สไตล์การทำงานแบบไหนที่ใช่คุณ และวิธีรับมือกับเพื่อนร่วมงานแต่ละสไตล์
ก่อนจะพูดถึงสไตล์การทำงาน ขอพูดถึงสังคมในการทำงานกันก่อนนะคะ ที่บางที่ก็บอกคนทำงาน ว่า “เราอยู่กันแบบพี่น้อง” แต่ไม่ได้บอกว่า คือ กาสะลอง – ซ้องปีบ หรือไม่ก็บอกเราว่า “อยู่กันแบบครอบครัว” แต่ไม่ได้บอกว่า แบบเลือดข้นคนจาง คนทำงานอย่างเราก็เลยต้องเรียนรู้การทำงานด้วยตัวเอง หาวิธีรับมือกับเพื่อนร่วมงานเอาเอง
รวมถึงต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับหัวหน้างานด้วยตนเอง ด้วยความห่วงใยถึงสุขภาพจิตของทุกท่าน จึงขอนำวิธีการสังเกตว่าเราเป็นคนทำงานสไตล์ไหน และวิธีรับมือการเพื่อนร่วมงาน รวมถึงหัวหน้างานหลากหลายรูปแบบมาฝากกันค่ะ ซึ่ง Thomas Erikson ผู้เขียนหนังสือจิตวิทยาเรื่อง Surrounded By Bad Bosses (And Lazy Employees) ได้ให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับสไตล์การทำงาน 4 รูปแบบ ดังนี้ค่ะ
1. สไตล์สีแดง
คนที่มีสไตล์การทำงานสีแดง จะเป็นคนที่มีไฟตลอดเวลา อยู่นิ่งไม่ได้ ต้องหาอะไรทำอยู่ตลอด ขยันสุด ๆ เป็นคนที่ทำงานเต็มศักยภาพ เน้นคุณภาพงานเป็นอันดับหนึ่ง ทำงานเร็วมาก และตัดสินใจเด็ดขาด พูดตรง ทำอะไรตรงกับความคิด ความรู้สึก สิ่งที่ไม่ชอบที่สุดในการทำงาน คือ การไม่ได้เป็นคนตัดสินใจเรื่องงานด้วยตัวเอง หรือโดนบังคับให้ทำงาน หรือถูกติดตามงานมากเกินไป
2. สไตล์สีเหลือง
คนที่มีสไตล์การทำงานสีเหลือง จะเป็นคนที่สร้างความสดใสให้ที่ทำงาน มองโลกในแง่ดี มักจะมองหามุมบวกก่อนเสมอ ใส่ใจเพื่อนร่วมงานมาก เป็นมิตรกับทุกคน มีความมุ่งมั่นสูง ตั้งใจทำงาน ทำงานเร็ว มีความยืดหยุ่นสูง เป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้อื่น ให้ความสำคัญกับมิตรภาพมาเป็นอันดับหนึ่ง สิ่งที่ไม่ชอบที่สุดในการทำงาน ก็คือ การไม่ได้รับการยอมรับจากเพื่อนร่วมงานค่ะ
3. สไตล์สีเขียว
คนที่มีสไตล์การทำงานสีเขียว มักจะขี้เกรงใจ มีความเข้าอกเข้าใจผู้อื่น เห็นใจผู้อื่นสูง มักจะเป็นที่ปรึกษา ที่พึ่งพายามยากของทุกคนในที่ทำงาน มักจะเป็นผู้ปิดทองหลังพระ ทำงานแต่ไม่ชอบเสนอตัวว่าเป็นคนสร้างผลงาน ต้องใช้เวลาในการทำงานค่อนข้างมาก แต่ทำไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะเสร็จ ใจเย็น ไม่เน้นเติบโตทางการงาน แต่เน้นสร้างความอบอุ่นใจในที่ทำงาน สิ่งที่ไม่ชอบที่สุดในการทำงาน ก็คือ การที่ต้องไปปะทะกับคนอื่น
4. สไตล์สีน้ำเงิน
คนที่มีสไตล์การทำงานสีน้ำเงิน จะเป็นนักคิดแต่ไม่เน้นปฏิบัติ คือ คิดวางแผนอย่างรอบคอบ รัดกุม เชี่ยวชาญในสิ่งที่ทำ สามารถสอนรุ่นน้อง หรือเพื่อนร่วมงานได้เป็นอย่างดี เป็นผู้ทำงานเชิงวางแผน ยุทธศาสตร์ นโยบาย และส่งต่อให้ฝ่ายอื่นนำไปปฏิบัติ เพราะด้วยความที่มีความคิดเป็นระบบ จึงทำงานค่อนข้างช้า สิ่งที่ไม่ชอบที่สุดในการทำงาน ก็คือ โดนดูถูก โดนตำหนิ หรือถูกวิจารณ์
