top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

5 เทคนิคจิตวิทยาที่ทำได้ง่าย ๆ ในการเปลี่ยนบ้านให้เป็น Safe Zone



เมื่อช่วง Covid – 19 ระบาดหนัก ๆ ดิฉันเคยได้เขียนบทความจิตวิทยาเกี่ยวกับ “โรคเกลียดคนในบ้าน” กันไปแล้ว ในบทความจิตวิทยานี้จึงขอแนะนำวิธีเปลี่ยนบ้านให้เป็น Safe Zone กันบ้าง ก่อนอื่นขอย้อนกลับไปที่ “โรคเกลียดคนในบ้าน” กันก่อนนะคะ ซึ่งสาเหตุหลัก ๆ มาจากการลุกล้ำพื้นที่ส่วนตัวของกันและกันมากเกินไป ไม่ว่าจะเป็นการใช้คำพูดที่ไม่ดีต่อกัน เช่น Bully เรื่องแนวคิดที่แตกต่างกัน มีการ Body shaming คนในบ้าน คือ ล้อเลียนเรื่องรูปร่าง หน้าตา ทั้ง ๆ ที่เราก็มี DNA เดียวกัน มีการกระทบกระเทียบ เปรียบเปรยคนในบ้านกับคนอื่นที่เห็นว่าดีกว่า เมื่อเกิดปัญหาก็ไม่รับฟังกัน ใช้อารมณ์พูดคุยกัน ไม่เกรงใจกันและกัน อยากจะเข้าห้องส่วนตัวกันตอนไหนก็เข้า รื้อของของคนในบ้านมาดู เปิดจดหมาย หรือพัสดุของคนในบ้านโดยไม่ขออนุญาต และพฤติกรรมเหล่านี้นี่เองที่จะนำไปสู่ความรุนแรงในครอบครัว


จากรายงานสถิติความรุนแรงในครอบครัว ไตรมาสที่ 1 ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 (เดือนตุลาคม – ธันวาคม 2564) โดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พบว่า เพียงแค่สามเดือนแรกของปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ก็มีเหตุความรุนแรงในครอบครัวที่มาร้องเรียนกับกรมฯ มากถึง 667 ราย ซึ่งสูงที่สุดกว่าทุก ๆ ไตรมาสตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 เป็นต้นมา นี้ยังไม่นับที่กรมฯ ไม่ได้รับแจ้งเหตุอีกนะคะ ว่าจะมีจำนวนมากขนาดไหน และยังไม่ได้นับรวมไปถึงความรุนแรงในครอบครัวที่ยังไม่ปะทุ แต่ก่อตัวรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ อีก เพราะฉะนั้นจึงไม่แปลกใจเลยค่ะเมื่อได้เห็นข่าวลูกเมายาทำร้ายแม่ พ่อทุบตีลูก พ่อเลี้ยง/แม่เลี้ยงทำร้ายลูก สามี – ภรรยาทำร้ายร่างกายกัน นั่นเพราะเราไม่เคยเปลี่ยนบ้านให้เป็น Safe Zone ที่แท้จริง เพราะเราคิดกันไปเองว่าด้วยความเป็น “บ้าน” เป็น “ครอบครัว” มันต้องอบอุ่น ปลอดภัย ทั้ง ๆ ที่ การที่บ้านจะเป็น “บ้าน” หรือครอบครัว จะเป็น “ครอบครัว” ได้นั่นขึ้นอยู่กับคนในบ้าน สภาพแวดล้อมของบ้าน ความปลอดภัยของบ้าน กิจกรรมในบ้านที่ทำร่วมกัน รวมไปถึงสิ่งมีชีวิตอื่น ๆในบ้านด้วย

ด้วยเหตุนี้ดิฉัน จึงขอนำ 5 เทคนิคจิตวิทยาที่ทำได้ง่าย ๆ ในการเปลี่ยนบ้านให้เป็น Safe Zone มาฝากกันค่ะ


