นักจิตวิทยาแนะนำ 3 วิธีจัดการความรู้สึกเศร้าจากอาการอกหัก
ถ้าย้อนกลับไปสมัยที่เรามีรักครั้งแรก ตอนเราอกหักมันเกิดความรู้สึกเหมือนโลกแตกเลยใช่ไหมคะ ทั้งเสียใจ เสียศูนย์ กันเป็นเดือน ๆ บางคนหากมีความคาดหวังกับความรักครั้งแรกมาก ก็อาจต้องใช้เวลาเป็นปีเลยทีเดียวค่ะ กว่าชีวิต และสภาพจิตใจจะกลับมาเข้าที่เข้าทาง แต่พอเราอกหักในครั้งต่อ ๆ มา เราก็สามารถใช้เวลาน้อยลงในการ Move on หรือใช้เวลาน้อยลงในการจัดการความรู้สึกเศร้าจากอาการอกหัก แต่เป็นเรื่องยากมากค่ะที่เมื่อเราอกหักแล้วเราจะไม่เกิดความรู้สึกทางลบขึ้นมาเลย ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกเศร้า เสียใจ โกรธ หรือท้อแท้ในการใช้ชีวิต ด้วยความห่วงใยจาก iSTRONG ในบทความจิตวิทยานี้จึงขอเสนอข้อแนะนำของนักจิตวิทยา 3 วิธี ในการจัดการความรู้สึกเศร้าจากอาการอกหัก เพื่อเป็นประโยชน์ให้แก่ทุกคน ในการจัดการความรู้สึกหลังจากการอกหัก อย่างมีประสิทธิภาพค่ะ คือ จัดการความรู้สึกได้ไวมากขึ้น เยียวยาจิตใจตัวเองได้ดียิ่งขึ้น และสามารถกลับมามีความสุขในการใช้ชีวิตได้เร็วมากขึ้นค่ะ
ก่อนอื่นเรามาคุยกันถึงปัญหาหรือความคิด ความรู้สึกที่ตามมาจากการอกหักกันก่อนนะคะ ในเวที Ted Talk เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี ค.ศ. 2015 Guy Winch นักจิตวิทยาผู้เป็นทั้งนักพูด และนักเขียนชื่อดัง ได้กล่าวไว้ว่า เมื่อเราอกหัก เราจะต้องเผชิญหน้ากับปัญหาใหญ่ ๆ 3 ข้อ คือ
1. ความเหงาทำให้เราท้อ
เมื่อเราอกหัก นอกจากความเศร้าแล้ว ความเหงาก็เป็นอีกความรู้สึกที่เราต้องเจอ และบอกเลยค่ะว่าจัดการความรู้สึกยากมาก เพราะเผลอ ๆ เหม่อ ๆ เราก็เหงาแล้ว พอเหงาเราก็กลับไปคิดถึงวันชื่นคืนสุข ที่เคยมีอดีตคนรักอยู่ในชีวิต และเมื่อเราเกิดเผลอคิดถึงวันเก่า ๆ เราก็รู้สึกเศร้า เสียใจ รู้สึกผิด โทษตัวเองตามมา และในที่สุด เราก็เกิดความท้อใจที่จะเริ่มต้นความรักครั้งใหม่ หรือไม่สามารถใช้ชีวิตต่อไปตามเดิมได้
2. เกิดความคิดว่า “อยู่คนเดียวไม่ได้”
ในกรณีที่เรารักใครมาเป็นเวลานานมากกว่า 5 ปี แต่แล้ววันหนึ่งเราก๊อกหักจากคนรัก ที่ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันมานานมาก เรามักจะเกิดอาการเคว้งคว้าง เพราะเรามีคนรักมานานจนลืมไปแล้วว่าการใช้ชีวิตอยู่คนเดียวเป็นอย่างไร และการเคว้งคว้างนั่นเองที่ทำให้เราเกิดความคิดที่ว่า “ฉันไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่คนเดียวได้” ซึ่งความคิดดังกล่าวทำให้เราขาดความมั่นใจในการใช้ชีวิต และทำให้เราหยุดความพยายามที่จะ Move on ปล่อยให้ตัวเองจมอยู่ในวงจรอุบาทว์ของคนอกหัก คือ เศร้า เหงา คิดถึงคนรักเก่า ฟูมฟาย ปิดกั้นตัวเองจากคนอื่น ๆ แล้วก็วนไปเศร้าใหม่ เช่นนี้เรื่อยไป
3. เชื่อว่าการใช้ชีวิตต่อไปโดยลำพังเป็นเรื่องยาก
ปัญหาจากการอกหักในข้อต่อมาที่ Winch นักจิตวิทยาชื่อดัง กล่าวว่าเป็นปัญหาใหญ่ที่สุด ก็คือ ทำให้เกิด “ความเชื่อที่ผิดจากความเป็นจริง” หรือทำให้คนที่อกหักเกิดความเชื่อว่า “การใช้ชีวิตด้วยตนเองเป็นเรื่องลำบาก” จึงทำให้คนที่แกหักอยู่ในสภาวะอ่อนแอทั้งทางจิตใจ และสังคม เพราะไม่ออกไปใช้ชีวิตตามปกติ ครอบครัวก็ไม่ไปเจอ เพื่อนสนิทก็ไม่ไปพบ ทำอะไรง่าย ๆ ด้วยตนเอง ก็ขาดความมั่นใจ เช่น ทานข้าวคนเดียว ดูภาพยนตร์คนเดียว ไปเที่ยวคนเดียว และเมื่อความเชื่อนั้นฝังรากลึก ก็ทำให้คนที่อกหักกลายเป็นโรคซึมเศร้า ย้ำคิดย้ำทำ วิตกกังวล เครียด หรือโรคทางจิตเวชอื่น ๆ ตามมา รวมถึงอาจทำร้ายร่างกายตนเองด้วยค่ะ
