top of page

5 พ่อแม่แบบ toxic parent ที่ลูกอยากถอยห่าง

Updated: Mar 16

iSTRONG 5 พ่อแม่แบบ toxic parent ที่ลูกอยากถอยห่าง

คำถามหนึ่งที่นักจิตวิทยามักได้รับคือ “ทำไมลูกจึงเลือกที่จะปรึกษาคนนอกอย่างนักจิตวิทยา แทนที่จะปรึกษาพ่อแม่ของตัวเอง” และอีกคำถามยอดฮิตที่นักจิตวิทยาหลายคนมักถูกถามก็คือ “ทำยังไงให้ลูกกล้ามาปรึกษาพ่อแม่” โดยในอีกมุมหนึ่ง นักจิตวิทยาก็มักจะได้ยินเรื่องราวที่คนเป็นลูกมักจะบอกว่า “เวลามีปัญหาอะไรไม่อยากจะเล่าให้พ่อแม่ฟังเลย ถ้าไม่มีใครคุยด้วยจริง ๆ ขอเลือกเก็บปัญหาเอาไว้คนเดียวดีกว่า”


หรือในบางคนอาจจะตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่า “หากสามารถทำงานเลี้ยงตัวเองได้ ก็จะย้ายไปอยู่ให้ไกลจากพ่อแม่ให้ได้มากที่สุด” นอกจากนั้น ยังพบว่ามีหลายคนที่ขยายผลของการเรียนรู้ว่าปรึกษาพ่อแม่ไม่ได้ จึงไม่คิดที่จะปรึกษาใครเลย ต่อให้มีปัญหาหนักหนาสาหัสเพียงใดก็ตาม ซึ่งในกลุ่มหลังนี้มีความน่าเป็นห่วงมาก


เพราะหากคนเราต้องสู้กับปัญหาอยู่ตามลำพังต่อเนื่องและยาวนาน ก็อาจจะทำให้เกิดความรู้สึกโดดเดี่ยวสิ้นหวังจนคิดอยากจบชีวิตของตัวเองลงเลยก็เป็นได้ ดังนั้นจึงอยากจะชวนให้ทุกท่านมาทำความรู้จักกับลักษณะของพ่อแม่แบบ toxic parents ที่ลูกอยากถอยห่าง ไม่อยากปรึกษา เพื่อใช้เป็นแนวทางในการสำรวจตัวเองและพยายามที่จะไม่เป็นพ่อแม่แบบนั้น

5 ลักษณะของพ่อแม่แบบ toxic parent ที่ลูกอยากถอยห่าง

1. โยนความผิดทุกอย่างให้กับลูก (Blaming)

พ่อแม่แบบ toxic parent มักจะโยนความทุกอย่างให้กับลูก แม้ว่าความผิดนั้นจะไม่ได้เป็นสิ่งที่ลูกก่อ หรือในบางครั้งก็เป็นตัวของพ่อแม่เองที่ก่อขึ้นมา เช่น มักจะโทษว่าลูกเป็นคนที่ทำให้บ้านสกปรกไปหมด ทั้งที่ลูกไม่ได้เป็นคนทำ ซึ่งในช่วงที่ลูกยังอยู่ในวัยเด็ก พวกเขาอาจจะไร้เดียงสาและยอมรับอย่างไม่โต้เถียงเพราะพวกเขายังไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น


แต่เมื่อใดก็ตามที่ลูกเริ่มเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น พวกเขาจะมีความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น รวมถึงเริ่มมีประสบการณ์ที่กว้างขวางออกไป ทำให้พวกเขาเริ่มเข้าใจแล้วว่าพ่อแม่ของตนไม่ได้ถูกต้องไปหมดทุกอย่าง โดยเฉพาะพ่อแม่แบบ toxic parent จะสร้างความรู้สึกผิดหวังให้กับลูก จนในที่สุดความรู้สึกเชื่อใจในตัวพ่อแม่ที่เคยมีก็จะลดลงไปหรือไม่เหลืออีกเลย

2. ขาดความเห็นอกเห็นใจและไม่เข้าใจลูกเลย (Lack of Empathy or Understanding)

พ่อแม่แบบ toxic parent จะไม่พยายามนึกถึงในมุมของลูก และมักจะใช้คำพูดรุนแรงด่าทอลูกไปหมดทุกอย่าง ไม่ว่าจะเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ เช่น เมื่อลูกไปโรงเรียนแล้วทำอะไรได้ไม่ดีอย่างกีฬา กิจกรรม พ่อแม่ก็จะไม่ถามอะไรทั้งสิ้นแต่ตำหนิด่าทอลูกเลยในทันที


ทำให้ลูกรู้สึกว่าไม่รู้จะหันหน้าไปหาใครในเวลาที่ปัญหาเกิดขึ้น เพราะแม้แต่พ่อแม่ก็ยังตำหนิด่าทอและไม่อาจเป็นที่พึ่งทางใจให้กับลูกได้เลย

3. เอาเปรียบลูก (Exploitation)

พ่อแม่แบบ toxic parent มักจะใช้ลูกเป็นเครื่องมือในการแสวงหาประโยชน์ให้กับตัวเอง และมักจะเอารัดเอาเปรียบลูกด้วยการเรียกร้องมากมายจากลูก แต่ในทางกลับกันก็ไม่เคยที่จะเสียสละหรือให้อะไรแก่ลูกเลย ยกตัวอย่างเช่น พ่อแม่จะพูดเสมอว่าลูกจะต้องมองข้ามอดีตที่พ่อแม่เคยทำเรื่องแย่ ๆ ลงไปและให้อภัยทุกอย่างที่พ่อแม่ทำ


