5 ความลับของความรัก ที่ผู้เชี่ยวชาญจิตวิทยาและนักปรัชญาต้องขอบอก
เมื่อพูดถึงความรัก แน่นอนว่าเป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนาที่จะมีรักดี ๆ แบบในอุดมคติ แต่คุณรู้หรือไม่ว่า ความรักมีความลับซ่อนอยู่ ซึ่งนักปรัชญาและนักจิตวิทยา ต่างตามหาทฤษฎีจิตวิทยาความรัก ทฤษฎีจิตวิทยาความสัมพันธ์ และปรัชญาความรัก เพื่อมาอธิบายความลับของความรักมาหลายพันปีแล้ว ถึงแม้ว่าความพยายามในการอธิบายความลับของความรักจะมีมานานตั้งแต่สมัย Plato และ Aristotle แต่ทฤษฎีจิตวิทยาความรัก และปรัชญาความรักเหล่านั้นยังคงร่วมสมัย และนำมาใช้ในการพัฒนาทุกความสัมพันธ์ได้เสมอ ซึ่งในบทความจิตวิทยานี้จะขอนำ 5 ความลับของความรัก ตามทฤษฎีจิตวิทยาและปรัชญามาบอกเล่ากันค่ะ
1. ความรักของมนุษย์ มี 3 รูปแบบ
ตามทฤษฎีปรัชญาความรัก สามารถแบ่งความรักของมนุษย์ออกเป็น 3 รูปแบบ คือ
ความรักแบบต้องการครอบครอง (Eros) หรือ ความใคร่ เป็นความรักที่มีเรื่องเพศสัมพันธ์ (Sex) เข้ามาเกี่ยวข้อง เป็นความรักของคู่รัก ความรักของคนหนุ่มสาว ความรักที่ต้องการจะครอบครอง หรือเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของอีกฝ่าย
ความรักแบบปรารถนาดี (Philia) หรือ มิตรภาพ เป็นความรักที่ต้องการให้บุคคลที่เรารัก หรือผู้อื่นมีความสุข มีการให้เกียรติ เคารพซึ่งกันและกัน เป็นความรักในระดับครอบครัว เพื่อน หรือสถาบัน
ความรักแบบศรัทธา (Agape) เป็นความรักในระดับสูงสุดที่มนุษย์คนหนึ่งจะมีได้ เป็นความเลื่อมใส ศรัทธา ต่อบุคคล หรือสิ่งหนึ่งสิ่งใดจนนำมาเป็นแบบอย่าง หรือหมุดหมายในชีวิต ซึ่งความรักเช่นนี้จะพบได้ในผู้ที่เลื่อมใสในศาสนา หรือศาสดาของศาสนา
2. ความสัมพันธ์ มี 3 องค์ประกอบหลัก
ตามทฤษฎีจิตวิทยาความสัมพันธ์ของ Robert Sternberg ในชื่อทฤษฎี Triangular Theory of Love หรือ ทฤษฎีสามเหลี่ยมแห่งความรัก ได้กล่าวเอาไว้ว่า ความสัมพันธ์ของคนเรามีส่วนประกอบสำคัญ 3 องค์ประกอบ คือ
ความสนิทสนม (Intimacy) คือ ความใกล้ชิด ความรู้จักกันอย่างลึกซึ้ง จนทำให้เกิดความผูกพัน ความเข้าใจ ความเห็นอกเห็นใจกัน ยิ่งมีความสนิทสนมมาก ความสัมพันธ์ก็ยิ่งแข็งแรงมาก
ความปรารถนา (Passion) หรือ ความสนใจในฝ่ายตรงข้าม หรือแรงดึงดูดทางเพศ องค์ประกอบนี้สำคัญมากในความสัมพันธ์แบบคู่รัก เนื่องจากจะทำให้คู่รักดึงดูดกัน แต่หากขาดอีก 2 องค์ประกอบ ความสัมพันธ์ก็ไม่ยืนยาว
ความผูกพัน (Commitment) คือ ความรู้สึกว่าอีกฝ่ายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ยิ่งใช้ชีวิตด้วยกันมาก ความผูกพันก็จะยิ่งมากขึ้นตามไปด้วย
3. ความรักเป็นเรื่องของสารเคมีในสมอง
ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยา ได้แบ่งการหลั่งของสารเคมีในสมองตามระดับของความรัก ออกมาเป็น 3 กลุ่มด้วยกัน คือ
เมื่อเราเกิดความ “ปรารถนา” ในตัวใครสักคนหนึ่ง สมองจะหลั่งสารที่กระตุ้นแรงดึงดูดทางเพศ ได้แก่ ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone) ในเพศชาย และฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ในเพศหญิง ซึ่งถูกควบคุมโดยสมองส่วนไฮโปทาลามัส (Hypothalamus) อีกที
เมื่อเราเกิดความชอบ ความหลงใหล หรือตกหลุมรัก สมองจะหลั่งสารโดปามีน (Dopamine) ออกมา ซึ่งเป็นสารแห่งความสุข มีการหลั่งอะดรีนาลีน (Adrenaline) ตื่นเต้น ควบคุมตัวเองไม่อยู่เมื่อเจอคนที่เราชอบ และหลั่งสารเซโรโทนิน (Serotonin) ที่ทำให้เรารู้สึกเคลิบเคลิ้ม ล่องลอยในความฝัน
เมื่อเรารู้สึกผูกพันกับใครสักคน สมองจะหลั่งสารออกซิโตซิน (Oxytocin) ซึ่งจะหลั่งออกมาเมื่อเราใกล้ชิดกับใครสักคนเป็นเวลานาน ๆ หรือมีปฏิสัมพันธ์กับใครสักคนบ่อยครั้ง และสมองจะหลั่งสารวาโสเปรสซิน (Vasopressin) เมื่อเรารู้สึกว่าเราเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของคนที่เรารัก และต้องการใช้ชีวิตด้วยกันไปจนวันสุดท้าย
4. ปัจจัยสำคัญในการทำให้คนเราสนิทกัน
การทำความรู้จักกับใครสักคนไม่ใช่เรื่องยาก แต่การรักษาสัมพันธภาพจนสนิทและผูกพันกันนั้นต้องอาศัยความลับของความรัก เรื่องปัจจัยสำคัญในการทำให้คนเราสนิทกัน 4 ปัจจัย ได้แก่
บุคลิกภาพของแต่ละบุคคล หากบุคลิกภาพของฝ่ายหนึ่งโดนใจอีกฝ่ายหนึ่ง การทำความรู้จักก็สามารถนำไปสู่การรู้ใจได้ แต่ถ้าหากบุคลิกของอีกฝ่ายทำให้เกิดความกลัว เกิดความรู้สึกไม่ปลอดภัย อย่าว่าแต่ทำความรู้จักเลยค่ะ แค่จะเดินเฉียดใกล้ยังยาก
กระบวนการคิด การใช้เหตุผล หากคำพูดจาของเราแสดงออกถึงแนวคิด กระบวนการคิด การใช้เหตุผลที่สอดคล้องไปในแนวทางเดียวกันกับอีกฝ่าย การขยับสถานะความสัมพันธ์ไม่ใช่เรื่องยากเลยค่ะ และในทางตรงข้ามกัน หากความคิดของเราขัดแย้งกับความคิดของอีกฝ่าย ก็สานต่อกันยากแล้วค่ะ
การแสดงออกทางความรู้สึก หากการแสดงออกทางความรู้สึกของเราถูกจริตกับอีกฝ่าย ก็สามารถพูดคุยกันต่อได้อย่างถูกคอ และสานสัมพันธ์ทำความรู้จักกันต่อไปได้ แต่ถ้าหากการแสดงออกทางความรู้สึกโดยธรรมชาติของเราไม่ถูกใจอีกฝ่าย ก็เป็นการลำบากที่จะสร้างความสนิทสนมกันมากขึ้นในอนาคต
การตอบสนองความต้องการของอีกฝ่าย หากการทำความรู้จัก หรือสร้างสัมพันธภาพกับเราสามารถตอบสนองความต้องการของอีกฝ่ายได้ เช่น มีความปลอดภัยมากขึ้น มีความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตมากขึ้น มีความสบายใจในการใช้ชีวิตมากขึ้น การที่จะรักษาความสัมพันธ์ก็สามารถทำได้ยาว ๆ เลยค่ะ แต่ถ้าหากการสร้างสัมพันธภาพของเราไม่ได้ตอบสนองความต้องการในชีวิตเขา ก็เป็นการยากที่อีกฝ่ายจะให้ความสำคัญ
