4 ประโยชน์ของการฝึก Mindfulness ให้กับพนักงานในองค์กร
หากจะพูดถึงสาเหตุของความเครียดของคนวัยทำงานส่วนใหญ่ก็คงจะไม่พ้นเรื่องงาน โดยเฉพาะองค์กรที่มีลักษณะแบบ “fast-paced” ก็มักจะมีบรรยากาศการทำงานแบบเร่งรีบซึ่งพนักงานส่วนใหญ่ก็จะถูกกระตุ้นด้วยความเครียดอยู่บ่อย ๆ และยิ่งถ้าคนทำงานปล่อยให้ตัวเองทำงานเหมือนเป็นเครื่องจักรที่ทำงานหนักอยู่เป็นเวลานาน ๆ ก็จะเปรียบเหมือนเครื่องจักรที่นอตหลวม
ซึ่งอาการนอตหลวมของคนก็คือเริ่มจะเกิดความรู้สึกอึดอัด หงุดหงิด รำคาญ ไม่พอใจ ถ้าเป็นเครื่องจักรที่นอตหลวมแล้วไม่ได้รับการซ่อมบำรุงก็อาจจะทำให้นอตหลุดเครื่องพังไปเลย ส่วนคนที่เริ่มเกิดปัญหาทางจิตใจแล้วไม่ได้รับการดูแลเยียวยาก็อาจจะเกิดอาการบันดาลโทสะ ควบคุมตัวเองไม่ได้
และอาจจะทำอะไรที่ส่งผลเสียต่อตัวเองและผู้อื่นตามมาได้ บทความนี้จึงอยากชวนให้ผู้อ่านมาทำความรู้จักกับ Mindfulness และประโยชน์ของมันกันค่ะ
คำว่า “Mindfulness” ตรงกับคำว่า “สติ” แต่เวลาที่มีคนมาชวนให้ “ฝึกสติ” หลายคนก็มักจะนึกถึงการนั่งสมาธิ เดินจงกรม ไปวัด สวดมนต์ ซึ่งภาพเหล่านั้นไม่ใช่ความหมายโดยตรงของการฝึกสติ เพราะการฝึกสติเป็นการฝึกเพื่อให้สามารถอยู่กับความไม่สงบได้ ให้จิตใจมั่นคงไม่หวั่นไหวต่อความวุ่นวายของโลกภายนอกและความรู้สึกต่าง ๆ เช่น ฟุ้งซ่าน โกรธ อิจฉา อย่างไรก็ตามเพื่อลดภาพเชื่อมโยงกับศาสนาลง ผู้เขียนจะขอใช้คำทับศัพท์ไปเลยว่า Mindfulness
Mindfulness นั้นสามารถนำมาใช้กับการพัฒนาองค์กรได้ด้วย โดยประโยชน์ของการฝึก Mindfulness ให้กับพนักงานในองค์กรมีดังนี้
1. ช่วยให้องค์กรมีสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดี
พนักงานที่มี Mindfulness มักจะเลือกรูปแบบปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานในแบบที่เป็นบวกและแสดงออกซึ่งการเคารพและยอมรับผู้อื่น มีการเห็นอกเห็นใจผู้อื่น มีความยืดหยุ่นทางความคิดมากขึ้น ซึ่งความสัมพันธ์แบบนี้จะช่วยส่งเสริมให้องค์กรมีสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดี และผลพลอยได้ของการที่พนักงานในองค์กรมีความสัมพันธ์ทางสังคมที่ดีต่อกันก็คือพนักงานในองค์กรจะมีความเครียดน้อยลงโดยเฉพาะจากปัญหาเรื่อง “คน”
2. ช่วยเพิ่ม resilience
Glomb and colleagues (2012) ได้เสนอว่า Mindfulness มีประโยชน์ต่อองค์กรในแง่ของการช่วยส่งเสริมให้พนักงานเกิด resilience โดยเกี่ยวข้องกับ 2 กระบวนการ ได้แก่ กระบวนการควบคุมจัดการกับอารมณ์และกระบวนการเกิดความทนทานต่ออารมณ์ พนักงานที่ฝึก Mindfulness จึงมักมีรูปแบบในการเข้าหาผู้อื่นในเชิงบวก นอกจากนั้น Mindfulness ยังช่วยให้คนที่ฝึกฝนเป็นประจำมีอารมณ์ทางลบลดลง กระวนกระวายน้อยลง ตอบสนองผู้อื่นอย่างเหมาะสมมากขึ้น โดยพนักงานที่มี resilience จะมีความสามารถในการทำงานร่วมกับผู้อื่นและทำงานภายใต้ความกดดันได้มากขึ้น
3. ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน
Mindfulness มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับการรู้ตัว ดังนั้น พนักงานที่ฝึก Mindfulness ก็จะทำงานอย่างมีสติมากขึ้นซึ่งส่งผลให้ทำงานผิดพลาดน้อยลงตามไปด้วย การมีสติจะช่วยลดอาการหลง ๆ ลืม ๆ เสียสมาธิได้ง่าย เผลอเรอน้อยลง ผลคือทำให้เป็นคนที่ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
4. ช่วยเพิ่มความสามารถในการใช้สัญชาตญาณ
