4 เทคนิคการปฏิเสธ ต้องปฏิเสธอย่างไรถึงจะไม่ทำร้ายจิตใจคนอื่น
เมื่อพูดถึง “การปฏิเสธ” สำหรับใครหลายคน เป็นเรื่องกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เป็นเรื่องสุดแสนจะลำบากใจ จนต้องแสวงหาเทคนิคการปฏิเสธเพื่อที่จะนำไปใช้ในการปฏิเสธโดยไม่ทำร้ายจิตใจคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน ถูกยืมเงิน ขายประกัน หรือเรื่องใด ๆ ก็ตาม ที่เราอึดอัดใจที่จะตอบรับ แต่ก็ลำบากใจที่จะปฏิเสธเช่นกัน ในบทความจิตวิทยานี้จึงขอนำเสนอ 4 เทคนิคการปฏิเสธ ต้องปฏิเสธอย่างไรถึงจะไม่ทำร้ายจิตใจคนอื่น มาฝากันค่ะ
ปฏิเสธโดยให้เหตุผลถึงผลกระทบที่เกิดกับชีวิตเรา
เทคนิคการปฏิเสธโดยยกเหตุผลถึงความไม่พร้อม และผลกระทบที่จะเกิดกับเราหรือคนรอบข้างนั้น ดูเป็นเหตุผลที่หนักแน่นและคงไม่มีใครโกรธถ้าเราปฏิเสธเขาอย่างสุภาพ และแสดงความจริงใจว่าสิ่งที่เราปฏิเสธเป็นเรื่องจริง เช่น หากเพื่อนชวนเราดื่มเหล้า แต่สุขภาพเราไม่ดี เราก็สามาถบอกเขาได้ว่าสุขภาพเราจะแย่ลงถ้าเราดื่มเหล้า หรือสามารถปฏิเสธการยืมเงินได้ด้วยเหตุผลความจำเป็นของเราได้เช่นกัน ว่าเราก็มีรายจ่าย ไม่สามารถให้เขายืมเงินได้จริง ๆ หรือเราสามารถใช้เหตุผลนี้ในการปฏิเสธการรับงานเพิ่มได้เช่นกัน หากเรามีงานเดิมล้นมือ โดยให้เหตุผลไปว่าเราจะไม่สามารถทำงานได้ทัน และจะส่งผลต่อคุณภาพงานที่ต่ำกว่ามาตรฐานได้ เป็นต้น
2. ปฏิเสธโดยให้เหตุผลถึงความไม่เกี่ยวข้องกับเรา
เทคนิคการปฏิเสธในข้อนี้ หมายความว่า ให้ปฏิเสธโดยให้เหตุผลว่าสิ่งที่เขาร้องขอนั้นมันไม่เกี่ยวข้องอะไรกับเรา เช่น หากหัวหน้ามอบหมายงานที่ไม่ได้อยู่ในหน้าที่ความรับผิดชอบของเรา เราก็สามารถปฏิเสธได้อย่างสุภาพ โดยการกล่าวถึง Job Description ของเรา และการทับซ้อนงานกับเพื่อนร่วมงานที่ทำงานตรงกับภาระงานใหม่ที่หัวหน้าจะมอบหมายมาให้ หรือหากมีเพื่อนเสนอขายประกันชีวิตมาให้ เราก็สามารถใช้เหตุผลถึงความไม่เกี่ยวข้องกับเรามาปฏิเสธเขาได้ เช่น เราไม่ได้ทำงานเสี่ยงอันตราย หรือเสี่ยงที่จะเจ็บป่วยรุนแรง หรือพื้นที่ทำงานไม่ได้เสี่ยงภัย เป็นต้น
3. ปฏิเสธโดยให้เหตุผลถึงความไม่ชัดเจน
เหตุผลทางจิตวิทยาที่คนเราไม่กล้าปฏิเสธ ก็เพราะรู้สึกผิดต่อคนที่เราปฏิเสธ เช่น เกรงใจเขา กลัวว่าเขาจะเสียใจ แต่ถ้าสิ่งที่เขาร้องขอมันไม่ชัดเจน เช่น เสนอขายของ แต่ของที่ขายไม่มีมาตรฐานรับรอง ไม่มีที่ไปที่มาชัดเจน เราก็สามารถปฏิเสธที่จะไม่ซื้อได้โดยไม่ต้องรู้สึกผิด หรือถ้าหัวหน้ามอบหมายงานใหม่มาให้ แต่ไม่ได้อธิบายรายละเอียดที่ชัดเจน เราก็สามารถปฏิเสธที่จะไม่รับงานนั้นได้ หรือขอให้เขาให้รายละเอียดแก่เราเพิ่มก็ได้ เพราะต่อให้เรารับงานมาทำ เราก็อาจจะทำไม่ถูกใจ ทำผิดวัตถุประสงค์ ส่งผลให้ทำเสียเปล่า ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใด ๆ ก็ได้
4. ปฏิเสธโดยให้เหตุผลถึงความไม่สมเหตุสมผล
เช่น เราไม่สามารถทำงานนี้ได้ เพราะเรารู้สึกว่างานนี้ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ทางสังคมในปัจจุบัน หรือไม่สอดคล้องกับบริบทของประเทศ หรือเราสามารถปฏิเสธการให้ยืมเงินแก่เพื่อนคนหนึ่งได้ หากเพื่อนคนนั้นขอยืมบ่อยครั้ง และดูแล้วไม่น่าใช่เหตุจำเป็น หรือเราสามารถปฏิเสธการซื้อสินค้าหรือบริการจากคนรู้จักได้ หากเราสัมผัสได้ว่าเขาขายเราเพียงแค่ทำยอดขาย แต่ไม่ได้มีเจตนาดีต่อเรา ซึ่งการปฏิเสธโดยใช้เหตุผลของความไม่สมเหตุสมผลนี้ต้องมีเทคนิคจิตวิทยานิดหนึ่งค่ะ คือ ต้องพูดจานุ่นนวล สุภาพ และให้เหตุผลที่ทั้งสองฝ่ายรับได้ โดยอาจจะใช้เทคนิคการปฏิเสธในข้อที่ 1 – 3 มาปฏิเสธร่วมด้วยได้
