top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

3 เทคนิคจิตวิทยา ที่จะช่วยให้การออมเงินของคุณสำเร็จได้ตามเป้าหมาย


การออมเงิน” ก็เหมือนกับการทานผัก ที่ทุกคนรู้ว่าดี แต่ทำจริงได้ยากมาก ยิ่งในสภาวะเศรษฐกิจแบบในปัจจุบันที่หมุนเงินจนมือพันกันเพราะเงินตึงมือไปหมด แต่เมื่อถึงเวลาฉุกเฉินก็ฉุกเฉินเลยจริง ๆ กลายเป็นการสร้างหนี้ไม่จบสิ้น จนหลายคนอยู่ในทำเนียบ “อายุน้อยหนี้เป็นล้าน” ซึ่งดิฉันเองก็มีชื่อเข้าทำเนียบกับเขาเหมือนกัน ทั้งค่าบ้าน ค่าเทอมลูก และอีกสารพัดค่าที่มาตามนัดบ้าง มาแบบเซอร์ไพส์บ้าง จนทำให้เกิดความเหนื่อย และเมื่อมองไปอนาคตก็เป็นท้อว่าเราจะใช้ชีวิตแบบนี้เรื่อย ๆ หรือ? จนไปได้ฟัง Ted talk ของผู้เชี่ยวชาญทางจิตวิทยาพฤติกรรมศาสตร์ ชื่อว่า Wendy De La Rosa ที่ได้ศึกษาพฤติกรรมการออมเงินของคนเรา แล้วนำมาวิเคราะห์เป็นเทคนิคการออมเงิน ก็ทำให้พอมองเห็นทางในการจะออมเงินกับเขาบ้าง ในบทความจิตวิทยานี้ จึงขอมาแชร์ 3 เทคนิคจิตวิทยา ที่จะช่วยให้คุณออมเงินได้สำเร็จตามเป้าหมาย มาให้อ่านกันค่ะ


1. เก็บเงินออมให้เหมือนชำระหนี้

โดยธรรมชาติทางพฤติกรรมของคนเรานั้นมักจะคาดหวังว่า “ตัวเราในอนาคตต้องดีกว่าเดิม” นั่นจึงทำให้ในเวลาที่เราวางแผนการออมเงิน เรามักจะคิดสัดส่วนเงินออมในอัตราที่เกินจริง และทำไม่ได้ จากงานศึกษาทางจิตวิทยาของ De La Rosa ในการสอบถามกลุ่มตัวอย่างเดิมใน 2 ช่วงเวลา คือ ก่อนได้รับเงินคืนภาษี และหลังได้รับเงินคืนภาษีแล้ว พบว่า ในช่วงก่อนได้รับเงินคืนภาษี กลุ่มตัวอย่างได้กำหนดอัตราการออมเงินที่ได้จากการคืนภาษีไว้สูงถึง 27% แต่กลับลดลงอย่างมากในช่วงได้รับเงินคืนภาษีแล้ว เหลือเงินออมเพียง 17% เท่านั้น นั่นก็เพราะเมื่อคุณอยู่กับปัจจุบัน ได้เงินที่เคยเห็นว่าอยู่ในอนาคต มาอยู่ในปัจจุบันแล้ว คุณจะมองเห็นได้อย่างชัดเจนว่าคุณต้องจ่ายไปกับอะไรบ้าง นั่นจึงทำให้อัตราการออมลดลง De La Rosa จึงได้แนะนำเทคนิคในการออมเงินข้อที่ 1 ว่า ให้เก็บเงินออมให้เหมือนชำระหนี้ โดยคุณควรจะมีบัญชีอีกหนึ่งบัญชีเอาไว้สำหรับการออมเท่านั้น และให้ตั้งหักบัญชีอัตโนมัติจากบัญชีเงินเดือนเหมือนการชำระหนี้อื่น ๆ เพื่อโอนเข้าบัญชีเงินออมในอัตราส่วนที่พอดี คือ 3 – 12% แล้วคุณก็จะมีเงินเก็บในทุก ๆ เดือนค่ะ


