top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

5 วิธีเติมความสุขในชีวิต ด้วย “ความฝัน”


ท่ามกลางข่าว COVID-19 ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวชวนเครียด หดหู่ และเศร้าใจ เรายังมี 1 ข่าวที่ถือว่าเป็นข่าวดีและทำให้เราพอมีความสุข และมีชีวิตชีวาขึ้นมาบ้าง ข่าวที่เรากำลังตจะพูดถึงนั่นก็คือ โอลิมปิกเกม 2020 หรือชื่ออย่างเป็นทางการ ว่า Tokyo 2020 Olympic Games ที่เราได้รู้สึกดีขึ้นบ้าง จากการคว้าเหรียญทองแรกให้กับประเทศไทยในโอลิมปิกรอบนี้ของน้องเทนนิส จากกีฬาเทควันโดหญิง และโอลิมปิกเกมนี่ละค่ะที่ความฝันของเด็ก ๆ วัยรุ่น หรือผู้ใหญ่เอง เติบโตสวยงาม และก็มีอีกหนึ่งเหรียญทองที่ถือว่าเป็นความมหัศจรรย์ที่ปลุก Passion ของความฝันให้ทุกคนลุกขึ้นมารักษาและมุ่งมั่นที่จะทำตามความฝันของตัวเองใหม่ เหรียญทองที่ว่า ก็คือเหรียญทองจากกีฬาปั่นจักรยานประเภทถนน (Road Race) ของ Anna Kiesenhofer ผู้แข่งหนึ่งเดียวจากประเทศออสเตรีย ต้องใช้คำว่า “หนึ่งเดียว” จริง ๆ ค่ะ เพราะมาคนเดียว ไม่มีโค้ช ไม่มีทีม จ่ายเงินเอง แข่งเอง ได้เหรียญทองเอง


ความน่าสนใจของ Kiesenhofer ก็คือ เธอปั่นแบบไม่ใช่เทคนิคใด ๆ เธอใช้ใจที่เปี่ยมด้วย Passion ของความฝันล้วน ๆในการแข่งขัน เมื่อสัญญาณออกตัวดัง สิ่งที่เธอทำก็คือปั่น ปั่น และปั่นไปเรื่อย ๆ ไม่มีหยุด ไม่มีผ่อน จนสามารถแซงตัวเต็งเข้าเส้นชัยโดยใช้เวลา 3 ชั่วโมง 52 นาที 45 วินาที กับระยะทาง 137 กิโลเมตร ซึ่งแซงอันดับสองด้วยเวลา 1 นาทีนิด ๆ เมื่อย้อนไปดูประวัติของ Kiesenhofer ก็ยิ่งช่วยเติมPassion ของความฝัน ของพวกเราให้โชติช่วง เพราะเธอไม่ได้ Born to be มาเป็นนักกีฬา แต่เธอ Love to do ในความฝันของเธอ เพราะก่อนหน้านี้เธอไม่ได้ลงแข่งอะไรจริงจัง ในปี ค.ศ. 2012 ตอนเธอเรียนปริญญาโทด้านคณิตศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (University of Cambridge) เธอลงแข่งปั่นจักรยานแข่งระยะ 10 ไมล์ และเธอเข้าเส้นชัยในอันดับ 32 จากผู้เข้าแข่งขัน 32 คน และเริ่มมามีผลงานเด่นในการทำตามความฝันในปี ค.ศ. 2019 ที่เธอสามารถ คว้าแชมป์ Time Trial ในการแข่งที่ประเทศออสเตรียบ้านเกิดของเธอได้ จนได้โควต้ามาแข่งขันโอลิมปิกเกม 2020 ที่เธอได้เหรียญทองนี่เอง


ในทางจิตวิทยา ความฝันมีความสัมพันธ์โดยตรงกับความสุข จากงานวิจัยทางจิตวิทยา เรื่องการสร้างความสุขด้วยจิตวิทยาเชิงบวก ของ เกสร มุ้ยจีน พบว่า เมื่อคนเราสามารถทำตามความฝัน หรือสิ่งที่เราต้องการได้สำเร็จ เราจะรู้สึกมีความสุข รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า มีความภาคภูมิใจในตนเอง พร้อมทั้งยังระบุว่า องค์ประกอบหนึ่งของความสุข คือการมีเป้าหมายในชีวิต หรือการมีความฝันนั่นเอง


ดังนั้นการรักษา Passion ของความฝัน หรือการสร้างความมุ่งมั่นที่จะทำตามความฝัน จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างมากต่อความสุขในชีวิตของเราค่ะ เราจึงขอนำข้อแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาในการรักษา Passion ของความฝัน 5 ข้อ มาฝากทุกคนกันค่ะ

1. ทำความฝันของคุณให้ชัดเจน


โดยการแปลงความฝันในใจให้เป็นรูปธรรม จับต้องได้ เช่น ถ้าคุณฝันอยากเป็นเชฟขนมหวาน ก็สามารถทำฝันให้เป็นรูปเป็นร่างโดยการหาข้อมูลเรื่องการทำขนม การลงเรียนคอร์สทำขนม การเรียนรู้สูตรหรือเทคนิคจากคุณแม่ คุณย่า คุณยาย แล้วทำให้ฝันใหญ่ขึ้นโดยการแบ่งปันขนมหวานฝีมือเราให้คนรู้จักชิม และปรับปรุงสูตรจนเป็น Signature ของเราต่อไปค่ะ


