5 แนวคิด การสร้างความสุขในการทำงานจากสารคดี Disney Sketchbook
คำพูดที่ว่า “งานหนักไม่เคยฆ่าใคร” ที่เรามักได้ยินบ่อย ๆ นั้น อาจจะจริงอย่างเขาว่าก็ได้นะคะ เพราะงานไม่เคยฆ่าเราแต่ทรมานเราอย่างช้า ๆ ด้วยโรค Office syndrome และความเครียดจากการทำงาน ที่ไปลดทอนความสุขในการทำงาน (อันน้อยนิดอยู่แล้วสำหรับบางคน) ซึ่งจะนำเราไปสู่โรคทางจิตเวชและโรคทางกายอื่น ๆ ที่รุ่นแรงกว่าตามมา จากผลสำรวจเรื่องความเครียดจากการทำงานของคนไทย สิงคโปร์ และฮ่องกง โดยบริษัท Cigna เมื่อเดือนมิถุนายน 2563 ซึ่งในตอนนั้นประเทศไทยกำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดของ Covid – 19 อย่างรุนแรง และหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนมีมาตรการ Work from Home ออกมา
ผลการสำรวจออกมาว่าคนไทยมีความเครียดจากการทำงานมากถึง 52% ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อเดือนมิถุนายน 2565 ที่ผ่านมานี่เอง บริษัท Gallup ซึ่งเป็นบริษัทวิเคราะห์และให้คำปรึกษา ได้มีรายงานเรื่อง the State of the Global Workplace โดยรายงานว่า คนวัยทำงานทั่วทั้งโลก มีความเครียดจากการทำงานเฉลี่ยที่ 44% เลยทีเดียว และเมื่อพิจารณาสถิติย้อนหลังไปตั้งแต่ปี 2561 ถึงปัจจุบัน พบว่า คนทำงานมีความเครียดจากการทำงานสูงขึ้นเรื่อย ๆ และมีแนวโน้มจะสูงขึ้นไปอีก นั่นหมายความว่าความสุขในการทำงานก็ลดลงเรื่อย ๆ ตามไปด้วย
ปัญหาความเครียดในการทำงานเพิ่มขึ้น และความสุขในการทำงานลดลงนั้น จึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่นักจิตวิทยาองค์กรให้ความสำคัญ และหามาตรการแก้ไข เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว อัตราการ Turn Over องค์กรจะเยอะมาก ซึ่งจะส่งผลให้องค์กรเสียทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่าไป ซึ่งเมื่อไม่กี่วันก่อนดิฉันได้มีโอกาสรับชมสารคดีของ Walt Disney เรื่อง Disney Sketchbook ที่ได้สัมภาษณ์ 6 Animator ผู้สร้างสรรค์ตัวละครสุดประทับใจของ Disney 6 ตัวละคร คือ Olaf, Simba (ตอนเด็ก), Mirabel, ยักษ์จินนี่, กัปตันฮุค และ Kuzco ซึ่งดิฉันได้เลือกดูตอนของ Olaf เนื่องจากดิฉันชอบที่สุดในบรรดา 6 ตัวละคร ซึ่งทำให้ได้แนวคิดจิตวิทยาในการสร้างความสุขในการทำงาน มาฝากกันค่ะ
1. รู้จักตนเอง
ฮยอนมินลี ผู้สร้างชีวิตให้กับ Olaf แห่ง Frozen ได้เล่าว่าเธอชอบวาดรูปตั้งแต่จำความได้ นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นให้เธอได้ทำงานที่เธอรักในทุกวันนี้ นั่นแสดงให้เห็นว่าถ้าเรารู้จักตัวเอง รู้ว่าเราชอบอะไร ไม่ชอบอะไร ถนัดอะไร มีความสามารถ มีทักษะในเรื่องไหน เราก็สามารถพาตัวเองไปอยู่ในจุดที่พอดีกับเรา เหมาะสมกับเรา และทำงานที่รู้สึกว่า “เป็นที่ของเรา” ได้ค่ะ แต่ถ้าในทุกวันนี้เราดันไปอยู่ในจุดไหนก็ไม่รู้ที่ดูไม่เหมาะกับเราเลย และการเปลี่ยนงานในยุคนี้ก็ยากลำบาก ลองสังเกตงานที่เราทำดูนะคะว่าพอจะใช้ความสามารถที่เรามี หรือใส่สิ่งเราชอบ เราถนัดลงไปในงานได้หรือไม่ หากทำได้น่าจะช่วยเพิ่มความสุขในการทำงานให้เราได้มากขึ้นเลยค่ะ
2. พัฒนาตนเองอยู่เสมอ
เมื่อฮยอนมินลีจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ก็เข้าเรียนต่อที่สถาบันเฉพาะทางด้านการวาดภาพ และเมื่อจบการศึกษาแล้ว เธอก็เข้าเรียนต่อที่สถาบัน Animation ของ Walt Disney เพื่อพัฒนางานวาดของเธอจาก 2 มิติ เป็น 3 มิติ และพัฒนาให้โลดแล่นมีชีวิตในรูปแบบ Animation และผลของการพัฒนาตนเองของเธอก็ไปเข้าตา Disney อย่างจังจนได้รับโอกาสในการเข้าทำงานที่ Walt Disney ค่ะ นั่นจึงเป็นแนวคิดจิตวิทยาว่า หากเรามีการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง และสม่ำเสมอ นอกจากเราจะเก่งขึ้น งานของเราก็จะมีประสิทธิภาพมากขึ้น จนเราสามารถฉายแสงได้ด้วยตนเองค่ะ
