top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

4 วิธีดูแลสุขภาพจิตตัวเองเมื่อคนที่รักจากไป


การพบเจอและการจากลาเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเสมอชั่วชีวิตของคนเรา เมื่อเราใช้ชีวิตมาจนถึงช่วงอายุหนึ่ง เราจะพบว่าญาติมิตรที่เราเคยพบเจอในวัยเด็กหรือวัยหนุ่มสาวทยอยล้มหายตายจากไปทีละคน บางคนจากไปกะทันหันด้วยอุบัติเหตุ บางคนจากไปแบบล้มป่วยเรื้อรังจนถึงเวลาที่ร่างกายหยุดทำงาน บางคนเราอาจไม่รู้สึกอะไรมากกับการจากไป แต่กับบางคนที่เราเคยมีช่วงเวลาและประสบการณ์ที่ดีร่วมกันมายาวนาน การจากไปนั้นอาจจะมีผลกระทบจิตใจของเราอย่าง มากถึงขนาดที่เรารู้สึกเหมือนสูญเสียบางส่วนของชีวิตไป หลายคนเกิดความเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมอย่างมากหลังจากช่วงเวลาดังกล่าว และหลายครั้งก็เป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างถาวร ซึ่งถ้าหากไม่ได้รับการดูแลที่ถูกต้องก็จะส่งผลต่อสุขภาพจิตในทางลบเป็นอย่างมาก อาการของผู้ที่จิตใจได้รับความกระทบกระเทือนหลังการสูญเสียบุคคลที่รักมีหลายรูปแบบด้วยกัน เช่น

  • รู้สึกผิดในสิ่งที่เคยทำต่อผู้เสียชีวิต (ต่อว่า ดูถูก ท้าทาย เมินเฉย เอาเปรียบ ฯลฯ) หรือรู้สึกผิดในสิ่งที่ไม่ได้ทำให้ผู้เสียชีวิตในตอนที่เขายังอยู่ (พาไปในที่ที่เขาอยากไป จัดการเรื่องบางอย่างตามที่เขาขอร้อง ไม่ได้พูดคุยปรับความเข้าใจกันก่อน ฯลฯ)

  • คิดสับสนวนเวียนว่าเราคือหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เขาจากไปใช่หรือไม่ เช่น ไม่ได้ดูแลกันให้ดีมากพอ ไม่ได้พาไปรักษาทางเลือกอื่น เพราะซื้อรถให้ขับจึงเกิดอุบัติเหตุ และคิดแบบนั้นซ้ำ ๆ จนเข้าใจว่าทั้งหมดเป็นเพราะเราเองที่ทำให้เขาจากไป

  • เสียใจอย่างรุนแรงต่อการจากไปของคนที่ใกล้ชิดกับเรามาก ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่หรือญาติสนิท เพื่อนใกล้ชิด คนรัก ลูก จนรู้สึกไม่สามารถทนความเสียใจนี้ได้ อยากจะตามไปอยู่กับผู้ที่จากไป

  • รู้สึกผูกพันกับผู้ที่จากไป ไม่สามารถยอมรับความจริงได้ว่าเขาจากเราไปแล้ว จนบางครั้งมีอาการหูแว่วหรือเห็นภาพหลอน ได้ยินเสียงพูด หรือเห็นภาพผู้ที่จากไป

  • เก็บตัว ไม่อยากพบเจอใคร ไม่อยากพูดคุยกับใคร ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นเหมือนที่เคยเป็นในอดีต

ความเสียใจจากการสูญเสียบุคคลที่รักของแต่ละคนมีมากน้อยแตกต่างกันไป โดยทั่วไปคนเราจะมีช่วงที่เสียใจจนถึงระดับหนึ่งและค่อย ๆ ฟื้นตัวจนยอมรับความจริงก่อนที่จะก้าวเดินใช้ชีวิตต่อไปได้ สิ่งที่สำคัญคือในห้วงเวลาแห่งความทนทุกข์จากการสูญเสียนั้นเราจะมีวิธีดูแลตัวเองหรือดูแลคนรอบข้างที่กำลังโศกเศร้าอย่างไรเพื่อประคองให้ชีวิตก้าวข้ามช่วงเวลานี้ไปได้ 4 คำแนะนำต่อไปนี้อาจจะช่วยได้ไม่มากก็น้อยครับ