Mindfulness จะส่งเสริมให้บุคคลเกิดการตระหนักรู้ถึงความรู้สึกลึก ๆ ข้างในของตัวเองหรือที่เรียกว่า “gut feelings” ซึ่งต้องอาศัยสัญชาตญาณในการหยั่งรู้ (intuition) บุคคลถึงจะสามารถรับรู้ถึงมันได้ ซึ่งจะนำไปสู่ความสามารถในการตัดสินใจ พนักงานที่ฝึก Mindfulness มักจะตัดสินใจได้ดีขึ้นและรวดเร็วขึ้น แทนที่จะต้องคิดลังเลหรือใช้เวลาอยู่นานเพื่อหาข้อมูลประกอบการตัดสินใจ
นอกจากประโยชน์แล้ว Mindfulness ยังมีความสำคัญต่อองค์กรอีกหลายประการ ได้แก่
ช่วยให้พนักงานรู้สึกถึงความพึงพอใจในการทำงานและมีแรงจูงใจในการทำงาน
ช่วยให้พนักงานมีความสามารถในการจัดการกับความเครียดเพิ่มขึ้น
ช่วยเสริมสร้างภาวะผู้นำให้กับพนักงาน
ช่วยเพิ่มความรู้สึกผูกพันกับองค์กรด้วยการรู้สึกถึงคุณค่าของตนเองที่มีต่อองค์กร
ช่วยให้พนักงานรับมือกับความเปลี่ยนแปลงได้มากขึ้น
เทคนิคการนำ Mindfulness มาใช้เพื่อดูแลจิตใจของตนเอง
1. ฝึกโดยเริ่มต้นจากชีวิตประจำวัน เช่น เวลาที่อาบน้ำ แปรงฟัน โดยทั่วไปแล้วคนเรามักจะคิดอะไรไปเรื่อย ๆ แต่ในการฝึก Mindfulness จะต้องไม่ปล่อยตัวเองให้ตามความคิดไป แต่ดึงตัวเองให้มาจดจ่ออยู่กับสิ่งที่กำลังทำ พอเริ่มจะเข้าใจวิธีการสังเกตเวลาอาบน้ำแปรงฟันแล้ว ก็ขยายไปสังเกตกิจวัตรประจำวันอื่น ๆ เช่น ขณะล้างจาน กวาดถูบ้าน หรือขยายไปใช้กับกิจกรรมที่ทำในเวลาทำงาน
2. ฝึกแบบสบาย ๆ ไม่ต้องไปเคร่งเครียดเอาจริงเอาจัง เพราะถ้าเผลอไปเอาจริงเอาจังก็จะเครียด และยิ่งถ้าอยากให้ได้ผลไว ๆ ก็จะยิ่งเคร่งเครียด เมื่อทำไม่สำเร็จก็จะโกรธตัวเองหรือรู้สึกล้มเหลว ทำให้ยิ่งเครียดและยิ่งฝึกไม่สำเร็จ
3. ฝึกใน session การบำบัด เนื่องจากแต่ละคนมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการทำงานทางจิตใจแตกต่างกัน ซึ่งทำให้บางคนไม่สามารถเริ่มต้นด้วยตนเองได้ เช่น มี childhood trauma ที่รบกวนสมาธิมาก ๆ จนไม่สามารถจดจ่ออยู่กับอะไรได้เลยแม้แต่สิ่งเล็ก ๆ ในชีวิตประจำวัน หรือเป็นคนที่ตื่นตกใจง่าย หากคุณเป็นคนหนึ่งที่รู้สึกว่ามันยากเกินไปที่จะฝึกฝน Mindfulness ด้วยตนเองก็สามารถไปพบจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาที่มีความเชี่ยวชาญในการทำจิตบำบัดกลุ่ม Mindfulness-based เพื่อรับความช่วยเหลือในการฝึกฝนได้เหมือนกัน
หากคุณต้องการพัฒนาตนเองให้กลายเป็นที่ปรึกษาที่เข้าอกเข้าใจตนเองและผู้คนมากขึ้น เพื่อปรับใช้ในการทำงาน ครอบครัว และในชีวิตประจำวัน คุณสามารถสมัครเรียน "หลักสูตรนักให้คำปรึกษากับนักจิตวิทยา" จาก iSTRONG ได้ที่นี่
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
อ้างอิง
[1] Benefits of Mindfulness in the Workplace and Business. https://positivepsychology.com/mindfulness-at-work/
[2] หนังสือ “ดำเนินชีวิตอย่างมีสติ” โดย รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ชัชวาลย์ ศิลปกิจ
บทความที่เกี่ยวข้อง
ประวัติผู้เขียน
นางสาวนิลุบล สุขวณิช (เฟิร์น) จบการศึกษาระดับปริญญาโทในสาขาจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และระดับปริญญาตรีสาขาจิตวิทยา(คลินิก) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปัจจุบันเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาประจำมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และเป็นนักเขียนของ iSTRONG
Comments