top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

นักจิตวิทยาแนะนำ 4 วิธีเปลี่ยนคุณเป็นคนที่มี Growth mindset

คุณเคยสงสัยไหมคะว่าทำไมบางคนถึงสนุกกับอุปสรรคและมองว่ามันเป็นความท้าทาย เป้าหมายมีไว้พุ่งชน แต่ทำไมบางคนถึงมองว่าอุปสรรคเป็นความยุ่งยากที่ทำให้ชีวิตติดขัดไปหมด ทุกปัญหาคือหายนะ บทความนี้มีคำตอบค่ะ


คนแต่ละคนมี mindset ที่แตกต่างกันออกไป ซึ่ง mindset นั้น ก็มีด้วยกันมากมายหลายรูปแบบ แต่ในที่นี้จะขอกล่าวถึงชนิดของ mindset ตามแนวคิดของ Carol Dweck นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน โดย Dweck ผู้เขียนหนังสือที่มียอดขายอันดับต้น ๆ ที่มีชื่อว่า “Mindset, The New Psychology of Success” โดย Dweck ได้กล่าวว่า mindset ของคนเรามีอยู่สองแบบ ได้แก่


1. Fixed mindset

จะเห็นได้จากคำในภาษาอังกฤษว่า “Fixed” ซึ่งมีความหมายว่าติดยึดอยู่กับที่ คนที่มีชุดความคิดแบบนี้จึงมีแนวโน้มที่จะมองทุกสิ่งทุกอย่างว่ามันไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงได้ ยกตัวอย่างชุดความคิดในหัวของคนที่มีชุดความคิดแบบนี้


เช่น “เรื่องใหญ่แบบนี้ไม่มีใครแก้ปัญหาได้หรอก” “งานนี้มันยากเกินไป เทวดาก็ไม่ได้หรอก” “อย่าลองเลย เสียเวลาเปล่า ๆ” “คราวที่แล้วฉันลองทำแล้วมันล้มเหลว อย่าพยายามอีกเลย ถึงยังไงมันก็ไม่มีทางเป็นไปได้” ทำให้มักมองว่าอุปสรรคปัญหาคือหายนะที่เข้ามาแล้วทำให้ชีวิตลำบาก วุ่นวาย นำไปสู่ความรู้สึกท้อแท้สิ้นหวัง

2. Growth mindset

คำว่า “Growth” มีความหมายถึงการเติบโตงอกงาม หากจะอุปมาก็คงจะเหมือนต้นไม้ที่ตอนแรกอาจมองไม่เห็นการเติบโตเพราะเป็นเมล็ดพันธุ์อยู่ในดิน แต่เมื่อมีปัจจัยส่งเสริมเมล็ดพันธุ์ก็จะสามารถเติบโตงอกงามได้ คนที่มีชุดความคิดแบบนี้จึงมีแนวโน้มที่จะเชื่อว่าความสามารถของคนเรามันสามารถเปลี่ยนแปลงพัฒนาได้


แม้ว่าตนเองจะไม่ได้เก่งมาตั้งแต่เกิด ยังขาดทักษะความสามารถบางอย่างอยู่ แต่ก็เชื่อว่าตนเองจะสามารถพัฒนาความสามารถในด้านนั้นขึ้นมาได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง รวมไปถึงการมองปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นว่ามันเป็นเพียงความท้าทายที่เกิดขึ้นมา หากว่าสามารถผ่านมันไปได้แล้วตัวเขาก็จะเก่งขึ้น มีศักยภาพเพิ่มขึ้น และแม้จะทดลองทำอะไรขึ้นมาแล้วล้มเหลว ก็จะเรียนรู้จากข้อผิดพลาดแล้วทดลองทำอีกครั้งและอีกครั้งด้วยวิธีการใหม่ ๆ ซึ่งเขามักจะเชื่อว่ามันจะต้องสำเร็จในที่สุด แม้ว่าจะต้องล้มเหลวสักกี่ครั้งก็ตาม


นอกจาก Dweck แล้ว ยังมีผู้ที่ทำการศึกษาเกี่ยวกับ mindset โดยศึกษาไปถึงลักษณะการทำงานทางสมองซึ่งวัดจากคลื่นไฟฟ้าสมองขณะที่เด็กทำกิจกรรมต่าง ๆ (Moser, Scroder, Heeter, Lee, & Moran ,2011) โดยพบว่าเด็กที่มีการคิดแบบ Growth mindset เมื่อเจอกับข้อผิดพลาด สมองของเด็กจะมีการทำงานอย่างมากโดยแสดงผ่านคลื่นไฟฟ้าสมองที่แสดงผลออกมาเป็นสีแดงซึ่ง Dweck เปรียบเปรยว่าทำงานร้อนอย่างกับไฟ


ส่วนเด็กที่มีการคิดแบบ Fixed mindset ไม่พบว่าสมองมีคลื่นไฟฟ้าเกิดขึ้นเลย กล่าวคือสมองของเด็กที่มีการคิดแบบ Fixed mindset ขณะที่เจอกับข้อผิดพลาดจะไม่มีกิจกรรมทางสมองเกิดขึ้นเลย ซึ่งกิจกรรมทางสมองที่แสดงผ่านคลื่นไฟฟ้าสมอง ได้แก่ การวิเคราะห์ การพยายามคิดแก้ไขปัญหาหรือข้อผิดพลาด การเข้าไปเผชิญอย่างมีส่วนร่วมในปัญหานั้น ๆ ซึ่งจะพบในเด็กที่มีความเชื่อว่าพวกเขาสามารถเปลี่ยนแปลงพัฒนาได้ แต่จะไม่พบในเด็กที่พยายามจะหนีปัญหา


