4 ขั้นตอนง่าย ๆ ก่อนตัดสินใจไปปรึกษาจิตแพทย์
- นิลุบล สุขวณิช
- Oct 29, 2021
- 1 min read
Updated: Feb 28

หากใครที่ติดตามข่าวสารจากแหล่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นทางอินเตอร์เน็ต โทรทัศน์ หรือวิทยุ ก็คงจะเห็นได้ว่าสภาพสังคมในตอนนี้เต็มไปด้วยความเครียดความกดดัน ในแต่ละวันเต็มไปด้วยเรื่องที่ชวนให้หดหู่ใจ ส่งผลให้คนในยุคปัจจุบันมีความเครียดในระดับที่สูง และพบว่ามีผู้คนจำนวนมากที่ต้องเผชิญกับโรคซึมเศร้า
ในช่วงเวลาแบบนี้ จิตแพทย์คือวิชาชีพที่เข้ามามีบทบาทกับผู้คนในสังคมมากขึ้น ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากทัศนคติต่อการปรึกษาจิตแพทย์ค่อนข้างเป็นไปในทางที่ดีขึ้น ผู้คนเริ่มมีความเข้าใจกันมากขึ้นว่าการปรึกษาจิตแพทย์ไม่ได้หมายความว่าคนที่ไปปรึกษาจะต้องเป็นคนป่วยเหมือนอย่างในหนังสมัยก่อนที่ต้องถูกมัดติดไว้กับเตียงหรือฉีดยาให้สลบอะไรแบบนั้น
แต่ถึงจะมีทัศนคติที่ดีขึ้น หลายคนก็อาจจะยังไม่รู้ว่าจะต้องเริ่มต้นยังไงหากต้องการไปปรึกษาจิตแพทย์ บทความนี้จึงอยากจะแนะนำขั้นตอนง่าย ๆ หากต้องการไปพบจิตแพทย์ ดังนี้
1. ทำความรู้จักกับอาชีพจิตแพทย์ก่อนตัดสินใจไปพบ
จิตแพทย์ (Psychiatrist) ในประเทศไทยจะต้องเรียนจบในสาขาแพทยศาสตร์ก่อนและไปศึกษาต่อเฉพาะทางด้านจิตเวชศาสตร์ โดยต้องมีคุณสมบัติตามเกณฑ์มาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมของแพทยสภากำหนดอีกด้วย แตกต่างจากนักจิตวิทยา (Psychologist) ที่จะไม่ใช่แพทย์แต่จะเป็นผู้ที่เรียนจบในสาขาจิตวิทยาและใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะเป็นนักจิตวิทยาคลินิก
และแตกต่างจากนักให้คำปรึกษา (Counselor) ที่จะเป็นผู้ที่เรียนจบในสาขาจิตวิทยาหรือมีการฝึกฝนประสบการณ์ด้านการให้การปรึกษา (Counseling) จนได้รับการรับรองว่าสามารถให้การปรึกษาได้ โดยผู้ที่จะสามารถทำการวินิจฉัยโรคทางจิตเวชได้จะมีเพียงจิตแพทย์และนักจิตวิทยาคลินิกเท่านั้น
ส่วนผู้ที่จะสามารถให้การรักษาด้วยยาก็จะมีเพียงจิตแพทย์เท่านั้น แต่การเยียวยาด้วยการพูดคุยนั้น ทั้งจิตแพทย์ นักจิตวิทยา และนักให้คำปรึกษา ล้วนสามารถทำได้ แต่ในด้านของความลึกนั้นอาจจะไม่เท่ากัน เนื่องจากการให้การปรึกษามักจะไม่ได้เป็นการพูดคุยอย่างเจาะลึกลงไปในสภาวะการทำงานของจิตใจเท่าการทำจิตบำบัด
รวมถึงการให้การปรึกษามักจะใช้กับผู้ที่ไม่มีอาการทางจิตเวชหรือมีแต่อยู่ในช่วงที่อาการเริ่มสงบลง เช่น เคยได้รับการรักษาไปสักระยะหนึ่งจนอาการดีขึ้นแล้ว หรือได้รับการรักษาด้วยยาจนไม่พบอาการรบกวนที่เกิดจากปัจจัยด้านชีววิทยาแล้ว
2. ประเมินค่าใช้จ่ายในการพบจิตแพทย์
การพบจิตแพทย์ในแต่ละครั้งจะมีค่าใช้จ่ายเสมอ แต่คุณสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้โดยการตรวจสอบสิทธิการรักษาของตนเอง ในกรณีที่คุณมีบัตรประกันสังคมหรือบัตรทองก็สามารถใช้สิทธิประกันสังคมในการพบจิตแพทย์ได้ โดยเริ่มต้นเหมือนกับเวลาที่คุณเป็นหวัดเป็นไข้แล้วไปหาหมอ จากนั้นเจ้าหน้าที่ของสถานพยาบาลจะแนะนำขั้นตอนในการพบจิตแพทย์ให้กับคุณเอง
