นักจิตวิทยาแนะนำ 5 เสาหลักแห่งความสุขในจิตวิทยาเชิงบวก
เมื่อพูดถึง “จิตวิทยา” หลายคนอาจจะเชื่อมโยงโดยอัตโนมัติไปกับความผิดปกติทางจิตใจ หรือการบำบัดรักษาความเจ็บป่วยทางจิตเวช ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ถูกต้องในส่วนหนึ่ง แต่ในปัจจุบัน จิตวิทยาไม่ได้มุ่งเน้นเฉพาะความผิดปกติหรือประเด็นทางด้านลบอีกต่อไปแล้ว เนื่องจากกระแสในวงการจิตวิทยาได้เปลี่ยนมาสู่ “จิตวิทยาเชิงบวก” คนในแวดวงจิตวิทยาจึงหันมามุ่งเน้นเกี่ยวกับความสุข ศักยภาพทางบวก การรู้จักเข้าใจตนเองในเชิงบวก โดยบุคคลแรก ๆ ที่ทำการศึกษาจิตวิทยาเชิงบวกก็คือ Dr. Martin Seligman จาก University of Pennsylvania
จากการศึกษาวิจัยอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานหลายปี Dr. Martin Seligman ได้คิดค้นทฤษฎีเกี่ยวกับความสุขที่กล่าวถึงองค์ประกอบของการมีสุขภาวะที่ดีอันประกอบไปด้วย 5 องค์ประกอบอันเปรียบเสมือนเสาหลักแห่งความสุขในจิตวิทยาเชิงบวก เรียกย่อ ๆ ว่า “PERMA” ได้แก่
1. P – Positive Emotion: อารมณ์ทางบวก
อารมณ์ทางบวกมีความสำคัญต่อความสุขของคนเรา เพราะโดยปกติแล้วเราจะมองโลกไปทางไหน ขึ้นอยู่กับอารมณ์ของตนเองในขณะนั้น เช่น เวลาที่เราอารมณ์ดี เราก็จะนึกถึงสิ่งต่าง ๆ ในแง่ดี มองอนาคตอย่างมีความหวัง และเวลาที่คนเราอยู่ในอารมณ์ทางบวก มักจะทำกิจกรรมการเรียนหรือการทำงานได้ดี นอกจากนั้น อารมณ์ทางบวกยังสามารถแผ่ขยายไปยังคนอื่น ๆ ได้ด้วย เวลาที่เราเห็นคนอื่นยิ้มหรือหัวเราะ เราก็จะรู้สึกดีตามไปด้วย และเวลาที่คนเราแชร์ความรู้สึกดีให้แก่กันและกัน มันก็จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างกันเป็นไปในทางที่ดี รวมถึงทำให้บรรยากาศการอยู่ร่วมกันมันเป็นบรรยากาศแห่งความสุข
2. E – Engagement: ความรู้สึกผูกพันมีส่วนร่วม
มนุษย์ไม่สามารถเติบโตได้โดยปราศจากการลงมือทำ การไม่ทำอะไรเลยมักจะทำให้คนเรารู้สึกเบื่อหน่ายหรือไร้ค่า แต่เมื่อใดก็ตามที่คนเราเกิดความรู้สึกว่าตัวเองผูกพันกับสิ่งที่ทำไม่ว่าจะเป็นเรื่องส่วนตัวหรือเรื่องงาน จะทำให้เกิดสภาวะที่เรียกว่า “ความลื่นไหล (flow)” โดยสามารถรับรู้ถึงความลื่นไหลได้เมื่อคนเราสามารถจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ตัวเองทำได้ และรู้สึกเพลิดเพลินไปกับมันจนลืมเวลา ซึ่ง ณ ขณะที่เรากำลังจดจ่อเพลินเพลินหรืออยู่ในสภาวะลื่นไหลนั้น เรามักจะเกิดความรู้สึกเป็นสุขขึ้นมาภายในใจ
3. R – Relationship: ความสัมพันธ์กับผู้อื่น
แม้เวลาจะผ่านมานานมากแล้ว แต่ก็ยังไม่มีข้อมูลใดมาหักล้างเรื่อง “มนุษย์เป็นสัตว์สังคม” ดังนั้น โดยธรรมชาติแล้วคนเราจึงมีความต้องการที่จะมีความสัมพันธ์กับคนอื่น ๆ ต้องการที่จะได้รับความรักและได้รักคนอื่น ยิ่งคนเรามีความสัมพันธ์อันดีกับคนอื่นมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งมีความรู้สึกดีมากขึ้นเท่านั้น ดังคำที่มีคนกล่าวไว้ว่า “ถ้าเราแชร์ปัญหาให้ใครสักคนรับรู้ ปัญหามันจะเหมือนลดลงครึ่งหนึ่ง และหากเราแชร์ความสุขให้กับใครสักคน ความสุขของเราก็จะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า” การมีความสัมพันธ์อันดีกับคนอื่น ๆ โดยเฉพาะคนรอบข้างหรือคนใกล้ชิด จึงทำให้คนเรามีความสุข
4. M – Meaning: ความหมายของชีวิต
เรามักจะเป็นตัวเองในเวอร์ชันที่ยอดเยี่ยมมากเมื่อเราทำบางสิ่งบางอย่างที่มีเป้าหมายมากกว่าการทำเพื่อตัวเองเพียงอย่างเดียว และยิ่งถ้าเรามีความเชื่อว่าสิ่งที่เรากำลังทำอยู่นั้นมันมีคุณค่าความหมายต่อผู้อื่น เราได้ทำบางสิ่งบางอย่างที่เป็นประโยชน์ต่อโลก เราก็จะยิ่งรู้สึกได้ถึงความสุขภายในใจ
5. A – Accomplishment: ความสำเร็จ
แม้ว่าการมีชัยชนะเหนือทุกสิ่งมันจะไม่ได้เป็นสิ่งที่จำเป็นอะไรมากมาย แต่ในบางครั้ง คนเราก็จำเป็นต้องได้รับความรู้สึกว่าตัวเองทำบางอย่างได้สำเร็จบ้าง โดยความสำเร็จนั้นอาจจะไม่ต้องยิ่งใหญ่หรือเอาไปแข่งขันเปรียบเทียบกับคนอื่นแล้วเราดูเหนือกว่า แต่มันก็เป็นความสำเร็จตามเป้าหมายที่เราตั้งเอาไว้ หรือเป็นความสำเร็จเล็ก ๆ จากการชนะใจตัวเองจนสามารถทำบางสิ่งบางอย่างให้ลุล่วงไปได้ด้วยดี ซึ่งมันไม่ได้เป็นความเห็นแก่ตัวหรือน่าอายเลยที่เราจะภาคภูมิใจกับตัวเองที่ทำอะไรได้สำเร็จบ้าง จะได้มีแรงจูงใจให้ตัวเองรู้สึกอยากทำสิ่งดี ๆ ในครั้งต่อไป
ทำอย่างไรจึงจะสามารถพัฒนาให้ตัวเองมี PERMA?
