top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

นักจิตวิทยาแนะนำ3 เทคนิคพัฒนาตนเองให้มีทักษะแบบเป็ด ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว


จากคำกลอนของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ที่ว่า “อันความรู้รู้กระจ่างแต่อย่างเดียว แต่ให้เชี่ยวชาญเถิดคงเกิดผล” อาจจะไม่ได้เป็นจริง 100% แล้วในโลกที่เราต้องมีการพัฒนาตนเองอยู่เสมอ ซึ่งเราจะเห็นได้ชัดจากผลกระทบของ Covid – 19 ที่ทำให้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางหลากหลายแขนง ต้องประสบภาวะว่างงาน เช่น นักบิน เชฟ ไกด์ ศิลปิน นักแสดง แต่กับคนที่มีทักษะแบบเป็ด (Multipotentialite) คือ สามารถทำงานได้หลากหลายสาขา มีความรู้หลายอย่าง ถึงแม้ว่าจะไม่เชี่ยวชาญเฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่งก็ตาม รวมถึงมีความยืดหยุ่น มีการพัฒนาตนเองอยู่เสมอ และพร้อมเรียนรู้จะสามารถเอาตัวรอดในสถานการณ์ที่ไม่มีความแน่นอนได้ดีกว่า


จากงานวิจัยทางจิตวิทยา หรือแนวคิดทางจิตวิทยาเอง ก็กล่าวว่า คนที่มีความยืดหยุ่นสูง พร้อมเรียนรู้ และมีความรู้ที่หลากหลาย สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้ดีกว่า คนที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน


David Epstein ได้กล่าวในเวที Ted Talk เรื่องความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านไว้อย่างน่าสนใจว่า คนที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ส่วนใหญ่จะฝึกความเชี่ยวชาญเฉพาะเรื่องมาตั้งแต่ยังเด็ก ภายใต้กฎที่เรียกว่า “10,000 ชั่วโมง” คือ เรามีความต้องการจะเชี่ยวชาญในด้านไหน ก็ต้องฝึกฝนด้านนั้น ๆ หรือหาความรู้ในด้านนั้น ๆ อย่างน้อย 10,000 ชั่วโมง และแน่นอนว่า ตัวอย่างบุคคลที่สำเร็จภายใต้กฎ 10,000 ชั่วโมง จะประกอบอาชีพนักกีฬา หรือนักหมากรุก เพราะทั้งการเล่นกีฬา และการเล่นเกมที่มีกฎชัดเจนอย่างหมากรุก จะเป็นการเรียนรู้ตามแนวคิดของนักจิตวิทยา ชื่อว่า Robin Hogarth ที่ว่า "สภาพแวดล้อมการเรียนรู้แบบอ่อนโยน" คือ ในการเล่นกีฬา เล่นเกม หรือทำอะไรก็ตามที่มีกฎชัดเจน มีวิธีการ กระบวนการซ้ำ ๆ เดิม ๆ เป็นรูปแบบชัดเจน ก็จะทำให้คุณเชี่ยวชาญในด้านนั้น ๆ ได้ไม่ยาก และความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของคุณก็จะส่งผลดีเลิศในสถานการณ์ที่แน่นอน ไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่กลับกัน หากคุณต้องใช้ชีวิตอยู่ในโลกความจริงที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางจะกลายเป็นอุปสรรคใหญ่ในการพัฒนาตนเองและการปรับตัวเพื่ออยู่บนโลกของคุณ


ด้วยเหตุนี้ ในโลกที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ ผู้เชี่ยวชาญจิตวิทยาจึงแนะนำว่า การพัฒนาตนเองให้มีทักษะแบบเป็ด (Multipotentialite) จะมีประโยชน์ และดีต่อสุขภาพจิตของเรามากกว่าการเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ซึ่งดิฉันได้รวบรวมแนวทางที่ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาแนะนำในการพัฒนาตนเองให้มีทักษะแบบเป็ด (Multipotentialite) ไว้ดังนี้ค่ะ


1. มองโลกในแง่ดี

ทักษะแรกที่ผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาแนะนำว่าในการพัฒนาตนเองให้มีทักษะแบบเป็ด (Multipotentialite) ควรจะฝึกเป็นอย่างแรก คือ การมองโลกในแง่ดีค่ะ เพราะการมองโลกในแง่ดีจะช่วยปรับทัศนคติต่อการใช้ชีวิตของเราให้เป็นไปในเชิงบวก คือ มองเห็นโอกาสที่จะ “มีความสุข” อยู่เสมอ เช่น การพัฒนาตนเอง การช่วยเหลือผู้อื่น การแบ่งปันความรู้กับผู้อื่น การเรียนรู้จากสิ่งต่าง ๆ เป็นต้น


ซึ่งการมองโลกในแง่ดีจะช่วยรักษาและเยียวยาจิตใจของเราเมื่อเราต้องพบเจออุปสรรค หรือต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก และในการพัฒนาตนเองให้มีทักษะแบบเป็ด(Multipotentialite) การมองโลกในแง่ดีจะทำให้เรามีกำลังใจอย่างมากในการเป็นเป็ด เพราะเราจะมีภูมิคุ้มกันต่อการถูกกล่าวหาว่า “ไม่เก่ง” และจะสามารถมองเห็นข้อดีของการเป็นเป็ดได้ไม่ยากเลยค่ะ

