top of page
GDN 980 x 120 psychiatrist.jpg

3 ขั้นตอนเลือก Passion ที่ใช่ให้ตัวเราเอง


ในปัจจุบันคำว่า Passion เป็นคำที่ใช้กันทั่วไป แต่หลายครั้งก็เป็นการใช้ที่ไม่ตรงกับความหมายเสียทีเดียวนัก (ดูความหมายของ Passion แบบนักจิตวิทยาได้ที่ https://www.istrong.co/single-post/whats-the-passion ) หรือหากจะให้สรุปโดยรวบรัดที่สุดนั้น Passion ก็คือ “ความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะลงมือทำในสิ่งหนึ่ง ๆ ให้ได้” หรือบางนิยามในภาษาอังกฤษคือ “Strong motivation mixed with intense emotion” ซึ่งในเรื่องของความหมายนั้นเราคงไม่ลงรายละเอียดเพิ่มเติมในบทความนี้ แต่เราจะมาพูดกันว่าทำอย่างไรเราถึงจะรู้ได้ว่าอะไรกันแน่ที่เป็น Passion ของเรา สิ่งที่เราพบเจออยู่ตอนนี้มันจะสามารถพัฒนากลายไปเป็น Passion ของเราได้หรือไม่


เพื่อความเข้าใจมากยิ่งขึ้นโดยไม่ต้องใช้ศัพท์เทคนิคใด ๆ ผมจะขอยกตัวอย่างชีวิตของชายคนหนึ่งที่เป็นพนักงานออฟฟิศ เขาไม่มีความสนุกสนานในการทำงานเลย แม้ว่าการทำงานของเขานั้นจะสะดวกสบายเป็นอย่างมาก เขานั่งทำงานในห้องแอร์เย็นสบาย อุปกรณ์สำนักงานและสถานที่สะอาดสะอ้าน มีรายได้และสวัสดิการเพียบพร้อม งานก็ทำจนชำนาญสามารถจัดการได้ทุกปัญหาที่จะเกิดขึ้น ที่ทำงานกับคอนโดก็ใกล้จนเดินถึงกันได้ เขาทำงานได้สำเร็จทุกชิ้นแล้วกลับคอนโด แม้ชีวิตจะราบรื่นปราศจากอุปสรรค แต่ชายคนนี้รู้สึกว่าชีวิตไม่มีความหมายเลย นี่ไม่ใช่สิ่งที่เขาต้องการ


ในเวลาต่อมาชายคนเดียวกันได้ไปเดินอยู่บนทางเดินป่าขึ้นภูกระดึง การเดินเท้าใช้เวลาค่อนวันและยากลำบากไม่น้อย อากาศร้อนอบอ้าวและสภาพทางเดินที่ขรุขระตลอดทาง หิว เหนื่อย หมดแรง เปรอะเปื้อน ขาพลิก ตะคริว อุปสรรคทุกอย่างอยู่รายรอบตัวเขาเต็มไปหมด แต่เขาก็สามารถเดินขึ้นยอดภูได้สำเร็จ ชายหนุ่มรู้สึกตื่นเต้นดีใจกับสิ่งที่ทำได้แม้จะไม่ได้รับผลตอบแทนใด ๆ จากการเดิน


แต่ป้ายที่เขียนว่าเราคือผู้พิชิตภูกระดึงที่ได้เห็นกับตาก็ทำให้เขารู้สึกมีความสุขอย่างมาก ต่อมาเขาทำบล็อกเกี่ยวกับการเตรียมตัวเดินขึ้นภูกระดึง อาสาตอบคำถามที่นักท่องเที่ยวสอบถามมาในเว็บไซต์ท่องเที่ยว และยังหาโอกาสไปเดินป่าที่อื่น ๆ ทั่วไทยเพื่อนำข้อมูลรีวิวการเดินป่ามาลงบล็อกเสมอ ๆ สำเร็จบ้างล้มเหลวบ้าง แต่เขายังวางแผนที่จะเดินป่าอยู่เสมอ


อะไรคือความแตกต่างระหว่างเรื่องราวทั้งสอง ทั้ง ๆ ที่ตัวละครคือชายคนนี้เป็นคน ๆ เดียวกัน ?

