top of page

นักจิตวิทยาแนะนำ 4 เทคนิค เพิ่ม Passion จัดการโรคคิดว่าตัวเอง

Updated: Mar 30

iSTRONG นักจิตวิทยาแนะนำ 4 เทคนิค เพิ่ม Passion จัดการโรคคิดว่าตัวเอง

เคยได้พูดถึงอาการ IMPOSTER SYNDROME หรือ “โรคคิดว่าตัวเองไม่เก่ง” ไปแล้ว ซึ่งได้พูดถึงอาการของโรคที่ทำให้เราสูญเสียความมั่นใจ กดดันตัวเอง ให้คุณค่าตัวเองต่ำกว่าความเป็นจริง ซึ่งคนที่มีอาการ IMPOSTER SYNDROME แล้วไม่รู้ตัว หรือไม่รักษา ก็มีแนวโน้มที่จะเก็บตัว ป่วยด้วยโรคเครียด โรคซึมเศร้า หรือโรคทางจิตเวชอื่น ๆ ได้ค่ะ


ด้วยเหตุนี้ ก่อนที่ IMPOSTER SYNDROME จะพาชีวิตของเราไปไกลเกินจะเยียวยาได้ เราควรจะรักษาอาการไม่มั่นใจในตัวเองนี้ด้วยการสร้าง Passion ในการใช้ชีวิตกันดีกว่า โดยในบทความจิตวิทยานี้ ได้นำ 4 เทคนิคจากนักจิตวิทยา ในการเพิ่ม Passion มาฝากกันค่ะ ซึ่งเหมาะอย่างมากสำหรับคนที่รู้สึกขาดความมั่นใจในตัวเอง หรือรู้สึกว่าตัวเองไม่เก่งค่ะ


1. พัฒนาความสามารถให้เป็นความเชี่ยวชาญ

ถึงแม้ว่าเราจะขาดความมั่นใจในตัวเองจนเป็น IMPOSTER SYNDROME แต่สิ่งหนึ่งที่เรามีอย่างแน่นอนก็คือ ความสามารถค่ะ ซึ่งความสามารถของผู้ที่เป็นโรคคิดว่าตัวเองไม่เก่งจะพิเศษกว่าคนปกติทั่วไป ตรงที่มีดีแต่ไม่กล้าแสดงออกเพราะคิดว่าตัวเองไม่เก่ง


และความมีดีของเขานั้นมักจะเป็นความสามารถเชิงลึกจนถึงขั้นชำนาญ เพราะความไม่มั่นใจในตัวเองทำให้เขาหาบางสิ่งบางอย่างที่ตัวเองถนัดทำเป็นประจำ ทำอยู่เสมอ และทำจนชำนาญ เช่น การปักผ้า การแกะสลัก การใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ เป็นต้น


ดังนั้นเพื่อให้อาการ IMPOSTER SYNDROME ดีขึ้น วิธีรักษาแรกที่นักจิตวิทยาแนะนำว่าควรทำ และทำได้ง่ายที่สุด ก็คือ การพัฒนาสิ่งที่เรามีความสามารถ ให้กลายเป็นความเชี่ยวชาญ เพราะเมื่อเราเชี่ยวชาญเราจะมีความมั่นใจในตนเอง และเมื่อเรามั่นใจในตนเอง เราจะมี Passion ในการกล้าที่จะแสดงความสามารถให้คนอื่น ๆ ได้เห็น เมื่อคนอื่น ๆ ยอมรับเรา เราก็จะยอมรับตัวเราเองว่า “เราก็มีดีเหมือนกันนะ”


2. หมั่นให้กำลังใจตัวเอง

สิ่งที่คนเป็น IMPOSTER SYNDROME มักจะหลงลืม ก็คือ การให้กำลังใจตัวเองเพราะสิ่งที่คนที่คิดว่าตัวเองไม่เก่งมักจะทำอยู่เสมอกลับเป็นการบั่นทอนกำลังใจตัวเอง คิดว่าตัวเองเก่งไม่พอ ดีไม่พอ จนไม่กล้าทำอะไร ไม่กล้าเข้าสังคม


หนักเข้าก็แยกตัวโดดเดี่ยว ไม่กล้าสมัครงาน ไม่กล้าไปทำงาน ไม่กล้าเจอหน้าเพื่อน ๆ เพราะคิดว่าตัวเองไม่มีอะไรดี ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะยิ่งทำให้ Passion ในการใช้ชีวิตลดลง จนคนที่เป็น IMPOSTER SYNDROME กลายเป็นคนหมดไฟในการใช้ชีวิต


ดังนั้น นักจิตวิทยาจึงแนะนำว่า เพื่อเติมไฟให้คนที่เป็น IMPOSTER SYNDROME คน ๆ นั้นควรจะหมั่นให้กำลังใจตัวเอง เช่น ชื่นชมตัวเองเมื่อทำบางสิ่งบางอย่างได้ดี ขอบคุณตัวเองเมื่อทำบางอย่างแล้วมีความสุข หรือให้รางวัลกับตัวเองเมื่อทำบางอย่างสำเร็จ โดยสิ่งเหล่านี้จะช่วยเพิ่ม Passion ให้คนที่คิดว่าตัวเองไม่เก่งอยากมีชีวิต อยากใช้ชีวิต และอยากทำให้ชีวิตของตัวเองดีขึ้นมาค่ะ


