top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

4 เทคนิคทางจิตวิทยา ให้ Feedback ลูกวัยรุ่นอย่างเข้าใจ


สำหรับบทบาทของคนเป็นพ่อแม่แล้ว เราจะมีเรื่องที่ต้องเรียนรู้และปรับตัวกันอยู่เรื่อย ๆ นะคะ แต่ช่วงที่ท้าทายที่สุด ก็คือช่วงที่ลูกเข้าวัยรุ่น โดยเฉพาะการให้ Feedback กับลูก หากให้แบบไม่อิงเทคนิคทางจิตวิทยาได้มีตีกันบ้านแตกแน่นอนค่ะ เพราะฉะนั้นเพื่อรักษาสัมพันธภาพที่ดีระหว่างพ่อ แม่ ลูก ดิฉัน จึงขอนำเสนอ เทคนิคทางจิตวิทยา ในการให้ Feedback เพื่อการพัฒนาแก่ลูกวัยรุ่น ซึ่งนอกจากจะนำไปใช้ในครอบครัวแล้ว ยังสามารถนำไปปรับใช้ในที่ทำงาน หรือสถานการณ์อื่น ๆ ได้ด้วยนะคะ

1. ข้อสำคัญในการให้ Feedback

นักจิตวิทยาแนะนำว่า การให้ Feedback ที่มีคุณภาพนั้น ต้องทำโดยทันที คือ เมื่อลูก มีพฤติกรรมที่ควรปรับปรุงปุ๊บ เราก็ให้ Feedback ปั๊บ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องรื้อฟื้นความหลัง หรือไปรื้อเรื่องเก่าให้อารมณ์เสียกัน นอกจากนั้น การให้ Feedback ต้องมีความชัดเจน ไม่คลุมเครือ คุณต้องการให้ลูกปรับปรุงอะไรก็บอกกันไปตรง ๆ สื่อสารอย่างตรงไปตรงมา โดยไม่ต้องใส่อารมณ์ หรือประชดประชันค่ะ เช่น หากลูกทำกับข้าวไม่อร่อย แทนที่จะประชดว่า “ถ้าทำเองแล้วได้แค่นี้ ไปซื้อมารับประทานดีกว่า” ก็เปลี่ยนเป็น “แม่ว่ากับข้าวมื้อนี้เค็มไปหน่อยนะ ถ้าลดเค็มลงได้จะอร่อยพอดีเลยลูก” แบบนี้เป็นต้นค่ะ และข้อสำคัญข้อสุดท้าย คือ เน้นการให้ Feedback ทั้งทางบวกและทางลบอย่างสมดุล เช่น ลูกทำงานศิลปะได้ดี แต่ไม่ค่อยเก็บของหลังทำงานเสร็จ เราก็ไม่ควรจะดุลูกเรื่องไม่เก็บของอย่างเดียว หรือชมเรื่องฝีมือลูก อย่างเดียว แต่เราควรชมงานศิลปะของลูก ก่อนพูดเรื่องเก็บของให้เป็นระเบียบค่ะ


2. สร้างบรรยากาศให้เหมาะสม

ในการสร้างบรรยากาศสำหรับการ Feedback ที่ดี นักจิตวิทยาแนะนำไว้ว่า ให้ทำบรรยากาศ ให้ผ่อนคลาย เป็นกันเอง โดยเมื่อเริ่ม Feedback ให้พูดถึงข้อดีก่อน แล้วค่อยพูดถึงสิ่งที่ควรปรับปรุง พูดถึงสิ่งที่เป็นข้อเท็จจริง โดยไม่นำความรู้สึก หรือสิ่งที่เป็นข้อคิดเห็นส่วนตัวมาเจือปน พูดเฉพาะเรื่อง ให้ Feedback เป็นเรื่อง ๆ ไป เป็นการพูดถึงสิ่งที่ลูกสามารถแก้ไขปรับปรุงได้เท่านั้น ต้องเป็นเรื่องที่เมื่อลูกแก้ไขปรับปรุงแล้ว จะเป็นประโยชน์ต่อตัวลูก ที่สำคัญคือต้องเปิดโอกาสให้ลูกแสดงความคิดเห็นต่อ Feedback ด้วย และควรทวนความเข้าใจกับลูกทุกครั้งหลังมี Feedback เช่น หากเราต้องการจะให้ Feedback ลูกเรื่องการนอนตื่นสาย ก็ควรจะหาโอกาสพูดในช่วงที่ลูกรู้สึกผ่อนคลาย และเราเองก็รู้สึกว่าอยู่ในอารมณ์พร้อมที่จะคุยกับลูก และหาแนวทางแก้ไขร่วมกันว่าทำอย่างไรถึงจะแก้เรื่องตื่นสายได้ และหากลูกตื่นเช้าจะดีกับลูกอย่างไร เป็นต้น

