นักจิตวิทยาแนะนำ 4 รูปแบบการเลี้ยงลูก เราเป็นพ่อแม่แบบไหนกัน?
ความขัดแย้งในครอบครัวเป็นปัญหาหนึ่งที่พบบ่อยในผู้ที่มารับการปรึกษา สาเหตุส่วนใหญ่ของความขัดแย้งเกิดขึ้นจากความไม่เข้าใจระหว่างสมาชิกแต่ละคนในครอบครัว อย่างไรก็ตามส่วนใหญ่แล้วมักไม่พบว่าสมาชิกในครอบครัวจะเกลียดชังกันถึงขั้นอาฆาตมาดร้ายต่อกัน แต่ปัญหาส่วนใหญ่นั้นมักเกิดจากการที่พ่อแม่ลืมที่จะทำความเข้าใจความต้องการของตนเองไป ซึ่งการหลงลืมตัวเองไปนั้นมักเกิดขึ้นจากการขาดการตระหนักรู้ในตนเอง (Self-awareness) ทำให้พ่อแม่ไม่รู้ว่าตนเองกำลังเลี้ยงลูกด้วยวิธีการที่ไม่เหมาะสม บทความนี้จึงอยากจะมาชวนคุณพ่อคุณแม่มารู้จักกับรูปแบบการเลี้ยงลูกในแบบต่าง ๆ เพื่อที่จะได้ทบทวนกันว่า ที่ผ่านมาคุณเลี้ยงลูกรูปแบบไหน และรูปแบบการเลี้ยงดูแบบนั้นมันส่งผลอะไรกับลูกของคุณบ้าง
รูปแบบการเลี้ยงลูก (Parenting styles) ที่หยิบยกมาชวนให้คุณทำความรู้จักเข้าใจ มีดังต่อไปนี้
1. แบบใส่ใจดูแล (Authoritative)
พ่อแม่แบบนี้มักจะเป็นพ่อแม่ที่คอยสนับสนุนให้ความช่วยเหลือลูก เลี้ยงลูกอยู่ระหว่างความมีเหตุผลของตนเองและการรับฟังเหตุผลของลูก และในขณะที่แสดงความรักและแสดงออกต่อลูกอย่างอบอุ่นใจดี แต่พ่อแม่ก็ไม่ได้ปล่อยตามใจลูกทุกอย่าง โดยจะรับฟังความคิดเห็นของลูกแต่ก็ไม่ได้อนุญาตให้ลูกทำตามใจตัวเองไปหมดทุกครั้ง (kind but firm) เด็กที่โตมากับพ่อแม่แบบนี้มักจะมีลักษณะร่าเริงแจ่มใส เข้ากับคนอื่นได้ดี ควบคุมตัวเองได้ ให้ความร่วมมือกับคนอื่นหรือทำงานเป็นทีมได้ และเป็นคนที่มีเป้าหมายในชีวิต
2. แบบตามใจ (Permissive)
พ่อแม่แบบนี้มักมีลักษณะอบอุ่น ใจดี แต่หละหลวมไม่มีการบอกลูกว่าอะไรที่ลูกทำได้หรือทำไม่ได้ ทำให้ลูกไม่รู้ขอบเขตของตัวเองว่าอะไรที่ควรหรือไม่ควรทำ โดยเฉพาะลูกในวัยเด็กจะยังต้องการพ่อแม่ที่ช่วยอบรมสั่งสอนว่าพฤติกรรมที่เหมาะสมคืออะไรบ้าง เด็กที่เติบโตมากับพ่อแม่สไตล์นี้มักมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นไปเป็นคนที่หุนหันพลันแล่น อยากได้อะไรก็ต้องได้ ขาดการควบคุมตัวเอง ชอบควบคุมบงการคนอื่น ก้าวร้าว เป็นคนที่เชื่อถือไม่ได้ และมักจะทำอะไรไม่เป็นชิ้นเป็นอัน
3. แบบละเลย (Uninvolved)
พ่อแม่แบบนี้มักจะไม่ค่อยมีเวลาให้ลูก ไม่ใส่ใจดูแลรับผิดชอบลูกตามบทบาทของพ่อแม่ หรืออาจจะมีลักษณะท่าทีที่ปฏิเสธลูก เด็กที่เติบโตมากับพ่อแม่สไตล์แบบนี้มักมีความภาคภูมิใจในตนเองต่ำ (Low Self-esteem) เป็นคนไม่ค่อยมั่นใจ (Low Self-confidence) ไม่ค่อยกล้าเข้าหาคนอื่น (อาจเกิดขึ้นเพราะเด็กรู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่าพอที่ใครจะสุงสิงด้วย โดยเฉพาะเด็กที่ถูกพ่อแม่ละเลยปฏิเสธมาอย่างยาวนาน) ซึ่งเป็นไปได้สูงที่เมื่อพ่อแม่แก่ตัวลงพวกเขาจะไม่เข้ามาดูแลพ่อแม่ เนื่องจากขาดความผูกพันกับพ่อแม่และไม่เคยมีแบบอย่างที่ดีในการดูแลใส่ใจคนในครอบครัว
4. แบบบงการ (Authoritarian)
