อกหักต้องทำอย่างไร ? นักจิตวิทยาแนะนำ 4 วิธีจัดการเมื่อเราอกหัก
หากว่ากันด้วยอาการที่ทุกคนย่อมเคยมีประสบการณ์อย่าง “อาการอกหัก” ที่แม้ว่าจะพบเจอต่างกรรม ต่างวาระ ต่างผู้กระทำ แต่อาการที่เกิดก็จะคล้าย ๆ กัน เช่น กินไม่ได้ นอนไม่หลับ วนเวียนคิดถึงแต่วันเวลาที่มีความสุขด้วยกัน อารมณ์แบบเพลงเคลิ้มของ Slot machine ที่ว่า “หัวใจดวงนี้ ไม่หลาบจำ เหมือนโดนซ้ำ ๆ แล้วสะใจ หัวใจนี่มันงมงาย ตักเตือนไม่เคยฟังกัน”
ซึ่งในส่วนนี้นักจิตวิทยา ได้อธิบายไว้ค่ะว่า เมื่อคนเราอกหัก สมองของเราจะมีอาการคล้ายกับคนที่เลิกยาเสพติด หรือภาษาจิตวิทยาเรียก “ถอนยา” นั่นก็คือ สมองจะหลั่งสารสื่อประสาท ชื่อ “คอร์ติซอล (Cortisol)” และ “อะดรีนาลีน (Adrenaline)” ทำให้เกิดความเครียด สมองทำงานหนักมากกว่าปกติ โดยในกรณีของคนถอนยาจะแสดงออกมาในรูปแบบการโหยหายาเสพติด
แต่ในกรณีของคนอกหัก จะแสดงออกมาในรูปของการคิดถึงซ้ำ ๆ คิดหาเหตุผลวนไปวนมาว่าเธอทิ้งฉันไปเพราะอะไร เครียด ซึม เศร้า วิตกกังวล ซึ่งอาการอกหักนี้ทำให้เสียคนและเสียการ เสียงานมาไม่น้อยเลยค่ะ แถมยังสามารถทำให้คนอกหักกลายเป็นโรคซึมเศร้าได้อีกต่างหาก ดังนั้นแล้ว เราจะสามารถจัดการอาการอกหักได้อย่างไร บทความจิตวิทยามีคำตอบมาให้ค่ะว่านักจิตวิทยาแนะนำว่าอย่างไรเมื่อเราอกหัก มาอ่านกันเลย
1. อย่าไปหาเหตุผลว่าเราอกหักเพราะอะไร
เมื่อเราอกหัก เราจะมีความพยามหนึ่งที่ไม่ค่อยน่าชื่นชมเท่าไหร่ นั่นก็คือ การพยายามหาสาเหตุการเลิกราของเรากับคนรักด้วยการตั้งคำถามกับตัวเอง และมโนไปต่าง ๆ นานา ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมีแนวโน้มจะโทษตัวเอง และมีมุมมองกับตัวเองในเชิงลบ เช่น ฉันไม่ดีตรงไหน? เพราะฉันไม่สวยพอ ไม่รวยพอใช่ไหม? คน ๆ นั้นดีกว่าฉันอย่างไร? หรือเพราะน้องคนนั้นที่เจอวันก่อนแน่ ๆ มาแย่งเธอไป อะไรแบบนี้เป็นต้น
ซึ่งความพยายามนี้นอกจากจะไม่ช่วยในการหาคำตอบแล้ว ยังไม่ช่วยในการสร้างเสริมกำลังใจให้สู้กับอาการอกหักเลยค่ะ เพราะเราจะห่อเหี่ยว ท้อใจ ร้องไห้อย่างเดียวดายอยู่ในห้อง คือถ้าเรามีความเข้มแข็งมากพอ มันก็จะเป็นเพียงโมเมนต์หนึ่งในชีวิตที่ผ่านมาผ่านไป แต่ถ้าเราอ่อนไหวใจบาง โรคซึมเศร้ามาเฝ้าหน้าห้องแน่ ๆ ค่ะ เพราะฉะนั้น ด้วยความห่วงใยจากนักจิตวิทยาจึงขอแนะนำว่า อย่าไปหาเหตุผลเลย
2. ยอมรับว่าเรื่องของเรามันจบลงแล้ว
วิธีที่นักจิตวิทยาแนะนำในข้อต่อไป ต้องถือว่าเป็นวิธีที่ยากที่สุด แต่ควรทำมากที่สุด ก็คือ ยอมรับให้ได้ว่าเรื่องของเรามันจบลงไปแล้ว อย่าพยายามหลอกตัวเองด้วยความหวังที่เราเองเป็นคนสร้างขึ้นเลยค่ะว่าเดี๋ยวเขาก็กลับมา เพราะเมื่อเราหลอกตัวเอง สร้างความเชื่อให้ตัวเองว่าคนที่เรารักพูดตามอารมณ์ ไม่บอกเลิกจริงจังหรอก เดี๋ยวก็กลับมา เราก็จะรอค่ะ รอแบบไม่มีกำหนด รอเหมือนลุ้นสลากกินแบ่งรัฐบาลว่าฉันจะรวย ๆ
แต่ก็ความรวยก็ไม่มาถึงเสียที ความรักก็เช่นกันค่ะ การรอคนหมดรักให้กลับมารัก มันไม่มีทางเกิดขึ้นได้ เพราะถ้าเขารักเรามากพอ คำว่า “เลิก” จะไม่มีทางถูกพูดออกมาจากปากเขา และต่อให้เขากลับมาขอคืนดีจริง แต่คนที่บอกเลิกเราไปแล้ว เขาก็สามารถบอกเราได้อีกโดยโนสนโนแคร์ว่าเราจะรู้สึกอย่างไร เจ็บปวดอย่างไร