3. เรียนรู้จากความผิดพลาด

คนที่ไม่ทำอะไรผิดพลาด ก็คือคนที่ไม่ลงมือทำอะไรเลย ดังนั้น ความผิดพลาดจึงเป็นเรื่องปกติที่เราพบเจอได้ในชีวิตประจำวันเลยค่ะ ซึ่งความผิดพลาดบางครั้งก็ไม่ได้มีสาเหตุมาจากเราเอง อาจจะเกิดเพราะดวงบ้าง เหตุสุดวิสัยบ้าง คนที่ไม่คาดคิดบ้าง ซึ่งก็ถือว่าเป็นความท้าทายในชีวิต ที่เราต้องพบเจอและผ่านมันไป


ดังนั้น เมื่อเราผิดพลาดสิ่งที่ไม่ควรทำที่สุด ก็คือ การโทษตัวเอง เพราะการโทษตัวเองนอกจากจะไม่ทำให้อะไรดีขึ้นมาแล้ว ยังทำให้เรากลายเป็น IMPOSTER SYNDROME หรือหมด Passion ในการใช้ชีวิตได้


ด้วยเหตุนี้ เพื่อป้องกันหรือรักษาจากอาการ IMPOSTER SYNDROME สิ่งที่เราควรทำที่สุด ก็คือ การเรียนรู้จากความผิดพลาดค่ะ ถึงแม้ว่าเราจะควบคุม ปัจจัยแวดล้อมไม่ได้ อย่างน้อยสิ่งที่เราเรียนรู้จากความผิดพลาดก็ทำให้เราเตรียมตัวเองให้พร้อมที่จะรับมือกับสิ่งไม่คาดคิดได้ดีกว่าเดิมค่ะ


4. พูดคุยกับคนที่มีอาการ IMPOSTER SYNDROME เหมือนกัน

ความทุกข์ กับความสุข ถึงแม้ว่าจะทำให้เราเกิดความรู้สึกที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้ว แต่มีสิ่งหนึ่งที่ความทุกข์ และความสุขมีเหมือนกัน ก็คือ เมื่อเราแบ่งปันเรื่องราวให้คนอื่น ๆ รับรู้ เราจะรู้สึกดีขึ้น หากเรามีความสุข และเราเล่าให้คนอื่นฟังเราจะมีความสุขมากขึ้น


แต่ถ้าเรามีทุกข์ แล้วเล่าเรื่องราวความทุกข์นั้น ให้คนที่เราสนิทใจฟัง ความทุกข์ของเราจะลดลงอย่างน่าอัศจรรย์เลยค่ะ ซึ่งการคิดว่าตัวเองไม่เก่ง ก็เช่นเดียวกัน ถ้าเราเล่าความทุกข์ใจ ระบายความคิดเชิงลบที่เรามีต่อตัวเองให้คนอื่นฟัง โดยเฉพาะคนที่เป็น IMPOSTER SYNDROME เหมือนกัน เชื่อเถอะค่ะว่าจะสามารถทำให้เรารู้สึกดีขึ้น


เพราะเราจะมีความรู้สึกว่าไม่ได้อยู่คนเดียวตามลำพัง ยังมีคนที่เหมือนเรา และการแบ่งปันเรื่องราว หรือมุมมองที่เรามีต่อตัวเองให้กับคนที่มีความคิดคล้าย ๆ กันฟัง จะเป็นการสร้าง Passion เปิดประตูใจเพื่อหาทางออกจากอาการ IMPOSTER SYNDROME ไปด้วยกันในที่สุดค่ะ


ถึงแม้ว่า IMPOSTER SYNDROME จะไม่ใช้โรคทางจิตเวช แต่ก็เป็นอาการที่รบกวนจิตใจของคนที่คิดว่าตัวเองไม่เก่งไม่น้อยเลย ดิฉันหวังเป็นอย่างยิ่งนะคะว่า 4 ข้อแนะนำของนักจิตวิทยาที่นำมาฝากกันนี้จะสามารถช่วยคนที่มีอาการ IMPOSTER SYNDROME ได้บ้าง

 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS

สำหรับองค์กร

• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8


โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

ประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก บัณฑิตสาขาวิชาเอกจิตวิทยาคลินิก เกียรตินิยมอันดับ 2 จากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตด้านการพัฒนาสังคม NIDA มีประสบการณ์ด้านจิตวิทยาเด็ก 4 ปี เป็นผู้ช่วยนักวิจัย ด้านจิตวิทยา 1 ปี ปัจจุบันเป็นนักสังคมสงเคราะห์ชำนาญการ ที่ประยุกต์ใช้ศาสตร์ทางจิตวิทยา ในการปฏิบัติงานมากว่า 6 ปี



iSTRONG ผู้ให้บริการด้านสุขภาพจิต Solutions ด้านสุขภาพจิต ให้คำปรึกษาโดยนักจิตวิทยา นักจิตบำบัด นักจิตวิทยาคลินิกที่มีใบรับรอง รวมถึงบทความจิตวิทยา

© 2016-2025 Actualiz Co.,Ltd. All rights reserved.

contact@istrong.co                     Call 02-0268949

  • Facebook Social Icon
  • YouTube Social  Icon
  • Instagram
  • Twitter
bottom of page