5 สัญญาณภาษากายที่กำลังบอกว่า คนที่เราแอบชอบ เขาชอบเราเหมือนกัน
ในวงการจิตวิทยา มีคำกล่าวหนึ่ง บอกไว้ว่า “คนเราใช้ภาษาพูดโกหกได้ แต่ภาษากายโกหกกันไม่ได้” ซึ่งคำกล่าวนี้สอดคล้องกับผลการศึกษาทางจิตวิทยาของ Albert Mehrabian ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย (University of California) ซึ่งได้วิจัยเกี่ยวกับภาษากาย และพบว่า คนเราใช้ภาษาพูดในการสื่อสารน้อยที่สุด เพียง 10% ใช้น้ำเสียงในการสื่อสาร 35% และใช้ภาษากายในการสื่อสารมากที่สุด ถึง 55%
นั่นแสดงให้เห็นว่า คำกล่าวนี้อาจจะเป็นถ้อยคำสำคัญในการไขข้อข้องใจว่า คนที่เราชอบ เขาชอบเราไหม? โดยเฉพาะคนที่กำลังมีความรักที่เป็นความลับ ความรักที่ยังไม่กล้าบอก แอบมอง แอบชอบ คงกำลังสงสัยอยู่ใช่ไหมคะว่าเราจะสังเกตหรือรู้ได้อย่างไรนะว่าเขาก็มีใจให้เราเหมือนกัน หรือเขาก็ชอบเราเหมือนกัน บทความจิตวิทยานี้มีคำตอบค่ะ โดยขอนำคุณมารู้จักกับ “สัญญาณภาษากายที่กำลังบอกว่า คนที่เราแอบชอบ เขาชอบเราเหมือนกัน” สัญญาณที่ว่ามีอะไรกันบ้างนั้น มาอ่านกันเลยค่ะ
1. ยักคิ้วให้เราบ่อย ๆ
ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาจาก University of Pittsburgh ได้ทำการวิจัย พบว่า “การยักคิ้ว” เป็นภาษากายที่มีความหมายว่า “มองฉันหน่อยสิ” ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณให้คู่สนทนาสนใจเรา สนใจสิ่งที่เรากำลังจะพูด สนใจสิ่งที่เรากำลังจะทำ เพราะคิ้วคือมงกุฎของใบหน้า ดังนั้นเมื่อเรายักคิ้ว เลิกคิ้ว ขมวดคิ้ว ก็ล้วนแต่ดึงดูดความสนใจของคู่สนทนาทั้งนั้น
แต่ภาษากายหนึ่งเดียวที่สื่อไปในเชิงบอกว่า “เขาชอบเรานะ” ก็คือการยักคิ้วนั่นเองค่ะ แล้วถ้ายิ่งมียิ้มหวาน ๆ ส่งมาด้วยนะคะ มั่นใจได้เลยว่า เขามีใจให้เราแน่นอน ลองบอกความรู้สึกของเราต่อเขาดู เราอาจจะได้พัฒนาความสัมพันธ์ไปอีกขั้นก็เป็นได้นะคะ
2. พยายามสบตากับเรา/มองเราโดยตั้งใจ
เมื่อเราแอบชอบใครบางคน เราจะคอยมองหาเขาอยู่ตลอดใช่ไหมคะ เช่นเดียวกันค่ะ หากเขาคนนั้นชอบเราเช่นกันเขาก็จะคอยมองหาเรา ทำให้บ่อยครั้งที่เรามองหาเขาจะเผลอสบตากันโดยไม่ได้ตั้งใจ หรือเมื่อได้พูดคุยกัน อยู่ด้วยกัน ก็จะพยายามสบตาเราให้มากที่สุด เพราะในทางจิตวิทยา “การสบตา” เป็นภาษากายที่มีหมายความว่า “คุณเป็นคนสำคัญของเรา”
และยังสามารถสื่อสารความรู้สึกได้อย่างชัดเจนที่สุด ดังคำกล่าวที่ว่า “ดวงตาเป็นหน้าต่างของหัวใจ” ค่ะ นอกจากนี้ยังมีผลการวิจัยทางจิตวิทยาที่พบว่า การสบตาคู่สนทนา จะทำให้คู่สนทนาจำสิ่งที่พูดคุยกับเราได้มากถึง 30% อีกด้วย เพราะฉะนั้นลองสังเกตกันดูนะคะ ว่าเขาคนนั้นสบตาเรามากน้อยแค่ไหน
3. ยิ้มให้เราอยู่เสมอ
การยิ้มให้เราในที่นี้ ไม่ใช่การยิ้มแบบไหนก็ได้ แต่ต้องเป็นการยิ้มที่เฉพาะเจาะจง โดยการยิ้มที่บ่งบอกว่าเขาชอบเรานั้น ต้องเป็นการยิ้มที่เรารับรู้ได้ถึงความจริงใจ ซึ่งความยากในการสังเกต ก็คือ “การยิ้ม” เป็นภาษากายที่สามารถปลอมได้ง่ายที่สุด โดย Joe Navarro อดีตเจ้าหน้าที่ FBI ผู้เชี่ยวชาญการอ่านภาษากาย ได้เขียนไว้ในหนังสือ What Every Body is Saying ของเขา ว่า
การยิ้มแบบจริงใจนั้น ต้องเป็นการ “ยิ้มด้วยสายตา” ไม่ใช่แค่การขยับริมฝีปากเพียงอย่างเดียว Navarro ยังกล่าวอีกว่า ขนาดเด็กทารกอายุไม่กี่สัปดาห์ยังมีรอยยิ้มจริงใจให้แม้ผู้เลี้ยงดูเขาเพียงผู้เดียวเท่านั้น แต่กับคนอื่น ๆ เด็กจะยิ้มให้ด้วยรอยยิ้มที่แตกต่างออกไป
