top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

5 ข้อคิดการทำงานของคนญี่ปุ่น

ณ ตลาดปลาสึคิจิ


หากใครกำลังเบื่องาน ไม่รักงาน เกลียดงาน ไม่อยากไปทำงาน แนะนำให้ดูหนังเรื่องนี้ "อัศจรรย์ตลาดปลาสึคิจิ - Tsukiji Wonderland" หนังสารคดีเรื่องนี้ให้พลังที่ไม่ธรรมดา



ชีวิตผู้คนที่ตลาดปลาสึคิจิเมืองโตเกียวเริ่มต้นหลังเที่ยงคืน ... สถานที่ที่ทั้งแฉะ ทั้งหนาว ทั้งวุ่นวาย แต่ทำไมผู้คนถึงมีชีวิตชีวา ตั้งใจและทุ่มเทได้ขนาดนั้น



แอดมินมีโอกาสได้ดูหนังเรื่องนี้ และเกิดแรงบันดาลใจเกี่ยวกับการทำงานของคนญี่ปุ่นที่ตลาดปลาสึคิจิ จึงอยากจะแบ่งปันข้อคิดให้อ่านกัน




1. PASSION ทุ่มเทสุดหัวใจ


ตลาดปลาสึกิจิ

คนที่นั่น “อิน” กับงานของตัวเองสุดๆ ไม่ว่าจะเป็นคนขายปลา พ่อค้าคนกลาง พ่อครัว คนทำน้ำแข็งขาย พวกเขารักงานของตัวเอง และต่างต้องการทำในส่วนของตัวเองให้ดีที่สุด

พวกเขามาที่ตลาดตั้งแต่เที่ยงคืน ตีหนึ่ง เพื่อให้มั่นใจว่าเตรียมทุกอย่างไว้พร้อมแล้ว

“มาตรฐาน” ดูเหมือนจะเป็นคำที่ซีเรียสมากๆ เพราะหากขึ้นชื่อว่าเป็นผลงานมาจากพวกเขาแล้ว รับประกันได้ว่า มันจะต้องเป็นของดี


คนขายปลาต้องแนะนำของดีให้ลูกค้า พ่อค้าคนกลางต้องประมูลปลาที่ดีที่สุดมาให้ได้ เพื่อส่งมอบให้ลูกค้าของตัวเอง


กลับมาถามตัวคุณเองว่า ... งานทุกชิ้นที่ส่งออกไปจากคุณมีมาตรฐานมากน้อยแค่ไหน



2. MASTER รู้ลึกจนใครก็หลอกไม่ได้


พ่อค้าคนกลางมีความรู้เรื่องปลาแบบลึกสุดๆ เพียงแค่มองด้วยตาเปล่า หรือสัมผัสด้วยมือก็จะรู้ได้ทันทีว่าปลาตัวนี้คุณภาพดีแค่ไหน มีไขมันมากน้อยแค่ไหน จะรสชาติดีแค่ไหน


ปรมาจารย์

คนขายปลาที่ต้องรู้ลักษณะปลาในแต่ละฤดูกาล แนะนำลูกค้าได้ว่าควรเลือกแบบไหน เอาไปประกอบอาหารแบบไหนจึงจะอร่อยที่สุด


เชฟรู้วิธีแล่ปลาและเก็บรักษาปลาเพื่อให้รสชาติอยู่ในจุดที่ดีที่สุด


การอดทนทำในสิ่งเดิมๆ ซ้ำๆ มานานแสนนานกลับทำให้พวกเขาพัฒนาความเป็น “ปรมาจารย์” ในสิ่งที่พวกเขาทำ


กลับมาถามตัวคุณเองว่า ... คุณ “รู้” เกี่ยวกับงานที่ตัวเองทำดีแค่ไหน บางคนบ่นว่าเบื่องาน ทั้งๆ ที่ยังมีความรู้ในงานนั้นแค่หางอึ่ง และยังไม่ทันได้เรียนรู้หรือมีทักษะอะไรเลยด้วยซ้ำ