ส่วนในกรณีที่ไม่ใช้สิทธิประกันสังคมหรือสิทธิบัตรทอง คุณก็สามารถไปโรงพยาบาลหรือคลินิกที่มีจิตแพทย์ได้ตามความต้องการของคุณเอง เพียงแต่จะต้องรับภาระค่าใช้จ่ายด้วยตนเอง
3. ทบทวนความคาดหวังในการไปพบจิตแพทย์
ในการเยียวยาจิตใจ จำเป็นต้องมีเป้าหมายในการเยียวยา ซึ่งมีทั้งเป้าหมายของฝ่ายผู้ให้การรักษาและเป้าหมายของผู้รับการรักษา เพื่อให้การเยียวยาเป็นไปในทิศทางที่ถูกต้องรวมถึงได้ผลดี ดังนั้น ก่อนที่คุณจะไปปรึกษาจิตแพทย์ก็อาจจะลองทบทวนความคาดหวังของตนเองเอาไว้ก่อนคร่าว ๆ เพื่อจะได้สามารถนำความคาดหวังของตนเองไปตั้งเป็นเป้าหมายในการรับการรักษา
รวมถึง เพื่อจะได้เลือกรับบริการที่เหมาะสมกับความคาดหวังของตนเอง เช่น อยากได้คนที่รู้จริงเรื่องโรคจิตเวชมาช่วยวินิจฉัยว่าคุณมีอาการอะไรตามเกณฑ์การวินิจฉัยใน DSM (Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders) เพื่อรับการรักษาให้อาการไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ ลดลง จิตแพทย์ก็จะเป็นคนที่ตอบโจทย์ความคาดหวังของคุณมาก ๆ
แต่หากคุณต้องการเพียงแค่อยากระบายหรือพูดคุยกับใครสักคน โดยต้องการที่จะมีเวลาคุยกันนานสักหน่อย เช่น 45 – 60 นาที จิตแพทย์ในโรงพยาบาลของรัฐก็อาจจะไม่ค่อยตอบโจทย์ของคุณเท่าไหร่ เว้นเสียแต่ว่าจิตแพทย์ท่านนั้นเน้นการรักษาด้วยการทำจิตบำบัด
4. ทำความเข้าใจคร่าว ๆ เกี่ยวกับกระบวนการรักษา
การรักษาเยียวยาด้านจิตใจ มักจะไม่เห็นผลทันที ต่างกับเวลาเป็นหวัดเป็นไข้ที่หากรับประทานยาไปสัก 2 – 3 วันก็จะเริ่มเห็นว่าอาการดีขึ้น แต่การรักษาอาการด้านจิตใจจะไม่ได้เห็นผลไวขนาดนั้น และหากได้รับยาไปแล้วแม้อาการจะดีขึ้นก็จะยังไม่สามารถหยุดรับประทานยาได้เอง
แต่จะต้องปฏิบัติตามที่จิตแพทย์แนะนำเอาไว้ นอกจากนั้น “การให้ความร่วมมือ” ก็เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะการรักษาอาจจะไม่ได้ผลเลยหากผู้รับการรักษาไม่ให้ความร่วมมือ ตัวอย่างของการให้ความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมก็คือ การปฏิบัติตามคำแนะนำของจิตแพทย์
เช่น รับประทานยาตามเวลาที่ระบุไว้บนซองยา ไปพบจิตแพทย์ตามนัดหมาย หรือหากมีการบ้านที่จิตแพทย์ให้เอากลับมาฝึกทำก็ทำตามที่เคยตกลงกันไว้ใน session ทั้งนี้ เพื่อให้การรักษาดำเนินไปด้วยดีและได้ผล
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
• คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
อ้างอิง
ประวัติผู้เขียน : นางสาวนิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น)
จบการศึกษาระดับปริญญาโทสาขาจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ
ระดับปริญญาตรีสาขาจิตวิทยา (คลินิก) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ปัจจุบันเป็น นักจิตวิทยาการปรึกษา ประจำอยู่ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เชียงใหม่
และเป็นนักเขียนของ iSTRONG