top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

3 เทคนิคจิตวิทยา หยุด ! อาการอกหักแก้พิษรักระยะยาว

หลายคนคงเคยได้ยินวลีที่ว่า “อกหัก ดีกว่ารักไม่เป็น” ใช่ไหมคะ และหลายคนก็มักมีอาการ “หัวใจดวงนี้ไม่หลาบจำ เหมือนโดนซ้ำ ๆ แล้วสะใจ หัวใจนี่มันงมงาย ตักเตือนไม่เคยฟังกัน” เหมือนท่อนฮุค ของเพลงเคลิ้ม วง Slot Machine กันใช่ไหมคะ แต่ดิฉันเข้าใจทุกท่านที่เป็นนักรบในสนามรักนะคะว่าไม่มีใครอยากอกหักบ่อย ๆ หรอก มันเสียสุขภาพจิต และสถิติทางจิตวิทยาก็ชี้ชัดว่าอาการอกหักหากเกิดขึ้นกับใครไม่ว่าครั้งเดียวแต่รุนแรง หรือเกิดซ้ำ ๆ บ่อย ๆ คงไม่ดีแน่ เพราะเมื่อเราอกหักครั้งหนึ่ง เราจะเกิดความรู้สึกที่ทางจิตวิทยา เรียกว่า Low Self – esteem คือ สูญเสียความมั่นใจ ไม่มีความภูมิใจในตัวเอง จนถึงขั้นไม่กล้าเริ่มต้นรักครั้งใหม่เพราะคิดว่าตัวเองดีไม่พอ


นอกจากนี้เมื่อเราอกหัก เราจะมีอาการคล้ายโรคซึมเศร้า คือ มีความรู้สึกเศร้า ซึม เบื่ออาหาร เซ็งชีวิต โลกมืดหม่น ร้องไห้ง่าย ๆ กับเรื่องเดิม ๆ โดยในบทความจิตวิทยานี้ จะไม่ขอพูดถึงสาเหตุของการอกหัก เพราะมันเป็นเรื่องยุ่งยาก ซับซ้อนเกินกว่าที่นักจิตวิทยาเองจะสามารถทำความเข้าใจได้ เพราะบางคนก็อกหัก เพราะ “ดีเกินไป” ในขณะที่หลายคนก็เจ็บปวดกับความรัก เพราะ “รักคนไม่ดี” ดิฉันจึงสรุปเอาเองว่า เราอกหักเพราะ “อีกฝ่ายไม่รักเราแล้ว” เท่านั้นเลยค่ะ ดังนั้นดิฉันจึงขอนำเสนอ 3 เทคนิคจิตวิทยาในการแก้พิษรักระยะยาว เพื่อให้เมื่อเรามีรักครั้งใหม่จะได้สดใสกว่าเดิม


1. ฝึกใช้ I-Message ให้ชิน

I-Message คือเทคนิคการสื่อสารทางจิตวิทยาที่ใช้ในการปรับการสื่อสารให้ดูเป็นมิตร น่าฟัง สามารถถ่ายทอดความคิด ความรู้สึกของเรา เพื่อให้คู่สนทนาเกิดการเปลี่ยนแปลงทางความคิด ความรู้สึก ทัศนคติ แรงจูงใจรวมไปถึงพฤติกรรมให้เป็นไปในทางที่ดีขึ้นได้ โดยวิธีการฝึกก็สามารถทำได้โดยวิธีดังต่อไปนี้ค่ะ


  • เปลี่ยนประโยคการสื่อสาร โดยขึ้นต้นจาก “เธอ” เป็น “ฉัน” เช่น เปลี่ยนจากการบอกแฟนว่า “เธอหัดมาตรงเวลาเสียบ้างสิ ฉันมารอเธอนานแล้ว” เปลี่ยนเป็น “ฉันจะรู้สึกดีมากเลยค่ะถ้าคุณมาตามเวลาที่เราตกลงกัน เพราะเราจะได้มีเวลาอยู่ด้วยกันมากขึ้น” แบบนี้น่าฟังมากขึ้นใช่ไหมคะ