ทำไมเขาถึงมีความสุขกับกิจกรรมที่สำเร็จบ้างล้มเหลวบ้าง กิจกรรมที่เหน็ดเหนื่อย ลำบาก บาดเจ็บ ไม่มีผลตอบแทนเป็นตัวเงิน แทนที่จะมีความสุขกับการอยู่ในออฟฟิศเย็นสบาย สะดวก ทำงานง่าย ๆ ให้จบวันแล้วไปพัก ได้รับผลตอบแทนที่ดี คำตอบก็คือ Passion ไม่จำเป็นต้องเกี่ยวกับเรื่องผลตอบแทนทางกายภาพก็ได้


หลายคนทำงานประจำเพื่อให้มีรายได้หล่อเลี้ยงตัว จากนั้นก็ใช้เวลาว่างไปทำในสิ่งที่เป็น passion เพื่อให้ได้ความรู้สึกที่ดีมาหล่อเลี้ยงใจ บางคนโชคดีค้นพบ Passion ได้ไว บางคนโชคดีกว่าสามารถเชื่อมโยง Passion กับงานที่ทำจนได้ทั้งความสุขและรายได้ที่ดี แต่สำหรับใครหลายคนที่ยังค้นหา Passion ของตัวเองไม่เจอ หรือไม่แน่ใจ ขอให้ลองใช้ตัวแปรเหล่านี้ในการคัดกรองดูว่ากิจกรรมไหนกันแน่ในชีวิตที่เป็น Passion ของเราครับ


1. สังเกตว่าการได้ “รู้เพิ่ม” ในเรื่องอะไรที่ทำให้คุณตื่นเต้น (ที่ไม่ใช่เรื่องซุบซิบชาวบ้าน)

แม้ว่าจะเป็นการเรียนรู้เพิ่มทีละเล็กละน้อยก็ตาม เป็นเรื่องปกติที่เราจะได้พบหรือเรียนรู้ข้อมูลใหม่ ๆ เข้ามาในแต่ละวัน แต่จะมีบางเรื่องที่ดึงความสนใจของเราได้แม้ว่าจะเล็กน้อยแค่ไหนก็ตาม และอาจเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับชีวิตของเราในตอนนั้นเลยก็เป็นได้ หมั่นสังเกตข้อมูลที่ทำให้เราเกิดแสงวาบในหัวและเกิดความสนใจโดยไม่ต้องมีเหตุผลใด ๆ อธิบาย เช่น สนใจเรื่องส่วนประกอบอาหาร สนใจเรื่องสิงสาราสัตว์ สนใจเรื่องเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของผู้คน สนใจเรื่องน้ำหอม สนใจเรื่องต้นไม้ดอกไม้ สนใจเรื่องเครื่องยนต์กลไก ฯลฯ


2. ลิสต์สิ่งที่เราให้ความสนใจ


สิ่งที่เราให้ความสนใจเป็นพิเศษจากข้อที่แล้วอาจจะมีหลายเรื่องและไม่เกี่ยวข้องกันเลย ไม่ต้องตกใจ ขอให้จดเป็นลิสต์ออกมาก่อนว่ามีเรื่องอะไรบ้าง เราจะนำลิสต์นี้เองมาคัดกรองความเป็นไปได้ที่จะมีสิ่งใดที่อาจจะเป็น Passion ของคุณบ้าง มันอาจจะดูเหมือนมีขั้นตอนอยู่บ้าง แต่การกลั่นกรองจนรู้แน่ชัดว่าสิ่งใดคือ Passion ของคุณมีความสำคัญมาก


เพราะมันจะทำให้เรารู้ว่านอกจากชีวิตประจำวันที่แสนน่าเบื่อหน่ายแล้วมีอะไรที่คอยทำให้ชีวิตของเรากลับมามีความสมดุลบ้าง และหาก Passion ของเรานั้นตรงกับสิ่งที่เราทำได้ทันทีและเป็นสิ่งที่เป็นการแก้ไข pain ของคนทั่วไป นั่นแปลว่าเราอาจกำลังพบช่องทางทำงานแบบใหม่ ๆ ที่สามารถสร้างรายได้สูงจาก Passion ของเราก็ได้


3. ประเมินว่า “เราให้เวลาไปกับความสนใจสิ่งไหนมากกว่ากัน”


