ระยะอกหัก(5 Stage of grief) เมื่อไหร่ความเศร้าจะหายไป
การอกหัก เป็นประสบการณ์ที่คนเราส่วนใหญ่ต้องเคยผ่านมัน หลายคนสามารถผ่านช่วงเวลาอกหักไปได้ แต่บางคนแม้ว่าจะผ่านไปนานเท่าใดก็ไม่สามารถที่จะทำใจได้เลย ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ผิดหากคุณจะยังไม่สามารถก้าวข้ามความรู้สึกอกหักไปได้ แต่หากว่าความรู้สึกอกหักมันเริ่มส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของคุณ เช่น เกิดปัญหาเรื่องการนอนหลับ การรับประทานอาหาร หรือประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ก็ไม่ควรที่จะปล่อยให้ตัวเองจมอยู่กับความรู้สึกอกหักอีกต่อไปแล้วค่ะ เพราะมันอาจจะทำให้คุณพลาดความสุขของชีวิตบางช่วงไป รวมถึงอาจจะพาคุณไปสู่ปัญหาสุขภาพจิตตามมาได้หากปล่อยให้ความรู้สึกแย่อยู่กับคุณเป็นเวลานานเกินไป
ดังนั้นจึงอยากจะเชิญชวนให้ทุกท่านทำความรู้จักและเข้าใจลำดับขั้นของความเศร้าโศก (Stages of grief) เพื่อที่จะได้สำรวจใจตนเองว่ากำลังอยู่ในช่วงไหน และจะสามารถพาตัวเองผ่านแต่ละลำดับขั้นไปได้ยังไง ซึ่งเมื่อคนเราเจอกับเหตุการณ์ความสูญเสีย ตามธรรมชาติแล้วเราจะเข้าสู่ Stages of grief และถ้าเอามาผสมผสานกับเรื่องอกหัก ก็จะอธิบายได้ดังนี้ค่ะ
1. ขั้นปฏิเสธ (Denial)
เป็นธรรมดาของคนเราที่ไม่ต้องการจะพบเจอกับความรู้สึกเจ็บปวด โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ยังไม่พร้อมต่อความรู้สึกเจ็บปวดที่มาจากความสูญเสีย
เช่น เมื่อถูกแฟนบอกเลิก หรือถูกปฏิเสธความรัก เพื่อปกป้องไม่ให้ใจของเราเผชิญกับความเจ็บปวดทันทีทั้งที่ใจยังไม่ทันได้ตั้งรับ คนเราก็จะมีความรู้สึกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นมันยังไม่เป็นความจริง โดยอาจจะคิดว่าอีกฝ่ายคงแค่ล้อเล่น หรืออีกฝ่ายคงยังไตร่ตรองไม่ดี เดี๋ยวก็คงเปลี่ยนใจแหละ ซึ่งการปฏิเสธนี้มักจะมาควบคู่กับความรู้สึกตกใจ (shock) ก็คือทั้งช็อคและทั้งไม่เชื่อว่ามันจะเป็นความจริง เช่น แฟนมาบอกว่า “เราเลิกกันเถอะ” ก็อาจจะเกิดความรู้สึกตกใจและพยายามบอกกับตัวเองว่า “ไม่จริงน่า..เขาอาจจะแค่กำลังโกรธเรา แต่เขาไม่เลิกกับเราจริง ๆ หรอก”
2. ขั้นเกิดความรู้สึกโกรธ (Anger)
ความโกรธที่เกิดขึ้นนี้มีความจำเป็นต่อการฮีลตัวเอง โดยมากแล้วความโกรธจะเป็นเกราะกำลังความรู้สึกเจ็บปวด (pain) ที่ซ่อนอยู่ลึก ๆ ข้างในจิตใจ โดยความเจ็บปวดก็อาจจะมีความรู้สึกที่ซ่อนฝังลึกลงไปกว่านั้นอีก เช่น รู้สึกด้อยค่า รู้สึกไม่ได้รับการยอมรับ รู้สึกผิด ฯลฯ ซึ่งแต่ละคนก็จะมีความรู้สึกที่ซ่อนอยู่ลึกลงไปที่แตกต่างกันตามประสบการณ์ส่วนตัวของตน