แล้วราจะนำใจที่มีคุณค่าของเราไปให้เขาทรมานเล่นอีกหรือ ถ้าหากเรายังต้องทนรักกับคนที่ไม่รักเรา สู้อยู่เป็นโสดให้โลกเสียดายดีกว่าค่ะ เพราะคนที่รักเรายังมีอีกมาก อย่างน้อยก็มีตัวเรานี่ละที่รักตัวเอง
3. นึกถึงเรื่องแย่ ๆ ระหว่างกัน หรือหาเหตุผลว่าเขาไม่เหมาะกับเราเพราะอะไร
หากจิตใจของเรายังคงวนเวียนคิดถึงคนรักเก่า นักจิตวิทยาจึงขอแนะนำให้ทำตามสุภาษิตไทยที่ว่า “หนามยอก ต้องเอาหนามบ่ง” คือ ถ้าเราคิดถึงแต่วันชื่นคืนสุข วันเวลาที่เราอยู่ด้วยกัน ขอให้จดบันทึกเรื่องราวในวันแย่ ๆ วันที่ทะเลาะกัน วันที่เขาบอกเลิกเรา สิ่งที่เขาทำไม่ดีกับเรา รวมถึงเหตุผลว่าทำไมเรากับเขาถึงไม่เหมาะสมกัน
แล้วเมื่อไรที่เรากลับไปคิดถึงเขาอีกก็เปิดอ่านเลยค่ะ เปิดบัญชีดำของเราอ่านไปซ้ำ ๆ แล้วภาพจำที่เรามีต่อเขาจะไม่เหมือนเดิม ในข้อนี้ต้องขอออกตัวก่อนนะคะ ว่าไม่ได้มีเจตนาให้เป็นศัตรูหรือสร้างความรู้สึกเกลียดชังคนรักเก่าแต่อย่างใด เจตนาก็คือ ต้องการให้คุณได้รักษาสมดุลความรู้สึกของตัวเอง เพื่อปรับใจให้เป็นกลาง
สามารถถอนความรู้สึกออกมาจากความสัมพันธ์ได้ โดยไม่ลำบากใจจนเกินไป เมื่อใจของเรารู้สึกดีขึ้น เราจะสามารถกลับไปนึกถึงคนรักเก่าของเราได้โดยไม่รู้สึกอะไรเลยค่ะ
4. อย่าปล่อยให้ตัวเองเหงา
กฎเหล็กที่นักจิตวิทยาขอย้ำว่าคนอกหักห้ามทำ ก็คือ การอยู่คนเดียวค่ะ เพราะเมื่อเราอยู่คนเดียวสิ่งที่สามารถทำร้ายเราได้มากที่สุด ก็คือ ความคิดของเราเอง ที่จะคอยฉายภาพซ้ำในความทรงจำ และเกิดคำถามย้ำ ๆ ให้เรารู้สึกไม่ดีกับตัวเราเอง ดังนั้นแล้ว สิ่งที่เราควรทำเพื่อพิชิตอาการอกหัก ก็คือ การไปอยู่กับคนที่เราสนิทใจค่ะ ทั้งครอบครัวเรา เพื่อนสนิท สัตว์เลี้ยง หรือพาตัวเองไปทำกิจกรรม ที่เราชื่นชอบ
เช่น เล่นเซิร์ฟบอร์ด ชอปปิ้ง เที่ยวทะเล เอาเป็นว่าพาตัวเองให้ออกมาจากเงามืดในใจของเราเองให้มากที่สุด ออกไปรับแสงสว่าง เพื่อสร้างพลังชีวิต เติมไฟให้หัวใจ เปิดหู เปิดตา และเปิดใจเรียนรู้โลกผ่านคนที่รักเรา และกิจกรรมโปรด เพียงไม่นานหรอกค่ะ เราจะกลับมาเป็นคนเดิมที่มองโลก ด้วยสายตาใหม่ที่สดใสกว่าเดิมได้แน่นอน
บทความแนะนำ “7 เทคนิคทางจิตวิทยา คิดบวกเพิ่มความรักตัวเอง”
Guy Winch นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ได้กล่าวไว้ว่า การอกหัก เป็นการถูกทำร้ายจิตใจที่ซับซ้อนและส่งผลในระยะยาว บางคนถึงขั้นไม่สามารถทำงานได้ ไม่สามารถเข้าสังคมได้ ไม่สามารถรักใครได้ หนักกว่านั้นยังอาจทำให้เป็นโรคทางจิตเวชไปอีก แต่ถ้าเราสามารถพิชิตอาการอกหักได้ ก็เหมือนเราสามารถปราบมะเร็งให้กลายเป็นเพียงอาการเจ็บป่วยเบา ๆ ให้เราสามารถใช้ชีวิตต่อได้อย่างสบาย ๆ เลยค่ะ
สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ
iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
• คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
อ้างอิง : Guy Winch. April 2017. How to fix a broken heart. [Online]. Form : https://www.ted.com
ประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก บัณฑิตสาขาวิชาเอกจิตวิทยาคลินิก เกียรตินิยมอันดับ 2 จากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตด้านการพัฒนาสังคม NIDA มีประสบการณ์ด้านจิตวิทยาเด็ก 4 ปี เป็นผู้ช่วยนักวิจัย ด้านจิตวิทยา 1 ปี ปัจจุบันเป็นนักสังคมสงเคราะห์ชำนาญการ ที่ประยุกต์ใช้ศาสตร์ทางจิตวิทยา ในการปฏิบัติงานมากว่า 6 ปี
Comments