5. ปัจจัยที่ใช้ในการกำหนดคุณภาพของความสัมพันธ์
ตามทฤษฎีจิตวิทยาความรัก ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้คนเรารักกัน หรือเกลียดกันนั้น สามารถกำหนดได้ด้วยปัจจัย 3 ประการ ได้แก่
ความต้องการทางร่างกาย หากความสัมพันธ์สามารถส่งเสริมให้การใช้ชีวิตเป็นไปด้วยดีและมีคุณภาพ เช่น มีอาหารการกินอุดมสมบูรณ์ มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน สามารถใช้ชีวิตได้อย่างสุขสบายมากขึ้น ปัจจัยเหล่านี้ก็สามารถส่งเสริมให้สัมพันธภาพคงทนและยืนยาวได้
ลักษณะเฉพาะบุคคล ความดึงดูดใจ หรือเสน่ห์เฉพาะตัวก็เป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ความสัมพันธ์ราบรื่น และน่าสนใจ เพราะหากคนที่เราคุยด้วยไม่ตรงสเปก ไม่ถูกใจ คุยนานเท่าไรก็เป็นได้แค่คนคุย
สังคมและวัฒนธรรม การได้รับการเลี้ยงดูส่งผลอย่างมากต่อความเชื่อ เพราะฉะนั้นสังคมที่เราเติบโตมา และวัฒนธรรมที่หล่อหลอมเรา ล้วนส่งผลอย่างมากต่อชุดความคิด และการแสดงออกของเรา จึงไม่น่าแปลกใจที่คนที่เติบโตมาต่างกัน หรือต่างวัฒนธรรมกัน จะมีความเข้าอกเข้าใจน้อยกว่าคนที่มีพื้นฐานชีวิตเช่นเดียวกัน
ถึงแม้ความรักจะเป็นเรื่องเข้าใจยาก แต่ถ้าเรารู้ความลับของความรักผ่านทฤษฎีจิตวิทยาความสัมพันธ์ และปรัชญาความรัก ก็จะทำให้เราเข้าใจถึงหัวใจของการสร้างและรักษาความสัมพันธ์ ซึ่งเราสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในทุกความสัมพันธ์ของเราได้เลยค่ะ
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
บทความแนะนำ :
อ้างอิง :
1. Yoom. (2562, 12 กรกฎาคม). Philosophical Love นักปรัชญาพูดถึงความรักว่ายังไงกันบ้างนะ. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 3 มกราคม 2567 จาก https://www.mangozero.com/philosophical-love/
2. โรงพยาบาลเพชรเวช. (2021, 12 กุมภาพันธ์). Theory of love จิตวิทยาของความรัก. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 3 มกราคม 2567 จาก https://www.petcharavejhospital.com/en/Article/article_detail/Theory-of-love
3. สุรพล พยอมแย้ม. (2548). จิตวิทยาสัมพันธภาพ. กรุงเทพฯ : บางกอก - คอมเทค อินเตอร์เทรด.
จันทมา ช่างสลัก บัณฑิตจากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตจาก NIDA ปัจจุบันเป็นคุณแม่ลูก 1 ผู้เป็นทาสแมว ที่มุ่งมั่นจะพัฒนาการเขียนบทความจิตวิทยาให้โดนใจผู้อ่าน และสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคม ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกบนโลกใบนี้
Commentaires