ทำไมบางคนยิ่งเจ็บปวดยิ่งเจอเรื่องเลวร้ายยิ่งเข้มแข็ง 3 คำถามเช็คตัวเอง คุณมี Resilience หรือไม่ ?
เคยสงสัยไหมว่า ทำไมบางคนประสบพบเจอกับเรื่องที่เลวร้ายมาก ๆ แต่พวกเขากลับยังดูปกติราวกับว่าไม่เคยมีอะไรร้าย ๆ เกิดขึ้นกับชีวิตของพวกเขามาก่อนเลย อย่างเช่น เด็กบางคนที่อยู่ในเหตุการณ์สึนามิและต้องสูญเสียพ่อแม่ไป เด็กที่มีพ่อหรือแม่ป่วยเป็นโรคทางจิตเวช หรือ หญิงสาววัยในวัยนักเรียนที่ตั้งครรภ์อย่างไม่พร้อม เป็นต้น การที่กลุ่มคนบางกลุ่มพบเจอเรื่องเลวร้ายแล้วสภาพจิตใจไม่แตกสลายหรือมีอาการทางจิตเวช นั่นเป็นเพราะว่าพวกเขามีคุณสมบัติทางจิตวิทยาที่เรียกว่า Resilience
Resilience หรือความหมายในภาษาไทยก็มีผู้แปลแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับบริบทที่ผู้แปลต้องการนำคำว่า Resilience ไปใช่ อาทิ ความยืดหยุ่น การฟื้นคืนได้ ความเข้มแข็งทางใจ พลังสุขภาพจิต ซึ่ง Resilience นี้เองที่เป็นปัจจัยทางจิตวิทยาที่ทำให้คนเราสามารถลุกขึ้นมาได้อีกครั้งหรือบางคนถึงขั้นเข้มแข็งขึ้นกว่าเดิมหลังจากเจอเรื่องเลวร้าย หรือบทกวีของ Nietzshce ที่ว่า “อะไรที่มันฆ่าเราไม่ได้ มันจะทำให้เราแกร่งขึ้น (That which does not kill us makes us stronger.)” และคำว่า Resilience ในความหมายของสมาคมจิตวิทยาอเมริกัน (American Psychological Association: APA) หมายถึง กระบวนการหรือผลลัพธ์ของการปรับตัวต่อประสบการณ์ที่ยากลำบาก ซึ่งเป็นความสามารถในการมองประสบการณ์ที่ยากลำบากว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายโดยเชื่อว่าตนจะสามารถผ่านพ้นมันไปได้ ซึ่ง Resilience เป็นได้ทั้งคุณสมบัติที่มีอยู่ในบุคคลอยู่แล้วและเป็นทั้งทักษะของบุคคลในการปรับตัวต่อปัญหาความยุ่งหรือเรื่องเลวร้ายที่เกิดขึ้นกับตนเอง
หากจะอุปมา Resilience ให้ดูมีความเป็นรูปธรรมเข้าใจง่ายมากขึ้น ก็คงจะชวนให้คุณนึกถึงลูกบอลยางที่เราใช้บีบเวลาไปบริจาคโลหิต เมื่อเราออกแรงบีบลูกบอลก็จะหดตัว และเมื่อเราคลายแรงบีบลูกบอลก็จะเด้งกลับมากลม ๆ เหมือนเดิม เช่นเดียวกับเวลาที่เหตุการณ์ยุ่งยากหรือเรื่องเลวร้ายเกิดขึ้น สภาพจิตใจบุคคลก็จะเป็นเหมือนลูกบอลยางที่ถูกแรงบีบจนยุบตัว บุคคลที่มี Resilience ก็จะเป็นเหมือนลูกบอลยางที่มีคุณลักษณะคลายตัวได้ ในบางครั้งกระบวนการ Resilience จึงถูกเรียกว่า “bouncing back” แปลเป็นไทยว่า “กระเด้งกลับ” ในขณะเดียวกัน บุคคลที่ขาด resilience ก็จะเหมือนลูกบอลที่ไม่มีคุณสมบัติกระเด้งกลับ เมื่อถูกแรงบีบก็จะบุบบี้ไปไม่สามารถฟื้นคืนสู่สภาพเดิมได้อีก
ทั้งนี้ Resilience จะไม่สามารถเกิดขึ้นมาได้เองโดยไม่มีเหตุการณ์ที่กระตุ้นให้ Resilience ในบุคคลแสดงออกมา ไม่เหมือนกับที่คนเราจะสามารถคลาน นั่ง ยืน เดิน ได้เองตามธรรมชาติ แม้ว่าในบางบุคคลจะมี Resilience เป็นคุณสมบัติภายในอยู่แล้ว แต่ตราบใดที่ชีวิตยังราบรื่นและมีความสุขดี Resilience ในบุคคลก็จะยังไม่ปรากฏออกมา นั่นอาจเป็นเพราะว่าบุคคลยังไม่จำเป็นต้องใช้มันนั่นเอง แต่ Resilience จะปรากฏออกมาเมื่อมีเหตุการณ์ยุ่งยากหรือเรื่องเลวร้ายเกิดขึ้น บางครั้ง resilience จึงถูกมองว่าเป็น “buffer” หรือตัวกันกระแทก ทำให้สภาพจิตใจของบุคคลไม่ได้รับความเสียหายจากเรื่องราวที่มากระทบต่อจิตใจ