เมื่อเรารู้จักสไตล์การทำงานของเราเองแล้ว เราก็สามารถใช้ข้อสังเกตข้างต้นที่ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาองค์กรแนะนำไปสังเกตหัวหน้างาน และเพื่อนร่วมงานของเรา เพื่อนำมาหาวิธีรับมือกับเพื่อนร่วมงาน ซึ่งหนังสือจิตวิทยาเล่มดังกล่าวก็ได้แนะนำวิธีรับมือกับเพื่อนร่วมงาน หรือหัวหน้างานแต่ละสไตล์ไว้ ดังนี้ค่ะ
1. สไตล์สีแดง
หากคุณเป็นคนทำงานสไตล์สีแดง แล้วเจอเพื่อนร่วมงาน/หัวหน้างานสไตล์สีแดงเช่นเดียวกัน คุณไม่ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองเลยค่ะ เพราะอีกฝ่ายหนึ่งเป็นแบบเดียวกับเรานี่ละ
แต่ถ้าคุณไปเจอเพื่อนร่วมงาน/หัวหน้างานสไตล์สีเหลือง เวลาอธิบายเนื้องาน หรืออธิบายวิธีการทำงานขอให้อธิบายให้เห็นภาพ เป็นรูปธรรม แล้วคุณกับเพื่อนร่วมงาน/หัวหน้างานจะเข้าใจกันมากขึ้นค่ะ
หากคุณต้องใช้ชีวิตในที่ทำงานร่วมกับเพื่อนร่วมงาน/หัวหน้างานสไตล์สีเขียว ขอให้คุณหายใจเข้าลึก ๆ ใจเย็น ๆ ลดความเร็วในการทำสิ่งต่าง ๆ ลงสักนิด และใส่ใจเรื่องความสัมพันธ์ให้มากขึ้นค่ะ
และหากคุณต้องทำงานร่วมกับเพื่อนร่วมงาน/หัวหน้างานสไตล์สีน้ำเงิน ขอให้คุณต้องยิ่งช้าลงไปอีก และพยายามทำความเค้าใจกับความคิดของเขา แผนที่เขาวางไว้ก่อนจะทำงาน เพราะถ้าเราไม่ฟังเขามีพังแน่นอนค่ะ
2. สไตล์สีเหลือง
เมื่อคุณไปเจอเพื่อนร่วมงาน/หัวหน้างานสไตล์สีเหลืองเช่นเดียวกัน ขอให้คุณเป็นผู้ฟังมากกว่าผู้พูด เพราะเพื่อนหรือหัวหน้างานของคุณก็มีเรื่องที่จะพูดเยอะเหมือนกันค่ะ
หากคุณต้องไปทำงานร่วมกับเพื่อนร่วมงาน/หัวหน้างานสไตล์สีแดง ขอให้ทุ่มแรงทั้งหมดไปกับการทำงาน อาจจะอึดอัดนิดหน่อยที่เราไม่ค่อยได้มีปฏิสัมพันธ์กับเขา ด้วยเหตุที่คนทำงานสไตล์สีแดงจะมุ่งมั่นกับงาน ดังนั้นหากเราต้องการให้ทีมราบรื่น เราอาจจะต้องลดความอัธยาศัยดีลงไปหน่อย แล้วเพิ่มความเร่งในการทำงานเพิ่มขึ้นมาแทนค่ะ
เมื่อคุณต้องร่วมทีมกับเพื่อนร่วมงาน/หัวหน้างานสไตล์สีเขียว ขอให้คุณใช้ความสามารถในการมองโลกในแง่ดี มองโลกบวกไว้เยอะ ๆ และเวลาจะพูดอะไรขอให้นึกถึงก่อนว่าเขาจะคิดมากกับคำพูดของเราไหมนะ เพราะคนทำงานสไตล์สีเขียวจะค่อนข้างอ่อนไหวกับคำพูด และสัมพันธภาพในที่ทำงานมากค่ะ
และเมื่อคุณต้องทำงานร่วมกับเพื่อนร่วมงาน/หัวหน้างานสไตล์สีน้ำเงิน ขอให้คุณเพิ่มความรอบคอบในการทำงานให้มากขึ้น เน้นทำงานละเอียด หากไม่เข้าใจอะไรให้รีบสอบถาม เพราะคนทำงานสไตล์สีน้ำเงินพร้อมมากค่ะที่จะให้ความช่วยเหลือ และให้ความรู้แก่คุณ
3. สไตล์สีเขียว
เมื่อคุณได้ร่วมงานกับเพื่อนร่วมงาน/หัวหน้างานสไตล์สีเขียวเหมือนกัน ขอให้คุณปล่อยพลังความใจดีใส่กันได้เต็มที่เลยค่ะ แล้วบรรยากาศการทำงานของคุณจะอบอุ่น มีความสุขมาก
ในกรณีที่คุณต้องทำงานร่วมกับเพื่อนร่วมงาน/หัวหน้างานสไตล์สีแดง ขอให้พูดกับเขาอย่างตรงไปตรงมา หากมีอะไรที่ไม่เข้าใจกันขอให้คุณอธิบายสิ่งที่คุณคิด มุมมองของคุณอย่างชัดเจน เพราะคนทำงานสไตล์สีแดงรับได้กับความตรงไปตรงมาค่ะ
หากคุณต้องทำงานกับเพื่อนร่วมงาน/หัวหน้างานสไตล์สีเหลือง ขอให้คุณแสดงออกในสิ่งที่คุณรู้สึกให้เขารับรู้ด้วย และแสดงออกให้เขามั่นใจว่าคุณจะร่วมงานกับเขาจนสุดทาง ไม่เท ไม่ทิ้งแน่นอน
