรู้สึกชั่วคราว) บอกให้เราทำ แต่ทำในสิ่งตรงข้าม เช่น ลองทำงานนั้นออกมาให้ดีที่สุดแทน
4. หาสิ่งดึงดูดความสนใจของเรา
บ่อยครั้งเมื่อเรารู้สึกเฟลอันเนื่องมาจากความคิดลบต่อตัวเราเอง และเราก็วนเวียนคิดถึงแต่ความคิดลบๆ นั้น ไม่สามารถที่จะสลัดความคิดในให้หลุดออกจากสมองของเราไปได้ หากเรากำลังเผชิญปัญหานี้อยู่ ให้เราพยายามหาสิ่งอื่นที่จะเป็นประโยชน์กับตัวเราเองทำ การได้เอาสมองของเราไปจดจ่อกับสิ่งอื่น จะทำให้เราหยุดคิดถึงเรื่องด้านลบที่กำลังอยู่ในหัว และทำลาย self-esteem ของเรา ยิ่งถ้าเรื่องนั้นๆ ที่เราเบี่ยงเบนความสนใจไปหาเป็นเรื่องที่มีประโยชน์ ก็จะสร้างประโยชน์ให้กับตัวเราแทนที่จะนั่งรู้สึกเฟลต่อไปเรื่อยๆ
5. ระบุต้นเหตุที่ทำให้เราคิดลบกับตัวเอง
การหาที่มาที่ไปถึงสาเหตุที่ทำให้เราคิดลบกับตัวเอง และหลีกเลี่ยงต้นเหตุนั้นจะเป็นตัวช่วยให้เราสามารถจัดการกับความคิด ความรู้สึกของเราได้เป็นอย่างดี ดังนั้น พยายามเข้าใจที่มาที่ไป ของต้นเหตุที่ทำให้เรารู้สึกลบกับตัวเอง และหลีกเลี่ยงเหตุการณ์นั้นๆ
ความสามารถในการจัดการความคิด และอารมณ์ของตัวเอง หรือที่เรารู้สึกกันในชื่อของ EQ (Emotional Intelligent) เป็นปัจจัยที่สำคัญมากตัวหนึ่งในการที่จะประสบความสำเร็จในด้านต่างๆ ดังนั้น การรู้เท่าทันและจัดการกับความคิดทางด้านลบต่อตัวคุณเอง ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เราควรจะต้องมีสติในการจัดการกับมัน เพื่อการมีชีวิตที่มีความสุข และประสบควาสำเร็จเช่นกันค่ะ
iStrong.co ศูนย์ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตและครอบครัว
บริการให้คำปรึกษาโดยนักจิตวิทยา นักจิตบำบัด นักจิตวิทยาคลินิกที่มีใบรับรอง
สามารถเลือกคุยทางโทรศัพท์หรือการพูดคุยแบบส่วนตัว (Private Counseling)
และคอร์สออนไลน์ | Classroom Workshop
รวมถึงบทความจิตวิทยาอีกมากมาย
Contact : https://www.istrong.co/service
Comments