2.มุ่งมั่นในการเก็บเงินให้เหมือนกำลังจะปีใหม่

คุณจะสังเกตเห็นว่าคุณมักจะมีความมุ่งมั่นและให้สัญญากับตัวเองเมื่อชีวิตของคุณกำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ เช่น เมื่อใกล้ถึงปีใหม่ คุณมักจะบอกกับตัวเองว่า “ฉันจะลดน้ำหนัก” หรือ เมื่อเริ่มงานที่ใหม่ คุณจะมีปณิธานว่า “ฉันจะตั้งใจ และขยันทำงาน” ซึ่งในทางจิตวิทยา เรียกปรากฏการณ์ทางพฤติกรรมเช่นนี้ ว่า “ปรากฏการณ์การเริ่มต้นใหม่” ซึ่ง De La Rosa ได้ทำการศึกษาทางจิตวิทยาเกี่ยวกับปรากฏการณ์ดังกล่าวในวัยสูงอายุ ผ่านเว็บไซต์ที่ช่วยให้ผู้สูงอายุได้แบ่งปันที่พักอาศัยให้กับกลุ่มคนที่ต้องการ โดยในการศึกษาได้ทำการทดลองกับสื่อโฆษณา 2 รูปแบบ คือ แบบแรกใช้คำในโฆษณา ว่า “คุณเริ่มอายุเยอะแล้วนะ คุณพร้อมสำหรับการเกษียณหรือยัง? การแบ่งปันที่พักช่วยคุณได้” กับแบบที่ 2 ใช้คำโฆษณา ว่า “คุณอายุ 64 ย่าง 65 แล้วนะ คุณพร้อมสำหรับการเกษียณรึยัง? การแบ่งปันที่พักช่วยคุณได้” ผลการศึกษาพบว่า โฆษณาในรูปแบบที่ 2 ที่เน้นย้ำให้เห็นว่าชีวิตกำลังจะเปลี่ยนแปลง มีคนเข้าชมจำนวนมากกว่าการโฆษณาแบบแรกอย่างมาก และมีคนสมัครเข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้นอย่างมีนับสำคัญ ดังนั้น เมื่อคุณเห็นว่าชีวิตของคุณกำลังจะเดินทางสู่ความเปลี่ยนแปลง คุณจะเห็นถึงความสำคัญของการเตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงนั้น เพราะฉะนั้นแล้ว เมื่อคุณกำลังจะออมเงินขอให้ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงในอนาคต แล้วคุณจะตั้งมั่นในการออมมากขึ้น


3. ตัดรายจ่ายที่จ่ายน้อยแต่บ่อยครั้งออกไปบ้าง

จากการรวบรวมสถิติการใช้จ่ายของกลุ่มตัวอย่างชาวนิวยอร์ก โดย De La Rosa พบว่า รายจ่ายที่เป็นเงินจำนวนมากที่สุดในแต่ละเดือนของชาวนิวยอร์ก ไม่ใช่การซื้อของชิ้นใหญ่ ๆ เข้าบ้าน หรือซื้อของแพง ๆ แต่เป็นการจ่ายเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่จ่ายทุกวันอย่างเช่น การรับประทานอาหารนอกบ้าน การดื่มกาแฟนอกบ้าน ค่าใช้จ่ายสำหรับบริการเล็ก ๆ น้อย ๆ ผ่านแอปพลิเคชั่น เป็นต้น ดังนั้น หากคุณจดบันทึกทุกการใช้จ่ายไม่ว่าจะเล็กน้อยแค่ไหนก็ตามที่คุณใช้จ่ายในหนึ่งเดือน แล้วนำมาพิจารณาดู คุณจะเห็นเลยค่ะว่าคุณสามารถลดรายจ่ายในส่วนไหนได้บ้าง เช่น ทำอาหารเองมากขึ้น ทานอาหารนอกบ้านลดลง ลองชงกาแฟใส่แก้วเก็บอุณหภูมิไปดื่มที่ทำงานแทนการซื้อดื่ม ดูภาพยนตร์ผ่านสตรีมมิ่งต่าง ๆ แทนการไปดูในโรงภาพยนตร์ แล้วสิ้นเดือนต่อมาคุณจะเห็นได้อย่างชัดเจนเลยค่ะว่า คุณมีเงินเหลือสำหรับการออมเพิ่มมากขึ้น แถมยังมีเวลาเหลือ ๆ ที่จะใช้ร่วมกับคนที่คุณรัก หรือใช้สำหรับการพักผ่อน การดูแลตัวเองด้วยค่ะ