และเมื่อคุณได้ร่วมทีมกับเพื่อนร่วมงาน/หัวหน้างานสไตล์สีน้ำเงิน ขอให้คุณเพิ่มความละเอียดรอบคอบในการทำงานให้มากขึ้น เพราะคนทำงานสไตล์สีน้ำเงินให้ความสำคัญอย่างมากกับการทำตามแผน
4. สไตล์สีน้ำเงิน
เมื่อคุณได้เจอเพื่อนร่วมงาน/หัวหน้างานสไตล์สีน้ำเงินเหมือนกัน หากมีปัญหาในการทำงาน หรือเกิดข้อสงสัยในการทำงาน ขอให้รีบสอบถาม เพราะตามสไตล์สีน้ำเงินแล้ว จะไม่เข้าหาใครก่อน
หากคุณมีเพื่อนร่วมงาน/หัวหน้างานสไตล์สีแดง ขอให้คุณเพิ่มความเร็วในการทำงานให้มากขึ้น เวลาสื่อสาร หรืออธิบายอะไรขอให้ใช้คำพูดสั้น กระชับ ได้ใจความ เพราะคนทำงานสไตล์สีแดงไม่ชอบอะไรที่ยืดเยื้อค่ะ
ในกรณีที่คุณต้องทำงานร่วมกับเพื่อนร่วมงาน/หัวหน้างานสไตล์สีเหลือง ขอให้เพิ่มความเร็วในการทำงานเพิ่มขึ้นอีกหน่อย และใส่ใจความรู้สึกของเพื่อนร่วมงานเพิ่มขึ้นอีกนิด
และเมื่อคุณได้ร่วมทีมกับเพื่อนร่วมงาน/หัวหน้างานสไตล์สีเขียว ขอให้คุณเพิ่มความยืดหยุ่นในการทำงานเพิ่มขึ้น และกล้าพูดคุยกับเขาหน่อย
ถึงแม้ว่าทุกวันนี้จะมีการนำเทคโนโลยีมาช่วยในการทำงานมากขึ้น แต่เราก็ยังคงต้องทำงานร่วมกับคนอื่นอยู่ดี ดังนั้นเรียนรู้สไตล์การทำงานของตัวเอง และวิธีรับมือกับเพื่อนร่วมงานแต่ละรูปแบบตามที่ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาแนะนำเอาไว้ก็ไม่เสียหาย เพื่อความสุขในการทำงานของเราเองค่ะ
หากคุณต้องการพัฒนาตนเองให้กลายเป็นที่ปรึกษาที่เข้าอกเข้าใจตนเองและผู้คนมากขึ้น เพื่อปรับใช้ในการทำงาน ครอบครัว และในชีวิตประจำวัน คุณสามารถสมัครเรียน "หลักสูตรนักให้คำปรึกษากับนักจิตวิทยา" จาก iSTRONG ได้ที่นี่
หรือหากคุณต้องการพัฒนาภาวะผู้นำ สู่การเป็นผู้นำที่ใช้ "หัวใจ" ทาง iSTRONG ก็ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของอนาคตของผู้นำ จึงได้ออกแบบ "คอร์ส Heart-to-Heart Leadership" ที่จะพัฒนาให้คุณเป็น "ผู้นำ" ที่ใช้ "หัวใจ" อย่างแท้จริง
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
บทความแนะนำ :
อ้างอิง : 1. Thomas Erikson. แปลโดย ประเวศ หงส์จรรยา (2566, มิถุนายน). วิธีอยู่ร่วมกับหัวหน้าทุกสไตล์ (และเข้าได้กับลูกน้องทุกแบบ). กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์อมรินทร์ How To.
2. Amarin HOW-TO. (2566, 29 มิถุนายน). เช็กลิสต์วิธีอ่านสีคนทำงาน เคล็ดลับช่วยมองพฤติกรรมที่คนแต่ละสีแสดงออกได้เร็วและง่าย. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 14 กรกฎาคม 2566 จาก https://www.facebook.com/amarin.howto
จันทมา ช่างสลัก บัณฑิตจากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตจาก NIDA ปัจจุบันเป็นคุณแม่ลูก 1 ผู้เป็นทาสแมว ที่มุ่งมั่นจะพัฒนาการเขียนบทความจิตวิทยาให้โดนใจผู้อ่าน และสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคม ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกบนโลกใบนี้
Comments