นำรายการความสนใจของเรามาลองทำเป็นเช็คลิสต์ในกระดาษหรือคอมพิวเตอร์ก็ได้ และทำการประเมินว่า “เราให้เวลาไปกับความสนใจสิ่งไหนมากกว่ากัน” , “หากทำสิ่งนั้น ๆ แล้วเกิดอุปสรรคขึ้น เราทนต่ออุปสรรคที่จะเกิดในกิจกรรมใดมากที่สุด” , “กิจกรรมอะไรที่เราคิดถึงมันเสมอแม้ว่ามันจะไม่ได้อยู่ตรงหน้า” , “อะไรที่เรากล้าลองผิดลองถูกเพื่อทำมันจนกว่าจะชำนาญ โดยไม่สนใจว่าจะล้มเหลวหรือไม่”


คำถามทั้งหมดนี้เราอาจจะลองใส่คะแนนเป็นลำดับ 1 ถึง 5 ในแต่ละคำถามของแต่ละกิจกรรม หากกิจกรรมใดได้คะแนนสูงสุดก็มีแนวโน้มว่านั่นคือ Passion อันดับหนึ่งของคุณ และในการทำเช็คลิสต์นี้คุณจะได้รู้จัก Passion อันดับรอง ๆ ลงไปของชีวิตคุณอีกด้วย


ไม่ว่ากิจกรรมคัดกรอง Passion อย่างง่ายนี้จะออกมาเป็นอย่างไร อย่ากังวลใจไปถ้าได้พบว่า Passion อันดับ 1 , 2 หรือ 3 ไม่ตรงกับอาชีพหลักของคุณเลย และอย่าเพิ่งดีใจที่ได้ค้นพบ Passion จนทิ้งอาชีพหลักไปลงมือตาม Passion เลยเต็มที่ในฉับพลัน อย่าลืมว่าแม้ในอาชีพประจำของเราที่เราใช้เลี้ยงตัวเองเราก็สามารถประยุกต์เอา Passion มาผสมในงานประจำได้ เช่น คนขายของที่มี Passion ในการร้องเพลงก็ใช้การร้องเพลงเรียกความสนใจจากลูกค้า


พนักงานขายที่มี Passion ในเรื่องประวัติศาสตร์ก็อาจเอาเรื่องนี้ไปแปลงเป็นบทสนทนาในการพบปะลูกค้าบางรายหรือใช้ประกอบการยกตัวอย่างเป็นสตอรี่ที่สอดคล้องกับสินค้าที่ขายทำให้สินค้ามีความน่าสนใจยิ่งขึ้น พนักงานฝ่ายบุคคลอาจประยุกต์เอา Passion ในการเล่นกีฬามาออกแบบโครงการแรงงานสัมพันธ์ในองค์กรได้ เป็นต้น แต่ในบางกรณีถึงเราจะไม่สามารถประยุกต์ Passion ให้เกื้อหนุนงานประจำได้ อย่างน้อยที่สุดการค้นพบ Passion นั้นเราก็ได้รู้ว่ายังมีมุมหนึ่งของชีวิตที่เราสนใจและทำให้ชีวิตของเราสมดุลได้ ซึ่งส่งผลดีต่อสุขภาพจิตของเราในระยะยาวนั่นเอง


ในโอกาสหน้าเราจะกลับมาพูดคุยเพิ่มเติมถึงด้านมืดของ Passion และการควบคุมความสมดุลระหว่าง Passion กับการดำรงชีวิตของเรากันครับ


 

iSTRONG Mental Health

ผู้ดูแลสุขภาพใจให้กับบุคคล ครอบครัว และองค์กร


บริการของเรา

สำหรับบุคคลทั่วไป

• บริการปรึกษา จิตแพทย์และนักจิตวิทยา : http://bit.ly/3lmThUa

• คอร์สฝึกอบรมทักษะด้านจิตวิทยา : http://bit.ly/3RQfQwS


สำหรับองค์กร

• EAP โปรแกรมสำหรับองค์กร : http://bit.ly/3RLI8Z8


โทร. 02-0268949 หรือ Line : @istrong

 

**ท่านที่สนใจสามารถอ่านบทความวิชาการที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมได้ที่

 

ผู้เขียน ธเนศ เหลืองวิริยะแสง

M.Sc. (Industrial and Organizational Psychology), Kasetsart University.

HRD Specialist, วิทยากร และอาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัย


Comentarios


facebook album post - square (1).png
1.พวกหลีกเลี่ยงความผูกพัน (2).png
บทความล่าสุด
bottom of page