2. วางแผนที่จะทำให้ความฝันของคุณให้เป็นจริง


อย่างเช่น Kiesenhofer บุคคลตัวอย่างของเราที่ถึงแม้จะเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัย แต่ก็ไม่ได้ละทิ้งความฝันที่จะเป็นนักกีฬาปั่นจักรยานโอลิมปิก โดยการหาข้อมูลและลงแข่งขันในรายการที่สามารถต่อยอดให้ความฝันเป็นจริงได้ นั่นก็คือการลงแข่งในรายการ Time Trial จนสามารถชนะการแข่งขันและ ได้โควต้ามาแข่งโอลิมปิกจนได้เหรียญทองในที่สุดค่ะ


3. พัฒนาทักษะที่จำเป็นในการทำตามความฝันของคุณ


หากคุณมีความฝัน แต่ไม่ได้ฝึกทักษะที่จะทำให้ความฝันเป็นจริง เช่น อยากเป็นนักร้อง ถึงเสียงไม่ให้แต่ใจรัก หรืออยากเป็นทูต แต่ภาษาไม่ได้ ความรู้ทางวัฒนธรรมไม่มี หากเราฝันแต่ไม่ได้พัฒนาตัวเอง เราก็จะได้แต่ฝันเท่านั้น แต่ถ้าเรามุ่งมั่น ตั้งใจ มี Passion ที่จะทำให้ฝันเป็นจริง แล้วพัฒนาตัวเอง เช่น เรียนร้องเพลง เรียนภาษา หาข้อมูลด้านสังคมวัฒนธรรมโลก ก็ช่วยให้เราเข้าใกล้ความฝันได้มากขึ้นค่ะ


4. เชื่อมั่นในตัวเอง


ถึงแม้ว่าตัวจริงของคุณจะขี้อาย แต่ในการทำตามความฝัน เป็นเรื่องที่เราต้องใช้ความกล้าในการเอาชนะความกลัวในใจค่ะ และหัวใจหลักที่เรานำมาใช้ในการเอาชนะตัวเราเอง ก็คือ ความเชื่อมมั่นในตัวเอง อย่างเช่นผู้เข้าประกวดรายการ The voice Thailand 2019 ที่ดิฉันชื่นชอบมาก คือ น้องโอปอ บุคลิกปกติของน้องจะขี้อาย แต่เมื่อขึ้นร้องเพลงบนเวลาที น้องจะนั่งเล่นกีตาร์ตัวเก่ง หลับตา และปล่อยพลังเสียงที่ฟังแล้วเคลิ้มเลยค่ะ เสียงใส เสียงเพราะ เสียงดี และแฝงความหมายไว้ในเนื้อเสียง นั่นแสดงให้เห็นว่าน้องมีความเชื่อมั่นในตัวเองมากพอที่จะมาประกวด และทำตามความฝันของตัวเองค่ะ


5. พาตัวเองไปสัมผัสบรรยากาศของความฝัน


ผู้เข้าประกวดรายการเพลงหลายท่าน ใช้วิธีสร้างแรงบันดาลใจ หรือปลุกความกล้าให้ทำตามความฝันผ่านการชมการแสดงของผู้เข้าประกวดในปีก่อน ๆ ซึ่งหลายท่านที่ผลักดันตัวเองให้กล้าทำตามฝันในวันนั้น ก็ได้กลายมาเป็นแรงบันดาลใจของใครหลายคนในวันนี้ ก็เพราะการพาตัวเองไปสัมผัสบรรยากาศของความฝันนั่นเองค่ะ


หากอ้างอิงตามทฤษฎีจิตวิทยา ที่เรียกว่า ลำดับความต้องการของมาสโลว์ (Maslow's hierarchy of needs) การที่เราสามารถทำความฝันให้สำเร็จได้นั้น เป็นใบเบิกทางสู่ลำดับสูงสุดของความต้องการของมนุษย์ หรือที่เรียกว่า “ความสมบูรณ์ของชีวิต” (self-actualization) เพราะมาสโลว์ ได้บอกไว้ว่า ความสุขสูงสุดของชีวิตที่ทำให้เราชีวิตสมบูรณ์ ก็คือ การได้เป็นในสิ่งที่ตนต้องการจะเป็น (“What a man can be, he must be.”) พูดอีกอย่างก็คือ การได้เป็นตามความฝันคือความรู้สึกว่าชีวิตนี้พอแล้ว นั่นเองค่ะ เป็นกำลังใจให้ทุกคนรักษาความฝัน และเดินตามฝันให้สำเร็จนะคะ


สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ


iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่


 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

• คอร์สฝึกอบรม การเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา : http://bit.ly/3RQfQwS


สำหรับองค์กร

• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8


โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

อ้างอิง :

[1] วิศรุต สินพงศพร. 26 กรกฎาคม 2564. วิเคราะห์บอลจริงจัง. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 29 กรกฎาคม 2564 จาก https://www.facebook.com/jingjungfootball/

[2] เกสร มุ้ยจีน. 2559. การสร้างความสุขด้วยจิตวิทยาเชิงบวก. วารสารวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ 24 ฉบับที่ 4 ตุลาคม - ธันวาคม 2559. หน้า 676 – 677.

[3] Maslow, Abraham H. 1954. Motivation and personality . New York: Harper and Row. p. 91.

 

ประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก

บัณฑิตสาขาวิชาเอกจิตวิทยาคลินิก เกียรตินิยมอันดับ 2 จากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตด้านการพัฒนาสังคม NIDA

มีประสบการณ์ด้านจิตวิทยาเด็ก 4 ปี เป็นผู้ช่วยนักวิจัยด้านจิตวิทยา 1 ปี ปัจจุบันเป็นนักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ ที่ประยุกต์ใช้ศาสตร์ทางจิตวิทยาในการปฏิบัติงานมากว่า 6 ปี


Commentaires


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page