นอกจากนี้ De La Rosa ได้เน้นย้ำว่า พฤติกรรมการออมเงินนั้นไม่เกี่ยวกับระดับความฉลาด ไม่เกี่ยวกับความมุ่งมั่น หรือความตั้งใจ แต่มันขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนในการออม จากการศึกษาทางจิตวิทยาของ De La Rosa เอง ได้พบว่า เมื่อแบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มแรกรับรู้บัญชีรายรับ – รายจ่าย เป็นรายเดือน กับกลุ่มที่ 2 ที่รับรู้บัญชีรายรับ – รายจ่าย เป็นรายสัปดาห์ ผลปรากฏว่า เมื่อสิ้นเดือน กลุ่มที่ 2 กลับมีเงินออมมากกว่ากลุ่มแรกอย่างมีนัยยะสำคัญ นั่นก็เพราะพวกเขารับรู้การเคลื่อนไหวทางการเงินถี่กว่า จึงเกิดความตระหนักที่จะใช้เงินมากกว่านั่นเอง


พวกเราเองก็เช่นกันค่ะ หากมีการปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการออมเงิน รวมถึงทำตาม 3 เทคนิค คือ เก็บเงินออมให้เหมือนชำระหนี้ มุ่งมั่นในการเก็บเงินให้เหมือนกำลังจะปีใหม่ และตัดรายจ่ายที่จ่ายน้อยแต่บ่อยครั้งออกไปบ้าง คุณก็สามารถออมเงินได้ตามเป้าหมายที่คุณตั้งไว้ ให้มีพอใช้ในยามฉุกเฉินแน่นอนค่ะ


สำหรับใครที่กำลังเครียด กังวล คิดมาก ทั้งเรื่องของปัญหา Burn Out จากการทำงาน ปัญหาความสัมพันธ์ต่างๆ ในครอบครัว คนรัก ไปจนถึงภาวะต่างๆ เช่น ซึมเศร้า ทุกปํญหาสำคัญและเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเราเสมอ


iSTRONG ยินดีให้บริการ ปรึกษาด้านสุขภาพจิตโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ดูรายละเอียดได้ที่นี่


 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

• คอร์สฝึกอบรม การเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา : http://bit.ly/3RQfQwS


สำหรับองค์กร

• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8


โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

บทความแนะนำ :


อ้างอิง :

[1] Wendy De La Rosa. (Feb,2019). 3 psychological tricks to help you save money. [Online].From https://www.ted.com/talks/wendy_de_la_rosa_3_psychological_tricks_to_help_you_save_money/transcriptประวัติผู้เขียน : จันทมา ช่างสลัก คุณแม่ของลูก 1 คน แมว 1 ตัว ที่พยายามใช้ความรู้ทางจิตวิทยาที่ร่ำเรียนมาและประสบการณ์การทำงานด้านจิตวิทยาพัฒนาการเด็ก มาสร้างความสุขในการใช้ชีวิต ดูแลครอบครัว และการทำงาน รวมถึงมีความสุขกับการได้เห็นว่าบทความจิตวิทยาที่เขียนไปโดนใจคนอ่าน


Comments


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page