1. อย่าผลักดันให้ผู้ที่กำลังเสียใจก้าวพ้นความรู้สึกสูญเสียเร็วเกินไปนัก


ทุกคนจำเป็นต้องมีช่วงเวลาที่ได้แสดงออกซึ่งอารมณ์ความรู้สึกเมื่อพบความสูญเสีย และแต่ละคนมีช่วงเวลานี้ยาวนานไม่เท่ากัน การบอกตัวเองหรือผู้ที่กำลังเสียใจว่า “เลิกร้องไห้คร่ำครวญได้แล้ว คนอื่นเขาเลิกเศร้ากันหมดแล้ว” “จะร้องไห้อีกนานแค่ไหน ยังไงเขาก็ไม่ฟื้นขึ้นมาแล้ว” หรือ “เสียใจอยู่นั่นแหละ เข้มแข็งหน่อย” การเร่งเร้าให้ผู้ที่กำลังเสียใจปฏิเสธความรู้สึกของตัวเองนอกจากจะทำให้เกิดสัมพันธภาพที่แย่ลงระหว่างกันแล้วยังทำให้การฟื้นฟูความรู้สึกเป็นไปได้ยากขึ้นอีกด้วย


2. หาคนที่ไว้วางใจมาอยู่ด้วย


ในระหว่างช่วงเวลาที่ยังไม่สามารถทำใจยอมรับความสูญเสียได้ เป็นเรื่องที่ดีหากจะมีบุคคลที่ไว้วางใจได้มาอยู่ด้วย ไม่จำเป็นต้องปลอบประโลมด้วยคำพูดมากมาย แต่มาอยู่เพื่อรับฟังอย่างสงบ แชร์ความรู้สึกระหว่างกันโดยไม่ต้องตัดสินหรือแนะนำอะไร คอยช่วยเหลือในกิจวัตรประจำวันเล็ก ๆ น้อย ๆ เท่าที่ทำได้ เช่น ดูแลเรื่องอาหารการกิน การทานยา สุขอนามัย การมีคนที่เราไว้วางใจอยู่ใกล้ในช่วงที่จิตใจกระทบกระเทือนจะช่วยสร้างให้เกิดความมั่นคงทางใจขึ้น และช่วยให้ช่วงเวลาดังกล่าวผ่านไปได้อย่างราบรื่นขึ้น


3. ไม่จำเป็นต้องฝืนลืม


ไม่ควรฝืนลืมความรู้สึหรือฝืนเพื่อพยายามลืมบุคคลที่จากไป แต่ในทางตรงข้ามควรพยายามระลึกถึงในทางบวก บอกกับตัวเองว่าผู้ที่จากไปยังคงเป็นที่รักของเรา เราสามารถจัดกิจกรรมภายในครอบครัวหรือกิจกรรมทางศาสนาเพื่อแสดงความระลึกถึงเขาได้ ใช้โอกาสนี้ในการบอกกล่าวสิ่งที่ติดค้าง ความรู้สึกอยากขอบคุณ ขอโทษ ขออโหสิกรรม หรือหากเป็นการเขียนเพื่อแสดงความรู้สึกระลึกถึงในสมุดบันทึกก็สามารถทำได้เช่นกัน


4. ปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาเพื่อรับคำแนะนำ


หากยังคงมีความรู้สึกเสียใจนานเกิน 3-6 เดือน หรือมีความเสียใจเรื้อรังจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันเมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง เช่น เก็บตัวไม่ออกไปพบใครนานนับเดือน พูดเปรยว่าอยากตายตามคนที่เรารักไป นอนไม่หลับอย่างต่อเนื่อง ละเลยสุขอนามัยจนร่างกายอ่อนแอ ควรแนะนำให้ปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาเพื่อรับคำแนะนำเป็นพิเศษ (ดูวิธีการพาคนรู้จักไปพบจิตแพทย์ได้ที่บทความ https://www.istrong.co/single-post/take-people-to-psychiatrist )


ความรู้สึกโศกเศร้าจากการสูญเสียถือเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ทุกคน ซึ่งบุคคลจะมีช่วงเวลาที่โศกเศร้าและฟื้นฟูจิตใจจากความสูญเสียไม่เท่ากัน จึงควรให้เวลาผู้ที่สูญเสียได้ทบทวนจิตใจตัวเอง ระบายความรู้สึก และเข้าใจธรรมชาติของการสูญเสียเพื่อให้กลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ สิ่งสำคัญคือผู้ที่ทำหน้าที่ดูแลต้องไม่ซ้ำเติม เปรียบเทียบ รำคาญ หรือบั่นทอนความรู้สึกให้แย่ลง การดูแลด้วยความรัก ความเข้าใจ จนสามารถสร้างให้ผู้ที่กำลังสูญเสียเกิดความมั่นคงทางใจได้อีกครั้ง จะสามารถทำให้ทุกคนผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ไปได้ในที่สุด


สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ


iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่


 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

• คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS


สำหรับองค์กร

• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8


โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

**ท่านที่สนใจสามารถอ่านบทความวิชาการที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมได้ที่

 

ประวัติผู้เขียน ธเนศ เหลืองวิริยะแสง

M.Sc. (Industrial and Organizational Psychology), Kasetsart University.


Comments


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page