นักจิตวิทยาแนะนำ 5 ทริคเด็ด สร้างความประทับใจตั้งแต่ครั้งแรก
- Chanthama Changsalak
- May 24, 2021
- 1 min read
Updated: Jan 23

การสร้างความประทับใจตั้งแต่แรกพบนั้น มีผลอย่างมากต่อความรู้สึกของคู่สนทนา เพื่อนร่วมงาน หรือว่าที่คู่ชีวิตในอนาคตของเราอย่างมากเลยค่ะ เพราะความประทับใจตั้งแต่แรกพบ หรือ first impression จะไปสร้างภาพจำของเราให้กับคู่สนทนาของเรา
หากเขามีความประทับใจที่ดีต่อเรา ในการติดต่อสื่อสารครั้งต่อไป เพียงแค่แนะนำตัวทางโทรศัพท์ หรือเพียงแค่เห็นหน้า หรือใช้ชื่อเราในการอ้างอิง คนที่ประทับใจเราก็เต็มใจที่จะให้ความร่วมมือ หรือพูดถึงเราในที่ดี
ถึงแม้ว่าในครั้งต่อไปของความสัมพันธ์เราจะผิดพลาดไปบ้างโดยไม่ตั้งใจ คู่สนทนาของเราก็พร้อมจะให้อภัยโดยง่าย แต่ในทางกลับกัน หากคู่สนทนาเกิดความไม่ประทับใจตั้งแต่แรกเจอ ต่อให้ครั้งต่อไปเราทำดีกับเขา พูดดีกับเขา เขาก็จะจำไปแล้วว่าเราไม่โอเคสำหรับเขา ทีนี้อย่าว่าแต่จะประสานงานเลยค่ะ แค่จะพูดคุยถามไถ่ก็ไม่อยากจะคุยด้วยแล้ว
เพราะฉะนั้นในบทความจิตวิทยานี้ จึงขอนำเสนอ “5 เคล็ดลับทางจิตวิทยา ในการสร้างความประทับใจตั้งแต่แรกเจอ” เพื่อเป็นตัวช่วยสำคัญให้คุณสามารถสร้างความประทับใจให้กับคู่สนทนาได้ตั้งแต่แรกเจออย่างมีสไตล์ค่ะ
การดูแลรูปลักษณ์ภายนอกให้ดูดี
การดูแลรูปลักษณ์ภายนอกให้ดูดีในทางจิตวิทยา ไม่ได้หมายถึงการแต่งหน้าฉ่ำโบ๊ะ หรือ ไปศัลยกรรมความงามนะคะ แต่หมายถึงการดูแลรูปร่างหน้าตาให้สะอาด หน้ามอง การแต่งกายที่เข้ากับบุคลิกและกาลเทศะ การมีบุคลิกภาพที่สง่างาม น่าเชื่อถือ เพียงแค่นี้
โดยไม่ต้องเสียเงินจนเกินสมควรเราก็สามารถเปลี่ยนตัวเองเป็นคนใหม่ที่น่าสนใจมากกว่าเดิม และยิ่งเราสามารถดึงตัวตนของเราออกมาได้ชัดเท่าไหร่ เราก็มีเอกลักษณ์ประจำตัวที่ทุกคนสามารถจดจำ และสามารถสร้างความประทับใจได้ตั้งแต่แรกพบเลยค่ะ
การใช้ภาษากายที่เหมาะสม
เทคนิคสำคัญที่จะสร้างความประทับใจตั้งแต่แรกพบอีกเทคนิคหนึ่งที่นักจิตวิทยาแนะนำ ก็คือ การใช้ภาษากาย หรือ Body Languageให้เหมาะสม และสอดคล้องกับสารที่เราต้องการจะสื่อไปถึงคู่สนทนา เช่น พยักหน้าเมื่อเห็นด้วย ยิ้มเมื่อรู้สึกชอบใจ พึงพอใจ สบตาคู่สนทนา แสดงออกตรงตามความรู้สึกอย่างเป็นธรรมชาติ
การให้ความสำคัญกับคู่สนทนาโดยหยุดกิจกรรมอื่นมารับฟังคู่สนทนาอย่างจริงจัง พฤติกรรม หรือการแสดงออกโดยภาษากายเหล่านี้ต่างเป็นสิ่งที่ทำให้คู่สนทนาประทับใจในความจริงใจ ใส่ใจ และเป็นธรรมชาติของเราค่ะ ซึ่งการแสดงออกทางภาษากายยังสามารถสร้างเสน่ห์ให้เราเป็นที่สนใจของคู่สนทนาได้ค่ะ
การใช้น้ำเสียงที่สอดคล้องกับเรื่องที่พูด และสร้างความรู้สึกทางบวกแก่ผู้ฟัง
คุณคงเคยได้ยินสุภาษิตไทยที่ว่า “สำเนียงส่อภาษา กิริยาส่อสกุล” กันใช่ไหมคะ สุภาษิตนี้มีความหมายว่า การแสดงออกทางการพูดหรือกิริยามารยาท สามารถแสดงให้เห็นถึงพื้นฐานการได้รับการเลี้ยงดู อบรมสั่งสอน ซึ่งสอดคล้องกับเทคนิคทางจิตวิทยาในการสร้างความประทับใจตั้งแต่แรกพบในข้อนี้ เพราะเมื่อเรามีคำพูดไพเราะ สุภาพ อ่อนน้อม มีน้ำเสียงนุ่มนวล