3. RESPONSIBILITY หน้าที่อันยิ่งใหญ่


หน้าที่สำหรับคนที่ตลาดปลาสึคิจิไม่ใช่แค่ที่เขียนไว้ใน Job Description ที่หัวหน้าหรือองค์กรคาดหวังจากพวกเขา แต่ “หน้าที่” ในที่นี้หมายถึงหน้าที่ในฐานะที่พวกเขาเป็นหน่วยหนึ่งของสังคม ของประเทศ


หน้าที่คัดสรรอาหารที่ดีที่สุด

พ่อค้าคนกลางมีหน้าที่เสาะหาอาหารทะเลที่ดีที่สุดให้ลูกค้าที่เป็นร้านอาหาร เพื่อให้คนญี่ปุ่นได้กินอาหารคุณภาพดี


หากใครที่รู้หน้าที่ของตัวเอง รู้ว่าตัวเองกำลังรับใช้ใคร และรู้ว่างานของตัวเองมีกระทบต่อชีวิตคนในประเทศ หรือชาวโลกนี้ยังไง จะทำให้พวกเขารักและภูมิใจในงานของตัวเองมากขึ้น


กลับมาถามตัวคุณเองว่า ... ทุกวันนี้คุณรู้หรือไม่ว่าคุณทำงานนี้ไปเพื่ออะไร และทำงานนี้ไปเพื่อใคร


บางคนถนัดแต่เรียกร้อง “สิทธิ” เรียกร้องค่าตอบแทน แต่ไม่เคยสนใจเลยว่าได้ทำหน้าของตัวเองให้ดีที่สุดแล้วหรือยัง





4. END-TO-END รู้ต้นน้ำยันปลายน้ำ

คนที่นี่ไม่ได้มองแค่งานของตัวเองส่วนเดียวแล้วจบ แต่พวกเขารู้ว่า ก่อนหน้านี้วัตถุดิบเหล่านี้มายังไง ไปยังไง (และจะไปหาใคร)


พ่อค้าคนกลาง

พ่อค้าคนกลางหาสิ่งที่ดีที่สุดเพื่อให้ลูกค้าพวกเขาส่งมอบอาหารที่ดีที่สุดให้กับคนกิน

เชฟสำนึกในบุญคุณของชาวประมงที่เสี่ยงชีวิตไปจับปลาหายากในทะเล พวกเขาจึงต้องตั้งใจอย่างสุดฝีมือให้ชิ้นปลาแต่ละชิ้นนั้นมีคุณค่าที่สุด


กลับมาถามตัวเองว่า ... คุณรู้หรือไม่ว่าสุดท้ายแล้วผลงานที่คุณทำออกไปจะมีผลกระทบกับชีวิตใครบ้าง และสำนึกในบุญคุณคนที่จัดสรรวัตถุดิบมาให้คุณหรือไม่




5. ACCOUNTABILITY จิตสำนึกรับผิดชอบต่อส่วนรวม


ความสนใจถ่ายทอดถึงผู้บริโภค

พวกเขาต่างทำในส่วนของตัวเองให้ดีที่สุดเพื่อเลือกสรรของดีให้คนกินเพราะตระหนักดีว่าในอีกไม่กี่วัน ของที่กินลงไปเหล่านั้นจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของเซลส์ในร่างกายคนกิน

คนหาวัตถุดิบให้โรงเรียนตั้งใจคัดสรรของดีและปลอดภัยให้เด็กๆ ในโรงเรียน

เถ้าแก่ร้านขายปลากำชับกับทีมงานว่า "จำไว้ว่าสิ่งที่เราทำและพูดจะซึมเข้าสู่เนื้อปลาที่เราขาย เราขายปลาด้วยความรักและใส่ใจซึ่งถ่ายทอดไปถึงผู้บริโภค"


กลับมาถามตัวเองว่า ... ทุกวันนี้คุณนึกถึงหน้าของผู้คนที่จะได้รับผลกระทบจากงานของคุณบ้างหรือไม่




นี่เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของข้อคิด ยังมีอีกหลายประเด็นที่ยังไม่ได้พูดถึง หากมีโอกาสได้ดูก็แนะนำค่ะ เผื่อจะช่วยเป็นแรงบันดาลใจให้คุณอยากใช้ความสามารถสร้างสรรค์ผลงานดีๆ ต่อไปค่ะ

Comments


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page