ซึ่ง Winch ได้ให้ข้อแนะนำในการจัดการกับปัญหา หรือการจัดการความรู้สึกจากอาการอกหัก เอาไว้ 3 ข้อด้วยกัน ดังนี้ค่ะ
1. ทำกิจกรรมที่พาออกจากความเศร้า
เมื่อความเศร้าจากการอกหักนำพาความเหงา รวมถึงความคิด ความเชื่อที่บั่นทอนกำลังใจในการใช้ชีวิตของเรา ดังนั้นวิธีแรกในการจัดการความรู้สึกเศร้าจากอาการอกหัก ก็คือ การไม่ปล่อยให้ตัวเองจมอยู่กับความเศร้าเป็นเวลานานค่ะ โดยการพยายามไม่อยู่คนเดียว หากย้ายกลับไปอยู่กับครอบครัวได้ ก็จะเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะไม่มีที่ไหนเหมือนบ้าน หรือหากไม่สามารถย้ายกลับไปอยู่ที่บ้านได้ ก็ลองติดต่อชักชวนเพื่อนสนิทให้มาอยู่ด้วยสักพัก เพื่อให้เราสามารถลืมความเศร้า และมีสภาพจิตใจเข้มแข็งพอที่จะสามารถอยู่ได้ด้วยตนเองค่ะ
2. ไม่พยายามคิดหาเหตุผล
เป็นปกติที่เมื่อเราอกหักเราจะเกิดความรู้สึกวนเวียนอยู่ที่ความเศร้า ความเหงา เสียใจ ความโกรธ และโทษตัวเองว่าเพราะเราดีไม่พอเขาถึงไม่รักเรา ทั้งที่ในความเป็นจริง คนไม่รักก็เพราะไม่รักเท่านั้นเลยค่ะ ไม่มีเหตุผลใด ๆ คนจะไปก็ปล่อยเขาไป ส่วนเราที่ยังอยู่ก็พยายามอย่าซ้ำเติมตัวเอง แต่ให้เสริมกำลังใจให้ตัวเราด้วยการมองหามุมบวกของตัวเราเอง เช่น รูปลักษณ์ภายนอก ลักษณะนิสัยใจคอ ความสามารถที่เรามี เป็นต้น หรือถ้าเราเห็นแต่ข้อเสียของเราเต็มไปหมด ก็ใช้วิธีเสริมข้อดีของเราด้วยการเข้าคอร์สต่าง ๆ อบรมออนไลน์ หรือไปเรียนต่อ เป็นต้น เพื่อให้เราลืมความเศร้า ลดการโทษตัวเอง และเพิ่มความรู้สึกทางบวกให้แก่ตัวเองด้วยค่ะ
3. เปลี่ยนโฟกัส หาอะไรทำ
ถ้าการอยู่ว่าง ๆ จะทำให้เราเหงา ก็พาตัวเองไปเหนื่อย หรือทำตัวให้ยุ่งจนไม่มีเวลาเหงากันค่ะ เช่น ไปเรียนปริญญาโท ปริญญาเอก เพิ่ม หรือลงเรียนออนไลน์กับเพื่อน กับคนในครอบครัว หรือไปเป็นอาสาสมัครต่าง ๆ เช่น ดูแลเด็ก ดูแลผู้สูงอายุ ดูแลสัตว์ป่วย เป็นต้น ซึ่งนอกจากคุณจะไม่มีเวลาให้ว่างแล้ว ยังเป็นการ up skill ให้เราเก่งขึ้น แกร่งขึ้น และยังสามารถทำเป็นประโยชน์ต่อคนรอบข้างและสังคมได้มากขึ้นอีกด้วยค่ะ
การอกหัก เป็นประสบการณ์สามัญประจำชีวิตที่เราต้องพบเจอ เพราะฉะนั้นแล้วการเรียนรู้เทคนิคการจัดการความรู้สึกเศร้าจากอาการอกหักไว้จึงเป็นเรื่องจำเป็นค่ะ เพราะถึงแม้คุณผู้อ่านจะไม่ได้นำมาใช้กับตัวเอง ก็ยังสามารถนำไปช่วยเยียวยาจิตใจเพื่อน หรือคนในครอบครัวที่กำลังอกหักได้อย่างมีประสิทธิภาพ ให้เขาสามารถกลับมามีความสุขในชีวิตโดยเร็วที่สุดค่ะ แล้วพบกันใหม่บทความจิตวิทยาหน้านะคะ
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
• คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
ประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก บัณฑิตสาขาวิชาเอกจิตวิทยาคลินิก เกียรตินิยมอันดับ 2 จากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตด้านการพัฒนาสังคม NIDA มีประสบการณ์ด้านจิตวิทยาเด็ก 4 ปี เป็นผู้ช่วยนักวิจัย ด้านจิตวิทยา 1 ปี ปัจจุบันเป็นนักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ และคุณแม่ของลูก 1 คน แมว 2 ตัว ที่ประยุกต์ใช้ศาสตร์ทางจิตวิทยาในการใช้ชีวิต
Comentários