ก็จะทำให้ผู้ฟังสนใจและเต็มใจที่จะฟัง แถมยังนึกชื่นชมไปถึงคนที่อบรมสั่งสอนเรามา และเมื่อผู้ฟังหรือคู่สนทนาตั้งใจรับฟังเรา สารที่เราต้องการจะสื่อออกไปก็สามารถไปถึงคู่สนทนาได้ตามจุดประสงค์ที่เราต้องการค่ะ นอกจากเราจะสามารถทำให้คู่สนทนาประทับใจเราได้แล้ว เรายังสามารถเป็นผู้ส่งสารที่มีประสิทธิภาพอีกด้วยค่ะ
การใช้ภาษา/คำพูดในเชิงบวก
นอกจากการใช้คำพูดไพเราะ สุภาพ อ่อนน้อม มีน้ำเสียงนุ่มนวล การสร้างความประทับใจ อีกอย่างหนึ่งที่นักจิตวิทยาแนะนำ ก็คือ การใช้คำพูดในเชิงบวก เช่น เป็นไปในเชิงให้กำลังใจ พูดถึงข้อดีของสถานการณ์ พูดถึงทางออกของการแก้ปัญหา พูดถึงคนอื่นในแง่ดี เอาเป็นว่าถ้าคุณสามารถพูดอะไรที่คนฟัง ฟังแล้วรู้สึกดี
นั่นแสดงว่าคุณสามารถสร้างความประทับใจให้คู่สนทนาได้แล้วค่ะ เพราะโดยธรรมชาติของคนเรามักจะอยากฟังในสิ่งที่ดี แต่ถ้าเริ่มการสนทนาด้วยการติกัน พูดถึงเรื่องแย่ ๆ หรือเจอหน้าก็บ่นไปเรื่อย คู่สนทนาคงหลบหน้าเป็นแน่ ดังนั้น เพื่อการสร้างสัมพันธ์ภาพที่ยืนยาว และสร้างความประทับใจตั้งแต่แรกพบ การเลือกคำพูด หรือเรื่องที่นำมาพูด ก็เป็นส่วนสำคัญค่ะ
ความเชื่อ สิ่งที่ให้คุณค่า
ทั้ง 4 เคล็ดลับข้างต้นที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่า เป็นสิ่งที่เราสามารถสัมผัสได้อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งรูปลักษณ์ภาพนอก ภาษากาย ภาษาพูด แต่มีอีกสิ่งหนึ่งค่ะที่ถึงจะมองไม่เห็นเป็นรูปธรรมแต่มีผลทางจิตวิทยาไม่แพ้กัน ก็คือ ความเชื่อ หรือค่านิยมของเราค่ะ ถึงแม้ว่าความเชื่อ และค่านิยมจะเป็นเรื่องส่วนบุคคล
แต่คงทราบว่าเรื่องศาสนา เชื้อชาติ การเมือง เป็นเรื่องไม่ควรนำมาสนทนากัน เพราะนอกจากจะไม่สร้างความประทับใจแล้ว ยังสามารถสร้างศัตรูได้อย่างง่าย ๆ ด้วยค่ะ เพราะขนาดคนในครอบครัวเดียวกัน แต่มีความเชื่อ ค่านิยมไม่สอดคล้องกัน ก็ทะเลาะกันมามากแล้ว
การสร้างความประทับใจตั้งแต่แรกเจอ นอกจากจะทำให้เราเป็นคนที่ทุกคนอย่างเข้าหาแล้ว ยังเป็นผลดีต่อความสัมพันธ์ในระยะยาวอีกด้วยค่ะ เพราะจะมีผลต่อความเชื่อใจ ความไว้วางใจ และทัศนคติของผู้อื่นที่มีต่อเรา ซึ่งจะติดในใจของคู่สนทนาของเราไปอีกนานเลยค่ะ
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
• คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
อ้างอิง : ปจิตา ดิสกุล ณ อยุธยา และคณะ. 2564. หลักพื้นฐานและความสำคัญของการโค้ชเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน. เอกสารประกอบการอบรมหลักสูตรการสอนงานเพื่อการเปลี่ยนแปลงและการเป็นผู้นำที่เป็นแบบอย่างโดยการโค้ช (Coaching) และการเป็นพี่เลี้ยง (Mentoring) ระหว่างวันที่ 2 – 3 มีนาคม 2564 สำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์.
ประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก
บัณฑิตสาขาวิชาเอกจิตวิทยาคลินิก เกียรตินิยมอันดับ 2 จากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตด้านการพัฒนาสังคม NIDA
มีประสบการณ์ด้านจิตวิทยาเด็ก 4 ปี เป็นผู้ช่วยนักวิจัย ด้านจิตวิทยา 1 ปี ปัจจุบันเป็นนักสังคมสงเคราะห์ชำนาญการ
ที่ประยุกต์ใช้ศาสตร์ทางจิตวิทยา ในการปฏิบัติงานมากว่า 6 ปี