นอกจากนี้ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยายังได้ให้เทคนิคการปฏิเสธเพิ่มเติมมาอีกว่า
ก่อนจะตอบรับอะไรนั้นให้ประเมินตัวเองเสียก่อน หากเราประเมินแล้วว่าสามารถทำตามสิ่งที่เขาร้องขอได้ ไม่ว่าเรื่องใดก็ตาม และเราไม่ได้รู้สึกแย่ที่จะลงมือทำ ก็สามารถตอบรับได้ค่ะ แต่ถ้าหากเราประเมินแล้วว่ามันเกินกำลังของเรา หรือหากการที่เราทำตามคำร้องขอของเขาจะทำให้เราเดือดร้อน ก็ขอให้ปฏิเสธดีกว่าค่ะ
ควรตอบรับบ้างหากสิ่งที่เขาร้องขอไม่เกินกำลัง อย่าพยายามปฏิเสธคนเดิมซ้ำ ๆ หากคุณยังคงต้องการรักษามิตรภาพกับเขาอยู่ เพราะการปฏิเสธซ้ำ ๆ จะทำให้อีกฝ่ายเสียความรู้สึกได้ เพราะฉะนั้นผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาจึงได้แนะนำว่าให้ตอบรับบ้าง ปฏิเสธบ้าง เพื่อรักษาสัมพันธภาพเอาไว้
ต้องให้เหตุผลในการปฏิเสธทุกครั้ง เมื่อคุณต้องเอ่ยคำปฏิเสธ ต้องให้เหตุผลในการปฏิเสธทุกครั้ง เพราะการให้เหตุผลเป็นการแสดงออกว่าก่อนจะปฏิเสธเราได้ไตร่ตรองมาดีแล้ว แต่ถ้าเราไม่ให้เหตุผลในการปฏิเสธ จะดูเหมือนว่าเราไม่ได้ใส่ใจเขา ไม่ได้ใคร่ครวญถึงความเดือดร้อนของเขา จะกลายเป็นคนแร้งน้ำใจได้ค่ะ
ต้องปฏิเสธอย่างสุภาพเสมอ ในทุกครั้งที่ปฏิเสธ ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่ความผิดของเรา เพราะเรามีสิทธิที่จะปฏิเสธได้ แต่เราก็ควรจะขอโทษหลังจบการปฏิเสธ และใช้ถ้อยคำสุภาพในการปฏิเสธ เพื่อไม่ให้เขาเสียน้ำใจ และรู้สึกแย่หนักกว่าเดิมในกรณีที่เขามาขอความช่วยเหลือแต่เราไม่สามารถตอบสนองเขาได้
และสุดท้ายนี้ ในทุก ๆ การปฏิเสธ ต้องคำนึงถึงมิตรภาพด้วย เพราะการสร้างมิตรนั้นย่อมดีกับเรามากกว่าการสร้างศัตรู เพราะไม่แน่ว่าในวันข้างหน้าเราอาจได้พึ่งพาคน ๆ นั้นอยู่ หรือต่อให้เราไม่พึ่งพาเขา แต่เราไม่สร้างศัตรูมาทำร้ายเราในวันข้างหน้าย่อมทำให้เรามีความปกติสุขในชีวิตค่ะ
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
บทความแนะนำ : 1. จิตวิทยาการโน้มน้าวใจ 5 เทคนิคพูดอย่างไร ให้คนเชื่อใจและยินดีทำตาม (https://www.istrong.co/single-post/persuasive-psychology)
2. 6 เทคนิค วิธีสื่อสารเพื่อสร้างพลังบวกในองค์กรด้วย Growth Mindset (https://www.istrong.co/single-post/communicate-with-a-growth-mindset)
อ้างอิง : TUXSA. (2567, 16 มีนาคม). “การปฏิเสธ”. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 5 เมษายน 2567 จาก https://www.facebook.com/100064851664739/posts/817996997038682/?mibextid=xfxF2i&rdid=QY59qkAhbkQRgDTX
จันทมา ช่างสลัก บัณฑิตจากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตจาก NIDA ปัจจุบันเป็นคุณแม่ลูก 1 ผู้เป็นทาสแมว ที่มุ่งมั่นจะพัฒนาการเขียนบทความจิตวิทยาให้โดนใจผู้อ่าน และสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคม ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกบนโลกใบนี้
Comments