top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

4 เทคนิคจิตวิทยาที่จะช่วยคุณค้นหาตนเอง (Self – Discovery) ได้ตรงจุด


ไม่ว่าเราจะอายุเท่าไร ประเด็นจิตวิทยาเรื่อง Self - Discovery หรือ การค้นหาตนเอง ก็ยังเป็นประเด็นใหญ่ของคนทุกชนชาติ นั่นก็เพราะ Self - Discovery หรือ การค้นหาตนเอง เป็นกระบวนการที่ทำให้เราเข้าใจตนเองในระดับลึก เพื่อค้นหาว่าแท้จริงแล้ว ตัวตนของเราเป็นเช่นไร มีความชอบ ความสนใจ ค่านิยม ทัศนคติในการใช้ชีวิตอย่างไร ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ จะหล่อหลอมมาเป็นตัวกำหนดเป้าหมายชีวิต และแนวทางการใช้ชีวิตของเราต่อไปจนชั่วชีวิต โดยกระบวนการ Self - Discovery หรือ การค้นหาตนเอง จะเกี่ยวข้องกับการตกผลึกตัวตนของเราผ่านการสำรวจประสบการณ์ที่ผ่านมา การทบทวนความเชื่อและค่านิยม รวมไปถึงการพิจารณาถึงผลกระทบต่อพฤติกรรมและการตัดสินใจในชีวิตของเราด้วย โดยการค้นหาตนเอง จะสามารถช่วยให้เราเข้าใจตนเองได้ดีขึ้น รู้สึกมีความมั่นใจในทิศทางของชีวิต และสามารถตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยให้เรารู้จักถึงจุดแข็ง จุดอ่อน และแรงบันดาลใจของตัวเองได้ ส่งผลให้เราสามารถสร้างเป้าหมายชีวิตที่สอดคล้อง เหมาะสมกับความเป็นตัวตนและคุณค่าที่แท้จริงของตัวเราเองได้


ทั้งนี้ เมื่อศึกษางานวิจัยทางจิตวิทยาในต่างประเทศ พบว่า Self – Discovery เป็นกระบวนการที่ต้องอาศัยทั้งเวลา และความตั้งใจในการสำรวจชีวิตและเปิดใจรับฟังตนเองอย่างรอบด้าน นอกจากนี้งานวิจัยทางจิตวิทยายังพบอีกว่า ช่วงวัยที่เผชิญปัญหาด้านการค้นหาตนเอง หรือ Self - Discovery มากที่สุด มักอยู่ในช่วงวัยรุ่นตอนปลายถึงวัยผู้ใหญ่ตอนต้น (อายุประมาณอายุ 18 - 30 ปี) และในช่วงวัยกลางคน (ประมาณ 35 - 50 ปี) โดยมีลักษณะและสาเหตุของปัญหาแตกต่างกันไปตามช่วงอายุ ดังนี้

  1. วัยผู้ใหญ่ตอนต้น (Emerging Adulthood)

วัยผู้ใหญ่ตอนต้น อยู่ในช่วงอายุประมาณ 18 - 30 ปี เป็นช่วงวัยที่คนส่วนใหญ่อยู่ในกระบวนการค้นหาตนเองและการกำหนดทิศทางชีวิต เช่น การเลือกอาชีพ การสร้างความสัมพันธ์ที่จริงจังและมั่นคง และการสร้างตัวตนทางสังคม โดยกระบวนการนี้เกิดขึ้นเนื่องจากคนในวัยผู้ใหญ่ตอนต้นกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลง ได้แก่ การประกอบอาชีพ การออกไปใช้ชีวิตด้วยตนเอง การตัดสินใจทางการเงิน และการแบกรับภาระในฐานะผู้ใหญ่อย่างเต็มตัว ซึ่งสิ่งเหล่านี้ส่งผลให้คนวัยผู้ใหญ่ตอนต้นเกิดความสับสนและกดดันในกระบวนการค้นหาตนเองได้

  1. วัยกลางคน

วัยกลางคน อยู่ในช่วงอายุประมาณ 35 - 50 ปี เป็นช่วงวัยที่เรียกได้ว่า มีความท้าทายในการค้นหาตนเอง โดยมักจะมาในรูปของการประเมินคุณค่าและความสำเร็จที่ผ่านมา หรือความรู้สึกกดดันจากการเปลี่ยนแปลงในชีวิตครอบครัว เช่น ลูกโตจนออกไปใช้ชีวิตด้วยตนเอง เกิดความสงสัยในคุณค่าของตน ถูกคาดหวังในด้านอาชีพหรือความรับผิดชอบในครอบครัวสูง เป็นต้น ส่งผลให้ผู้ที่อยู่ในช่วงวัยกลางคนหลายคน เผชิญกับ "วิกฤตวัยกลางคน" ที่นำไปสู่การถามหาความหมายและเป้าหมายในชีวิตที่แท้จริง และค้นหาความสมดุลใหม่ระหว่างงานและชีวิตส่วนตัว​


ด้วยความห่วงใย และต้องการสนับสนุนให้ทุกท่านสามารถค้นหาตนเองได้อย่างตรงจุด บทความจิตวิทยานี้จึงขอนำเสนอ 4 เทคนิคจิตวิทยาที่จะช่วยคุณค้นหาตนเอง (Self – Discovery) ได้ตรงจุด ดังนี้ค่ะ

  1.  เขียนบันทึกประจำวัน (Journaling)