ขั้นนี้หลายคนก็อาจจะเกิดปรากฏการณ์ “จะโทษดิน จะโทษน้ำ จะโทษเดือนและดาว” เพราะกำลังรู้สึกโกรธไปหมดทุกอย่าง ผู้ที่จะพาตัวเองข้ามผ่านขั้นนี้ไปได้ก็คือคนที่ปล่อยให้ความโกรธของตัวเองทำงานของมันไป แต่ทั้งนี้ หมายถึงเราอนุญาตให้ตัวเองมีความรู้สึกโกรธได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องอนุญาตให้ตัวเองลงไม้ลงมือหรือทำพฤติกรรมที่ส่งผลร้ายต่อทั้งตัวเองและคนอื่นนะคะ เช่น คุณรู้สึกโกรธที่แฟนของคุณไปมีคนอื่น คุณอาจจะปล่อยให้ตัวเองโกรธจนร้องไห้ออกมาและอยู่กับความโกรธตามลำพังในห้องนอนได้ แต่ไม่ใช่ปล่อยให้ตัวเองโกรธแล้วเดินถืออาวุธไปทำร้ายแฟนของคุณหรือบุคคลที่สาม เพราะมันจะยิ่งทำให้คุณต้องพบกับปัญหาเพิ่มมากขึ้น หรือรู้สึกแย่กับตัวเองมากขึ้นไปอีก
3. ขั้นต่อรอง (Bargain)
เมื่อคนเราต้องเผชิญกับความสูญเสีย หลังจากที่โกรธแล้ว ก็จะเริ่มทำการต่อรอง แม้กระทั่งผู้ที่ต้องสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก ก็ยังต่อรองต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์
เช่น พระเจ้า ว่า “โปรดเถิด ได้โปรดช่วยให้เขาฟื้นขึ้นมาอยู่กับฉันด้วยเถิด จะแลกด้วยอะไรก็ยอมทั้งนั้น” คนที่อกหักก็จะเป็นเช่นนั้นเหมือนกันค่ะ เพราะในโลกนี้ไม่มีใครอยากจะรู้สึกเจ็บปวดสูญเสีย การพยายามอ้อนวอนหรือต่อรองต่าง ๆ จึงช่วยให้รู้สึกว่าอาจจะมีความหวังก็ได้ ซึ่งหลายคนอาจจะเคยเห็นตัวอย่างของคนที่อยู่ในขั้นต่อรองนี้ในละครหลายเรื่องเลย ที่เมื่อฝ่ายหนึ่งขอเลิกราไป ฝ่ายที่ถูกบอกเลิกก็ล้มตัวลงคุกเข่าแล้วพูดว่า “อย่าไปเลย ฉันจะปรับปรุงตัวทุกอย่าง ฉันยอมทุกอย่างแล้ว แต่อย่าทิ้งฉันไปเลยนะ”
4. หดหู่เศร้าหมอง (Depress)
เมื่อต่อรองไม่สำเร็จ ก็มักจะเป็นช่วงเวลาที่บุคคลเริ่มต้องปะทะเข้ากับความเป็นจริงแล้ว ความรู้สึกหดหู่เศร้าหมองมักเกิดขึ้นเพราะความรู้สึกสิ้นหวัง เพราะเริ่มรู้แล้วว่าอะไร ๆ มันคงไม่สามารถจะกลับไปเป็นเหมือนเดิมได้อีกต่อไป ซึ่งหลาย ๆ คนที่อกหักก็มักจะวนลูปอยู่ในช่วงเวลาอันเศร้าหมองนี้ และบางคนอาจจะกลับไปขั้นก่อนหน้า