แต่หากลูกอยากให้พ่อแม่ทำแบบเดียวกันบ้าง พ่อแม่กลับไม่เคยทำให้ได้เลย ถ้าหากเป็นเรื่องเล่าที่มาจากผู้รับบริการ เวลาที่สะท้อนความรู้สึกก็จะพบว่าพวกเขามักจะรู้สึกว่า ‘พ่อแม่ช่างไม่ยุติธรรมกับพวกเขาเลย’

4. มีความคิดแบบติดลบ (Negativity)

พ่อแม่แบบ toxic parent มักจะเต็มไปด้วยความคิดแบบติดลบแม้กระทั่งกับลูกของตัวเอง รวมไปถึงมักจะมีคำพูดกรอกหูลูกในเชิงลบอยู่เป็นประจำ ซึ่งจะส่งผลให้ลูกเกิดความรู้สึกเครียดมากขึ้นไปอีก

5. วางบทบาทของตัวเองได้แย่ (Poor Boundaries)

พ่อแม่แบบ toxic parent มักจะไม่วางบทบาทตัวเองอย่างคนเป็นพ่อเป็นแม่ โดยอาจจะเล่าเรื่องของตัวเองให้ลูกฟังจนหมดเปลือกเหมือนลูกเป็นนักบำบัดของตัวเอง แม้ว่าการเล่าเรื่องบางเรื่องให้ลูกฟังอาจจะเป็นสิ่งที่ดี


แต่การทำให้ลูกเป็นเหมือนที่ระบายของพ่อแม่นั้นถือว่าเป็นการวางบทบาทตัวเองได้แย่ ซึ่งในความเป็นจริงก็พบได้บ่อยที่พ่อแม่วางบทบาทตัวเองเหมือนเป็นลูกของลูก และปฏิบัติเหมือนลูกเป็นผู้ปกครองที่ต้องเป็นที่พึ่งทางใจให้กับพ่อแม่

ในกรณีที่คุณอยู่ในฐานะของพ่อแม่ หากคุณอ่านแล้วพบว่าลักษณะที่กล่าวมาในข้างต้นตรงกับตัวเอง ก็ไม่อยากให้ตำหนิตัวเองจนส่งผลเสียต่อสภาพจิตใจ แต่ก็อยากจะเชิญชวนให้ใช้ความรู้สึกที่เกิดขึ้นมาเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาตนเองให้เป็นพ่อแม่ที่ดีขึ้นหรืออย่างน้อยก็ให้ไม่เป็นพ่อแม่ที่บั่นทอนสุขภาวะของลูก


ซึ่งหากคุณเป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่รู้ตัวดีว่าคุณมีพฤติกรรมเหล่านั้นแต่ไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมของตนเองได้ ก็อยากจะขอเป็นกำลังใจและอยากแนะนำให้คุณลองปรึกษาผู้เชี่ยวชาญอย่างจิตแพทย์หรือนักจิตบัด เพื่อหาสาเหตุของปัญหาพฤติกรรมและทำการแก้ไขมันอย่างถูกต้อง ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไปหรือเกิดความสูญเสียขึ้นมาอย่างไม่สามารถทำให้ทุกอย่างกลับคืน

และในกรณีที่คุณอยู่ในฐานะลูกที่พ่อแม่ของคุณมีลักษณะข้างต้น ก็ยิ่งอยากจะส่งกำลังใจให้เลย เพราะที่ผ่านมาคุณคงจะรู้สึกเหนื่อยและมีสภาพจิตใจที่บอบช้ำมาพอสมควร ซึ่งหากคุณอยู่ในจุดที่เกินจะทนไหว สภาพจิตใจย่ำแย่จนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน


เช่น การกินการนอน ความสัมพันธ์กับบุคคลรอบข้าง หรือประสิทธิภาพในการทำงาน ก็อยากจะแนะนำให้ลองปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตบำบัดเช่นกัน เพื่อรับการช่วยเหลือเยียวยาสภาพจิตใจให้กลับมาสู่สภาวะที่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ เช่น กินได้ตามปกติ นอนหลับได้ไม่มีปัญหา มีสัมพันธภาพที่ดีกับบุคคลรอบข้าง และไม่ประสบปัญหาด้านการทำงาน

 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

• คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS


สำหรับองค์กร

• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8


โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

บทความที่เกี่ยวข้อง

อ้างอิง

 

ประวัติผู้เขียน

นางสาวนิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) ปริญญาโทสาขาจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ปริญญาตรีสาขาจิตวิทยา (คลินิก) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปัจจุบันเป็น นักจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (ประสบการณ์การทำงาน 8 ปี) และเป็นนักเขียนของ iSTRONG

iSTRONG ผู้ให้บริการด้านสุขภาพจิต Solutions ด้านสุขภาพจิต ให้คำปรึกษาโดยนักจิตวิทยา นักจิตบำบัด นักจิตวิทยาคลินิกที่มีใบรับรอง รวมถึงบทความจิตวิทยา

© 2016-2025 Actualiz Co.,Ltd. All rights reserved.

contact@istrong.co                     Call 02-0268949

  • Facebook Social Icon
  • YouTube Social  Icon
  • Instagram
  • Twitter
bottom of page