top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

5 Soft Skill มัดใจลูกน้องสไตล์หัวหน้ามานิตย์ แห่ง “มนต์รักนักพากย์”



เมื่อพูดถึงภาพยนตร์ไทยที่ทำให้เราหวนนึกถึงวันเก่า ๆ อย่าง “มนต์รักนักพากย์” หลายท่านคงนึกถึงหนังขายยา หรือหนังกลางแปลง และแน่นอนว่าทุกคนที่ได้ดูจะคิดถึง “มิตร ชัยบัญชา” พระเอกขวัญใจตลอดกาลของคนไทย แม้แต่ผู้เขียนผู้ซึ่งเกิดไม่ทัน ดู “มนต์รักนักพากย์” จบก็ยังอินเลยค่ะ เพราะภาพยนตร์เรื่องนี้เปรียบดั่งจดหมายรักที่คนไทยส่งถึงมิตร ชัยบัญชา ผู้เป็นตำนาน และได้ชื่อว่า “เขาได้อุทิศชีวิตเพื่องานที่เขารักอย่างแท้จริง”


นอกจากประเด็นการหวนระลึกทึกวันวานเก่า ๆ ที่สวยงาม (Nostalgia) ที่ “มนต์รักนักพากย์” ได้นำเสนออย่างละเมียดละไม และเต็มไปด้วยความเคารพต่อภาพยนตร์ไทย “มนต์รักนักพากย์” ยังได้นำเสนอ Soft Skill การเป็นหัวหน้าที่ลูกน้องรักมาก ผ่านตัวละคร “หัวหน้ามานิตย์” ที่แสดงโดยคุณเวียร์ ศุกลวัฒน์ คณารศ หัวหน้าคณะหนังขายยา


ที่ประกอบด้วยลูกทีมที่สุดแสนอบอุ่น คือ ลุงหมาน พลขับผู้เป็นพ่อและที่ปรึกษาให้ทุกคนในทีม (แสดงโดยคุณสามารถ พยัคฆ์อรุณ) เก่า เด็กประจำทีมผู้หัวร้อน แต่จริงใจ (แสดงโดยคุณเก้า จิรายุ ละอองมณี) และเรืองแข นักพากย์หญิงเดี่ยวของทีม (แสดงโดยคุณหนูนา หนึ่งธิดา โสภณ) โดยในบทความจิตวิทยานี้ได้สรุป Soft Skill มัดใจลูกน้องสไตล์หัวหน้ามานิตย์ มาฝากกันค่ะ


1. ยุติธรรม


ในฉากที่เรืองแข ขอสมัครเป็นนักพากย์ของทีมหนังเร่ขายยาของหัวหน้ามานิตย์ เรืองแขขอทำความตกลงเรื่องส่วนแบ่งรายได้ว่า ขอหารรายได้เท่า ๆ กับเพื่อนทุกคนในทีม นั่นก็เพราะในยุคสมัยของ “มนต์รักนักพากย์” คือ พ.ศ. 2513 ความเท่าเทียมทางเพศค่อนข้างมีน้อย (แม้ในปัจจุบันนี้เองบางสายอาชีพก็มีความเท่าเทียมทางเพศน้อยอยู่) เรืองแขรู้สึกว่าเธอเองก็ทำงานและใช้ความสามารถในการทำงานเท่า ๆ กับหัวหน้ามานิตย์ และเพื่อนร่วมทีมคนอื่น


ซึ่งเป็นชายล้วน หากหัวหน้ามานิตย์ไม่มีความยุติธรรม ก็อาจปฏิเสธและหานักพากย์ใหม่ แต่เพราะหัวหน้ามานิตย์มีความยุติธรรม และเห็นว่าเรืองแขมีความสามารถ รวมถึงสมาชิกคนอื่น ๆ ในทีมเองก็ทำหน้าที่ของตนได้ดีและเต็มที่ จึงตกลงที่จะแบ่งรายได้เท่า ๆ กัน


2. สื่อสารกับทีมชัดเจน


Soft Skill หนึ่งที่โดดเด่นและน่าชื่นชมอย่างมากของหัวหน้ามานิตย์ ก็คือ เป็นคน “ตรงไปตรงมา” ซึ่งไม่ได้หมายความว่าหัวหน้ามานิตย์จะพูดแรง แต่หัวหน้ามานิตย์สื่อสารตามที่ตนเข้าใจ หรือสื่อไปตามความจริงให้เพื่อนร่วมทีมรับรู้สถานการณ์จริง นั่นจึงทำให้ทุกครั้งที่ทีมเผชิญปัญหา สมาชิกทุกคนจะร่วมแรงร่วมใจกันเอาชนะอุปสรรค


และทำงานได้จนสำเร็จลุล่วง เพราะทุกคนรู้สถานการณ์ดี แม้จะล้มบ้าง พลาดบ้าง ไม่เป็นดังหวังบ้าง แต่ทุกคนในทีมก็ไม่เคยย่อท้อ ยังคงมั่นใจในทีม และเชื่อใจหัวหน้ามานิตย์ จนยืนหยัด และแสดงให้คู่แข่งได้เห็นถึงพลังของทีมในฉากแสนประทับใจในตอนจบนั่นเอง


3. มีเหตุมีผล


ในระหว่างการทำงานนั้นย่อมเป็นธรรมดาที่สมาชิกในทีมจะคิดเห็นไม่ตรงกัน หรือมีความเข้าใจผิดกันจนเป็นเรื่องเป็นราว ทีมของหัวหน้ามานิตย์เองก็เคยพบสถานการณ์เช่นนั้น บ่อยครั้งเสียด้วย ทั้งหัวหน้ามานิตย์ทะเลาะกับเก่าเรื่องที่เก่าไม่พอใจที่หัวหน้าแย่งจีบเรืองแข หรือตอนที่เรืองแขไม่พอใจหัวหน้ามานิตย์