3. มีความปารถนาที่จะเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่ตนรัก
แรงบันดาลใจในการเข้ามาทำงานที่ Walt Disney ของฮยอนมินลี คือ เธอชื่นชอบการ์ตูนโรบินฮู้ดของ Walt Disney จึงทำให้เธอฝึกฝนการวาดภาพ เพื่อวันหนึ่งเธอจะได้มีโอกาสสร้างสรรค์ตัวละครที่เป็นที่รักของคนทั้งโลกแบบการ์ตูนโรบินฮู้ดบ้าง และเธอก็ทำได้สำเร็จค่ะ เพราะ Olaf ของเธอได้กลายเป็นตัวละครตัวโปรดของใครหลาย ๆ คน รวมทั้งดิฉันและครอบครัวด้วย เพราะฉะนั้นแล้ว การสร้างความสุขในการทำงาน อาจไม่ได้มาจากการที่เราเป็นที่ 1 ขององค์กร แต่มาจากการที่เราเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้องค์กรประสบความสำเร็จ หรือได้สร้างสรรค์ผลงานที่กลายเป็นที่ชื่นชอบ หรือเกิดประโยชน์กับคนส่วนมากก็ได้นะคะ
4. ใช้โอกาสอย่างคุ้มค่า
เวลาที่เราดูกีฬาอะไรสักอย่างหนึ่ง แล้วเราเห็นว่านักกีฬาที่เราเชียร์มีจังหวะที่สามารถทำแต้มได้ แต่ก็พลาดไป เรามักจะหงุดหงิดใช่ไหมคะ เช่นกันกับโอกาสในการทำงานค่ะ หากเราได้รับโอกาสแต่ใช้โอกาสไม่คุ้มค่า เราก็จะรู้สึกแย่ และโอกาสนั้นอาจจะไม่กลับมาหาเราอีก ซึ่งฮยอนมินลีเป็นตัวอย่างของคนทำงานที่ใช้โอกาสในทุกจังหวะชีวิตคุ้มค่ามากค่ะ เพราะเธอเตรียมตัวเองให้พร้อมรับทุกโอกาสเสมอ และเมื่อมีโอกาสเธอก็ไม่รีรอที่จะใช้โอกาสนั้นในการพาตัวเองไปยังจุดที่จะทำให้เธอมีความสุขค่ะ เราเองก็เช่นกันนะคะ เราไม่รู้ว่าโอกาสจะมาเมื่อไหร่ หากเรามีการเตรียมตัวเองให้พร้อม เราก็สามารถใช้โอกาสนั้นพาตัวเราไปสู่จุดที่เรามีความสุขได้เช่นกันค่ะ
5. มอบชีวิตให้กับผลงาน
ทุกครั้งที่ฮยอนมินลีสร้างสรรค์ผลาน เธอจะใส่ใจมากค่ะ เพราะเธอคิดเสมอว่าตัวละครของเธอจะเป็นอย่างไรในสายตาผู้ชม นั่นจึงทำให้ Olaf มีชีวิต มีจิตใจ และมีบุคลิกที่น่าประทับใจ การทำงานของเราก็เช่นกันค่ะ หากเราเอาใจใส่ลงในงาน ด้วยความคิดว่างานของเรามีชีวิต มีความรู้สึก เราจะตั้งใจสร้างสรรค์ทุกผลงาน เราจะใส่ชีวิตลงในงาน ทำให้งานของเราออกมาดีที่สุด ซึ่งเมื่อเราใส่ใจในทุก ๆ ผลงาน มันจะเกิดเป็นลายเซ็นติดตัวเราไป และงานจะย้อนกลับมาสร้างคุณค่าให้ตัวเราในที่สุดค่ะ
การทำงานทุกงานย่อมมีความเครียดจากการทำงานค่ะ แต่จะดีกว่าไหมหากเราสามารถสร้างความสุขในการทำงานได้ เพราะเมื่อเรามีความสุข ความเครียดก็จะถูกให้ความสำคัญลดลง จิตใจของเราก็จะเข้มแข็งมากขึ้น สุขภาพจิตและสุขภาพกายก็จะดีขึ้นตามไปด้วยนั่นเองค่ะ พบกันใหม่บทความจิตวิทยาหน้านะคะ
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
• คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
บทความแนะนำ :
อ้างอิง :
[1] Pran Suwannatat. (16 มิถุนายน 2563). ผลสำรวจเผย Work From Home ทำคนสิงคโปร์-ฮ่องกง-ไทยเครียดหนัก ไม่ได้พัก ขาดเวลาส่วนตัว. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2565 จาก https://brandinside.asia/work-from-home-stress-level-increase-in-asia/
[2] รชต สนิท. (28 มิถุนายน 2065). นี่คือยุคที่คนทำงานเครียดเป็นประวัติการณ์ รายงาน Gallup ชี้ องค์กรสร้างความเป็นอยู่ที่ดีคือทางออก. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2565 จาก https://brandinside.asia/gallup-state-of-the-global-workplace-report-2022/
ประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก คุณแม่ของลูก 1 คน แมว 1 ตัว ที่พยายามใช้ความรู้ทางจิตวิทยาที่ร่ำเรียนมาและประสบการณ์การทำงานด้านจิตวิทยาพัฒนาการเด็ก มาสร้างความสุขในการใช้ชีวิต ดูแลครอบครัว และการทำงาน รวมถึงมีความสุขกับการได้เห็นว่าบทความจิตวิทยาที่เขียนไปมีประโยชน์กับคนอ่าน
Comments