3. เทคนิคการให้ Feedback เชิงสร้างสรรค์

ในการให้ Feedback เชิงสร้างสรรค์ นักจิตวิทยาแนะนำว่าควรใช้ในสถานการณ์ที่เราต้องการชื่นชมลูก โดยควรพูดถึงสถานการณ์ที่ลูกมีพฤติกรรมน่าชื่นชม พูดถึงพฤติกรรม และผลจากการกระทำนั้น เช่น หากเราต้องการชื่นชมลูก เพราะลูกให้ความช่วยเหลือเพื่อนที่ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุในงานแข่งกีฬาสีของโรงเรียน เราก็สามารถใช้เทคนิคการให้ Feedback เชิงสร้างสรรค์ ได้ว่า “ลูกจ้ะ ในงานกีฬาสี ที่โรงเรียนของลูกเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว ที่เพื่อนเขาวิ่งชนกันจนหัวแตก แล้วลูกไปช่วยปฐมพยาบาลเพื่อนจนเพื่อนหายเจ็บ แม่ปลื้มใจมากเลยนะลูกที่ลูกมีน้ำใจ และกล้าที่จะเข้าไปช่วยเหลือเพื่อนโดยทันที” ซึ่งในการให้ Feedback ข้างต้น สถานการณ์ = งานกีฬาสีที่โรงเรียนของลูกเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว พฤติกรรม ที่น่าชื่นชม = ช่วยปฐมพยาบาลเพื่อน และผลจากการกระทำ = เพื่อนหายเจ็บ เป็นต้น


4. เทคนิคการให้ Feedback เชิงแก้ไข

ในการให้ Feedback เชิงแก้ไข จะมีวิธีการคล้าย ๆ กับการให้ Feedback เชิงสร้างสรรค์ คือ เป็นการให้คำแนะนำกับลูกโดยอ้างอิงถึงสถานการณ์หนึ่งอย่างเฉพาะเจาะจง พูดถึงพฤติกรรมที่ต้องการให้ลูกแก้ไข และวิธีการแก้ไข เช่น หากคุณต้องการให้ Feedback เชิงแก้ไขกับลูกเรื่องนอนตื่นสาย ก็สามารถให้ Feedback ได้ว่า “ลูกจ้ะ ขอบคุณลูกมากนะที่ตั้งใจเรียน แต่แม่ว่าถ้าเราตื่นให้เร็วขึ้น ลูกน่าจะมีเวลาทบทวนบทเรียนหรือทำกิจกรรมอื่นร่วมกับเพื่อน ๆ ที่โรงเรียนได้เพิ่มขึ้นนะจ๊ะ เรามาลองปรับเวลาตื่นกันดีไหม” ซึ่งในการให้ Feedback ข้างต้น สถานการณ์ = การตื่นนอน พฤติกรรมที่ต้องการให้แก้ไข = การตื่นสาย และวิธีแก้ไข = ปรับเวลาตื่น นอกจากนี้ยังมีการให้คำชม และเปิดโอกาสให้ลูกได้แสดงความคิดเห็นอีกด้วย



การให้ Feedback กับลูก ตามเทคนิคของนักจิตวิทยา นอกจากจะทำได้ไม่ยากแล้ว ยังสามารถช่วยสานสัมพันธ์ในครอบครัวได้ด้วยนะคะ หรือคุณจะนำเทคนิคข้างต้นไปประยุกต์ใช้ในที่ทำงาน ก็สามารถให้ผลที่ดีทั้งในแง่ความสัมพันธ์ในองค์กร และการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้ดีเช่นกันค่ะ หากคุณลองนำไปใช้แล้วได้ผลเป็นอย่างไรอย่าลืมมาแชร์กันบ้างนะคะ


สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ

iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่


 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

• คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS

สำหรับองค์กร

• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8


โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

อ้างอิง : ปจิตา ดิสกุล ณ อยุธยา และคณะ. 2564. หลักพื้นฐานและและทักษะสำหรับผู้ให้ Feedback. เอกสารประกอบการอบรมหลักสูตรการสอนงานเพื่อการเปลี่ยนแปลงและการเป็นผู้นำที่เป็นแบบอย่างโดยการ โค้ช (Coaching) และการเป็นพี่เลี้ยง (Mentoring) ระหว่างวันที่ 2 – 3 มีนาคม 2564 สำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

 

ประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก

บัณฑิตสาขาวิชาเอกจิตวิทยาคลินิก เกียรตินิยมอันดับ 2 จากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตด้านการพัฒนาสังคม NIDA มีประสบการณ์ด้านจิตวิทยาเด็ก 4 ปี เป็นผู้ช่วยนักวิจัย ด้านจิตวิทยา 1 ปี ปัจจุบันเป็นนักสังคมสงเคราะห์ชำนาญการ ที่ประยุกต์ใช้ศาสตร์ทางจิตวิทยา ในการปฏิบัติงานมากว่า 6 ปี

Comments


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page