การศึกษาวิจัยของ Grotberg งานวิจัยคลาสสิกที่ผู้วิจัยตัวแปร Resilience จะต้องอ่านงานวิจัยนี้ ก็คืองานวิจัยที่มีชื่อว่า “The International Resilience Project” ที่ทำการศึกษาแหล่งที่มาของการฟื้นคืนได้ในเด็กที่ประสบความทุกข์ยากหรือสงครามใน 15 สถานการณ์ กลุ่มตัวอย่างมาจาก 14 ประเทศทั่วโลก (รวมถึงประเทศไทย) โดยงานวิจัยนี้ทำให้ค้นพบองค์ประกอบ 3 ด้านของ Resilience ได้แก่ I have, I can, I am
ทีนี้...คุณอาจจะมีคำถามว่า “แล้วจะสามารถเช็คได้ยังไงว่าตัวเองมี Resilience หรือเปล่า?” ผู้เขียนก็จะชวนคุณเช็คโดยมองผ่านองค์ประกอบ 3 ด้าน ของ Resilience ดังนี้
1. I have (ฉันมี...หรือไม่?)
ฉันมีคนที่ให้การสนับสนุนหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว ครู เพื่อน หรือหน่วยงานองค์กรที่เข้ามาสนับสนุนเมื่อประสบปัญหา เช่น ได้รับการดูแลด้านสุขภาพ การศึกษา สวัสดิการต่าง ๆ รวมถึง การมีแบบอย่างที่ดีในการดำเนินชีวิต
2. I can (ฉันสามารถ...หรือไม่?)
ฉันสามารถสื่อสารความรู้สึกนึกคิดออกไปได้ แก้ปัญหาได้ และที่ไม่น่าเชื่อเลยก็คือ empathy ก็อยู่ในองค์ประกอบด้านนี้ด้วยเหมือนกัน ก็คือ ฉันสามารถเข้าใจความรู้สึกของตนเองและผู้อื่น
3. I am (ฉันเป็น...หรือไม่?)
บุคคลที่มี Resilience ติดตัวมาอยู่แล้วมักจะปรากฏตั้งแต่พื้นอารมณ์ (temperament) เช่น ได้รับการบอกเล่าจากผู้เลี้ยงดูว่าตนเป็นเด็กเลี้ยงง่ายไม่ขี้งอแง นอกจากนั้น องค์ประกอบด้านนี้ยังแสดงออกมาในลักษณะของการเป็นคนที่มีความภูมิใจในตนเอง มีความหวังมีศรัทธาและมีความเชื่อมั่น เช่น เชื่อว่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นนี้มันจะผ่านพ้นไปได้ในที่สุด มีทักษะในการพูดคุยต่อรองเพื่อลดความขัดแย้ง
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าคุณลองถามคำถาม 3 ข้อเพื่อเช็คกับตัวเองแล้วพบว่า คุณไม่มีองค์ประกอบด้านใดด้านหนึ่ง หรือแม้แต่ ‘ไม่มีเลย’ ก็ใช่ว่าคุณจะต้องกลายเป็นลูกบอลที่บุบบี้ไม่สามารถกลับมาเป็นลูกบอลกลม ๆ อย่างเดิมได้อีก เพราะในทางมนุษยนิยมนั้นเชื่อว่า แม้มนุษย์จะไม่ได้รับต้นทุนอะไรบางอย่างที่มนุษย์คนอื่นมี แต่มนุษย์สามารถสร้างมันขึ้นมาได้ เหมือนกับที่ Carl Jung ได้กล่าวไว้ว่า “I am not what happened to me, I am what I choose to become.”
สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ
iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่
iSTRONG Mental Health
ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร
บริการของเรา
สำหรับบุคคลทั่วไป
• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa
• คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS
สำหรับองค์กร
• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8
โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong
บทความที่เกี่ยวข้อง:
อ้างอิง:
1) APA Dictionary of Psychology
2) นิลุบล สุขวณิช. (2559). การฟื้นคืนได้ในแม่วัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อม. วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ประวัติผู้เขียน : นิลุบล สุขวณิช
จบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาจิตวิทยา(คลินิก) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และระดับปริญญาโท สาขาจิตวิทยาการปรึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีประสบการณ์ด้านการจิตวิทยาการปรึกษากว่า 7 ปี ปัจจุบันเป็นนักจิตวิทยาการปรึกษาประจำอยู่ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และเป็นผู้เขียนบทความของ iSTRONG
Comments