1. ฟังกันให้มากขึ้น

ด้วยสภาพเศรษฐกิจเช่นนี้ และรูปแบบการดำรงชีวิตในปัจจุบันที่ผลักให้สมาชิกในบ้านต้องออกไปหางานทำนอกบ้าน เมื่อเลิกงานมืดค่ำ กลับเข้าบ้าน ทุกคนล้วนแน่นอก เพราะรับแรงกระแทกทางอารมณ์และความรู้สึกมาจากที่ทำงานแล้ว ก็อยากจะระบายออก แต่นั่นกลับทำให้ทุกคนแย่งกันพูด ไม่มีใครฟังใคร และกลายเป็นระบายอารมณ์ใส่กัน ทะเลาะกัน เพิ่มความเครียดให้แก่กันไปอีก เพราะฉะนั้นขอให้เรารับฟังกันก่อนนะคะ อาจจะลองถามคนในบ้านก่อนก็ได้ว่าวันนี้เป็นอย่างไรบ้าง เชื่อเถอะค่ะ เมื่อเขาพูดจบแล้ว เขาจะยินดีรับฟังเรื่องของเรา


2. เคารพกันและกัน

การที่เราอยู่ในบ้านเดียวกัน ไม่ได้หมายความว่าห้องของคนในครอบครัว หรือของของคนในครอบครัวจะเป็นของเรา ดังนั้นโปรดให้ความเคารพในพื้นที่ส่วนตัวของกันและกันนะคะ ก่อนเข้าห้องส่วนตัวเคาะห้อง ขออนุญาตสักนิด หรือจะใช้อะไร จะทิ้งอะไรถามกันก่อน เพราะบ่อยครั้งเราคิดว่าพี่ น้องกัน เอาเสื้อมาใส่ เอาของมาใช้ ไม่เป็นไรหรอก แล้วมันก็เป็นเรื่องกินใจกัน เพราะคนในบ้านไม่ได้คิดแบบเรา ของชิ้นนั้นที่เรานำไปใช้ หรือนำไปทิ้งเพราะเห็นสภาพไม่ดี อาจจะเป็นของสำคัญของเขาก็ได้ค่ะ อย่าทำให้เขาเกิด “โรคเกลียดคนในบ้าน” เลยนะคะ มาเปลี่ยนบ้านให้เป็น Safe Zone แทนด้วยการเคารพกันดีกว่า


3. ให้เกียรติกัน

บ่อยครั้งที่สมาชิกที่อายุน้อยในบ้านมักจะถูกหลงลืม หรือไม่ให้ความสำคัญ แม้แต่เรื่องสามัญอย่างการเลือกมื้ออาหารในบ้าน ก็ยังไม่มีสิทธิ์ได้เลือก แต่จะมาได้รับความสำคัญในเรื่องการเรียน ตอนเลือกคณะ เลือกมหาวิทยาลัย เลือกสายการเรียน ซึ่งการให้ความสำคัญในที่นี้จะออกมาในแนว “ทำไมไม่เลือกคณะ...ละ” หรือ “ลูกข้างบ้านสอบติดหมอ/สอบติดจุฬาฯ/สอบติดมหิดล” เป็นต้น ซึ่งการกระทำเช่นนี้แม้ว่าจะมีเจตนาที่ดี แต่ลดเกียรติของสมาชิกในบ้านคนนั้นอย่างมากมายเลยค่ะ ส่งผลให้เขาเกิดความเครียดสะสม มองคนในบ้านว่าเป็น Toxic People และกลายเป็นโรคเกลียดคนในบ้านไปในที่สุด ดังนั้นถ้าเราต้องการจะเปลี่ยนบ้านให้เป็น Safe Zone เราต้องให้เกียรติทุกคนในบ้าน เพื่อให้ทุกคนในบ้านรู้สึกมีคุณค่า