เพราะหัวหน้ามานิตย์ถอดใจ ไม่สู้กับนักพากย์หนังล้อมผ้าที่เป็นคู่แข่ง แต่ด้วยความที่หัวหน้ามานิตย์ใช้เหตุและผลคุยกับทุกคน หัวหน้ามานิตย์จึงไม่โกรธเก่าและเรืองแขเลย แม้ทั้งสองจะพูดจารุนแรง หรือทำร้ายร่างกายหัวหน้ามานิตย์ นั่นจึงทำให้สถานการณ์คลี่คลายได้ในที่สุด


4. ไม่เอาเปรียบ ให้เกียรติทุกคน


ด้วยความที่เรืองแข เป็นหญิงเดี่ยวในทีมที่ต้องตะลอนทัวร์ไปกับทีมชายล้วน หากหัวหน้ามานิตย์และเพื่อนร่วมทีมคนอื่นคิดเอาเปรียบเธอ เธอก็คงเสียหายและไม่ได้ทำตามสิ่งที่เธอฝัน ด้วยความที่หัวหน้ามานิตย์ไม่เอาเปรียบใคร และให้เกียรติทุกคนในทีม เรืองแขจึงได้รับการปกป้องประหนึ่งน้องเล็กในทีม


หรือลุงหมานเองซึ่งอายุมากที่สุดในทีมก็ได้รับความเคารพประดุจพ่อ หรือญาติผู้ใหญ่ หรือแม้แต่เก่า เด็กประจำรถเองที่ดูเผิน ๆ เหมือนว่าเขาจะมีทักษะน้อยที่สุดในทีม ก็ได้รับความไว้วางใจให้ลองพากย์หนัง และทำได้ดีเสียด้วย


5. รับฟังความคิดเห็น แม้จะแตกต่าง


ในสมัยของ “มนต์รักนักพากย์” คนที่ได้ขึ้นมาเป็นหัวหน้าโดยส่วนใหญ่ค่อนข้างเผด็จการ คือ ไม่ฟังใคร เอาความคิดของตัวเองเป็นใหญ่ แต่ไม่ใช่หัวหน้ามานิตย์ แม้หัวหน้ามานิตย์จะเป็นหัวหน้าฝ่ายขายประจำภาคเหนือตอนล่างอาวุโส และเป็นสุดยอดนักพากย์ 5 เสียง ซึ่งเขาสุดแสนจะภูมิใจ แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป คนให้ความสนใจกับการพากย์ที่สมจริง คือ ใช้เสียงพากย์ตามเพศสภาพของตัวละคร


ซึ่งประเด็นนี้เก่าเป็นคนแนะนำกับหัวหน้ามานิตย์ หัวหน้ามานิตย์ก็รับฟัง และเปิดรับนักพากย์หญิงทันที หรือเมื่อเรืองแขแนะนำวิธีการพากย์ที่ดียิ่งขึ้น หัวหน้าก็เปิดรับและไม่รีรอที่จะลองทำตาม จนทีมรถเร่หนังขายยาของหัวหน้ามานิตย์ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น


ทั้งนี้ Soft Skill ข้างต้นนั้นมาจากการสำรวจเชิงจิตวิทยาของ Adecco Thailand ที่ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของพนักงานบริษัทเอกชนในประเทศไทย จำนวน 2,076 คน พบว่า 6 อันดับแรกของ Soft Skill ของหัวหน้าที่ทำให้ลูกน้องรัก ได้แก่ (1) มีความยุติธรรม 73.51% (2) สื่อสารชัดเจน 71.05% (3) มีเหตุผล 69.46% (4) ไม่เอาเปรียบลูกน้อง 67.63% (5) ให้เกียรติ 67.15% และ (6) รับฟังความคิดเห็นของลูกน้อง 66.91%


โดย Soft Skill ทั้ง 6 นี้ จะส่งผลทางจิตวิทยาต่อทีม ช่วยให้ทีมเข้มแข็ง มีความสามัคคีและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันสูง ส่งผลให้มีโอกาสสูงมากที่ทีมจะฝ่าฟันอุปสรรคจนประสบความสำเร็จได้ ดังที่ลุงหมานกล่าวไว้ว่า “ชีวิตจะปล่อยให้มันเป็นไปตามดวงไม่ได้ มันต้องเป็นไปตามทาง ตราบใดที่ยังมีทางเราก็ต้องบุกตะลุยไปจนสุดทาง”


หากคุณต้องการพัฒนาตนเองให้กลายเป็นที่ปรึกษาที่เข้าอกเข้าใจตนเองและผู้คนมากขึ้น เพื่อปรับใช้ในการทำงาน ครอบครัว และในชีวิตประจำวัน คุณสามารถสมัครเรียน "หลักสูตรนักให้คำปรึกษากับนักจิตวิทยา" จาก iSTRONG ได้ที่นี่


 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

  • บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

  • คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS

สำหรับองค์กร

โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

อ้างอิง : KBank. (2566, 16 ตุลาคม).8 อันดับ Soft Skills กุมใจลูกน้องทุก Gen อยู่หมัด รับวันเจ้านาย. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 23 ตุลาคม 2566 จาก https://www.facebook.com/photo/?fbid=713424227480686&set=a.637753655047744

 

จันทมา ช่างสลัก บัณฑิตจากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตจาก NIDA ปัจจุบันเป็นคุณแม่ลูก 1 ผู้เป็นทาสแมว ที่มุ่งมั่นจะพัฒนาการเขียนบทความจิตวิทยาให้โดนใจผู้อ่าน และสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคม ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกบนโลกใบนี้


Comments


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page