5 ทักษะทางจิตวิทยาที่ HR มีแล้วดีต่อองค์กร
ปัญหาหนึ่งที่พบบ่อยขององค์กรไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ก็คือการที่องค์กรไม่สามารถรักษาพนักงานที่มีประสิทธิภาพสูงเอาไว้ได้ เนื่องจากคนที่มีประสิทธิภาพสูงมักหางานที่ใหม่ได้ไม่ยาก ดังนั้น หากองค์กรทำให้คนเหล่านี้รู้สึกหมดไฟหมดใจ ต่อให้เสนอเงินเดือนหรือสวัสดิการเพิ่มให้เท่าไหร่ก็อาจจะรั้งไม่ได้อยู่ดี
ทั้งนี้เพราะแรงจูงใจของคนทำงานไม่ได้มาจากภายนอกเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีปัจจัยภายในของแต่ละคนที่เข้ามามีบทบาทต่อประสิทธิภาพในการทำงานรวมถึงการตัดสินใจลาออก เช่น ปัญหาสุขภาพจิต ความรู้สึกไม่มั่นคงปลอดภัย ไม่รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร ระดับคุณธรรมจริยธรรมขององค์กร ซึ่งเป็นหน้าที่ของแผนกทรัพยากรบุคคล (Human Resources: HR) ที่จะต้องเข้ามาบริหารจัดการกับพนักงานอย่างมีกลยุทธ์
5 ทักษะทางจิตวิทยาที่ HR มีแล้วดีต่อองค์กร
1. การระงับความขัดแย้ง (Conflict Resolution) แม้ว่าการที่พนักงานมีความขัดแย้งกันเป็นเรื่องสามัญที่เกิดขึ้นบ่อยในทุกองค์กร แต่การเพิกเฉยต่อความขัดแย้งนั้นมีราคาที่ต้องจ่าย หนึ่งในกลยุทธ์ที่จะช่วยระงับความขัดแย้งได้ก็คือการมีความเข้าใจจิตวิทยาความเป็นมนุษย์ (human psychology) เพื่อนำไปสู่ความเข้าใจรากของปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งหาก HR มีความเข้าใจในความแตกต่างหลากหลายของแต่ละคน นอกจากจะช่วยระงับความขัดแย้งได้แล้ว ยังอาจสามารถสร้างแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งขึ้นได้อีกด้วย
2. การให้ความช่วยเหลือพนักงาน (Assist Employees) พนักงานมักจะดึงศักยภาพของตนเองออกมาใช้ทำงานได้อย่างเต็มที่เมื่อองค์กรเข้าใจความต้องการของพวกเขา HR จึงควรมีทักษะในการทำความเข้าใจว่าพนักงานต้องการอะไร เช่น การฝึกอบรม ค่าตอบแทนที่ยุติธรรม ตำแหน่งที่เหมาะสม วัฒนธรรมองค์กร วิธีการสื่อสารในองค์กร ซึ่งการเข้าใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับธรรมชาติความเป็นมนุษย์จะช่วยให้ HR สามารถช่วยเหลือพนักงานได้ตรงจุดมากขึ้น
3. การสร้างสุขภาวะในองค์กร (Corporate Wellness) ในปัจจุบันพบว่ามีพนักงานที่เกิดความเครียดหรือมีปัญหาสุขภาพเพิ่มมากขึ้นอันมาจากหลายปัจจัย เช่น งานล้น วัฒนธรรมองค์กร การทำงานล่วงเวลา สถานที่ทำงานไม่ถูกสุขลักษณะ หรือขาดกิจกรรมที่ช่วยให้เคลื่อนไหวร่างกายระหว่างทำงาน ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ส่งผลต่อประสิทธิภาพของพนักงาน หาก HR มีความเข้าใจและสามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้าก็จะสามารถวางแนวทางหรือจัดทำนโยบายที่เอื้อต่อการมีสุขภาวะที่ดีในองค์กร ยิ่ง HR มีความรู้ด้านจิตวิทยาองค์กรมากเท่าไหร่ก็จะยิ่งสามารถมองเห็นแนวทางในการสร้างสุขภาวะให้กับพนักงานได้มากเท่านั้น
4. การแนะนำวิธีบริหารจัดการ (Guidance to management) หนึ่งในความรับผิดชอบของ HR คือการให้คำแนะนำหรือจัดคอร์สอบรมเพื่อให้พนักงานมีความสามารถในการบริหารจัดการกับทีมของตนเองได้ดีขึ้น โดยการมีความเข้าใจหรือมีองค์ความรู้ในเรื่องของจิตวิทยาความเป็นมนุษย์จะช่วยให้สามารถสร้างบรรยากาศการทำงานที่เอื้อให้ทีมสามารถบรรลุผลสำเร็จ