2. มีการพัฒนาตนเองอยู่เสมอ

ถึงแม้ว่าการมีทักษะแบบเป็ด (Multipotentialite) จะต้องรู้ลึกถึงระดับผู้เชี่ยวชาญ แต่ต้องรู้ให้เยอะ รู้ให้รอบด้าน รู้ให้หลากหลาย และรู้ให้มากพอที่จะสามารถทำงานตามทักษะนั้น ๆ ให้สำเร็จได้ ซึ่งการที่จะมีทักษะ ความรู้เช่นนี้ได้ ต้องอาศัยการพัฒนาตนเองอยู่เสมอ เช่น การเข้าคอร์สฝึกอบรมในสิ่งที่ตัวเองสนใจ การลงเรียนออนไลน์ในวิชาที่จำเป็นต่องาน การลงเรียนเพิ่มเติมในความรู้ หรือทักษะที่ไม่ถนัดแต่จำเป็นต้องใช้ ซึ่งในสมัยนี้การเข้าเรียน หรืออบรมในการพัฒนาตนเองทำได้ไม่ยาก และใช้เงินทุนไม่เยอะเลยค่ะ คอร์สเรียนฟรีก็มีมากมาย เพียงต้องอาศัยความขยัน การจัดสรรเวลา และการบริหารชีวิตที่เหมาะสมค่ะ


3. มีความรับผิดชอบในสิ่งที่ทำ

อีกแนวทางหนึ่งที่จะทำให้เราพัฒนาตนเองให้มีทักษะแบบเป็ด (Multipotentialite) และกลายเป็นซุปเปอร์เป็ด ก็คือ การมีความรับผิดชอบค่ะ นั่นก็คือ มีความพยายามทำให้งานที่ตัวเองรับผิดชอบสำเร็จ ถึงแม้ว่าจะยาก หรือมีอุปสรรคก็ตาม โดยการมีความรับผิดชอบจะเป็นคุณสมบัติหนึ่งที่จะให้เรามีความน่าเชื่อถือในสายงาน เป็นเป็ดที่ควรให้เกียรติ และสามารถทำให้เรามีความภาคภูมิใจในความเป็นเป็ดของเรา เพราะถึงแม้ว่าเราจะไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แต่เราก็มีทักษะที่หลากหลายจนสามารถทำงานได้สำเร็จและมีประสิทธิภาพค่ะ



การมีทักษะแบบเป็ด (Multipotentialite) สามารถตอบโจทย์นักศึกษาจบใหม่ที่อาจต้องทำงาน ไม่ตรงสายได้เป็นอย่างดี เพราะถึงแม้ว่าจะมีความรู้มาในสายงานหนึ่ง แต่ถ้าหากเรามีการมองโลกในแง่ดี มีการพัฒนาตนเองอยู่เสมอ และมีความรับผิดชอบในสิ่งที่ทำ เราก็สามารถใช้ความเป็นเป็ดในการสร้างสรรค์งานให้ออกมาดีเยี่ยมได้ค่ะ ซึ่งหากคุณเลื่อนอ่านประวัติของดิฉัน ก็จะเห็นได้ว่าดิฉันเองก็เป็นเป็ดเช่นเดียวกันค่ะ จบจิตวิทยาคลินิก มาทำงานนักสังคมสงเคราะห์ ที่มีเนื้องานแบบนักวิเคราะห์นโยบายและแผน แถมมีงานพิเศษเป็นเขียนบทความจิตวิทยาอีก เพราะฉะนั้น ใครที่เป็นเป็ด จะไม่เหงาเพราะเราเพื่อนกันค่ะ


 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

• คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS


สำหรับองค์กร

• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8


โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

อ้างอิง :

1. David Epstein. February 2020. Why specializing early doesn't always mean career success. [Online]. Form https://www.ted.com

2. นุช สัทธาฉัตรมงคล และ อรรถพล ธรรมไพบูลย์. 2559. ผู้นำการเปลี่ยนแปลงในยุคโลกาภิวัฒน์สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน. วารสาร ธุรกิจปริทัศน์. ปีที่ 8 ฉบับที่ 1 (มกราคม - มิถุนายน 2559). 177.

3. Kasikornthai. ข้อดีของคนเป็น “เป็ด” และวิธีอัปสกิลให้เป็น “เป็ดขั้นเทพ”. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อ 18 มิถุนายน 2564 จาก https://www.afterklass.com/post/detail/6050

 

ประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก

บัณฑิตสาขาวิชาเอกจิตวิทยาคลินิก เกียรตินิยมอันดับ 2 จากรั้ว มช. และมหาบัณฑิตด้านการพัฒนาสังคม NIDA มีประสบการณ์ด้านจิตวิทยาเด็ก 4 ปี เป็นผู้ช่วยนักวิจัยด้านจิตวิทยา 1 ปี ปัจจุบันเป็นนักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ ที่ประยุกต์ใช้ศาสตร์ทางจิตวิทยาในการปฏิบัติงานมากว่า 6 ปี

コメント


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page