เช่น กลับมาโกรธอีกครั้ง พยายามโทรไปง้อแฟนอีกครั้ง(ต่อรอง) และหากไม่ได้ผลก็กลับมาเศร้าอีกครั้ง โดยที่ระยะเวลาของแต่ละลำดับขั้นนั้นจะกินเวลานานแค่ไหนนั้นไม่สามารถระบุเป็นตัวเลขมาตรฐานได้เลย เพราะขึ้นอยู่กับว่าแต่ละคนเคยมีประสบการณ์ส่วนตัวมายังไงบ้าง และบุคลิกลักษณะส่วนตัวเป็นคนแบบไหน รวมไปถึงความสูญเสียนั้นเป็นเรื่องใหญ่สำหรับบุคคลนั้นมากน้อยเพียงใด ส่งผลกระทบรุนแรงมากไหม เช่น ถ้าอกหักจากคนที่แอบรักทางออนไลน์ก็อาจจะมูฟออนไปได้เมื่อได้มีคนคุยทางออนไลน์คนใหม่ ในขณะที่ ภรรยาที่ลาออกจากงานมาดูแลสามีและลูก 40 ปี ต่อมาสามีมาขอหย่า ก็จะมีโอกาสได้รับผลกระทบทางใจหนักกว่า และอยู่ในระยะหดหู่เศร้าหมองนี้ยาวนาน หรือบางคนอาจเพิ่มระดับเป็นโรคซึมเศร้าไปเลย
5. ยอมรับ (Acceptance)
เมื่อสามารถผ่านระยะต่าง ๆ ข้างต้นมาได้ทั้งหมดแล้ว บุคคลที่ประสบกับความสูญเสียก็จะเกิดการยอมรับ โดยการยอมรับในที่นี้หมายถึงการยอมรับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น โดยไม่โกรธหรือโกรธน้อยลง หยุดพยายามต่อรองหรือดิ้นรนให้ทุกอย่างกลับไปเป็นเหมือนเดิม ซึ่งคนที่ไม่มูฟออนก็คือคนที่ไม่สามารถมาถึงขั้นการยอมรับได้ แต่การจะมาสู่ขั้นการยอมรับได้ อาจจำเป็นต้องผ่านกระบวนการบางอย่างมามากพอที่จะให้ตัวเองสามารถทำใจยอมรับและปรับตัวกับความเป็นจริงใหม่ได้
เช่น บางคนอาจจะมีการกำหนดเวลาให้ตัวเองว่า “ฉันจะให้เวลาตัวเองร้องไห้ไปให้สุด 1 เดือน แล้วหลังจากนั้นฉันจะเลิกปาดน้ำตาแล้วเปลี่ยนมาปาดมาสคาร่าแทน” ซึ่งการจะมาถึงขั้นการยอมรับได้ไหม มาถึงช้าหรือเร็ว ก็ขึ้นอยู่กับลักษณะบุคลิกและประสบการณ์ส่วนตัวของแต่ละคนด้วยเหมือนกัน เช่น คนที่เข้าใจเรื่องไตรลักษณ์ในศาสนาพุทธ ก็อาจจะเกิดการยอมรับได้เร็วหรือคนที่มีบุคลิกพึ่งอาจจะเกิดการยอมรับได้ยากกว่าคนที่มีบุคลิกเป็นคนรักอิสระ
อย่างไรก็ตาม หากคุณไม่สามารถที่จะมูฟออนหรือก้าวข้ามความรู้สึกอกหักไป ทางเลือกหนึ่งที่จะสามารถเป็นตัวช่วยให้กับคุณก็คือ การมีใครสักคนคอยรับฟังและอยู่เคียงข้างคุณอย่างเข้าใจ ซึ่งหนึ่งคนเหล่านั้น จิตแพทย์ นักจิตวิทยา และนักให้คำปรึกษา ก็เป็นหนึ่งในตัวเลือกเหล่านั้นด้วยนะคะ
สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ
iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่
ประวัติผู้เขียน : นิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น)
ปริญญาโทสาขาจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปริญญาตรีสาขาจิตวิทยา (คลินิก) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ปัจจุบันเป็น นักจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (ประสบการณ์การทำงาน 8 ปี) และเป็นนักเขียนของ iSTRONG
บทความที่เกี่ยวข้อง
อ้างอิง
[1] The Five Stages of Grief. Retrieve from: https://grief.com/the-five-stages-of-grief/
Comments