4. พยายามใกล้ชิดกับเรา
ตามทฤษฎีสามเหลี่ยมแห่งความรัก (Triangular Theory of Love) ของ Robert Sternberg อาจารย์ภาควิชาจิตวิทยา ประจำมหาวิทยาลัยเยล (Yale University) โดยองค์ประกอบหนึ่งของทฤษฎี ก็คือ ความสนิทสนม (Intimacy) โดยเป็นองค์ประกอบด้านอารมณ์ที่ทำให้คนรู้สึกผูกพันกัน เข้าใจกัน เห็นอกเห็นใจกัน
ซึ่งความสนิทสนมนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีความใกล้ชิดกัน ดังนั้น หากเขามีใจให้เรา เขาจะพยายามใกล้ชิดเรา หรือยินดีเมื่อเราใกล้ชิดเขา พยายามมาสัมผัส มายืนอยู่ใกล้ ๆ มาทำกิจกรรมด้วยกัน พยายามไปไหน มาไหนด้วยกัน เพื่อให้เกิดความสนิทสนมกัน เรียนรู้กันมากขึ้นนั้นเองค่ะ
5. มีพฤติกรรม/แสดงท่าทางคล้าย ๆ กับเรา
เมื่อเราแอบชอบใคร แล้วเขาก็ชอบเราเหมือนกัน จะสามารถสังเกตเห็นได้จากการเมื่อเราใช้เวลาอยู่ด้วยกัน หรือมีโอกาสอยู่ด้วยกัน โดยจะเห็นว่าเมื่อเราทำท่าทางแบบไหน เขาจะแสดงท่าทางคล้าย ๆ เรา ทั้งการพูดย้ำคำที่เราพูดไปแล้ว การเดิน การนั่ง การทำกิจกรรมเดียวกัน
เช่น อ่านหนังสือ ทานข้าว ดื่มน้ำ หรือการแสดงท่าทางอื่น ๆ โดยการแสดงท่าทางคล้าย ๆ กับเรานี้ เป็นภาษากายที่แสดงให้เห็นว่า เขารู้สึกผ่อนคลายเมื่ออยู่กับเรา รู้สึกปลอดภัยที่จะเผยความเป็นตัวของตัวเอง และแสดงให้เห็นถึงการที่เขาเปิดใจยอมรับเราค่ะ
สุดท้ายนี้ ขอย้อนกลับไปที่ทฤษฎีสามเหลี่ยมแห่งความรัก (Triangular Theory of Love) ของ Sternberg กันอีกครั้งหนึ่งนะคะ ว่า องค์ประกอบของความรักมี 3 องค์ประกอบ คือ ความสนิทสนม (Intimacy) ความหลงใหล (Passion) และความผูกพัน (Commitment)
ซึ่งสัญญาณภาษากาย 5 สัญญาณที่กล่าวไปข้างต้น เป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งของความรักเท่านั้น คือ ความสนิทสนม ดังนั้น ถ้าจะทำความรักให้สมบูรณ์ ต้องเพิ่มการใช้เวลาร่วมกันเพื่อให้เกิดความหลงใหล และความผูกพัน เพื่อพัฒนาเป็นความรักที่แท้จริงในอนาคตต่อไปนะคะ
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
• คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
ประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก คุณแม่ของลูก 1 คน แมว 1 ตัว ที่พยายามใช้ความรู้ทางจิตวิทยาที่ร่ำเรียนมาและประสบการณ์การทำงานด้านจิตวิทยาพัฒนาการเด็ก มาสร้างความสุขในการใช้ชีวิต ดูแลครอบครัว และการทำงาน รวมถึงมีความสุขกับการได้เห็นว่าบทความจิตวิทยาที่เขียนไปโดนใจคนอ่าน
บทความแนะนำ :
อ้างอิง : 1. โรงพยาบาลเพชรเวช. (12 กุมภาพันธ์ 2021). Theory of love จิตวิทยาของความรัก. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 22 สิงหาคม 2565 จาก https://www.petcharavejhospital.com/en/Article/article_detail/Theory-of-love
2. Chonticha.m. (17 พฤศจิกายน 2021). พูดไม่เก่งไม่เป็นไร เพราะภาษากายบอกได้ ว่าเขาคิดอย่างไร. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 22 สิงหาคม 2565 จาก www.wongnai.com/articles/body-language?ref=ct
3. HR NOTE Thailand. (8 กรกฎคม 2022). รู้ทันคนอื่นด้วยการอ่านภาษากาย และการใช้ Nonverbal Communication. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 22 สิงหาคม 2565 จาก https://th.hrnote.asia/recruit/220624-bodylanguage/
Comments