  • เปลี่ยนจากการวิจารณ์ เป็นการบอกความคิด ความรู้สึก ความต้องการ และความคาดหวังของเรา เช่น หากเราเคยตำหนิแฟนของเรา ว่า “ทำไมเธอถึงไม่มีความรับผิดชอบแบบนี้ รับปากอะไรไปทำไม่ได้สักอย่างเดียว” เปลี่ยนเป็น “ฉันรู้สึกว่าช่วงนี้คุณหลงลืมเรื่องที่เราคุยกันบ่อย ๆ เกิดอะไรขึ้นหรือเปล่าคะ” ซึ่งการเปลี่ยนประโยคเช่นนี้นอกจากจะสามารถบอกความคิด ความรู้สึกของเราแล้ว ยังเป็นการเปิดโอกาสให้อีกฝ่ายได้อธิบายเหตุผลด้วยค่ะ


  • ใช้คำพูดที่ฟังดูเป็นมิตร เช่น เปลี่ยนจากประโยคที่ว่า “ทำไมเธอถึงไม่โทรหาฉันเหมือนทุกวัน” ซึ่งทำให้คนฟังรู้สึกถูกตำหนิ เปลี่ยนเป็น “ฉันรู้สึกกังวลที่คุณไม่ได้โทรหาฉันเหมือนทุกวันเกิดอะไรขึ้นหรือเปล่า” คนฟังก็จะรับรู้ได้ว่าเรารู้สึกอย่างไร และมีแนวโน้มที่จะทำตามความต้องการของเรามากขึ้นค่ะ


  • ใช้คำพูดที่แสดงถึงอารมณ์ทางบวก หรือความรู้สึกด้านบวก เช่น จากที่เคยบอกว่า “ฉันไม่ชอบเวลาเธอชมผู้หญิงคนอื่น หรือพูดถึงผู้หญิงคนอื่น” เปลี่ยนเป็น “ฉันชอบเวลาที่คุณพูดถึงฉัน” หรือ “ฉันปลื้มมากเลยเวลาคุณชื่นชมฉัน”


2. ฝึก Empathy จนกลายเป็นธรรมชาติของเรา

Empathy เป็นเทคนิคทางจิตวิทยาแบบหนึ่งที่มีความหมายใกล้เคียงกับคำว่า “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” เช่น เมื่อเห็นคนที่อกหัก หรือผิดหวังจากความรัก เราจะเห็นอกเห็นใจคนนั้น และมีความปรารถนาดีที่จะให้ความช่วยเหลือเขา โดยการฝึก Empathy สามารถทำได้โดยวิธีต่อไปนี้ค่ะ


  • ใส่ใจคนอื่นให้มากขึ้น การฝึกใส่ใจคนอื่น เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการ Empathy ค่ะ ไม่ว่าจะเป็นการแสดงความห่วงใย การแสดงความยินดีในโอกาสต่าง ๆ การถามไถ่สารทุกข์สุขดิบ ก็สามารถสร้างความใส่ใจผู้อื่นได้ดีค่ะ


  • รักษาสัญญา คือ การแสดงความรับผิดชอบต่อคำพูดของตนเอง โดยการทำให้ได้ตามคำสัญญา ซึ่งเป็นการฝึก Empathy ในการคิดถึงความรู้สึกของผู้อื่นหากเราไม่รักษาสัญญาค่ะ


  • มีความซื่อตรง ทั้งการซื่อสัตย์ต่อความรู้สึกของตนเอง การซื่อตรงกับผู้อื่น ไม่เอาเปรียบผู้อื่น ไม่เปิดเผยความลับของผู้อื่นที่อุตส่าห์ไว้ใจเล่าให้เราฟัง และไม่พูดถึงผู้อื่นลับหลังในทางที่ไม่ดีค่ะ