ดังที่ได้กล่าวไว้ในตอนต้นว่า การที่เราจะสามารถค้นหาตนเองได้สำเร็จนั้น เราต้องตกผลึกความคิด ความเชื่อ ทัศนคติที่เรามีต่อตนเอง ต่อผู้อื่น และต่อโลกใบนี้เสียก่อน โดยเครื่องมือที่จะช่วยให้เราได้ทบทวนชีวิตได้ดีเครื่องมือหนึ่ง ก็คือ การเขียนบันทึกประจำวันค่ะ โดยเราไม่จำเป็นต้องเขียนยืดยาวเป็นเรื่องเป็นราว อาจจะเขียนสั้น ๆ ถึงเหตุการณ์ที่เราประทับใจในแต่ละวัน หรือจะใช้วิธีทบทวนโพสต์ในสื่อ Social media ในแต่ละวันของเราก็ได้ค่ะ เพื่อที่เราจะได้ย้อนสำรวจชีวิตและความคิดของเราในแต่ละช่วงเวลา

  1. ฝึกสังเกตสิ่งเล็กน้อยรอบตัว (Attention to Detail)

การฝึกสังเกตสิ่งเล็กน้อยรอบตัวเป็นการทำให้เรามีสติอยู่กับปัจจุบันและช่วยให้เราตระหนักถึงรายละเอียดที่เราอาจมองข้ามไปในชีวิตประจำวัน ซึ่งมีประโยชน์หลายประการในการค้นหาตนเอง เช่น การสังเกตสีสัน รูปทรง เสียง หรือการเคลื่อนไหวของผู้คน จะช่วยให้เรารู้ว่าเราสนใจอะไร ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นในการทำความเข้าใจตนเอง นอกจากนี้เมื่อเราใส่ใจและสังเกตสิ่งรอบตัว เราอาจเริ่มตั้งคำถามกับตัวเอง เช่น "ทำไมสิ่งนี้จึงดึงดูดใจฉัน?" หรือ "ฉันรู้สึกอย่างไรกับสิ่งที่เกิดขึ้นตรงนี้?" คำถามเหล่านี้ช่วยให้เราเรียนรู้และเข้าใจตนเองในระดับที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น

  1. ตั้งคำถามกับตนเอง (Self - Inquiry)

การตั้งคำถามกับตนเอง เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการค้นหาตนเอง เนื่องจากการตั้งคำถามกับตนเองจะเป็นการกระตุ้นให้เราสำรวจความคิด ความรู้สึก ความต้องการ และค่านิยมที่อยู่ภายในตัวเราเอง โดยเมื่อเราถามคำถามกับตัวเอง เช่น “ฉันต้องการอะไรจริง ๆ?” หรือ “อะไรคือเป้าหมายในชีวิตของฉัน?” จะสามารถช่วยให้เราได้ทบทวนและประเมินว่าเราเป็นใคร ต้องการอะไร และอะไรที่สำคัญในชีวิต 

  1. ฝึกสติ (mindfulness Practice)

การฝึกสติ จะช่วยให้เราสามารถรับรู้ความคิดและอารมณ์ของตนเองได้อย่างชัดเจน เมื่อเราฝึกสติ โดยการควบคุมความคิดให้เป็นปัจจุบัน กำหนดลมหายใจ เราจะสามารถไตร่ตรองสิ่งที่เราให้คุณค่าในชีวิต สามารถช่วยให้เราตัดสินใจด้วยความสงบและชัดเจนมากขึ้น นอกจากนี้การฝึกสติ ยังเป็นช่วงเวลาที่เราได้อยู่กับตนเอง ส่งผลให้เกิดความเข้าใจ และยอมรับตนเองในทุกด้าน ทำให้เกิดความรักและเคารพในตนเองมากยิ่งขึ้น


การค้นหาตนเอง หรือ Self - Discovery อย่างมีประสิทธิภาพตาม 4 เทคนิคจิตวิทยาที่ได้นำเสนอข้างต้นนั้น จะสามารถช่วยให้เราเข้าใจตนเองมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้การดำเนินชีวิตของเรามีความหมายมากขึ้นไปด้วยค่ะ

 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

  • บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa  

  • คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS 

สำหรับองค์กร

โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

บทความแนะนำ : 


อ้างอิง : 1.Ahron Friedberg. (2023). Self-Discovery as We Age, Who are we now?. [Online]. Form : https://www.psychologytoday.com/us/blog/resilience/202304/self-discovery-as-we-age

2. Maggie Wooll. (2022). 10 self-discovery techniques to help you find yourself. [Online]. Form : https://www.betterup.com/blog/self-discovery-techniques

3.Nicole Celestine. (2021). How to Begin Your Self-Discovery Journey: 16 Best Questions. [Online]. Form : https://positivepsychology.com/self-discovery/

 

จันทมา  ช่างสลัก บัณฑิตจิตวิทยาคลินิกจากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตจาก NIDA ปัจจุบันเป็นคุณแม่ลูก 1 ผู้เป็นทาสแมว ที่มุ่งมั่นจะพัฒนาการเขียนบทความจิตวิทยาให้โดนใจผู้อ่าน และสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคม ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกบนโลกใบนี้ 


1 Comment


Obese eliminated all the dordle vowels in the correct word and provided me with a 'S' on the left. After some contemplation, I deduced my third word. https://dordle.io

Edited
Like
facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page