top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

4 จุดแข็งที่จะช่วยคุณสามารถให้ข้ามผ่านวัยเด็กที่ไม่ราบรื่นไปได้



อย่างที่หลายคนคงจะทราบกันดีแล้วว่า ‘การมีวัยเด็กที่ไม่ราบรื่น’ สามารถส่งผลกระทบทางลบต่อชีวิตในอนาคตได้ แต่หากสังเกตจากหลาย ๆ คนก็จะพบว่ามีบางคนที่เติบโตได้อย่างมีสุขภาวะที่ดีแม้ว่าจะมีวัยเด็กที่ไม่ราบรื่นก็ตาม ในบทความนี้ผู้เขียนได้หยิบยกข้อมูลมาจากบทความของเว็บไซต์ Psychology Today ซึ่งกล่าวถึงสิ่งที่ช่วยให้คนเราสามารถข้ามผ่านวัยเด็กที่ไม่ราบรื่น (Rough Childhood) ไปได้ โดยอ้างอิงมาจากงานวิจัยเชิงคุณภาพที่มีชื่อว่า “Adults with a child maltreatment history: Narratives describing individual strengths that promote positive wellbeing” โดย Janet U. Schneiderman และคณะ ซึ่งคณะผู้วิจัยใช้วิธีวิเคราะห์ผลแบบ identifying themes และได้ผลออกมามีด้วยกัน 4 themes แต่ละ themes สะท้อนถึงจุดแข็งของผู้เข้าร่วมการวิจัยวัยผู้ใหญ่ (จำนวน 21 คน) ได้แก่ 


  1. การมีมุมมองที่ดีต่อตนเอง (Seeing oneself in a good light)

  • การมองเห็นคุณค่าของตนเอง (self-worth) ผู้เข้าร่วมการวิจัยได้บรรยายว่าพวกเขามองเห็นคุณค่าของตนเองผ่านความสำเร็จในการเรียน การทำงาน และชีวิตส่วนตัว ซึ่งผู้เข้าร่วมบางคนเล่าถึงประสบการณ์ของตนเองว่าเขาต้องเอาชนะอุปสรรคและความรู้สึกของตัวเองบางอย่างด้วยความขยัน

  • บทบาทของการเป็นผู้ให้ ผู้เข้าร่วมการวิจัยหลายคนเคยแบ่งปันประสบการณ์ของตนเอง ให้ความช่วยเหลือทางด้านการเงิน ทำงานจิตอาสาเพื่อช่วยเหลือคนที่ประสบปัญหา 

 

2. เคลื่อนชีวิตไปข้างหน้า (Moving forward)

  • ปล่อยอดีตให้มันผ่านไป โดยเลือกที่เปลี่ยนตัวเองและให้อภัยคนที่เคยทำร้ายพวกเขา โดยบางคนเล่าว่าเขาเลือกที่จะเป็นผู้รอดชีวิตแทนที่จะเป็นเหยื่อและแบ่งปันประสบการณ์ให้คนอื่นได้รู้ว่าเขาทำอย่างไรถึงสามารถมีชีวิตที่ดีอย่างในวันนี้ได้ 

  • กำหนดอนาคตให้กับตัวเอง โดยทำการวางแผนชีวิตเองทั้งในด้านการศึกษา อาชีพการงาน การเงิน และการท่องเที่ยว  


3. รับมือกับชีวิต (Coping with life)

  • รู้จักขอบเขต (Boundaries) ของตัวเอง รู้ว่าเมื่อไหร่ที่ควรจะถอยห่างจากผู้คนหรือสถานการณ์ที่มัน toxic น่าสะพรึงกลัว หรือเป็นอุปสรรคในการเติบโต ซึ่งโดยมากก็มักจะเกี่ยวโยงกับเพื่อนและครอบครัว คนที่รู้จักขอบเขตของตัวเองก็จะรู้ว่าการทำสิ่งใดมันจะเป็นการปกป้องตัวเองและเลือกว่ามีใครบ้างที่จะให้เข้ามาในชีวิต

  • มีตารางกิจวัตร (Routines) ไม่ว่ามันจะเป็นตารางที่สร้างขึ้นมาเองหรือตารางที่จัดขึ้นมาโดยคนอื่น (ยกตัวอย่างเช่น ตารางเรียน ตารางการทำงาน) ซึ่งพบว่าผู้เข้าร่วมการวิจัยมักจะมีความต้องการที่จะรู้ล่วงหน้าชัดเจน โดยเฉพาะความคาดหวังของคนอื่น

  • พึ่งพาตนเองได้ (Self-sufficiency) ผู้เข้าร่วมการวิจัยมีลักษณะไม่พึ่งพิงคนอื่น มีความยืนหยัดที่จะไปให้ถึงเป้าหมายของตัวเอง และชอบที่จะมีอิสระ

  

4. สร้างความหมาย (Meaning-making)

  • การเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม มีข้อมูลที่พบว่าผู้เข้าร่วมการวิจัยได้รับผลกระทบทางลบในด้านความสัมพันธ์ทั้งกับคนในครอบครัวและกับคนอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นจากการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม แต่ผู้เข้าร่วมการวิจัยคนหนึ่งได้สะท้อนขึ้นมาในการสัมภาษณ์ว่า “คุณคงจะเคยเห็นคนที่เจอเรื่องราวแย่กว่าฉัน พวกเขาก็ยังมีชีวิตอยู่ ดังนั้น ฉันจะไม่เป็นไร”

  • ครอบครัวอุปถัมภ์ ผู้เข้าร่วมการวิจัยแต่ละคนมีประสบการณ์ที่ต่างกันไป โดยพบว่าบางคนมีมุมมองต่อครอบครัวอุปถัมภ์ในแง่ของการสร้างความหมายด้วยความรู้สึกขอบคุณต่อคนที่เข้ามาให้ความช่วยเหลือแก่พวกเขา 

  • ความกระจ่างเข้าใจ (insight) ส่วนตัว จากข้อมูลที่ผู้เข้าร่วมการวิจัยสะท้อนขึ้นมาพบว่าพวกเขาต้องการที่จะมีความสุขและรู้สึกขอบคุณสิ่งที่ตัวเองมี ซึ่งเกิดขึ้นมาจากการที่พวกเขาปรับได้และเกิดความเข้าใจว่าทุกคนบนโลกนี้เปลี่ยนแปลงได้


แม้ว่าข้อมูลที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นจะได้มาจากงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่มีผู้เข้าร่วมการวิจัย 21 คน ซึ่งไม่สามารถนำมาสรุปแบบเหมารวมได้ว่าทุกคนจะต้องเป็นเช่นนั้น  แต่มันก็พอจะเป็นหลักฐานพิสูจน์ได้ว่าถึงแม้จะมีวัยเด็กที่ไม่ราบรื่นก็สามารถก้าวข้ามช่วงเวลาเลวร้ายและมีชีวิตที่ดีได้เหมือนกัน และแม้ว่าคุณจะไม่ได้มีประสบการณ์เชื่อมโยงกับผู้เข้าร่วมการวิจัย เช่น เคยมีครอบครัวอุปถัมภ์ แต่อย่างน้อยข้อมูลจากบทความต้นฉบับก็ได้ช่วยย้ำเตือนให้เห็นว่า “คนเราสามารถดูดซับพลังลบแล้วแปลงให้มันกลายออกมาเป็นพลังบวกได้” ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดเรื่อง “พลังอึดฮึดสู้ (resilience)” ที่จำเป็นต้องอาศัยสถานการณ์ที่ยากลำบากเพื่อเข้ามากระตุ้นให้เกิดพลังอึดฮึดสู้ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจุดแข็งทั้ง 4 อย่างและพลังอึดฮึดสู้จะมีความเป็น “ทักษะ” ที่ดูเหมือนสร้างขึ้นมาได้เอง แต่ในอีกแง่มันก็มีความเป็น “คุณลักษณะ” ที่บางคนมีติดตัวมาพร้อมกับพื้นอารมณ์ (temperament) ของตนเอง ดังนั้น หากคุณมีความยากลำบากในการก้าวข้ามปัญหาชีวิตไปได้โดยลำพังก็สามารถหาตัวช่วยด้วยการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อขอความช่วยเหลือได้เสมอนะคะ 


และหากคุณต้องการพัฒนาตนเองให้กลายเป็นที่ปรึกษาที่เข้าอกเข้าใจตนเองและผู้คนมากขึ้น เพื่อปรับใช้ในการทำงาน ครอบครัว และในชีวิตประจำวัน คุณสามารถสมัครเรียน "หลักสูตรนักให้คำปรึกษากับนักจิตวิทยา" จาก iSTRONG ได้ที่นี่

 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

  • บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa  

  • คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS 

สำหรับองค์กร

โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

บทความที่เกี่ยวข้อง


อ้างอิง:

[1] 4 Strengths That Help People Overcome a Rough Childhood. Retrieved from https://www.psychologytoday.com/us/blog/head-games/202312/overcoming-a-difficult-past-4-key-strengths

[2] Adults with a child maltreatment history: Narratives describing individual strengths that promote positive wellbeing. Retrieved from https://www.sciencedirect.com/science/article/abs/pii/S014521342300114X?via%3Dihub


 

ประวัติผู้เขียน

นิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) มีประสบการณ์ทำงานเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาในมหาวิทยาลัยและเป็นวิทยากรเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต/การพัฒนาตนเองให้แก่นักศึกษาเป็นเวลา 11 ปี ปัจจุบันเป็นแม่บ้านในอเมริกาที่มีความสนใจเกี่ยวกับ childhood trauma และยังคงมีความฝันที่จะสื่อสารกับสังคมให้เกิดการตระหนักเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต 

Nilubon Sukawanich (Fern) has work experiences as a counseling psychologist and speaker in university for 11 years. Currently occupation is a housewife in USA who keep on learning about childhood trauma and want to communicate to people about mental health problems awareness. 


Comments


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page