พ่อแม่แบบนี้มักเต็มไปด้วยความวิตกกังวล ถ้ามองอย่างผิวเผินสไตล์การเลี้ยงดูแบบนี้ก็น่าจะเป็นพ่อแม่ที่น่ายกย่องมาก ๆ เพราะดูแลลูกอย่างไม่คลาดสายตา แต่ในขณะเดียวพ่อแม่แบบนี้ก็มักจะควบคุมบงการลูก โดยใช้เหตุผลต่าง ๆ นานามาอธิบายว่าเพราะอะไรพ่อแม่ถึงห้ามหรือสั่งให้ลูกทำ และแม้ว่าพ่อแม่จะรับรู้เข้าใจว่าลูกมีเหตุผลในแบบของลูกยังไงแต่ก็ไม่คิดว่าเหตุผลของลูกจะดีพอหรือดีมากไปกว่าเหตุผลของพ่อแม่ ลูกจึงต้องทำตามที่พ่อแม่บอกเสมอ พ่อแม่สไตล์เข้มงวดมักไม่ค่อยมีปัญหาเมื่อลูกยังอยู่ในวัยเด็ก แต่เมื่อลูกเข้าสู่วัยรุ่นมักจะเกิดความขัดแย้งกันได้ง่าย เนื่องจากลูกวัยรุ่นเริ่มต้องการที่จะเป็นตัวของตัวเองแต่พ่อแม่ไม่อนุญาต
รูปแบบการเลี้ยงดูของพ่อแม่จะเป็นปัจจัยหนึ่งที่สามารถทำนายแนวโน้มได้ว่าลูกของตนเองจะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่แบบไหน อย่างไรก็ตาม นักจิตวิทยาจะเชื่อเสมอว่าการเป็นพ่อแม่นั้นไม่ง่ายเลย โดยเฉพาะพ่อแม่ที่ตนเองก็ขาดแบบอย่างการเลี้ยงดูที่ดี หรือการที่เพิ่งจะเป็นพ่อแม่ครั้งแรกอย่างตอนที่เพิ่งเคยเลี้ยงลูกคนโต ซึ่งพ่อแม่ยังไม่เคยรู้มาก่อนว่าการเลี้ยงเด็กนั้นควรทำอย่างไรบ้าง จึงอาจจะพลั้งเผลอใช้สไตล์การเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสมไปได้ แต่ถึงจะเป็นเช่นนั้น คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องกล่าวโทษหรือตำหนิว่าตัวเองเป็นพ่อแม่ที่ไม่ดีไปนะคะ แต่อาจจะต้องปรับเปลี่ยนตัวเองในบางอย่าง ดังนี้
1. ทบทวนรูปแบบการเลี้ยงดูของตัวเองที่ผ่านมา
2. ยอมรับว่าตัวเองได้ทำผิดพลาดไป ขณะที่ก็ให้อภัยตัวเองที่เคยทำสิ่งนั้นกับลูก
3. หาโอกาสสื่อสารทำความเข้าใจกับลูก โดยอาจจะเปิดใจคุยกันสักครั้ง และกล่าวขอโทษลูกด้วยใจจริง
4. ทำความเข้าใจว่ารอยร้าวทางใจไม่อาจประสานได้ภายในวันเดียว คุณจำเป็นต้องอาศัยระยะเวลาและการทำพฤติกรรมใหม่อย่างต่อเนื่อง จนกว่าที่ลูกของคุณจะรับรู้ได้ด้วยใจของเขาว่าคุณรักเขาอย่างแท้จริง
5. ผู้เชี่ยวชาญคือทางลัด หากคุณไม่สามารถที่จะฟื้นคืนคุณภาพความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับลูกได้ และเริ่มท้อถอยกับการพยายามประสานรอยร้าวระหว่างคุณกับลูกด้วยตัวคุณเองแล้ว คุณอาจจะมองหาบริการของผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ในครอบครัว อาทิ จิตแพทย์ที่เน้นการทำจิตบำบัดในการช่วยเหลือเยียวยาปัญหาครอบครัว นักจิตวิทยา นักให้คำปรึกษา ก็ได้นะคะ
ปัญหาความขัดแย้งในครอบครัวมักเป็นเรื่องที่สร้างความทุกข์ใจให้กับมนุษย์เราได้เป็นอย่างมาก ผู้เขียนขอเป็นกำลังใจให้กับทุกครอบครัว และขอเอาใจช่วยให้สามารถฝ่าฟันปัญหาไปได้ด้วยดีนะคะ
สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ
iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
• คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
บทความที่เกี่ยวข้อง
อ้างอิง
[1] Diana Baumrind's (1966) Prototypical Descriptions of 3 Parenting Styles
Retrieved from: http://www.devpsy.org/teaching/parent/baumrind_styles.html
[2] Parenting Styles Retrieved from: https://www.apa.org/act/resources/fact-sheets/parenting-styles
ประวัติผู้เขียน นิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น)
ปริญญาโทสาขาจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปริญญาตรีสาขาจิตวิทยา (คลินิก) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
อาชีพปัจุบัน นักจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (ประสบการณ์ทำงาน 8 ปี)
และเป็นนักเขียนของ iSTRONG
Comments