  • รู้จักขอโทษ การรู้จักขอโทษ เป็นการแสดงออกถึงการเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น และเป็นการแสดงความรับผิดชอบในสิ่งที่ตนเองทำค่ะ


  • ไม่ตัดสินคนอื่น หลายครั้งที่เราได้ยินเรื่องราวของคน ๆ หนึ่งโดยที่เรายังไม่ทันรู้จัก หากเราตั้งแง่ต่อคนนั้นตามเรื่องที่เราได้ยินมา เราก็จะมีอคติต่อคนนั้น แต่ถ้าหากเรารับฟังเรื่องราวของเขาโดยไม่ตัดสิน เราก็สามารถเป็นมิตรกับทุกคนได้ไม่ยากค่ะ


  • ให้อภัย การให้อภัยเป็นเรื่องที่ยาก แต่ถ้าหากทำได้จะเป็นเรื่องที่เยี่ยมยอดค่ะ เพราะไม่มีใครอยากทำผิดและถึงแม้เค้าเคยทำร้ายเรา แต่เค้าแสดงออกอย่างจริงใจว่าสำนึกผิดและต้องการเปลี่ยนแปลงตัวเอง การให้อภัยก็เป็นการให้โอกาสเขาในการเป็นคนที่ดีขึ้นได้ค่ะ


3. ลดความคาดหวังในชีวิต แต่ใช้ชีวิตด้วยความหวัง

ปัญหาใหญ่ที่ทำให้ความรักของเรามีปัญหา ที่นำพาให้เราอกหัก ก็คือ “ความคาดหวัง” ค่ะ เพราะเมื่อคนเรามีความรัก ความผูกพัน หรือใกล้ชิดกับใครก็มักจะไปตั้งความหวัง หรือคาดหวังให้คน ๆ นั้น เป็นไปอย่างที่ใจเราต้องการ ทั้ง ๆ ที่ความคาดหวังนั้นอาจไม่ตรงกับธรรมชาติของเขา หรือไม่ตรงกับความต้องการของเขา ทำให้เกิดปัญหาในความสัมพันธ์ขึ้นมาได้ โดยคุณฮาน่า ทัศนาวลัย จักรพงษ์ เคยให้สัมภาษณ์ถึงเคล็ดลับการใช้ชีวิตคู่กับ ฮิวโก้ จุลจักร จักรพงษ์ คือ การให้อีกฝ่ายได้ใช้เวลาส่วนตัวในสิ่งที่ชอบ โดยไม่ยุ่งวุ่นวายมากจนเกินไป เช่นเดียวกับโย่ง อาร์มแชร์ ที่ได้กล่าวถึงภรรยา ก้อย แซทเทอร์เดย์ เซโกะ ว่า “รักในความเรียบง่ายของเขา”


ถึงแม้ว่าทั้ง 3 เทคนิคจิตวิทยาในการแก้พิษรักระยะยาว จะไม่ได้การันตีว่าจะทำให้คุณพบรักแท้ หรือรักจนวันตาย แต่ดิฉันขอรับรองเลยว่า หากนำทั้ง 3 เทคนิคไปใช้ในชีวิตประจำวัน จะทำให้คุณรักตัวเอง และเป็นที่รักของคนรอบข้างแน่นอนค่ะ

 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

• คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS


สำหรับองค์กร

• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8


โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

ประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก

บัณฑิตสาขาวิชาเอกจิตวิทยาคลินิก เกียรตินิยมอันดับ 2 จากรั้ว มช.และมหาบัณฑิตด้านการพัฒนาสังคม NIDA มีประสบการณ์ด้านจิตวิทยาเด็ก 4 ปี เป็นผู้ช่วยนักวิจัย ด้านจิตวิทยา 1 ปี ปัจจุบันเป็นนักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ ที่ประยุกต์ใช้ศาสตร์ทางจิตวิทยาในการปฏิบัติงานมากว่า 6 ปี

Comments


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page