ส่วนอีกงานวิจัยหนึ่ง (Blackwell, Trzesniewski, & Dweck , 2007) พบว่า คนที่มีชุดความคิดแบบ Fixed mindset นั้น หากว่าการสอบครั้งที่ผ่านมาพวกเขาสอบตก ครั้งต่อไปพวกเขาจะเลือกวิธีการโกงข้อสอบแทนที่จะพยายามเตรียมตัวให้มากขึ้น และในการศึกษาวิจัยครั้งถัดมาก็พบว่า หลังจากที่พวกเขาสอบตก พวกเขาจะมองหาใครสักคนที่มีคะแนนต่ำกว่า เพื่อให้พวกเขารู้สึกดีกับตัวเอง นอกจากนั้น พวกเขาก็พยายามหนีจากความยากลำบากในทุก ๆ ครั้ง นั่นหมายถึงคนที่มีชุดความคิดแบบ Growth mindset มักจะกลับมายืนหยัดได้อีกครั้งหลังจากเจอกับความล้มเหลว (resilience) และมีมานะอดทน (grit) ขณะที่คนที่มีชุดความคิดแบบ Fixed mindset นั้นมักจะยอมจำนนต่อโชคชะตาและมีความคิดว่าทุกอย่างถูกกำหนดไว้แล้วไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้


หากอยากจะเป็นคนที่มี Growth mindset ต้องทำอย่างไรบ้าง?


1. ลองลงมือทำทั้ง ๆ ที่กลัว

ทุกครั้งที่คนเราพาตัวเองออกจาก “comfort zone” เพื่อให้ตัวเองได้มีโอกาสเรียนรู้สิ่งใหม่และยาก เซลล์ประสาทจะเกิดการเชื่อมโยงกันในเส้นทางใหม่ ๆ และเมื่อเกิดกระบวนการนี้ขึ้นบ่อย ๆ เซลล์ประสาทก็จะเชื่อมโยงกันอย่างแข็งแรง และสิ่งนี้เองที่ทำให้เจ้าของสมองฉลาดขึ้น


2. ฝึกพูดกับตัวเองอย่างสร้างสรรค์ ชื่นชมตัวเองบ้าง

ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่การชมที่พรสวรรค์หรือความฉลาดหัวดี แต่ให้ชื่นชมที่กระบวนการลงมือทำพฤติกรรม เช่น ให้กำลังใจตัวเองที่สามารถออกกำลังกายได้อย่างต่อเนื่องตามแผนลดน้ำหนักที่ตั้งใจไว้ (แม้น้ำหนักจะไม่ได้ลดลงก็ตาม) เพราะว่า Growth mindset จะเกิดขึ้นได้เมื่อคนเราโฟกัสไปที่กระบวนมากกว่าผลลัพธ์ เรียนรู้จากการลองผิดลองถูก ล้มเหลวไม่เป็นไร เน้นลงมือทำอย่างต่อเนื่องมากกว่า


3. ฝึกตัวเองให้ลดการยึดติดกับความสมบูรณ์แบบ

ด้วยการทำความเข้าใจของตัวเองให้สอดคล้องกับความเป็นจริงสากล ก็คือ ไม่มีมนุษย์โลกคนไหนที่สมบูรณ์แบบไม่เคยผิดพลาด และโดยมากแล้วคนที่ห่วงความสมบูรณ์แบบมักจะไม่ประสบความสำเร็จเพราะมัวพะวงอยู่กับการถูกประเมินตัดสินจากคนอื่น ซึ่งคนที่คิดแบบ Growth mindset จะไม่เป็นเช่นนี้ เพราะพวกเขามักจะพะวงอยู่กับการหาวิธีการใหม่ ๆ ที่จะนำพาพวกเขาไปสู่คำตอบของสิ่งที่พวกเขาสงสัย จึงไม่ได้สนใจที่ผลลัพธ์หรือการถูกประเมินตัดสินจากคนอื่นมากมายนัก


4. ฝึกให้ตัวเองมีความเชื่อ มีศรัทธา และมีความหวัง

หากคุณเชื่อตั้งแต่แรกแล้วว่าคุณสามารถเปลี่ยนแปลงพัฒนาได้ คุณไม่ได้ถูกกำหนดให้เกิดมาแล้วมีชีวิตแบบใดแบบหนึ่งอย่างตายตัวตลอดไป คุณจะสามารถเลือกหนทางในการใช้ชีวิตได้อย่างอิสระมากขึ้น


สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ

iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่


 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

• คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS

สำหรับองค์กร

• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8


โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

บทความที่เกี่ยวข้อง


อ้างอิง

- Dweck, C. (2014) Carol Dweck: The power of believing that you can improve. TED. Retrieved from: https://www.ted.com/talks/carol_dweck_the_power_of_believing_that_you_can_improve

- What is Growth mindset? Retrieved from: https://www.renaissance.com/edwords/growth-mindset/

 

ประวัติผู้เขียน : นางสาวนิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น)

ปริญญาโทสาขาจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปริญญาตรีสาขาจิตวิทยา (คลินิก) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

อาชีพปัจุบัน นักจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาและเป็นนักเขียนของ iSTRONG




Comments


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page