มีหลายวิธีในการเพิ่มพูนหรือพัฒนาให้ตัวเองมีองค์ประกอบของความสุขทั้ง 5 องค์ประกอบ แต่ในบทความนี้ขอหยิบยกมาเพียงบางวิธี ดังนี้
1. ออกกำลังกาย
การออกกำลังกายจะช่วยให้ร่างกายหลั่งสารความสุขออกมา และเมื่อเราสามารถเอาชนะใจตัวเองลุกมาออกกำลังกายได้ เราก็จะรู้สึกว่าตัวเองทำอะไรได้สำเร็จ มีความรู้สึกดีเกิดขึ้น เรียกได้ว่าสุขจากภายในสู่ภายนอกกันเลยทีเดียว
2. ฝึก Mindfulness
การที่เราสามารถฝึกให้ตัวเองรู้เนื้อรู้ตัวอยู่ในปัจจุบัน จะช่วยส่งเสริมการตระหนักรู้ในตนเองทั้งในด้านร่างกายและจิตใจ ซึ่งโดยมากแล้วคนที่จะสามารถสัมผัสกับความสุขโดยแท้ได้ ก็คือคนที่ใช้ชีวิตอยู่ในปัจจุบัน ไม่โดยหาอดีตที่มันผ่านไปแล้วและไม่วิตกกับเรื่องในอนาคตที่ยังมาไม่ถึง
3. ฝึกบริหารความสัมพันธ์
หาจุดสมดุลระหว่างการมีเวลาส่วนตัวและการใช้เวลากับคนอื่น และไม่ปล่อยให้ความสัมพันธ์ระหว่างตัวเองกับคนรอบข้างอยู่ในลักษณะพึ่งพิงมากเกินไป ในขณะที่ก็ไม่ห่างเหินกับคนอื่นมากเกินไปด้วยเช่นกัน โดยอาจจะใช้การสื่อสารเข้ามาเป็นเครื่องมือช่วยในการทำความเข้าใจกันและกัน
4. สำรวจทบทวนตัวเองและเขียนออกมา
ทบทวนตัวเองและเขียนออกมาในประเด็นต่าง ๆ เช่น “อะไรบ้างที่เราสามารถทำได้ดี” “มีอะไรบ้างที่มันผ่านไปได้ด้วยดีในวันนี้” “สิ่งไหนที่เรามองว่ามันมีคุณค่าความหมายกับชีวิตของเรา” เป็นต้น
5. ตั้งเป้าหมายที่จับต้องได้
หมายถึงเป้าหมายที่ตั้งแล้วตัวเองสามารถบรรลุได้จริง ไม่ตั้งเป้าหมายที่สูงหรือยากเกินไปจนตัวเองรู้สึกกดดัน โดยเป้าหมายที่ตั้งขึ้นมาก็ควรจะมีทั้งเป้าหมายระยะสั้นและเป้าหมายระยะยาว
สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ
iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
• คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
อ้างอิง
[1] Authentic happiness. Retrieved from. https://www.authentichappiness.sas.upenn.edu/learn
[2] Well-being theory. Retrieved from. https://relate.melbourne/well-being-theory/
บทความที่เกี่ยวข้อง
[1] 12 วิธีฝึกคิดบวก ไม่ได้ยากอย่างที่คิด. https://www.istrong.co/single-post/positive-thinking
[2] 5 วิธีป้องกันอาการ BURNOUT ของพนักงานด้วยจิตวิทยาเชิงบวก. https://istrong.center/positive-psychology-for-burnout/
ประวัติผู้เขียน
นางสาวนิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) การศึกษา: ปริญญาโทสาขาจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ปริญญาตรีสาขาจิตวิทยา (คลินิก) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
การทำงาน: พ.ศ. 2555 - ปัจจุบัน นักจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา
และเป็นนักเขียนของ istrong
Comments