4. ระมัดระวังคำพูดและการแสดงออกต่อกัน

อย่างที่บอกไปตอนต้นว่า คนในบ้านโดยเฉพาะผู้สูงวัยมักจะติดคำพูดแนว Bully และ Body shaming คนในบ้าน เช่น เรียกเด็กน้อยที่ฟันน้ำนมหลุดว่า “หลอลี่” หรือตั้งฉายาคนในบ้านที่น้ำหนักเยอะกว่าคนอื่นว่า “อ้วน” เรียกคนที่น้ำหนักน้อยที่สุดว่า “แห้ง” โดยไม่ได้คิดถึงใจคนฟังเลยค่ะว่าคนที่ถูกเรียกเช่นนั้นจะรู้สึกอย่างไร เพราะฉะนั้นการระมัดระวังคำพูดและการแสดงออกต่อกันจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อไม่ให้กระทบกระเทือนจิตใจของกันและกัน เพื่อให้ “บ้าน” เป็น Safe Zone ที่แท้จริงค่ะ


5. เอ่ยคำว่า “ขอบคุณ” และ “ขอโทษ” ให้ติดปาก

เมื่อคนเราอยู่ใกล้กันมาก เช่น อยู่บ้านเดียวกัน เรามักจะมองข้ามกันไป ละเลย ไม่ให้ความสำคัญกัน มองว่าสิ่งที่คนในบ้านทำให้เราเป็นเรื่องปกติที่คนในบ้านควรทำ เราจึงไม่ได้รู้สึกปลาบปลื้ม หรือแสดงความขอบคุณเท่าที่ควร หรือเมื่อทำผิดต่อกันเราก็มักจะทะเลาะกัน และเลือกที่จะไม่พูดถึงมันเมื่อเวลาผ่านไป แทนที่จะขอโทษกัน และพูดคุยกันอย่างเปิดอกให้ปัญหามันหายไปถาวร สิ่งเหล่านี้ที่เราเคยชินทำให้การอยู่ร่วมกันในบ้านกลายเป็นต่างคนต่างอยู่ ไม่ใส่ใจกัน ไม่สนใจกัน ทีนี้ถ้าเรามาเอ่ยคำว่า “ขอบคุณ” เมื่อคนในบ้านทำดีกับเรา และ “ขอโทษ” เมื่อเราทำผิดต่อกัน บ้านจะอบอุ่นมากขึ้นทันตาเลยค่ะ


“สถาบันครอบครัว” หรือ “บ้าน” เป็นในทางจิตวิทยาถือว่าสังคมแรกที่สุดที่เราใช้ชีวิตอยู่ และก็ควรจะเป็นสถานที่แรกเมื่อเกิดปัญหาแล้วเราจะนึกถึง ควรเป็นสถานที่แรกที่ทำให้เรารู้สึกปลอดภัย ไม่ควรจะเป็นที่แรกที่ทำให้เรารู้สึกว่าอยู่สนามรบตลอดเวลา เพราะถ้าการอยู่ในบ้านยังไม่ปลอดภัย คนในบ้านก็จะเกิดความคิดว่าไม่มีที่ไหนในโลกนี้ที่ปลอดภัยอีกแล้ว


 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa  

คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS 


 สำหรับองค์กร

• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8 


โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

บทความแนะนำ :



อ้างอิง :

[1] กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว. (19 กรกฎาคม 2565). รายงานความรุนแรงในครอบครัว เปรียบเทียบรายไตรมาส (ปีงบประมาณ 2561 - 2565). [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2565 จาก https://opendata.nesdc.go.th/dataset/dwf0413

 

ประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก คุณแม่ของลูก 1 คน แมว 1 ตัว ที่พยายามใช้ความรู้ทางจิตวิทยาที่ร่ำเรียนมาและประสบการณ์การทำงานด้านจิตวิทยาพัฒนาการเด็ก มาสร้างความสุขในการใช้ชีวิต ดูแลครอบครัว และการทำงาน รวมถึงมีความสุขกับการได้เห็นว่าบทความจิตวิทยาที่เขียนไปมีประโยชน์กับคนอ่าน

Komentarze


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page