5. สร้างบรรยากาศการทำงานที่ดีในองค์กร (Provide Good Environment to work) ในการสร้างสภาพแวดล้อมหรือบรรยากาศการทำงานให้เป็นไปทางบวกจำเป็นจะต้องอาศัยพื้นฐานความเข้าใจทางจิตวิทยา HR ควรมีความเข้าใจเกี่ยวกับปัจจัยภายในที่ส่งผลต่อแรงจูงใจ ความพึงพอใจในการทำงาน และผลงานของพนักงานในภาพรวม ซึ่งการเข้าใจจิตวิทยาความเป็นมนุษย์จะช่วยให้ HR สามารถมองเห็นแนวทางในการสร้างสภาพแวดล้อมที่เกื้อหนุนและเพิ่มประสิทธิผลขึ้นในองค์กร
โดยสรุปแล้ว องค์ความรู้เกี่ยวกับจิตวิทยาความเป็นมนุษย์ (human psychology) มีความสำคัญเป็นอย่างมากต่องานของ HR เพราะจะช่วยให้ HR เกิดความเข้าใจในพฤติกรรมและอารมณ์ที่มันมีความซับซ้อน ซึ่งความเข้าใจเหล่านี้จะช่วยให้สามารถมองเห็นแนวทางในการบริหารทรัพยากรบุคคลได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงสามารถสร้างบรรยากาศการทำงานที่เหมาะสมและเอื้อต่อการมีสุขภาวะที่ดีของพนักงานในองค์กร
อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนมีความเข้าใจว่าหน้าที่และภาระงานของ HR นั้นมีความครอบคลุมหลากหลาย ซึ่งในบางองค์กรก็อาจจะยังไม่ได้มุ่งเน้นให้ HR มีทักษะทางจิตวิทยาแต่เน้นให้มีผู้ที่เชี่ยวชาญทักษะในการทำงาน (hard skills) มากกว่า เช่น การทำบัญชีเงินเดือน (Payroll) การคัดเลือกบุคคลเข้าทำงาน แต่หากคุณเป็น HR หรือเป็นคนในองค์กรคนหนึ่งที่เริ่มเล็งเห็นถึงความสำคัญของการมีทักษะทางจิตวิทยาก็สามารถมองหาคอร์สอบรมเพื่อให้พนักงานในองค์กรมีทักษะทางจิตวิทยาเพิ่มมากขึ้นได้
โดยส่วนตัวผู้เขียนมีความเชื่อมั่นว่าหากพนักงานได้รับการตอบสนองความต้องการในฐานะมนุษย์ที่ได้รับการมองเห็นจากองค์กรผ่านคนที่มีความเข้าใจจิตวิทยาความเป็นมนุษย์ องค์กรก็จะสามารถรักษาพนักงานที่มีประสิทธิภาพสูงเอาไว้ได้ ในขณะเดียวกันก็จะสามารถหาแนวทางในการพัฒนาพนักงานที่ประสิทธิภาพต่ำ ให้เปลี่ยนเป็นพนักงานที่แสดงศักยภาพออกมาอย่างเต็มที่และเต็มใจ ซึ่งเหล่านี้คือความท้าทายของงาน HR ที่หากทำได้ก็จะช่วยพัฒนาองค์กรได้เป็นอย่างมาก หากคุณเป็น HR ที่ต้องการพัฒนาทักษะจิตวิทยาด้านนี้อย่างจริงจัง สามารถเข้าไปดูรายละเอียดของหลักสูตรจิตวิทยานักให้คำปรึกษา ระดับ Fundamental ได้ที่นี่ >>
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
บทความที่เกี่ยวข้อง
อ้างอิง:
[1] Psychology - Much needed skill in Human Resource. Retrieved from https://www.linkedin.com/pulse/psychology-much-needed-skill-human-resource-shivanee-jadeja
ประวัติผู้เขียน
นิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) มีประสบการณ์ทำงานเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาในมหาวิทยาลัยและเป็นวิทยากรเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต/การพัฒนาตนเองให้แก่นักศึกษาเป็นเวลา 11 ปี ปัจจุบันเป็นแม่บ้านในอเมริกาที่มีความสนใจเกี่ยวกับ childhood trauma และยังคงมีความฝันที่จะสื่อสารกับสังคมให้เกิดการตระหนักเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต
Nilubon Sukawanich (Fern) has work experiences as a counseling psychologist and speaker in university for 11 years. Currently occupation is a housewife in USA who keep on learning about childhood trauma and want to communicate to people about mental health problems awareness.
Comments